×

นักกิจกรรมชายแดนใต้ยื่น กมธ.ความมั่นคงฯ หลังถูกแม่ทัพภาค 4 ฟ้อง ก้าวไกลห่วงส่งผลเสียต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ

โดย THE STANDARD TEAM
17.01.2024
  • LOADING...

วันนี้ (17 มกราคม) ที่อาคารรัฐสภา นักกิจกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เพื่อร้องเรียนกรณีที่แม่ทัพภาคที่ 4 ฟ้องร้องดำเนินคดีนักกิจกรรมในพื้นที่ ทั้งกรณีการสวมชุดมลายูและการจัดกิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ โดยมี รังสิมันต์ โรม และ รอมฎอน ปันจอร์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นตัวแทนคณะกรรมาธิการฯ เข้ารับหนังสือร้องเรียนดังกล่าว

 

รัฐคิดกรอบความมั่นคงแบบเดิม ได้ผลแบบเดิม

 

รังสิมันต์ระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้ารัฐยังใช้วิธีคิดภายใต้กรอบความมั่นคงแบบเดิมก็คงจะได้ผลแบบเดิม ที่ผ่านมาแม้ตนและเพื่อน สส. จากหลายพรรค จะได้ทำหน้าที่ผู้แทนเป็นปากเป็นเสียงอย่างเต็มที่แล้ว แต่ลำพังกลไกรัฐสภาอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ภาคประชาชนหลายฝ่ายก็พยายามทำทุกวิถีทางในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าวิธีคิดที่ผ่านมาของรัฐอาจทำให้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้

 

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ ซึ่งมี สส. จากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายคนและมีตัวแทนจากหลายพรรคการเมือง ได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยในวันที่ 25 มกราคมนี้ จะมีการประชุมกันในประเด็นการใช้กฎหมายและการคุกคามต่อทั้งนักกิจกรรมและประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งตนหวังว่าจะมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึง กอ.รมน. เข้าร่วมด้วย เพื่อนำไปสู่การหาทางออกร่วมกันได้

 

“ยืนยันว่าเราอยากเห็นสันติภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จริง การแก้ปัญหาต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ซึ่งเราหวังว่าจะเป็นสะพานในการแก้ปัญหาที่ประชาชนได้รับความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด” รังสิมันต์กล่าว 

 

ความมั่นคงไม่ใช่การทหาร แต่ไปไกลกว่า

 

ขณะที่รอมฎอนระบุว่า ความน่าสนใจของกรณีนี้คือ นิยามของคำว่า ‘ความมั่นคง’ ควรครอบคลุมกว้างแค่ไหน โดยขณะนี้คณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ ไม่ได้ดูแค่เรื่องของการทหารหรือความมั่นคงในแบบจารีตเท่านั้น แต่เราดูไปไกลกว่านั้น ซึ่งรวมถึงการสร้างสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ดังนั้นรัฐต้องมีนิยามเกี่ยวกับความมั่นคงใหม่ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงและเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น

 

“จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากมิติของการดำเนินคดีแล้ว ยังมีผลกระทบในทางการเมืองและนโยบายการสร้างสันติสุขของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลต่อผู้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมากมาย ดังนั้นสภาผู้แทนราษฎรควรจะได้เป็นพื้นที่ในการพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน เราอาจจะได้นิยามความหมายใหม่ของคำว่าความมั่นคงที่เป็นธรรมต่อประชาชนมากขึ้น” รอมฎอนกล่าว

 

กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า แจง ฟ้องไม่ใช่เพราะสวมชุดมลายู มีแอบแฝงธง BRN 

 

เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา พ.อ. เอกวริทธิ์ ชอบชูผล โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า หรือ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงกรณีสื่อสังคมออนไลน์นำเสนอประเด็นเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหาเกี่ยวกับการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมแต่งกายชุดมลายทุกปีตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมาติดต่อกัน 4 ปี ที่มองว่าการดำเนินคดีอาญาข้อหาความมั่นคง ปิดกั้นการรวมกลุ่มต่อนักกิจกรรมในพื้นที่ความขัดแย้งในลักษณะกลั่นแกล้งให้ตกเป็นจำเลยในคดีอาญานั้นว่า 

 

การออกหมายเรียกไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการแต่งกายชุดมลายู เพราะการแต่งกายชุดมลายูถือเป็นการส่งเสริมอัตลักษณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการออกหมายเรียกกรณีการรวมกลุ่มของนักจัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 4 และ 10 พฤษภาคม 2565 ซึ่งกลุ่มเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ร่วมชุมนุมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ภายใต้หัวข้อ ‘เยาวชนคือความหวังแห่งสันติภาพ’ ณ หาดวาสุกรี เขตเทศบาลตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

 

เนื่องจากมีกิจกรรมแอบแฝงและมีธง BRN ปรากฏอยู่ในกิจกรรม รวมทั้งมีการปลุกปั่นยุยงผ่านบทกวีที่มีการแสดงออกและสื่อความหมายได้ว่า เป็นถ้อยคำปลุกระดมให้กลุ่มเยาวชนยอมสละชีวิตต่อสู้เพื่อชาติมลายู เป้าหมายคือแยกออกเป็นประเทศเดียวหรือประชาชาติเดียว ให้กลุ่มเยาวชนต่อสู้ ชูธงปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง อันเป็นการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเอกราช ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้

 

ทั้งนี้ การออกหมายเรียกดังกล่าวจึงไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการแต่งกายชุดมลายู ขอให้อย่ามีการบิดเบือนข้อมูลใดๆ เพื่อหวังผลทางการเมือง และทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงดังกล่าวที่เกิดขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันว่า กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ได้สนับสนุนและส่งเสริมความงดงามของวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของภาษา อาหาร หรือการแต่งกายที่สะท้อนให้เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการสืบสานวัฒนธรรม และถือเป็นอัตลักษณ์ที่งดงาม อันเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญเร่งด่วนของแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าทุกท่าน ที่ผ่านมาโดยตลอด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X