×

รวมพลังประชาชาติไทย ประกาศจุดยืนค้านร่าง รธน. ใหม่ทั้งฉบับ ย้ำ รธน. ปี 60 มีความชอบธรรม

โดย THE STANDARD TEAM
16.11.2020
  • LOADING...
พรรครวมพลังประชาชาติไทย

วันนี้ (16 พฤศจิกายน) ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย พร้อมด้วย เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ โฆษกพรรค ออกแถลงการณ์ของพรรครวมพลังประชาชาติไทยถึงจุดยืนร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลายฉบับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนศกนี้ ดังนี้

 

ข้อ 1 เราขอเริ่มด้วยประเด็นความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับอยู่ในปัจจุบัน เรามักได้ยินฝ่ายนั้นฝ่ายนี้กล่าวกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่จัดทำขึ้นภายใต้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำ โดยได้อำนาจมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร

 

ดังนั้นจึงเป็นรัฐธรรมนูญที่น่ารังเกียจ ควรต้องถูกล้มเลิกไป โดยจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้แทน เราเห็นว่าจุดเริ่มต้นหรือที่มาในการจัดทำรัฐธรรมนูญไม่ใช่ประเด็นชี้ขาดความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ เพราะแม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่คณะราษฎรจัดทำขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยใน พ.ศ. 2475 ก็ก่อกำเนิดมาจากการยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์ของกลุ่มทหารและพลเรือนผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเช่นกัน

 

การพิจารณาความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาที่เนื้อหาสาระทั้งมวลที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และโอกาสของประชาชนทั้งประเทศที่ได้พิจารณาให้การรับรองหรือไม่รับรองรัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ โดยการลงประชามติอย่างอิสรเสรีตามครรลองแห่งระบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นที่ทราบกันแล้วว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นี้ได้มีประชาชนลงมติเห็นชอบด้วยเสียงข้างมากเป็นจำนวนเกือบ 17 ล้านเสียง ซึ่งย่อมต้องถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการสถาปนาโดยประชาชน จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมอย่างบริบูรณ์

 

การที่บุคคลคณะหนึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอันเนื่องจากคุณวุฒิ ประสบการณ์ และความรู้ทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆ เป็นแนวทางปฏิบัติอันเป็นปกติ แม้แต่หากจะมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นก็มิใช่ว่า สสร. แต่ละคนจะร่วมกันเป็นผู้ร่างบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญขึ้นเอง หากแต่จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการยกร่าง ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทำนองเดียวกับที่ได้กล่าวมาแล้วให้เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญอยู่ดี

 

ข้อ 2 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอโดยพรรคการเมืองฝ่ายค้านและฉบับที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล อันถือว่าเป็นฉบับหลักสำคัญ 2 ฉบับซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญคล้ายคลึงกันคือแก้ไขมาตรา 256 ในอันที่จะทำให้วิธีการและขั้นตอนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ง่ายขึ้นกว่าบทบัญญัติที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน กับการเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำธรรมนูญฉบับใหม่ โดยจะให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและให้ สสร. เป็นผู้เข้ามาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นทั้งฉบับ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับอยู่ในเวลานี้มีหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความหมายชัดอยู่ในตัวให้มีการแก้ไขหรือเพิ่มเติมเป็นบางส่วน บางหมวด บางมาตราเท่านั้น ไม่ใช่การล้มเลิกฉบับเดิมแล้วจัดทำใหม่ทั้งฉบับ (แม้ในร่างฉบับใหม่ที่เขียนไว้ขัดแย้งกันในตัวว่าจะไม่แก้ไขเพิ่มเติม หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ซึ่งหากจะไม่แตะต้องทั้งสองหมวดดังกล่าวจริงแล้ว เหตุใดจะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ)

 

อนึ่ง การที่จะล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมแล้วให้ สสร. ดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยประชาชนทั่วไปไม่อาจคาดคิดได้ว่าโฉมหน้าของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะปรากฏออกมาเป็นเช่นใด ก็เปรียบเสมือนประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเซ็นเช็คฉบับว่างเปล่ามอบให้แก่ตัวแทนไปเขียนตัวเลขจำนวนเงินเอาเองตามอำเภอใจ ซึ่งจะเป็นรูปการณ์ที่เป็นอันตรายและสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง ในเมื่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีความชอบธรรมจากการลงประชามติของประชาชน 

 

ดังกล่าวในข้อ 1 แล้ว หากจะเสนอให้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนั้นด้วยการจัดทำใหม่ทั้งฉบับตามร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอเข้าสู่รัฐสภาในครั้งนี้เพื่อความชอบธรรมและด้วยจิตวิญญาณแห่งระบบประชาธิปไตยดังที่มักกล่าวอ้างกันอยู่ ก็ควรถามประชาชนเป็นเบื้องต้นด้วยการเสนอหลักการสำคัญให้มีการลงประชามติเสียก่อนว่าจะเห็นชอบให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

 

ข้อ 3 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีบทบัญญัติอันดีงามอยู่นานาประการ อันมีความมุ่งหมายเพื่อการแก้ไขและป้องกันปัญหาเลวร้ายทางการเมืองและสังคมที่ผ่านมาเป็นบทเรียนให้เกิดการพัฒนา สร้างกรอบทางกฎหมายขึ้น ได้แก่ ระบบการเลือกตั้งที่ป้องกันปัญหาเผด็จการเสียงข้างมากหรือเผด็จการทางรัฐสภา การป้องกันและขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบในแวดวงการเมืองและในระบบบริหารราชการแผ่นดิน การมีบทบัญญัติบังคับภาครัฐดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างทั่วด้าน (แม้ขณะนี้จะยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน แต่การปฏิรูปก็อยู่ในกระบวนการดำเนินการทั้งสิ้น หากภาครัฐไม่ดำเนินการก็จะเป็นการมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญบังคับให้ต้องดำเนินการ) หากจะมีการสนใจศึกษาบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อย่างถ่องแท้จะเห็นเนื้อหาสาระอันทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง แต่ที่เห็นปรากฏการณ์วิพากษ์วิจารณ์ตำหนิติเตียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ก็เป็นเพียงบทบัญญัติบางมาตรา ได้แก่

 

มาตรา 272 ที่สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิในการออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งเป็นเพียงบทเฉพาะกาลที่ใกล้จะสิ้นผลลงในไม่ช้านี้แล้ว เป็นต้น หากจะมีการแก้ไขบทบัญญัติที่ไม่พึงปรารถนาของภาคส่วนทางการเมืองก็ย่อมจะกระทำได้เป็นรายหมวด รายมาตรา หามีเหตุอันสมควรจะต้องล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แล้วจัดทำฉบับใหม่ขึ้นมาแทนแต่อย่างใดไม่

 

ข้อ 4 รัฐสภาเป็นองค์กรแห่งอำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นเสาหลัก 1 ใน 3 เสาแห่งอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย การดำเนินการใดๆ ของสมาชิกรัฐสภา อันได้แก่ การตราหรือการแก้ไขกฎหมายใดๆ จะต้องกระทำภายใต้หลักแห่งนิติรัฐและนิติธรรม ไม่พึงกระทำเพียงเพื่อตามกระแสหรือเพื่อหวังบรรเทาแรงกดดันอันปราศจากความชอบธรรมอย่างแท้จริงเพื่อให้ผ่านสถานการณ์ช่วงหนึ่งไปเท่านั้น

 

พรรครวมพลังประชาชาติไทยยืนหยัดคัดค้านการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X