วันนี้ (12 เมษายน) สำนักงานศาลปกครองรายงานว่า ในวันศุกร์ที่ 21 เมษายน เวลา 10.00 น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ห้องพิจารณาคดี 14 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
ในคดีหมายเลขดำที่ 2605/2562 คดีหมายเลขแดงที่ 1325/2564 ระหว่าง วีระ สมความคิด (ผู้ฟ้องคดี) กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ 1 กับพวก รวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
สำหรับคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่ 1 กับพวก รวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย กรณีคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย มีคำวินิจฉัยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร กรณีการกล่าวหา พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ จำนวน 3 รายการ ได้แก่
- รายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมด
- ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบในเรื่องกล่าวหาดังกล่าว
- รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพิกเฉย จึงนำคดีมาฟ้อง
ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเปิดเผยข้อมูลข่าวสารรายการที่ 1 รายการที่ 2 เฉพาะความเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เสนอประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) และรายการที่ 3 ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค 33/2562 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหา พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบได้มา
เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และอยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จึงเป็นข้อมูลข่าวสารและเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
และเมื่อไม่ปรากฏว่า ข้อมูลข่าวสารที่ผู้ฟ้องคดีขอให้เปิดเผยนั้นเป็นข้อมูลข่าวสารอันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (1) หรืออาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเสื่อมประสิทธิภาพ ตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว หรือจะกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง หรือประการอื่นใด ตามบทบัญญัติตามมาตรา 215 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม ตามมาตรา 3 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเช่นเดียวกัน
กรณีนี้จึงไม่มีเหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่ผู้ฟ้องคดีขอให้เปิดเผย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ
แต่โดยที่ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอาจมีข้อมูลจะกระทบ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของบุคคลหรือรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ซึ่งเป็นพยาน ซึ่งต้องได้รับความคุ้มครอง หรือข้อมูลข่าวสารที่หากเปิดเผยแล้วจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองสามารถเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร โดยปกปิดข้อมูลในลักษณะดังกล่าวได้ รวมทั้งอาจไม่เปิดเผยข้อมูลรายการที่ 2 ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเป็นความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐ อันเป็นเอกสารภายในที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้พิจารณาแล้วมีมติว่า ในส่วนของความเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เสนอประกอบการพิจารณาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้เปิดเผยได้ ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิได้รับเอกสารดังกล่าวได้
ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัย การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด