×
SCB Index Fund 2024
SCB Omnibus Fund 2024

กูรูประกันมองการปรับเงื่อนไขเบิกค่ารักษาผู้ป่วยในสำหรับผู้ติดโควิดของสมาคมประกันชีวิตไทย เป็นการกลับสู่หลักการที่ถูกต้อง เหตุโควิดกำลังกลายเป็นโรคประจำถิ่น

07.02.2022
  • LOADING...
ประกันชีวิต

บรรยง วิทยวีรศักดิ์ กูรูวงการประกันชีวิต ได้เขียนบทความหัวข้อ ‘ทำไมการกักตัวโดยมีอาการน้อยจึงเบิกค่ารักษาผู้ป่วยในไม่ได้’ ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุถึงข่าวใหญ่ในวงการประกันชีวิตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่สมาคมประกันชีวิตไทยจะมีการปรับเงื่อนไขการจ่ายสินไหมค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้เอาประกันที่ติดเชื้อโควิด โดยต้องรักษาในโรงพยาบาลเมื่อมีความจำเป็นทางการแพทย์ตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป

 

ประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวได้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ส่วนผู้ป่วยที่จะเข้ารักษาเป็น ‘ผู้ป่วยใน’ ในโรงพยาบาลนั้นจะต้องมีความจำเป็นทางการแพทย์และมาตรฐานทางการแพทย์ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ‘ข้อใดข้อหนึ่ง’ ดังต่อไปนี้

  1. เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง
    2. หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่
    3. Oxygen Saturation < 94%
    4. โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตามดุลยพินิจของแพทย์
    5. สำหรับในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือกินอาหารน้อยลง

ทั้งนี้ บรรยงได้แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวในบทความว่า “แม้เรื่องนี้อาจสร้างความประหลาดใจให้กับหลายคน แต่สำหรับตัวเองเชื่ออยู่แล้วว่าวันหนึ่งเรื่องนี้ต้องกลับมาสู่หลักการที่ถูกต้อง เนื่องจากโรคโควิดเป็นโรคอุบัติใหม่ การรับมือจึงค่อนข้างสับสน มีการกักตัว มีการทดลองใช้ตัวยาใหม่ๆ ในการรักษา จนเมื่อทุกคนฉีดวัคซีน และเชื้อได้กลายพันธุ์ มันได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นที่มีอาการลดน้อยลงจนแทบจะเทียบเท่าโรคไข้หวัดใหญ่

 

หลายประเทศไม่ให้ความสำคัญกับมันแล้ว ยกเลิกมาตรการต่างๆ มองว่าเมื่อมันไม่อันตรายถึงชีวิต ปล่อยให้คนติดเชื้อกันเยอะๆ แต่ไม่มีอันตรายร้ายแรง เดี๋ยวคนก็มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติไปเอง

 

ต้องบอกว่า บริษัทประกันชีวิตไม่เคยรวมโรคนี้อยู่ในต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายในสัญญาเพิ่มเติมค่ารักษาพยาบาลมาก่อน แต่เมื่อมันเกิดขึ้นก็ต้องรับผิดชอบไปตามระเบียบ และต้นทุนนี้ก็มากกว่าการเจ็บป่วยทั่วไปอย่างมาก

 

เช่น สมัยก่อน โรคที่คนเป็นกันมากคือ ไข้หวัดใหญ่ อาหารเป็นพิษ ค่ารักษาจะตกประมาณ 30,000-40,000 บาท นอนโรงพยาบาลประมาณ 2-3 วัน แต่พอป่วยเป็นโรคโควิดต้องนอนโรงพยาบาล 7-14 วัน ค่ารักษาพยาบาลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 200,000 บาท เล่นเอาบริษัทประกันชีวิตจุกเหมือนกัน

 

ซ้ำร้าย เมื่อมีคนป่วยจำนวนมาก เตียงในโรงพยาบาลไม่พอ ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ขอความร่วมมือให้บริษัทประกันชีวิตช่วยผ่อนปรนกฎระเบียบ จากนิยามในกรมธรรม์ที่ระบุว่า จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยรายได้เฉพาะผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลเท่านั้น เป็นจ่ายให้ทุกคนที่นอนในโรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทลด้วย (มีช่วงหนึ่งให้รวมผู้ป่วยสีเหลืองที่กักตัวที่บ้านหรือชุมชนด้วย)

 

แต่เมื่อทุกอย่างคลี่คลายลง คนติดเชื้อน้อยลง อาการคนไข้ก็เบาบางลง บริษัทประกันชีวิตที่เคยเสียสละเพื่อสังคมในช่วงวิกฤต ยอมขาดทุนจำนวนมาก ตอนนี้ต้องกลับมาคุมเข้มเรื่องกติกา โดยใช้นิยามในกรมธรรม์เป็นตัวตั้ง จะไม่ผ่อนปรนเหมือน 2 ปีที่ผ่านมาอีกต่อไป

 

ต้องเข้าใจว่าบริษัทประกันชีวิตตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหากำไร ไม่ใช่เพื่อการกุศล จะให้เขาเสียสละไปตลอดคงไม่ได้ ขนาดรัฐบาลเองยังต้องให้กระทรวงสาธารณสุขแก้กฎเกณฑ์เพื่อลดภาระงบประมาณของรัฐเลย เพราะเมื่อเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่ลดความรุนแรงลงมา รัฐก็ต้องปรับการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์

 

ส่วนบริษัทก็ต้องกลับมายึดตามสัญญาเดิม โดยมีกรมธรรม์เป็นกติการะหว่างบริษัทกับลูกค้า และต้องยึดเงื่อนไขในสัญญาเป็นเกณฑ์ในการจ่ายค่าสินไหม ถึงแม้โรคโควิดจะไม่เคยมีมาก่อนเขียนสัญญา แต่ถ้ามันเข้าเงื่อนไขก็ควรจะเบิกได้ เราจึงต้องดูว่าสัญญาในกรมธรรม์เขียนไว้ว่าอย่างไร”

 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising