×

ศาลปกครองกลางพิพากษากรมที่ดินละเลย ปมที่ดินเขากระโดง สั่งร่วม รฟท. สอบแนวที่ดิน ตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้เสร็จใน 60 วัน

โดย THE STANDARD TEAM
30.03.2023
  • LOADING...
กรมที่ดิน รฟท.

วันนี้ (30 มีนาคม) ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้ฟ้องคดี กับกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และอธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ในคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง กรณีที่ดินเขากระโดง

 

จากกรณีผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จากการมีคำสั่งตามหนังสือที่ มท. 0516.2/3025 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2564 เรื่องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้อง โดยคดีดังกล่าวเป็นกรณีไม่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดิน รฟท. ในพื้นที่เขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ พื้นที่ 5,083 ไร่ พร้อมขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 707 ล้านบาท โดยศาลปกครองกลางนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา 

 

ชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวภายหลังเข้ารับฟังคำพิพากษาศาลปกครองกลางในคดีที่ รฟท. ยื่นฟ้องกับกรมที่ดินกับพวกรวม 2 คน กรณีละเลย ไม่เพิกถอนที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ว่าศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่ากรมที่ดินละเลยไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ส่วนในประเด็นที่ รฟท. ฟ้องว่ากรมที่ดินกระทำละเมิด ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนการขาดประโยชน์จากที่ดินที่เป็นของ รฟท. ศาลพิพากษายกฟ้อง

 

โดยศาลได้ระบุว่าเป็นหน้าที่ของกรมที่ดินที่จะต้องดูแลที่ดินของรัฐ ก็ให้ไปดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งกรมที่ดินเคารพในคำพิพากษา แล้วจะดำเนินการตามคำพิพากษา โดยในวันพรุ่งนี้ (31 มีนาคม) จะนำคำพิพากษาเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายของกรมที่ดิน เพื่อพิจารณาว่าจะต้องมีการอุทธรณ์หรือไม่ อย่างไร และวางแนวปฏิบัติ

 

ชยาวุธกล่าวต่อไปว่า ที่ก่อนหน้านี้กรมที่ดินไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 เพราะโดยปกติเมื่อกรมที่ดินออกเอกสารสิทธิให้กับประชาชนและมีการเข้าทำประโยชน์แล้ว การจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะกระทำก็ต่อเมื่อมีกรณีต้องสงสัย หรือตรวจสอบจนมีความชัดเจนพอสมควรว่าน่าจะมีการออกเอกสารสิทธิโดยผิดพลาดหรือโดยไม่ชอบ เพราะถ้าตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 เจ้าหน้าที่ที่ดินจะต้องขึ้นบัญชีอายัด และติดประกาศอายัดที่สารบบที่ดิน โดยเจ้าพนักงานจะนำหมายติดไว้ว่าที่ดินแปลงนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 เพื่อให้คนที่จะมาทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าวได้ทราบ 

 

“เราไม่ได้ละเลย เพราะผู้มีส่วนได้เสียกับที่ดินบริเวณนั้นร่วม 1,000 แปลง ซึ่งที่ผ่านมา 95% ของที่ดินที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 จะมีการเพิกถอน เราจึงต้องมีข้อมูลที่มั่นใจเพียงพอจึงจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าว เพราะไม่ต้องการให้เกิดการกระทบกระเทือนกับประชาชนที่ถือเอกสารสิทธิจากที่กรมที่ดินเป็นผู้ออกให้” ชยาวุธกล่าว

 

ชยาวุธกล่าวต่อด้วยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากฟังคำชี้แจงของตุลาการผู้แถลงคดี ตนได้เรียกประชุมและตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติมอีก 1 ชุด โดยส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพถ่ายทางอากาศดูแล้วก็พบร่องรอยแนวรางรถไฟในพื้นที่ดังกล่าวกับรูปแผนที่ที่ รฟท. นำเสนอต่อศาลเมื่อปี 2539 ซึ่งพบว่าเป็นคนละเส้นกัน ก็ให้เจ้าหน้าที่เรียบเรียงและรายงานต่อศาลเมื่อวานที่ผ่านมา แต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาในวันนี้ก็จะมอบหมายรองอธิบดีที่กำกับดูแลงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 

 

“ในคำพิพากษาวันนี้ชัดเจนว่าศาลให้การรถไฟฯ ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินในบริเวณนี้ ร่วมกับกรมที่ดินไปดำเนินการตรวจสอบแนวที่ดินให้ชัดเจนว่า แผนที่ที่ชัดเจนแน่นอนนั้นเป็นอย่างไร เพราะแผนที่ฉบับปี 2539 ที่การรถไฟฯ ส่งมอบให้ศาลพิจารณานั้น เรายังไม่ได้จัดทำพล็อตลงในระวางของกรมที่ดิน” ชยาวุธกล่าว

 

ชยาวุธกล่าวด้วยว่า การตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 จะให้ผู้ตรวจราชการกรมที่ดินเป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการจะเป็นผู้พิจารณาว่าเอกสารสิทธิที่ออกไปผิดพลาดต้องมีการเพิกถอนหรือไม่ ซึ่งระยะเวลาการทำงานต้องสอบให้เสร็จภายใน 60 วัน และขยายได้อีก 60 วันหากดำเนินการไม่เสร็จ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X