×

แก้ปัญหาสังคม เพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน ภารกิจหลักของ ACE โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแห่งอนาคต

โดย THE STANDARD TEAM
20.01.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • หนึ่งในผู้เล่นรายสำคัญของธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกที่มุ่งหน้าไปสู่ความยั่งยืนคือ ACE หรือบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) ที่ใช้วิสัยทัศน์ในการมองอนาคตอย่างรอบด้าน จึงนำพาให้ ACE กลายเป็นผู้นำธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลของประเทศไทยในปัจจุบัน และกำลังจะเพิ่มบทบาทอย่างมากต่อทิศทางพลังงานของประเทศในอนาคตอันใกล้และในระยะยาว
  • แม้จุดเริ่มต้นจะมาจากการแก้ปัญหาวัสดุเหลือใช้จากการผลิต แต่ถึงอย่างนั้นโรงไฟฟ้าชีวมวล ACE กลับไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะบริษัทยังมองไกลไปถึงความยั่งยืนในอนาคต ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีที่ผ่านการคิดค้นและพัฒนานับแรมปี เพื่อให้โรงไฟฟ้าสามารถรองรับเชื้อเพลิงแบบผสมผสานความชื้นสูงได้ถึง 65% 
  • ปัจจุบัน ACE มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 14 โครงการ ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย โดยมีกำลังผลิตติดตั้งรวม  212.18 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา รวมถึงอยู่ระหว่างรอการพัฒนาอีก 19 โครงการ ตั้งเป้าขยายการผลิตรวมเป็นมากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2024

โลกในยุค 2020 ที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเทรนด์ที่กำหนดทุกสิ่ง ธุรกิจพลังงานถูก Disrupt อย่างหนักจากกระแสความยั่งยืน ยุคที่โลกเคยพึ่งพาพลังงานฟอสซิลกำลังจะกลายเป็นอดีต แหล่งพลังงานทางเลือกใหม่ๆ กำลังเข้ามาแทนที่ และกลายเป็นถนนสายหลักที่ทุกประเทศกำลังมุ่งหน้าไปสู่ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยเอง

 

หนึ่งในธุรกิจที่เรียกได้ว่ากำลังร้อนแรงและถูกจับตามองเป็นอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมาคือ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ที่นับวันยิ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางพลังงานของประเทศ ชี้วัดได้จากนโยบายรัฐที่พยายามส่งเสริมเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น ขณะที่มีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้เพิ่มมากขึ้น พร้อมๆ ไปกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของผู้ประกอบการที่บุกเบิกเส้นทางนี้มาอย่างยาวนาน 

 

หนึ่งในผู้เล่นรายสำคัญของธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกที่มุ่งหน้าไปสู่ความยั่งยืนคือ ACE หรือบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) ที่ริเริ่มธุรกิจนี้อย่างจริงจังในวันที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมยังเป็นเรื่องไกลตัว แต่ด้วยวิสัยทัศน์ในการมองอนาคตอย่างรอบด้าน จึงนำพาให้ ACE กลายเป็นผู้นำธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลของประเทศไทยในปัจจุบัน และกำลังจะเพิ่มบทบาทอย่างมากต่อทิศทางพลังงานของประเทศในอนาคตอันใกล้

 

 

จาก ‘ปัญหา’ สู่ ‘โอกาส’ กำเนิดธุรกิจใหม่ในวิถีทางแห่งความยั่งยืน

ย้อนกลับไปในวันที่พลังงานทางเลือกยังคงเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยเมื่อหลายปีที่แล้ว ‘กลุ่มทรงเมตตา’ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ACE ในเวลานั้นถือเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้ปลูก โดยมีสินค้าสำคัญที่เป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทอย่างไม้อัดแข็งความหนาแน่นสูง (Hardboard) รวมถึงไม้สับ (Wood Chip) โดยทำงานร่วมกับเกษตรกรทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชโตเร็วรองรับคำสั่งซื้อที่หลั่งไหลมาจากทั่วโลก

 

 

เมื่อเนื้อไม้เป็นวัตถุดิบ สิ่งที่เหลือกองทิ้งไว้นอกโรงงานคือ ‘เปลือกไม้’ ไร้ประโยชน์ที่ยากจะกำจัดทิ้ง ซึ่งตอนนั้นเองที่ธุรกิจใหม่อย่างโรงไฟฟ้าชีวมวล ACE ถือกำเนิดขึ้น เพื่อแปรเปลี่ยนสิ่งที่ไร้ค่าให้กลายเป็นไฟฟ้าสร้างรายได้

“จริงๆ แล้วโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่ใช่ธุรกิจใหม่สำหรับเรา เพราะตั้งแต่สมัย 40 ปีที่แล้ว เราเคยสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่ 2 ของประเทศไทย เพื่อจัดการปัญหาแกลบที่เหลือทิ้งจากธุรกิจส่งออกข้าว ก่อนที่จะพัฒนารูปแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลด้วยเทคโนโลยีใหม่เพื่อจัดการกับเปลือกไม้ที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากการผลิต Wood Chip” ธีรวุฒิ ทรงเมตตา กรรมการบริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) บอกเล่าถึงที่มาของโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ACE

 

 

แม้จุดเริ่มต้นจะมาจากการแก้ปัญหาวัสดุเหลือใช้จากการผลิต แต่ถึงอย่างนั้นโรงไฟฟ้าชีวมวล ACE กลับไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะบริษัทยังมองไกลไปถึงความยั่งยืนในอนาคต ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีที่ผ่านการคิดค้นและพัฒนานับแรมปีเพื่อให้โรงไฟฟ้าสามารถรองรับเชื้อเพลิงแบบผสมผสาน (Mixed-fuel) และรองรับความชื้นสูงได้ถึง 65% ในขณะที่โรงไฟฟ้าชีวมวลทั่วไปอาจรองรับเชื้อเพลิงที่มีค่าความชื้นได้ไม่เกิน 40% เท่านั้น จากจุดเด่นดังกล่าวทำให้โรงไฟฟ้าชีวมวล ACE สามารถตั้งอยู่ได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อรองรับเชื้อเพลิงที่มาจากวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรที่หลากหลาย ตั้งแต่ฟางข้าว ใบอ้อย ต้นข้าวโพด เปลือกข้าวโพด ต้นมันสำปะหลัง ไปจนถึงพืชโตเร็วที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์เพื่อนำมาผลิตเชื้อเพลิงโดยเฉพาะ 

 

 

“โจทย์ตั้งต้นของเราคือโรงไฟฟ้าที่สามารถใช้เชื้อเพลิงที่หลากหลายจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย เพราะเราไม่ได้มองว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าแค่โรงเดียว แต่เราอยากให้โรงไฟฟ้าของเราสามารถตั้งอยู่ได้ในทุกพื้นที่ และสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยเลือกหมุนเวียนใช้เชื้อเพลิงที่มีมากในแต่ละฤดูกาล เพื่อจะได้ผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์โดยไม่หยุด ซึ่งต่างจากโรงไฟฟ้าชีวมวลทั่วไป รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกรูปแบบอื่น”

 

ปัจจุบัน ACE มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 14 โครงการ ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย โดยมีกำลังผลิตติดตั้งรวม 212.18 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา รวมถึงอยู่ระหว่างรอการพัฒนาอีก 19 โครงการ ตั้งเป้าขยายการผลิตรวมเป็นมากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2024

 

เป้าหมายคือกำไร แต่ปลายทางคือสังคมที่ดีกว่า

หากเป้าหมายของธุรกิจคือผลกำไรและการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อมองไปที่งบการเงินของ ACE จะพบว่า ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแห่งนี้ ‘มาถูกทาง’ พิสูจน์ได้จากการเติบโตของรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 

 

ปี 2016 มีรายได้ 1,886 ล้านบาท กำไรสุทธิ 134 ล้านบาท

ปี 2017 มีรายได้ 4,243 ล้านบาท กำไรสุทธิ 334 ล้านบาท

ปี 2018 มีรายได้ 4,833 ล้านบาท กำไรสุทธิ 547 ล้านบาท 

6 เดือนแรกของปี 2019 มีรายได้ 3,707 ล้านบาท กำไรสุทธิ 570 ล้านบาท 

 

