วันนี้ (13 พฤษภาคม) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานว่า สำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบข้อกฎหมายเกี่ยวกับคำสั่งให้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกจากราชการไว้ก่อน โดยให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก่อนจะให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ตามขั้นตอนต่อไปนั้น
พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าวว่า กระบวนการยื่นให้กฤษฎีกาตีความคำสั่งนั้นคิดว่าจะต้องมีการประชุมหรือซักถามกันอย่างละเอียดรอบคอบก่อน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการตามมาตรา 140 พระราชบัญญัติสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2565 ซึ่งเป็นขั้นตอนเกี่ยวกับนำความกราบบังคมทูลฯ เป็นขั้นตอนตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม จะให้กฤษฎีกาตีความหรือไม่อย่างไรนั้นตอนนี้ตนเองยังไม่ทราบ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงขั้นตอนการยื่นกฤษฎีกา พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ตำรวจ มาตรา 140 โดยส่งไปให้สำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณา กระบวนการหลังจากนั้นคิดว่าเป็นเรื่องของสำนักนายกรัฐมนตรีที่จะดำเนินการ ตร. จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว
และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติเคยยื่นเรื่องให้กฤษฎีกาตีความคำสั่งให้นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ออกจากราชการมาก่อนหรือไม่นั้น พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ ยอมรับว่าเป็นครั้งแรก เท่าที่ทราบที่ผ่านมายังไม่เคยเห็น และยืนยันว่าหากมีการหารือกับทางกฤษฎีกาก็จะต้องมีการแจ้งผลไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย ทั้งนี้ โดยหลักการแล้วหากมีปัญหาในประเด็นข้อกฎหมายก็สามารถหารือกับกฤษฎีกาได้
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ได้ส่งสำนวนคดีที่ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์พนันออนไลน์ตามที่ ษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม ได้ส่งพยานหลักฐานให้ตรวจสอบก่อนหน้านี้ไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้วนั้น
พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ตนเองก็ได้ยินมาเช่นกัน แต่ยังไม่ทราบเนื้อหาหรือยังไม่เห็นเอกสารหลักฐาน โดยเรื่องดังกล่าวเป็นการพิจารณาของพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดี ซึ่งจะส่งสำนวนไปยัง ป.ป.ช. ได้ หากพบว่าเข้าเงื่อนไขตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. ไม่ต้องผ่านดุลพินิจของตนเองในฐานะรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่พนักงานสอบสวนจะต้องรายงานมาที่ตนเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้รับทราบอยู่แล้ว
และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องคดีความของสองนายพลจะจบลงเมื่อใด พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าวว่า อยากให้ไปสอบถามกับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีดู ส่วนตัวก็เข้าใจว่าอยากทราบความคืบหน้า แต่คิดว่าตัวเองก็อยากทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจริงๆ
ส่วนกระบวนการตรวจสอบฝ่ายใดจะเป็นอย่างไร ก็ปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอนและเป็นไปตามกระบวนการของคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้พิจารณา ตนเองไม่ขอเข้าไปยุ่งเกี่ยวในความขัดแย้งกับใคร
“ขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังก้าวไปสู่มิติของการเปลี่ยนแปลง ที่จะต้องนำความศรัทธาและเชื่อมั่นกลับมา” พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าว