กรณี กสทช. มีคำสั่งทางปกครองให้สถานีโทรทัศน์ Voice TV ระงับการออกอากาศเป็นเวลา 15 วัน ล่าสุดศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและสื่อมวลชนไว้อย่างชัดแจ้ง การที่ กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และสำนักงาน กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) จะใช้อำนาจสั่งพักใบอนุญาตของผู้ฟ้องคดีได้ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์หรือการกระทำความผิดตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และปรากฏด้วยว่า มีความเสียหายร้ายแรงเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการกระทำดังกล่าว
หากขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มิได้เสนอว่าการออกอากาศรายการของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวเกิดความเสียหายร้ายแรงหรือไม่อย่างไร และไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้พิจารณาในประเด็นความเสียหายอย่างร้ายแรงก่อนมีมติออกคำสั่งกำหนดโทษทางปกครองให้พักใช้ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลของผู้ฟ้องคดีเช่นกัน
ในชั้นนี้จึงเห็นว่า คำสั่งกำหนดโทษทางปกครองดังกล่าวน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากให้คำสั่งกำหนดโทษทางปกครองดังกล่าวมีผลต่อไป อาจเกิดความเสียหายทางธุรกิจของผู้ฟ้องคดีที่มีการสั่งสมฐานผู้ชมและความเชื่อมั่น ซึ่งไม่อาจเรียกคืนได้ จึงเป็นการยากแก่การเยียวยาภายหลัง อีกทั้งการทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ หรือแก่บริการสาธารณะ เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ยังคงมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล รวมทั้งผู้ฟ้องคดีตามกฎหมาย
กรณีนี้จึงมีเหตุสมควรที่ศาลจะกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งกำหนดโทษทางปกครองให้พักใช้ใบอนุญาต ให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลของผู้ฟ้องคดี ตามหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบกับข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า