×

ฉายแนวคิดการลงทุนของ ‘AddVentures’ หนึ่งใน VC ไทยภายใต้เครือ SCG พร้อมมองโอกาสของ ‘สตาร์ทอัพ’ ในยุคปัจจุบัน

05.06.2021
  • LOADING...
AddVentures

หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่อาจจะเรียกว่า ยุคเฟื่องฟูของธุรกิจ ‘สตาร์ทอัพ’ มากที่สุดยุคหนึ่ง จากข้อมูลของ CB Insights ซึ่งรวบรวมรายชื่อของบรรดาสตาร์ทอัพที่สามารถเติบโตไปเป็น ‘ยูนิคอร์น’ หรือมีมูลค่าแตะ 1,000 พันล้านดอลลาร์ ในระหว่างปี 2011-2021 มีจำนวนมากถึง 696 บริษัท  

 

เบื้องหลังการเติบโตของสตาร์ทอัพเหล่านี้ นอกเหนือไปจากความสามารถของผู้ประกอบการที่ผลักดันธุรกิจให้เติบโต อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากการสนับสนุนของนักลงทุนที่ใส่เงินลงทุนเข้ามา และให้การสนับสนุนในด้านอื่นๆ อย่างกลุ่มของ Venture Capital (VC) ที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในวงการสตาร์ทอัพปัจจุบัน 

 

ในครั้งนี้ THE STANDARD WEALTH มีโอกาสได้พูดคุยกับ AddVentures ซึ่งเป็น VC สัญชาติไทยที่ยังมองหาโอกาสลงทุนใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา พร้อมกับขยายพอร์ตการลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา 

 

AddVentures คือใคร? 

“AddVentures ตั้งขึ้นมาช่วงปี 2017 เพื่อเป็น Venture Capital ในเครือปูนซิเมนต์ไทย (SCG) มีเป้าหมายหลักคือการมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะในส่วนของสตาร์ทอัพที่ดำเนินธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน และเป็นธุรกิจที่มีโอกาสจะเกิด Synergy กับธุรกิจในเครือ SCG ทั้งในส่วนของธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี และบรรจุภัณฑ์” ประกิจ วรวัฒนนนท์ กรรมการผู้จัดการ AddVentures เริ่มต้นเล่าถึงที่มาที่ไปของ VC แห่งนี้ 

 

ขณะเดียวกัน AddVentures ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็น ‘จิ๊กซอว์’ ชิ้นหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้เกิด Digital Transformation หรือกระบวนการในการนำเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ภายในองค์กรของ SCG 

 

งบลงทุนของ AddVentures ถูกวางไว้ที่ 3,000 ล้านบาท สำหรับช่วง 5 ปีแรกหลังจากก่อตั้งขึ้นมา ซึ่งที่ผ่านมาได้ลงทุนไปแล้วใน 21 ธุรกิจ แบ่งเป็นการลงทุนโดยตรง 16 ธุรกิจ และอีก 5 ธุรกิจ เป็นการลงทุนผ่าน Venture Capital อื่นๆ รวมใช้เงินไปประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้ก็มีแผนจะลงทุนเพิ่มอีก 700-800 ล้านบาท 

 

หากลองดูพอร์ตลงทุนของ AddVentures ในปัจจุบัน จะเห็นว่าการลงทุนส่วนใหญ่กระจายอยู่ในต่างประเทศเป็นหลัก โดยมีเพียง 5 รายเท่านั้นที่อยู่ในไทย 

 

“โดยหลักแล้วเราไม่ได้ให้ความสำคัญว่าสตาร์ทอัพนั้นๆ ตั้งอยู่ในประเทศใด แต่สิ่งสำคัญคือ สตาร์ตอัพที่เรามองหาอยู่นั้น ‘เข้ากันได้’ กับเราหรือไม่ ซึ่งหมายถึงว่า ธุรกิจนั้นๆ ที่มีโอกาสจะ Synergy กันได้ รวมถึงสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่อง” 

 

เลือก ‘สตาร์ทอัพ’ อย่างไร?

ผู้บริหารของ AddVentures เล่าต่อว่า ในอนาคตเราจะโฟกัสในกลุ่มของสตาร์ทอัพที่อยู่ใน Later Stage (ซีรีส์ B หรือซีรีส์ C) มากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่เริ่มมีการเติบโตบ้างแล้ว จากเดิมที่เน้นลงทุนในกลุ่ม Early Stage เป็นหลัก แต่จากการเรียนรู้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา พบว่าการลงทุนใน Later Stage จะช่วยให้เราได้ประโยชน์ในเรื่องของความเร็ว (Speed) ความร่วมมือทางธุรกิจ (Collaboration) และการเติบโต (Growth) ที่ค่อนข้างน่าสนใจ แต่ในอีกด้านหนึ่งบริษัทก็จำเป็นจะต้องใช้เงินลงทุนที่สูงขึ้นในแต่ละดีลเช่นกัน 

 

อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจที่ AddVentures ให้ความสนใจ จะยังเป็นธุรกิจที่มีโอกาสจะเกิด Synergy กับ 3 ธุรกิจของ SCG ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาถึงศักยภาพในการเติบโตผ่านปัจจัยต่างๆ เช่น อัตราการเติบโต ฐานะการเงิน รวมไปถึงลักษณะนิสัยของผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ

 

“โดยหลักแล้วสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ที่เราโฟกัสจะยังอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนึ่งในวิธีที่เราใช้ประเมินศักยภาพของสตาร์ทอัพเหล่านี้ คือการดูเปรียบเทียบกับธุรกิจที่คล้ายกันในตลาดอื่น เช่น จีน อินเดีย ซึ่งเป็นตลาดที่พัฒนานำหน้าเราไปในระดับ 5-10 ปี” 

 

แม้ว่าทุกอย่างซึ่งเคยประสบความสำเร็จที่หนึ่งอาจไม่สำเร็จในอีกที่หนึ่ง แต่หลายครั้งเราสามารถดูได้ว่าธุรกิจในลักษณะนั้นมีโอกาสจะพัฒนาไปในทิศทางไหน และช่วยให้เรามองเห็นได้ว่าสตาร์ทอัพรายใดมีโอกาสจะเป็นผู้ชนะในท้ายที่สุด

 

โอกาสของ ‘ปลาเล็ก’ ในยุคปัจจุบัน

โลกธุรกิจปัจจุบันมีคำกล่าวที่ว่า ‘ปลาใหญ่กินปลาเล็ก’ ซึ่งหมายถึงว่าธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสจะเติบโตได้ยากขึ้น และมักจะถูกปลาใหญ่กินไปเสียก่อนที่จะเติบโตขึ้นมาได้ 

 

ประกิจมองว่า ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใหญ่หรือเล็กก็สามารถเจออุปสรรคในลักษณะที่คล้ายกันได้ แน่นอนว่าบริษัทใหญ่อาจจะทุนหนาและมีกระแสเงินสดดีกว่า แต่สตาร์ทอัพก็มีข้อได้เปรียบจากการปรับเปลี่ยนตัวเองได้รวดเร็วมากกว่า 

 

“จะใหญ่จะเล็กก็ตามแต่สิ่งสำคัญคือ คุณปรับตัวได้เร็วขนาดไหน แล้วตลาดเอื้อให้คุณปรับได้ขนาดไหนด้วย เพราะหากตลาดไม่เอื้อต่อให้ปรับตัวเก่งอย่างไรก็ลำบาก แต่กลับกันหากตลาดค่อนข้างเอื้อ (ต่อการเปลี่ยนแปลง) แต่ธุรกิจไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก ถ้าปรับตัวได้ช้า อย่างวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใหญ่หรือเล็ก หากบริหารจัดการไม่ดีก็อาจจะลำบากได้เหมือนกัน” 

 

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคืออุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งในอดีตผู้เล่นในตลาดจะเป็นรายใหญ่ อย่าง SCG เองก็มี SCG โลจิสติกส์ แต่จะเห็นว่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาในตลาด และสามารถปรับตัวเข้ากับตลาดได้เร็ว ทำให้นักลงทุนสนใจและใส่เงินลงทุนเข้ามา จนบริษัทเหล่านี้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว  

 

“โดยรวมแล้วผมมองว่าปัจจัยหลักไม่ใช่เรื่องของขนาดเลย แต่เป็นเรื่องของความสามารถในการปรับตัว อย่าง SCG เองถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีขนาดใหญ่ในระดับหนึ่ง แต่เราก็จำเป็นจะต้องปรับตัวเช่นกัน” 

 