เท่ากับว่า ACE มีอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ยปีละ 60% ขณะที่อัตราเติบโตของกำไรเฉลี่ยปีละ 102%

 

แม้ตัวเลขผลประกอบการจะสวยงาม แต่จุดหมายปลายทางที่ ACE อยากไปให้ถึงกลับไม่ใช่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเติบโตควบคู่ไปกับการสร้างสังคมที่ดี ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศด้วย 

 


 

“จุดแข็งของประเทศไทยคือเราเป็นประเทศเกษตรกรรมที่สามารถปลูกพืชได้โตเร็วกว่าประเทศอื่นๆ เช่น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศแถบยุโรป พืชที่ปลูกในไทยจะโตเร็วกว่าถึง 6 เท่า 

 

“ในมุมมองของผมตั้งแต่วันแรกที่ ACE เข้ามาในธุรกิจพลังงาน เรามองว่าต่อไปหนึ่งในพลังงานหลักของประเทศไทยจะต้องมาจากพืชพลังงาน เพราะโรงไฟฟ้าชีวมวลสามารถเป็น Base Load ได้ กล่าวคือสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่นอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และลมยังไม่สามารถทำได้ เพราะลมกับแดดไม่ได้มีตลอดเวลา และการสร้างพืชพลังงานให้กลายเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจนั้นสามารถแก้ปัญหาและให้ประโยชน์กับประเทศได้หลายต่อ

 

“จากข้อมูลจะเห็นว่า ทุกวันนั้นประเทศไทยจ่ายเงินออกนอกประเทศปีละเกือบล้านล้านบาทเพื่อนำเข้าเชื้อเพลิง และต้องจ่ายเงินสนับสนุนราคาผลผลิตทางการเกษตรเกือบทุกปี ปีละหมื่นล้านบาท ปีไหนแย่หน่อยก็อาจสูงถึงแสนล้านบาท เพราะความผันผวนด้านราคาของผลผลิตทางการเกษตรในตลาดโลก อย่างปีนี้รัฐอาจต้องจ่ายเงินสนับสนุนสูงถึง 26,000 ล้านบาทให้กับเกษตรกรที่ปลูกต้นยาง 

 

“แนวคิดของ ACE คือ แทนที่เราจะใช้เงินล้านล้านบาทไปซื้อพลังงานจากบริษัทก๊าซ หรือน้ำมันในต่างประเทศ เราก็นำเงินก้อนนั้นมาซื้อพลังงานจากเกษตรกรไทยดีกว่า เพราะนอกจากจะเพิ่มเงินหมุนเวียนในประเทศจำนวนมหาศาลแล้ว ยังสามารถให้เสถียรภาพกับภาคเกษตรกรรมที่เป็นเหมือนกระดูกสันหลังของประเทศด้วย และยังลดภาระของภาครัฐที่ต้องจ่ายเงินสนับสนุน ในกรณีที่พืชผลทางการเกษตรล้นตลาดและถูกกดดันทางราคาจากตลาดโลก

 

“ผมมองว่าเหตุผลที่พืชพลังงานให้ความมั่นคงกับเกษตรกรได้มากกว่า เพราะโรงไฟฟ้าสามารถประกันราคาพืชพลังงานได้ เพราะค่าไฟฟ้าในประเทศไทยไม่ผันผวนเหมือนราคาพืชเกษตรในตลาดโลก 

 

“เราเชื่อว่าพืชพลังงานให้ความมั่นคงอย่างยั่งยืนกับเกษตรกรไทยได้ และความมั่นคงในภาคการเกษตรหมายถึงความมั่นคงในเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยในระยะยาว” ธีรวุฒิเปิดเผยวิสัยทัศน์ของ ACE ก่อนจะเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อมที่บริษัทให้ความสำคัญไม่แพ้กัน

 

 

