×

ADB เตรียมตั้งกองทุนเข้าซื้อโรงไฟฟ้าถ่านหินในอาเซียนเพื่อลดการปล่อยมลพิษ เล็งเริ่มในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

07.10.2021
  • LOADING...
โรงไฟฟ้าถ่านหิน

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) มีแผนจะจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยปิดโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปีหน้า ตามแผนดังกล่าว ADB จะซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินแล้วเข้าไปทำหน้าที่บริหารจัดการ โดยทำงานร่วมกับรัฐบาลและสถาบันการเงินในประเทศนั้นๆ 

 

“ADB กำลังทบทวนนโยบายด้านพลังงานให้สอดคล้องกับการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 โดยเราจะเริ่มจากการหยุดให้เงินทุนสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินใหม่ ขณะเดียวกัน เราจะจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยหยุดโรงไฟฟ้าเหล่านี้ ก่อนที่มันจะครบกำหนดอายุขัย” มาซาสึกุ อะซาคาวา ประธาน ADB ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei

 

อะซาคาวาระบุว่า ADB มีเป้าหมายจะจัดตั้งกองทุนขึ้น 2 กองทุน สำหรับการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าถ่านหินและการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยขณะนี้ ADB ได้เริ่มหารือแผนดังกล่าวกับรัฐบาลและหน่วยงานด้านสาธารณูปโภคของประเทศที่พึ่งพาพลังงานจากถ่านหินในสัดส่วนสูง เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามแล้ว โดยคาดว่ากองทุนแรกจะเปิดตัวในอินโดนีเซีย เพื่อช่วยเร่งความเร็วในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Economy) ของประเทศเกาะขนาดใหญ่แห่งนี้

 

แม้ว่าประธาน ADB จะไม่ได้เปิดเผยขนาดของกองทุน แต่เป็นที่คาดกันว่ากองทุนจะมีขนาดใหญ่ เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยทั่วไปจะมีมูลค่าสูงกว่า 2.7 พันล้านดอลลาร์ต่อโรง ขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตไฟฟ้า โดยคาดว่าการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งแรกจะเกิดขึ้นภายในปี 2022 หรือ 2023

 

“60% ของก๊าซเรือนกระจกในโลกมีต้นกำเนิดจากเอเชีย ซึ่งก๊าซเหล่านี้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ทำให้เกิดภัยพิบัติตามมา ADB จึงมีแผนจะใช้เงิน 8 หมื่นล้านดอลลาร์ ลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างปี 2019-2030” อะซาคาวากล่าว

 

อะซาคาวากล่าวอีกว่า ปกติโรงไฟฟ้าถ่านหินจะถูกออกแบบมาให้มีอายุการใช้งานราว 30-40 ปี โดย ADB คาดหวังว่าแผนการจัดตั้งกองทุนเพื่อเข้าซื้อโรงไฟฟ้าถ่านหินจะช่วยปิดโรงไฟฟ้าที่สร้างมลภาวะเหล่านี้ได้ล่วงหน้า 5-10 ปี ก่อนที่มันจะหมดอายุขัย

 

ข้อมูลจาก International Energy Agency ระบุว่า 40% ของพลังงานที่ใช้อยู่บนโลกในปัจจุบันมีที่มาจากถ่านหิน โดยสัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 60% ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หน่วยงานดังกล่าวยังประเมินด้วยว่า หากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม แทนที่ครึ่งหนึ่งของจำนวนโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศเหล่านี้จะลดลงราว 200 ล้านตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการนำรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน 61 ล้านคันออกจากท้องถนน

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X