ช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตขึ้นมาแต่ละครั้ง มักจะมีสตาร์ทอัพบางรายที่สามารถเติบโตขึ้นไปเป็นยูนิคอร์น โดยมีจุดเริ่มต้นจากการมองเห็นโอกาสในช่วงวิกฤตว่า สินค้าหรือบริการที่มีอยู่เดิมในตลาดอาจจะไม่ตอบโจทย์อีกแล้ว หรือไม่เหมาะกับสถานการณ์ตอนนั้น ทำให้สินค้าหรือบริการที่สร้างขึ้นมาใหม่มีความต้องการเพิ่มขึ้นมาก 

 

“ในบางสถานการณ์เราจะเห็นว่า ปลาเล็กก็สามารถจะขยายไปกินส่วนแบ่งของปลาใหญ่ได้เช่นกัน” 

 

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของ VC และสตาร์ทอัพ

“ส่วนตัวมองว่า VC มีโอกาสที่ดีขึ้น แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมที่สนใจด้วย เช่น VC ที่เน้นธุรกิจท่องเที่ยว อาจจะมีโอกาสน้อยลงในช่วงนี้ แต่ก็อาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ซื้อในราคาถูก”

 

สำหรับ AddVentures จะเน้นเลือกสตาร์ทอัพที่สามารถเข้าไปเป็น Strategic Partner และต้องการจะลงทุนในมูลค่าที่สูงขึ้น ที่ผ่านมามูลค่าการลงทุนเฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 1 ล้านดอลลาร์ ในระยะถัดไปมูลค่าการลงทุนเฉลี่ยน่าจะอยู่ประมาณ 5-10 ล้านดอลลาร์ 

 

ในภาพรวม ประกิจมองว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัลน่าจะโดดเด่นต่อไปหลังจากนี้ อย่างธุรกิจอีคอมเมิร์ซและธุรกิจบันเทิงที่มีฐานเป็นเทคโนโลยี นอกจากนี้ธุรกิจเฮลท์เทค ไบโอเทค และฟินเทค ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ 

 

“ปัจจุบันผู้คนเริ่มปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีได้เร็วมากขึ้น แม้แต่คุณลุงคุณป้าก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ แม้ว่าธุรกิจเหล่านี้อาจจะไม่ใช่โฟกัสหลักของ AddVentures แต่ก็ยังอยู่ในความสนใจที่เราอาจจะเข้าลงทุนได้ เพื่อนำมาเพิ่มโอกาสทางธุรกิจหรือใช้เป็น Leverage ให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น” 

 

ในมุมความเสี่ยงของการลงทุนในสตาร์ทอัพ ประกิจมองว่า คงต้องเริ่มดูจากภาพรวมอุตสาหกรรมก่อน หากเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงเวลาที่ลำบากก็คงจะต้องเลือกมากขึ้น และหากหาไม่เจอก็ไม่ควรฝืนลงทุน ส่วนกลุ่มที่กำลังเติบโตสูงก็ต้องคอยจับตาดูอยู่ตลอด แม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่เราลงทุนอยู่แล้วก็อาจจะมีอุปสรรคอะไรเข้ามากระทบได้ 

 

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับ ‘การระดมทุน’ ซึ่งเป็น Financial Risk อย่างหนึ่ง โดยทั่วไปแล้วสตาร์ทอัพจะต้องระดมทุนหลายรอบ จึงต้องมองให้ออกว่าบริษัทที่จะสามารถขยับไประดมทุนในซีรีส์ C B หรือ A ต้องมีลักษณะอย่างไร และเราต้องประเมินให้ได้ว่าธุรกิจเหล่านั้นมีศักยภาพที่จะไปถึงจุดนั้นหรือไม่ 

 

ประกิจกล่าวทิ้งท้ายว่า อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของสตาร์ทอัพที่จะประสบความสำเร็จได้เกิดจาก ‘ผู้ประกอบการ’ 

 

“การเป็นผู้ที่เปิดพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง และสามารถที่จะตอบสนองได้รวดเร็ว ต่อให้เราทำผิดพลาด ถ้าเราสามารถจัดการได้เร็ว ก็จะเป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ช่วยให้ธุรกิจเราอยู่รอดได้ ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่มี Dynamic สูงมาก ทั้งจากลูกค้า คู่แข่ง เทคโนโลยี และปัจจัยแวดล้อมที่เราอาจจะควบคุมไม่ได้ รวมถึงความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จตามเป้าหมาย และการมองเห็นว่าตัวเองมีจุดแข็งอะไร และสามารถดึงเอาจุดแข็งเหล่านั้นมาต่อยอดได้มากน้อยแค่ไหน”  

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising