×

นโยบายการเงินสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนไป กลยุทธ์การจัดสรรสินทรัพย์หลังจากนี้ควรเป็นอย่างไร? [ADVERTORIAL]

26.09.2024
  • LOADING...
นโยบายการเงินสหรัฐ

HIGHLIGHTS

  • SCB CIO คาดว่าในปี 2024 จะลดอีก 50 bsp และในปี 2025 และ 2026 จะลดลงไปอีก 100 bsp และ 50 bsp ตามลำดับ และคาดการณ์ว่า Median Fed Fund Rate จะลดจาก 4.4% เป็น 3.4% ในปี 2025
  • สำหรับมูลค่าของตลาดหุ้นโลก ตลาดหุ้นอินเดีย สหรัฐฯ (Dow Jones และ S&P 500) และญี่ปุ่น อยู่ในระดับที่ตึงตัวเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตและตลาดหุ้นอื่นๆ ขณะที่ตลาดหุ้นจีน (A-Share & H-share) เกาหลีใต้ เวียดนาม และไทย ยังมีมูลค่าค่อนข้างถูก
  • ตลาดเกิดใหม่ยังคงเผชิญกับกระแส ‘ขายสุทธิ’ ของ Fund Flow แต่เอเชียมีการไหลเข้าของเงินทุนในตลาดตราสารหนี้มากกว่าตลาดหุ้น
  • เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในโมเมนตัมที่ดีจากไฮซีซันการท่องเที่ยว การส่งออกที่เติบโต การเบิกจ่ายงบของภาครัฐ และ กนง. อาจลดดอกเบี้ยช่วงปลายปีนี้
  • SCB WEALTH แนะการลงทุนแบบ Core Portfolio ที่เน้นการลงทุนระยะยาว 80% และ Opportunistic Portfolio ที่เน้นทำกำไรจากจังหวะและธีมการลงทุนของตลาดหุ้นต่างๆ ในระยะสั้น 20%

หลังจากที่ตลาดรอคอยการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed การตัดสินใจของ Fed ก็ออกมาตามที่ตลาดคาดในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 50 bsp หรือ 0.50% แม้จะส่งผลดีต่อตลาดเป็นอย่างมาก แต่ความไม่ประมาทคือจุดสำคัญของการลงทุน THE STANDARD WEALTH จะพาไปสำรวจกลยุทธ์การจัดการสินทรัพย์ และวางแผนระยะยาวกับการวางแผนภาษีเพิ่มความมั่งคั่ง จากงาน ‘SCB: Exclusive Investment Talk กลยุทธ์การจัดสรรสินทรัพย์และการวางแผนภาษีเพื่อเพิ่มความมั่งคั่ง’

 

 

Fed อาจลดดอกเบี้ยระยะยาวถึงปี 2026

 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น Fed ลดดอกเบี้ยไป 50 bps เนื่องจากสิ่งที่ต้องควบคุม คือเงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน ปัจจุบันอยู่ในอัตราที่ควบคุมและสมดุล โดย PCE และ Core PCE อยู่ที่ 2.3% และ 2.6% ตามลำดับ และเชื่อมั่นว่าจะกลับไปอยู่ที่ 2% ในเวลาอันใกล้ ซึ่งนั่นทำให้ Fed มั่นใจว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่เจอสภาวะถดถอย

 

ในขณะเดียวกัน FOMC มีการปรับคาดการณ์การปรับอัตราดอกเบี้ย ทำให้ SCB CIO คาดว่าในปี 2024 จะลดอีก 50 bsp และในปี 2025 และ 2026 จะลดลงไปอีก 100 bsp และ 50 bsp ตามลำดับ และคาดการณ์ว่า Median Fed Fund Rate จะลดจาก 4.4% เป็น 3.4% ในปี 2025

 

อย่างไรก็ตาม แม้หลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลัง Soft Landing แต่ปัจจัยที่ต้องจับตามองคือ การจ้างงานของสหรัฐฯ ที่ลดลง 4.3% โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่ชะลอตัวลง แม้เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 142,000 ตำแหน่ง แต่ก็ยังต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 165,000 เล็กน้อย

 

ภาพรวมตลาดหุ้นโลก

 

การปรับประมาณการกำไรต่อหุ้น (EPS) ของดัชนีหุ้นในกลุ่มตลาดพัฒนาแล้ว (DM) ยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ขณะที่ในภูมิภาคเอเชีย ประเทศที่ EPS ถูกปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ เกาหลีใต้ อินเดีย และเวียดนาม ส่วนประเทศที่ EPS ถูกปรับลดลงคือจีน (A-Share) สำหรับประเทศไทย EPS เริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มว่าจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

 

จากการคาดการณ์ของ Consensus ในปี 2024 คาดว่าการเติบโตของ EPS ในตลาดหุ้นส่วนใหญ่จะเป็นบวก อย่างไรก็ตาม โมเมนตัมการเติบโตของกำไรในตลาดพัฒนาแล้ว (MSCI World) มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ในขณะที่การเติบโตของกำไรในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) จะเข้าสู่ช่วงการปรับตัวลดลง

 

สำหรับมูลค่าของตลาดหุ้นโลก ตลาดหุ้นอินเดีย สหรัฐฯ (Dow Jones และ S&P 500) และญี่ปุ่น อยู่ในระดับที่ตึงตัวเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตและตลาดหุ้นอื่นๆ ขณะที่ตลาดหุ้นจีน (A-Share & H-share) เกาหลีใต้ เวียดนาม และไทย ยังมีมูลค่าค่อนข้างถูก

 

ภาพรวมของตลาดเอเชีย

 

ธนาคารกลางอื่นๆ มีแนวจะลดลงตาม Fed ทั้งฝั่งยุโรป (ECB) ที่จะลด 2 ครั้งรวม 50 bsp และธนาคารกลางในเอเชียก็จะปรับลดเช่นกัน ยกเว้นฝั่งญี่ปุ่น (BOJ) โดยยังคงนโยบายการเงินไว้ แต่อาจปรับขึ้นในปลายปีอีก 25 bsp

 

ค่าเงินเอเชียในปัจจุบันกำลังแข็งค่าขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ปัจจัยหลักเกิดจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ลดลง และทิศทางนโยบายของ Fed ที่มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยลงเรื่อยๆ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง รวมทั้งตลาดทำการ Reverse Yen Carry Trade

 

ในเดือนสิงหาคม ตลาดเกิดใหม่ยังคงเผชิญกับกระแส ‘ขายสุทธิ’ ของ Fund Flow ทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน แต่ภูมิภาคเอเชียมีการไหลเข้าของเงินทุนในตลาดตราสารหนี้มากกว่าตลาดหุ้น โดยค่าเงินในตลาดเกิดใหม่เอเชียและญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวและแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ผ่อนคลาย

 

เศรษฐกิจจีนยังมีความเสี่ยงขาลง โดย GDP ปี 2024 อาจต่ำกว่าเป้าหมาย 5% จากปัจจัยหลายประการ เช่น การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการส่งออก รวมถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังอ่อนแอ แม้ PBOC อาจลดดอกเบี้ยเพิ่ม แต่มาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่อาจมีโอกาสเกิดขึ้นต่ำ สำหรับนักลงทุน ตลาดหุ้นจีน A-Share แม้จะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจยังสูง

 

ในส่วนของญี่ปุ่น การเลือกตั้งหัวหน้าพรรค LDP ญี่ปุ่นในวันที่ 27 กันยายน 2024 จะกำหนดนายกฯ คนใหม่ หาก ชิเงรุ อิชิบะ ชนะ ตลาดหุ้นอาจลดลงและเงินเยนแข็งค่า แต่หาก ซานาเอะ ทาคาอิจิ ชนะ ตลาดหุ้นอาจดีขึ้นและเงินเยนอ่อนค่า เนื่องจากแนวโน้มการผ่อนคลายทางการเงิน

 

 

เศรษฐกิจไทยเติบโตในครึ่งปีหลังของปี 2024

 

เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในโมเมนตัมขาขึ้นชัดเจน โดยปัจจัยหลักคือ

  • การส่งออกกำลังเติบโตไปในทิศทางที่ดี ตลาดส่งออกหลักในเดือนกรกฎาคมมีการปรับตัวขึ้นทั้งในสหรัฐฯ จีน และกลุ่มประเทศอาเซียน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าส่งออกขยายตัวโดดเด่น
  • การท่องเที่ยวไทยในปลายปีที่เหลือจะเติบโต เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยวไทย
  • แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกมาชี้แจงว่า เรื่องการปรับลดดอกเบี้ยนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับ Fed แต่มีการคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในไตรมาส 4 ปี 2024 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศ 
  • หลังจากได้มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีใหม่ ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐจะเกิดขึ้น หลังมีการอนุมัติงบประมาณปี 2024 และงบประมาณปี 2025 จะเบิกจ่ายในไตรมาสสุดท้ายของปี

 

กลยุทธ์จัดการสินทรัพย์ครึ่งปีหลัง

 

แม้สถิติที่ผ่านมาในเดือนกันยายน ตลาดหุ้น น้ำมัน และทองคำจะปรับตัวลดลง สวนทางกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่มักอ่อนค่าลง แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะการลดดอกเบี้ยของ Fed รวมถึงตลาดแรงงาน ผลการประชุม Fed หรือการโต้วาทีของ โดนัลด์ ทรัมป์ และ คามาลา แฮร์ริส ตราสารหนี้และตลาดหุ้นโลกจะให้ผลตอบแทนดี ดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าขึ้น 6 เดือนแรก และอ่อนค่าลงใน 12 เดือนต่อมา โดยสินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมัน และทองคำจะปรับเพิ่มขึ้น

 

กรณีเกิดสภาวะถดถอย:

  • ทองคำและ WIT จะปรับตัวสูงราว 14% ใน 6 เดือนแรก
  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นใน 12 เดือนแรก 2% รวมถึงตราสารหนี้สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 10%

 

กรณีไม่เกิดสภาวะถดถอย:

  • ตลาดหุ้นทั่วโลก ตราสารหนี้สหรัฐฯ สินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น
  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งตัวเล็กน้อยราว 1% ใน 6 เดือนแรก และค่อยๆ อ่อนค่าลง 

 

หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและไม่เกิดภาวะถดถอย ความชันของ Yield Curve หลังจากนี้อาจปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ในอนาคตจะมาจากรายได้จากดอกเบี้ย (Carry Yield) เป็นหลัก นี่จึงเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่ต้องการสร้างกระแสเงินสดจากการลงทุนในพอร์ตที่มีความเสี่ยงต่ำและความผันผวนน้อย

 

 

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้น นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมีส่วนช่วยให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง และสนับสนุนให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้น หุ้นกลุ่ม Quality Growth อย่าง IT และกลุ่ม Defensive สามารถสร้างผลตอบแทนที่แข็งแกร่งกว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา และเน้นกระจายการลงทุน

 

ดังนั้น นี่คือกลยุทธ์ที่ SCB WEALTH แนะนำ โดย THE STANDARD WEALTH สรุปออกมาได้ว่า

 

กลยุทธ์ที่ 1 Core Portfolio Strategy

 

Core Portfolio จะเป็นพอร์ตการลงทุนหลักกว่า 80% ของพอร์ตทั้งหมด และลงทุนระยะยาวใน 1 ปีขึ้นไป

 

ในช่วงเวลาที่มีความผันผวนสูงอย่างในไตรมาส 4 ปี 2024 การจัดพอร์ตการลงทุนระยะยาวเป็นสิ่งสำคัญ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ

 

  1. สร้างกระแสเงินสด: แนะนำลงทุนในหุ้นกู้เอกชนต่างประเทศที่มีคุณภาพสูง และหุ้นกู้ Perpetual ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง
  2. สร้างการเติบโต: เน้นลงทุนในตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจยังขยายตัว และมีโอกาสที่ Fed จะลดดอกเบี้ย
  3. ป้องกันความเสี่ยง: ลงทุนในทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์

 

กลยุทธ์ที่ 2 Opportunistic Portfolio Strategy

 

เป็นกลยุทธ์การลงทุนแบบระยะสั้น เพื่อผลตอบแทนและกำไรที่สูงด้วยกลยุทธ์เจาะจง เช่น การจับจังหวะของตลาด และลงทุนตามธีมของเทรนด์ในช่วงนั้นๆ โดยการลงทุนจะเป็นเพียง 20% ของพอร์ต

 

  1. ตลาดหุ้นเวียดนาม: แนะนำลงทุนเนื่องจากเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง กำไรของบริษัทจดทะเบียนขยายตัวดี และเงินเฟ้อลดลง ขณะที่ Valuation ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ
  2. ตลาดหุ้นไทย: การเมืองในประเทศชัดเจนขึ้น ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น นักลงทุนต่างชาติเริ่มเข้ามา และคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มถูกปรับเพิ่มขึ้น

 

การลงทุนผสมระหว่าง Core และ Opportunistic จะเป็นตัวช่วยในการจัดพอร์ตการลงทุนในระดับที่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้ หากรับความเสี่ยงได้น้อยควรเน้นลงทุนเพียงใน Core Portfolio แต่หากสามารถรับความเสี่ยงปานกลางถึงสูง ควรแบ่งเงินประมาณ 15-25% เพื่อลงทุนใน Opportunistic Portfolio เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทน

 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ลงทุนมีเวลาในการติดตามการลงทุน และรับคำแนะนำอย่างใกล้ชิด การลงทุนแบบ ‘Moderate-Aggressive Allocation’ ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับผู้รับความเสี่ยงสูงได้ โดยจะลงทุน Core มากกว่า 80% และ Opportunistic ต่ำกว่า 20%

 

หมายเหตุ: การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X