“เป้าหมายสูงสุดของ ACE คือเราอยากเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหา Global Warming ซึ่งอย่างน้อยๆ ในวันนี้เรารู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้อุณหภูมิโลกไม่สูงขึ้นด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียน ลองคิดดูว่าถ้าอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียสทุก 10 ปี ภายใน 30 ปีก็คือ 3-6 องศาเซลเซียส ดูเหมือนน้อยแต่ก็เพียงพอที่จะละลายน้ำแข็งที่ขั้วโลก จนทำให้ระดับน้ำทะเลสูงจนท่วมกรุงเทพฯ แบบถาวรได้ ปัญหาที่ตามมาก็คือความเสียหายในภาพรวมที่วันหนึ่งจะถึงจุด Tipping Point ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้อีก ดังนั้นปัญหานี้จึงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ในฐานะบริษัทเอกชน เราเองก็ควรเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาแก้ปัญหาในมุมที่เราจะสามารถทำได้ดีที่สุดเพื่อโลกของเราเอง”

 

จากเป้าหมายใหญ่นี้เองที่นำมาสู่การลงทุนมหาศาลในด้านการวิจัยและพัฒนาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง โดยเฉพาะการพัฒนาสายพันธุ์พืชพลังงานที่จะให้ค่าความร้อนได้สูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าให้สามารถลดการใช้วัตถุดิบ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ดีขึ้นรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต 

 

โดย ACE ตั้งเป้าว่าจะสามารถลดต้นทุนวัตถุดิบชีวมวล 5-15% ภายใน 2-3 ปี เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ดีขึ้นประมาณ 24.70-27.81% จากอัตราการใช้พลังงานปัจจุบัน สำหรับโครงการในอนาคต รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในด้านการดำเนินงานและบำรุงรักษา 15-25% ภายใน 2-3 ปีด้วย 

 

โรงไฟฟ้าขยะชุมชน อีกโมเดลแก้ปัญหาขยะล้นประเทศ

นอกจากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแล้ว หนึ่งในโมเดลที่น่าสนใจในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของ ACE คือโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง อีกทั้งยังนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้โดยไม่ปล่อยมลพิษสู่อากาศ

 

 

โมเดลโรงไฟฟ้าขยะชุมชนของ ACE เกิดขึ้นจริงแล้วที่โรงไฟฟ้า MSW ขอนแก่น ที่มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 6 เมกะวัตต์ โดยมีจุดเด่นที่สำคัญคือการใช้เทคโนโลยีสุดล้ำเพื่อให้เตาเผาสามารถรองรับขยะที่มีความชื้นได้สูงถึง 80% เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตได้ อีกทั้ง ACE ยังคิดเผื่อชุมชนโดยรอบ ด้วยการออกแบบโรงไฟฟ้าให้เป็นระบบปิดที่ไม่สร้างมลภาวะทางกลิ่น ไม่มีฝุ่นละออง รวมทั้งยังมีระบบบำบัดน้ำเสียจากขยะด้วยระบบ Reverse Osmosis ก่อนจะนำกลับไปใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าโดยไม่ปล่อยออกข้างนอก (Zero Discharge) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในละแวกใกล้เคียง

 

 

จากภูเขาขยะกองโตที่เกิดจากการหมักหมมในกระบวนการฝังกลบที่ปล่อยน้ำเสียสู่ดินเมื่อถูกฝนชะ โรงไฟฟ้าขยะชุมชนกำลังจะแก้ปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป พร้อมเดินหน้าตั้งโรงงานโมเดลเดียวกันนี้ในพื้นที่ที่มีปริมาณขยะล้น นั่นหมายถึงว่าโอกาสในธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะชุมชนของ ACE ยังคงเปิดกว้างอีกมากในประเทศไทย รวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังคงมีปัญหาการจัดการขยะอย่างผิดวิธี

 

 

สำหรับแผนการในอนาคตต่อจากนี้ของ ACE ความท้าทายที่สำคัญคือการก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ โดยมีชีวมวลเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศทดแทนพลังงานฟอสซิล ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และอาศัยทิศทางทางนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตาม ACE มีความพร้อมแล้วหากวันนั้นจะมาถึง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X