×

นักเคลื่อนไหวชี้ รัฐบาลทหารเมียนมากำลังสั่นคลอน ร้องผู้นำอาเซียนช่วยแก้ไขวิกฤตขัดแย้ง ‘จริงจังมากขึ้น’

11.11.2022
  • LOADING...

กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนวิเคราะห์สถานการณ์ในเมียนมา โดยชี้ว่ารัฐบาลทหารกำลังสั่นคลอนและอาจไม่รอดพ้นถึงปีหน้า ในขณะที่เรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนซึ่งกำลังร่วมการประชุมที่กรุงพนมเปญของกัมพูชา ให้จริงจังกับการช่วยแก้ไขวิกฤตในเมียนมามากขึ้น และอย่าเก่งแค่การ ‘ตีกอล์ฟ’ หรือ ‘ออกแถลงการณ์’

 

สำนักข่าว Al Jazeera รายงานความเห็นจากนักวิเคราะห์และกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่ติดตามสถานการณ์ในเมียนมา พบว่าปัจจุบันกลุ่มคนหนุ่มสาวทั่วเมียนมาที่พยายามออกมาต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลทหาร กำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกสังหาร เช่นเดียวกับกรณีของ ซอว์ ตุน โม (Saw Tun Moe) ครูสอนคณิตศาสตร์ชายวัย 46 ปี ที่พบเป็นศพถูกตัดศีรษะ หลังถูกกองทัพเมียนมาจับกุมจากการเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร และให้ความช่วยเหลือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) ในการบริหารโรงเรียนหลายแห่ง

 

ขณะที่กองทัพเมียนมายังพยายามไล่ล่าและสังหารกลุ่มต่อต้านด้วยวิธีการอันโหดเหี้ยม ทั้งเผาหมู่บ้าน ทิ้งระเบิดโจมตีโรงเรียนและโรงพยาบาล หรือแม้แต่สถานที่จัดคอนเสิร์ต ซึ่งกลุ่มเคลื่อนไหวมองว่าเป็นการกระทำร้ายแรง เทียบได้กับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าการรัฐประหารของกองทัพเมียนมาตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา กำลังเผชิญความสั่นคลอน และรัฐบาลทหารอาจไม่รอดพ้นปี 2023

 

นักวิเคราะห์ชี้ว่า เมียนมาไม่เคยเจอกับความรุนแรงในระดับนี้ นับตั้งแต่การต่อสู้เพื่อเอกราชในปี 1948 ซึ่งความขัดแย้งได้แพร่กระจายไปถึงพื้นที่ที่สงบสุขมานาน เช่น เมืองมะกเว ในแถบที่ราบทางภาคกลางติดแม่น้ำอิรวดี ที่รู้จักในชื่อ Dry Zone

 

โดยโครงการข้อมูลสถานที่และเหตุการณ์ความขัดแย้งติดอาวุธ (Armed Conflict Location and Event Data Project: ACLED) ซึ่งสำรวจวิกฤตความขัดแย้งทั่วโลก ชี้ว่ากองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) จำนวนกว่า 600 คน กำลังต่อสู้กับกองทัพเมียนมาใน Dry Zone โดยมีการใช้ระเบิดและยุทธวิธีที่มุ่งเป้าลอบสังหาร รวมถึงซุ่มโจมตีขบวนรถกองทัพ

 

และแม้ว่ากองทัพเมียนมาจะใช้วิธีการปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดและต่อเนื่อง แต่ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีมานี้ พบว่ามีพื้นที่ทั่วประเทศเพียงประมาณ 17% ที่กองทัพสามารถควบคุมได้อย่างมีเสถียรภาพ

 

“การต่อต้านด้วยอาวุธซึ่งได้รับการสนับสนุนจากขบวนการไม่นิยมความรุนแรง กำลังแพร่หลายมากจนกองทัพเสี่ยงต่อการสูญเสียการควบคุมดินแดน ไม่ว่าที่ไหนก็ตามที่ไม่สามารถจัดส่งทรัพยากรเพื่อปกป้องได้อย่างแข็งขัน” กลุ่มผู้เชี่ยวชาญสิทธิมนุษยชนของสภาที่ปรึกษาพิเศษแห่งเมียนมา (Special Advisory Council for Myanmar) กล่าวในรายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน

 

“ตั้งแต่ตอนเหนือของรัฐกะฉิ่นลงไปทางใต้ของตะนาวศรี และจากทางตะวันตกของรัฐชินที่มีพรมแดนติดกับอินเดีย ไปจนถึงรัฐกะเหรี่ยงทางตะวันออกที่มีพรมแดนติดกับไทย พบว่ากองทัพเมียนมาไม่ได้ขยายข้ามแนวรบมากมายขนาดนี้ นับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1940”

 

โดยสภาที่ปรึกษาพิเศษดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยอดีตผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติในเมียนมา ยังให้ความเห็นถึงขั้นยืนยันว่า “รัฐบาลทหารอาจจะไม่รอดพ้นปี 2023 เว้นแต่จะมีบางสิ่งที่เปลี่ยนแปลงวิถีปัจจุบันไปอย่างมาก”

 

ทั้งนี้ สถานการณ์ขัดแย้งในเมียนมายังคงมีการสู้รบอย่างดุเดือดทั่วประเทศ และเป็นเหตุความขัดแย้งที่ตึงเครียดรองมาจากสงครามยูเครน

 

อย่างไรก็ตาม ในการอภิปรายเกี่ยวกับอนาคตของเมียนมา พบว่ากลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนยังมองว่าประชาคมระหว่างประเทศล้มเหลวในการสนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ 

 

โดยกลุ่มเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน ALTSEAN ยังเรียกร้องให้ที่ประชุมผู้นำอาเซียนเอาจริงเอาจังมากขึ้นในการช่วยแก้ไขวิกฤตในเมียนมา

 

“พวกคุณจะเก่งแค่การตีกอล์ฟและออกแถลงการณ์เท่านั้นหรือ?” เด็บบี สโตทาร์ด (Debbie Stothard) ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ALTSEAN กล่าว พร้อมทั้งชี้ว่า วิกฤตการณ์ในเมียนมาถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดปัญหาหนึ่งต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของมนุษย์และความมั่นคงทางเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่ถึงกระนั้น อาเซียนก็ยังทำไม่ได้เท่า 1 ใน 10 ของสิ่งที่สหภาพยุโรปได้ทำเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตในยูเครน

 

ภาพ: STR / AFP

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X