×

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เปิดแฟ้มแฉวงจรโกง ‘ที่ดิน-ผืนป่า’

โดย THE STANDARD TEAM
06.06.2024
  • LOADING...
ที่ดิน-ผืนป่า

วันนี้ (6 มิถุนายน) มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้เขียนบทความเผยแพร่ผ่านเพจ Mana Nimitmongkol และเพจ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ถึงปัญหาการบุกรุกป่าคราวละนับร้อยนับพันไร่มาทำโรงแรม รีสอร์ต โรงงาน และบ้านพักตากอากาศ เช่น ที่ดินรถไฟเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์, สนามกอล์ฟและสนามแข่งรถที่เขาใหญ่, ฟาร์มเป็ด จังหวัดราชบุรี, การออก ส.ป.ก. ทับที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ รวมทั้งการบุกรุกหาดยามู จังหวัดภูเก็ต ฯลฯ ที่เป็นคดีครึกโครมระดับชาติจำนวนมากนั้น เจาะลึกลงไปแล้วมาจากความอ่อนแอของกลไกรัฐที่เอื้อให้เกิดห่วงโซ่คอร์รัปชัน หรือวงจรโกงซ้ำแล้วซ้ำอีก และหาจุดสิ้นสุดยาก เพราะเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับเป็นตัวการสำคัญในทุกขั้นตอน ดังที่ ป.ป.ช. ระบุว่า คดีทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนพฤติกรรมของผู้ว่าราชการจังหวัด, รองผู้ว่าฯ, ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามด้วยเจ้าหน้าที่ที่ดิน และ ส.ป.ก.

 

ทั้งนี้บทความดังกล่าวได้เปิดเผยให้เห็นเส้นทางโกงจากคดีบุกรุกหาดยามู จังหวัดภูเก็ต ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาว่า เริ่มจากกลุ่มนายทุนซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างชาติชี้เป้าที่ดินหรือป่าสงวนแห่งชาติที่ต้องการ และจ่ายเงินให้กลุ่มผู้ดำเนินการหรือผู้ประสานงานไปหาทางออกโฉนดที่ดินแปลงนั้น แล้วขบวนการสมคบคิดก็เริ่มต้นโดยทุกคนที่เกี่ยวข้องต่อไปนี้ต้องมาวางแผนรับรู้ร่วมกัน

 

ได้แก่ ยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดิน โดยเจ้าหน้าที่ที่ดินจะออกทำรังวัดและแจ้งให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงมารับรองแนวเขต ในกรณีนี้เป็นที่ป่าสงวนฯ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่รับผิดชอบเขตดังกล่าวออกจดหมายแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ที่ดินด้วยข้อมูลเท็จว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่นอกเขตป่าสงวนฯ และจดหมายนั้นกลายเป็นสารตั้งต้นไปจนจบกระบวนการออกโฉนด

 

ขั้นตอนนี้มักมีการสอบยืนยันข้อมูลการใช้ที่ดินจากฝ่ายปกครองในท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านด้วย ในการออกสำรวจรังวัดในสถานที่ เจ้าหน้าที่ที่ดินและนายช่างรังวัดพร้อมแผนที่และอุปกรณ์ย่อมต้องเห็นสภาพแท้จริง แต่ก็ไม่บันทึกข้อมูลหรือตั้งข้อสังเกตว่าที่ดินแปลงนั้นอาจอยู่ในเขตป่าสงวนฯ หรือไม่ แล้วจัดทำเอกสารตามขั้นตอนในสำนักงานที่ดิน ก่อนส่งเรื่องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอน เนื่องจากเป็นที่ดินไม่มีเอกสารแจ้งการครอบครอง (เช่น ส.ค.1, น.ส.3) จึงส่งเรื่องกลับไปยังเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อออกโฉนด

 

“ขั้นตอนมากมายนี้ กลุ่มผู้ดำเนินการเป็นผู้เดินเรื่องทั้งสิ้น ในขณะที่กลุ่มนายทุนมีหน้าที่จ่ายเงิน ลงนามทำนิติกรรม แล้วรอรับโฉนดสกปรกไปนอนกอด เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนที่กล่าวถึงนี้ต่างได้รับเงินใต้โต๊ะก้อนใหญ่ทุกครั้ง โดยรับรู้กันว่างานใหญ่มูลค่าสูงมักมีผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ร่วมรับผลประโยชน์ด้วย” มานะกล่าว

 

นอกเหนือจากปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐเป็นตัวการสำคัญในทุกห่วงโซ่คอร์รัปชันแล้ว มีหลายสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าระบบการจัดการที่ดินของภาครัฐขาดประสิทธิภาพอย่างยิ่งและเป็นระบบที่อ่อนแอ เพราะมีหน่วยงานรัฐที่มีที่ดินอยู่ในความดูแลมากถึง 10 หน่วยงาน ต่างก็มีอำนาจและผลประโยชน์ของตนตามกฎหมาย 12 ฉบับ ใครที่มีช่องทาง มีโอกาส มีอำนาจที่ไหน ก็ไปวิ่งเต้นเส้นสายที่นั่น ประกอบด้วย

 

  1. กรมที่ดิน เช่น ที่ดินมีโฉนด, น.ส.3, น.ส.3 ก., ใบจอง, น.ส.ล.
  2. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เช่น อุทยานแห่งชาติ, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
  3. กรมธนารักษ์ เช่น ที่ดินทหาร, ที่ดินสงวนไว้ใช้ในราชการ, ที่ราชพัสดุ
  4. สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เช่น เอกสาร ส.ป.ก. 4-01, โฉนดเพื่อการเกษตร
  5. กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เช่น การออกเอกสาร น.ค.1, น.ค.3 ให้สมาชิกนิคมสหกรณ์
  6. กรมทางหลวง เช่น ที่ดินในเขตทางหลวง
  7. กรมป่าไม้ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ, ป่าคุ้มครอง
  8. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น ป่าชายเลน, ป่าพรุ, ป่าบก
  9. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เช่น ที่ดินในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
  10. กรมพัฒนาที่ดิน เช่น ที่ดินตามโครงการพัฒนาปรับปรุงของรัฐ

 

มานะยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า แม้ทุกหน่วยงานที่ครอบครองที่ดินจะมีอำนาจดำเนินคดีกับผู้บุกรุกแล้ว ยังมีอีก 3 หน่วยงานกลาง คือ ป.ป.ช. กรณีคดีมีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมด้วย หรือหากเป็นคดีใหญ่ ซับซ้อน หรือประชาชนสนใจมาก และไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง ก็จะเป็นอำนาจของดีเอสไอ และยังมี ปปง. อาจร่วมทำคดี เพื่อยึดที่ดินแปลงที่มีประเด็นใดก็ตาม

 

แต่หลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า ทำไมอัยการจึงสั่งไม่ฟ้องคดีประเภทนี้จำนวนมากที่ส่งมาจาก ป.ป.ช. ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ต้นตอจึงจำเป็นที่รัฐจะต้องจัดการเรื่องระบบข้อมูลที่ดินใหม่ไม่ให้เกิดการโต้แย้งกันระหว่างหน่วยงาน มีการรวมศูนย์ข้อมูลแล้วเปิดเผยประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการผืนป่า น่าจะเป็นความหวัง เพราะประเทศไทยมีที่ดินจำกัด และควรให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสมบัติสาธารณะ

 

ภาพ: Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X