รัฐบาลไทยเพิ่งประกาศใช้พระราชกำหนดการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการประกอบธุรกิจในประเทศไทยที่มีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม 2567’ ในบทความนี้ผมจะชวนคุยว่ากฎหมายฉบับนี้คืออะไร ทำไมไทยต้องออกกฎหมายนี้ และสำคัญที่สุดคือจะเป็นโอกาสในการยกระดับสิทธิประโยชน์เพื่อการลงทุนของไทยได้อย่างไร
กฎหมายฉบับนี้คืออะไร
สาระสำคัญของ พ.ร.ก. ฉบับนี้คือการจัดเก็บ ‘ภาษีส่วนเพิ่มในประเทศ’ หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Qualified Domestic Minimum Top-up Tax (QDMTT) จากบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้ทั่วโลกมากกว่า 750 ล้านยูโร (ประมาณ 2.85 หมื่นล้านบาท) ใน 2 จาก 4 ปีล่าสุด หากบริษัทเหล่านี้เสียภาษีในไทยต่ำกว่า 15% รัฐบาลไทยจะเก็บภาษีเพิ่มจนครบ 15% ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ หากบริษัท A เสียภาษีในไทยเพียง 4% รัฐบาลไทยจะเก็บภาษีเพิ่มอีก 11% เพื่อให้ครบ 15%
ทำไมต้องรีบออกกฎหมายนี้
เพราะหากไทยไม่เก็บภาษีส่วนเพิ่มเอง เงินภาษีส่วนนี้อาจถูกเก็บโดยประเทศแม่ของบริษัทข้ามชาติ ผ่านกลไกที่เรียกว่า Income Inclusion Rule (IIR) หรือถูกเก็บโดยประเทศอื่นๆ ผ่านกลไก Undertaxed Profits Rule (UTPR) จึงเป็นการรักษาสิทธิในการจัดเก็บภาษีของไทยเอง
ที่มาของกฎหมาย: การหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ
ที่มาของกฎหมายฉบับนี้เกิดจากความพยายามแก้ปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติที่สั่งสมมานาน โดยหลายบริษัทระดับโลกมักโยกย้ายกำไรไปยังประเทศที่เก็บภาษีต่ำหรือไม่เก็บภาษีเลย (Tax Havens)
งานวิจัยโดย Torslov, Wier และ Zucman (2018) พบว่า บริษัทลูกของบริษัทข้ามชาติสหรัฐอเมริกาที่ตั้งอยู่ใน Tax Havens มีอัตราส่วนกำไรต่อเงินเดือนพนักงานสูงถึงเกือบ 400% ในขณะที่บริษัทลูกในประเทศอื่นมีอัตราส่วนเพียง 50%
สำหรับประเทศไทย งานศึกษาโดย ศ.ดร. กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ และผม พบว่า บริษัทข้ามชาติในไทยก็มีการโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน (Muthitacharoen and Samphantharak, 2022)
ผลกระทบต่อประเทศไทย
ปัจจุบันไทยมีบริษัทลูกของต่างชาติ (Foreign Subsidiaries) ราว 5,000 บริษัท จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูล Orbis ผมพบว่า ครึ่งหนึ่งเข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม Pillar 2 โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงการคลังคาดว่าจะจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มได้ราว 1 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่เมื่อคิดสุทธิแล้ว รายได้รัฐอาจไม่เพิ่มมากนัก เนื่องจากรัฐบาลคงต้องพิจารณามาตรการเยียวยาบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีเพิ่มนี้ด้วย
อนาคตของนโยบายส่งเสริมการลงทุน
ในระยะสั้น หลายประเทศรวมถึงคู่แข่งอย่างสิงคโปร์และเวียดนาม กำลังพัฒนาเครื่องมือใหม่ในการส่งเสริมการลงทุน โดยปรับเปลี่ยนจากการยกเว้นภาษีตามระยะเวลาที่กำหนด (Tax Holiday) มาเป็นการให้เครดิตภาษีแบบ Qualified Refundable Tax Credits (QRTC) ซึ่งเสมือนเป็นการให้เงินอุดหนุน (Grant) แก่บริษัทโดยตรง ธีมนี้มีข้อดีตามกฎของ OECD คือการนับ Grant เป็นรายได้ของบริษัท แทนที่จะเป็นการลดภาษี จึงช่วยบรรเทาผลกระทบต่ออัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate) ได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม การใช้ QRTC มีความท้าทายสำหรับรัฐบาลไทย เพราะต้องวางแผนจัดสรรงบประมาณสำหรับการอุดหนุนล่วงหน้า
ในระยะยาว การเปลี่ยนจาก Tax Holiday มาเป็น QRTC จะช่วยให้รัฐบาลวางแผนงบประมาณได้ดีขึ้น เพราะรู้จำนวนเงินที่ต้องจ่ายแน่นอน ต่างจาก Tax Holiday ที่ต้นทุนขึ้นอยู่กับผลประกอบการของธุรกิจในอนาคตซึ่งคาดการณ์ได้ยาก ความโปร่งใสนี้จะช่วยให้ทั้งรัฐและภาคประชาชน สาธารณชน สามารถติดตามและประเมินความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณในการส่งเสริมการลงทุนได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ในความเห็นของผม เราควรมอง พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม ให้เป็นมากกว่าการปรับตัวตามกติกาโลก โดยใช้เป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับระบบสิทธิประโยชน์ทางภาษีของไทย จากการแข่งขันด้วยการให้ยกเว้นภาษี มาสู่การสนับสนุนการลงทุนที่มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืนในระยะยาวครับ
ภาพ: IronHeart / Getty Images
อ้างอิง:
- Muthitacharoen, A., & Samphantharak, K. (2022). Multinational tax avoidance and anti-avoidance enforcement: firm-level evidence from developing Asean countries. The Singapore Economic Review, 67(06), 2049-2065.
- Tørsløv, T., Wier, L., & Zucman, G. (2023). The missing profits of nations. The Review of Economic Studies, 90(3), 1499-1534.