×

ศิริกัญญาเผย เหตุต้องปรับหลักเกณฑ์นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเพราะมีงบประมาณแค่ 1 แสนล้าน จี้รัฐบาลต้องทบทวนจุดประสงค์ใหม่ทั้งหมด

โดย THE STANDARD TEAM
26.10.2023
  • LOADING...
ศิริกัญญา ตันสกุล

วันนี้ (26 ตุลาคม) ที่รัฐสภา ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการปรับหลักเกณฑ์นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า ปัญหาสำคัญที่จำเป็นต้องมีการปรับหลักเกณฑ์โดยการที่คัดกรองคนรวยออก ก็ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลน่าจะมีปัญหาเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้กับนโยบายนี้อย่างแน่นอน จึงจำเป็นต้องทำจำนวนคนที่ได้รับผลประโยชน์ให้ลดลง ซึ่งถึงแม้ว่าจะลดลงแล้วแต่ก็ยังมีคนที่จะได้รับอยู่ที่ประมาณ 43-49 ล้านคนอยู่ดี ดังนั้นโอกาสที่จะใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ก็มีค่อนข้างน้อย และมีข้อเสนอออกมาอีกว่าจะใช้งบผูกพันปีละ 1 แสนล้านบาทภายใน 4 ปี ตนคิดว่าก็ยิ่งชัดเจนว่างบประมาณปี 2567 มีที่ว่างให้ทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเพียงแค่ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น

 

ส่วนงบประมาณที่จะผูกพันไปอีก 4 ปีนั้นจะมีร้านค้าบางส่วนที่จะไม่ได้รับเงินสดในทันที และจะต้องรอแลกรายรอบปีงบประมาณไป อาจจะกระทบกับแรงจูงใจของร้านค้า ซึ่งเป็นการตอกย้ำสิ่งที่ตนเองได้พูดออกไปก่อนหน้านี้ว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตถึงทางตันแล้ว เนื่องจากไม่สามารถให้แบงก์รัฐหรือธนาคารออมสินดำเนินการออกไปก่อนได้ 

 

ศิริกัญญายังกล่าวถึงข้อจำกัดและตอใหญ่ของนโยบายดังกล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องของแหล่งที่มาและงบประมาณที่ต้องการใช้ พร้อมทั้งคิดว่าการปรับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในครั้งนี้จะต้องมีการพิจารณาว่ายังสามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิมได้หรือไม่ หรือหากเปลี่ยนไปแล้วก็ขอให้ทบทวนวิธีการใหม่ทั้งหมด 

 

ศิริกัญญากล่าวถึงการปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ว่า สามารถลดจำนวนผู้ได้รับสิทธิในจำนวนไม่มากประมาณ 13 ล้านคน หรือในกรณีที่เงินเดือนเกิน 50,000 บาท ลดได้เพียง 7 ล้านคน ซึ่งการปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้นอาจจะไม่ได้ช่วยในการประหยัดงบประมาณลง ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร หรือจะกลับไปที่ทางเลือกที่ 3 ให้เฉพาะบุคคลที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อาจจะไม่ได้เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นเพียงการประคับประคองค่าครองชีพให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของผู้ที่ได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ตอย่างชัดเจน หากต้องการที่จะคงรูปแบบคือการแจกเงินอาจจะต้องมีการทบทวน 

 

“ดิฉันเข้าใจดีว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ แต่ถ้าบอกกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมาว่างบประมาณมีไม่เพียงพออย่างไร ประชาชนสามารถเข้าใจได้ รัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วที่จะทำโครงการนี้ แต่มันมีอุปสรรคชิ้นใหญ่คืองบประมาณ” ศิริกัญญากล่าว

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สุดท้ายแล้วนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะจบเหมือนนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นเพียงการเยียวยาค่าครองชีพหรือไม่ ศิริกัญญากล่าวว่า ก็ต้องรอดูว่าเป็นไปในรูปแบบนั้นหรือไม่ โดยแต่ละหน่วยงานของรัฐนั้นเริ่มทยอยส่งรายละเอียดกลับมาแล้ว ดังนั้นสำนักงานงบประมาณมีข้อมูลเพียงพอหรือไม่ โดยหากไม่อยากมีงบประมาณที่ผูกพันข้ามปีก็มีทางออกทางเดียวคือ ให้เฉพาะประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เหมือนจะไม่ใช่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นเพียงการเยียวยาค่าครองชีพเท่านั้น

 

ศิริกัญญากล่าวต่อว่า ฝ่ายค้านจะยังรอให้มีมติผลการประชุมกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ออกมาก่อน เรายังใจดีให้รัฐบาลกลับไปคิดทบทวนและลงรายละเอียดทุกอย่าง และให้คณะกรรมการชุดใหญ่มีข้อเสนอกับคณะรัฐมนตรี เราจะได้ตรวจสอบกันต่อไป หลายกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรก็รอที่จะพูดคุยอยู่ ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงปิดสมัยประชุม แต่หากเปิดสมัยประชุมเราก็จะมีการพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างแน่นอน พร้อมย้ำสื่อมวลชนให้สอบถามร้านค้าว่า หากมีการทยอยจ่ายเงินสดไม่ได้ทันที ร้านค้ายังจะเข้าร่วมโครงการอยู่หรือไม่

 

ศิริกัญญากล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ตอนนี้แหล่งเงินจากธนาคารออมสินไม่สามารถใช้ได้แล้ว ถ้าจะใช้ธนาคารออมสินก็ต้องแก้ไขกฎหมาย ส่วนการออก พ.ร.ก.กู้เงิน เหมือนช่วงโควิดนั้นเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด แต่ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่า พ.ร.ก. จะออกได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น ซึ่งต้องกลับไปถามสำนักบริหารหนี้สาธารณะว่าจะยอมหรือไม่ ในกรณีที่ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนและเสี่ยงต่อการขัดต่อรัฐธรรมนูญ บอกว่าอาจเป็นการฆ่าตัวตายได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising