×

สรรพากรแจงเหตุผลปรับเงื่อนไขการเสียภาษีรายได้จากต่างประเทศ ทำตามกติกาภาษีโลก และเพิ่มความเป็นธรรม

18.09.2023
  • LOADING...
ลวรณ แสงสนิท

อธิบดีกรมสรรพากรแจงเหตุผลการปรับแก้เงื่อนไขการเสียภาษีเงินได้จากการลงทุนในต่างประเทศ เป็นไปตามพัฒนาการของกติกาภาษีโลกที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากขึ้น พร้อมยืนยันว่าทำไปเพื่อเพิ่มการจัดเก็บภาษีที่ถูกต้องและเป็นธรรม โดยระบุว่า ชาวไทยที่ลงทุนในต่างประเทศควรเสียภาษีในอัตราที่เท่ากับผู้ลงทุนในประเทศ 

 

จากกรณีกรมสรรพากรมีคำสั่งแก้กฎหมายการเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 43 (2) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ ‘กฎหมายการเสียภาษีเงินได้จากการลงทุนในต่างประเทศ’ โดยระบุว่า บุคคลซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วัน และมีเงินได้จากต่างประเทศไม่ว่าจะนำเงินได้เข้าปีไหน ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีในปีนั้น จากเดิมที่หากนำเงินได้ต่างประเทศเข้าไทยในปีถัดไปไม่ต้องเสียภาษี

 

วันนี้ (18 กันยายน) ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร และว่าที่ปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นไปตามพัฒนาการของหลักการและกติกาภาษีทั่วโลก และการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านภาษีระหว่างประเทศที่พัฒนามากขึ้น ทำให้สรรพากรรับรู้รายได้ของผู้เสียภาษีมากขึ้น

 

“พระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริบทของการจัดเก็บภาษีเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากสมัยก่อนข้อมูลของคนไทยที่มีรายได้เกิดขึ้นในต่างประเทศนั้น สรรพากรอาจไม่ค่อยรู้ รู้ยาก หรือยากที่จะได้มา แต่ปัจจุบันและต่อไป การเก็บรวบรวมข้อมูลเหล่านี้จะง่ายขึ้น และจะได้โดยอัตโนมัติ (Automatic) ด้วย หรือในบางกรณีก็สามารถเข้าถึงได้หากร้องขอแล้ว ด้วยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้สรรพากรต้องเปลี่ยนบริบทการกำหนดเงื่อนไขการเสียภาษี” ลวรณกล่าว

 

อธิบดีกรมสรรพากรยังยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะไม่นำไปสู่การเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน เนื่องจากปัจจุบันไทยมีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับหลายๆ ประเทศที่เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ ดังนั้น หากเสียภาษีที่ประเทศใดไปแล้ว ก็จะเป็นไปตามอนุสัญญาภาษีซ้อนนั้นๆ ไม่มีการเก็บที่ประเทศนั้นแล้วมาเก็บซ้อนที่ประเทศไทยอีก 

 

ลวรณกล่าวอีกว่า การออกประกาศดังกล่าวเป็นการดำเนินการในระยะสั้น แต่ต่อไปในระยะยาวเชื่อว่าจะเป็นการแก้ไขประมวลรัษฎากร เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น เพื่อการจัดเก็บภาษีที่ถูกต้องและเป็นธรรม 

 

โดยระบุอีกว่า คนไทยที่ลงทุนในประเทศและลงทุนในต่างประเทศที่มีรายได้ในลักษณะเดียวกัน ควรต้องเสียภาษีในลักษณะที่คล้ายกัน

 

อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า เตรียมพูดคุยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทันที และเตรียมจัด Focus Group หารือกับกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นกลุ่มๆ เพื่อทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร พร้อมรับฟังคำแนะนำและสิ่งที่ทุกฝ่ายกังวล เพื่อให้การดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

 

กระนั้น กรมสรรพากรยังไม่ได้ประมาณการรายได้จากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าว

 

สำหรับอัตราการจัดเก็บ ลวรณกล่าวว่า ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น เงินได้เกิดจากธุรกรรมอะไร, เกิดขึ้นที่ประเทศไหน, เป็นประเทศที่เป็นคู่สัญญากับไทยหรือไม่ และเป็นภาษีซ้อนหรือไม่

 

กรมสรรพากรออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการชี้แจง

 

สอดคล้องกับแถลงการณ์ของกรมสรรพากรที่ออกมาภายหลังในวันเดียวกัน (18 กันยายน) ที่ระบุว่า “ปัจจุบัน พัฒนาการของเทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบทางการค้าและการลงทุนอย่างมาก ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes และลงนามผูกพันในความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี (MAC) และความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ (MCAA CRS) ทำให้กรมสรรพากรจำเป็นต้องปรับปรุงการจัดเก็บภาษีให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ระหว่างผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ภายในและภายนอกประเทศ ประกอบกับการพิสูจน์การมีเงินได้และช่วงเวลาในการนำเงินได้เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการจัดเก็บภาษีจากผู้ที่มีแหล่งเงินได้นอกประเทศลดลงไปอย่างมากแล้ว”

 

โดย วินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “การปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก และลงนามผูกพันในความตกลงพหุภาคีดังกล่าว เสริมสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีระหว่างผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ภายในและภายนอกประเทศ และยกระดับความโปร่งใสในการปฏิบัติทางภาษีให้ถูกต้อง ทั้งนี้ กรมสรรพากรจะร่วมหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศต่อไป”

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising