×

Academy Awards for Best Original Song 2022: ส่องโค้งสุดท้ายออสการ์ 2022 สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

24.03.2022
  • LOADING...
Academy Awards for Best Original Song 2022

HIGHLIGHTS

  • ดนตรีเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกอันหนึ่งที่มีส่วนช่วยผลักดันให้อารมณ์ของภาพยนตร์ไปถึงฝั่งฝันสมใจหมาย และหลายๆ ครั้งที่มีผู้คนบางกลุ่มเลือกซื้อตั๋วเข้ามาดูหนังเพราะชื่นชอบเพลงประกอบ และอยากเข้ามารับชมในขณะที่มันทำงานไปด้วยกันทั้งภาพและเสียง จึงเป็นที่มาของรางวัลสาขา Best Original Song ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1934 ซึ่งยาวมาถึงปีนี้นับเป็นปีที่ 94 แล้ว
  • Serena Williams ได้กล่าวว่า ไม่มีใครจะเหมาะกับการทำเพลง Be Alive เพลงประกอบภาพยนตร์ King Richard (สร้างจากชีวิตจริงของสองพี่น้องนักเทนนิสระดับโลก Venus-Serena Williams และคุณพ่อ) เท่ากับ Beyoncé อีกแล้ว เพราะทั้ง Serena, Venus และ Beyoncé ต่างก็มีจุดร่วมเดียวกัน คือทั้งสามผ่านการฝึกฝนอย่างหนักหน่วงมาตั้งแต่วัยเด็กเพื่อให้บรรลุในสิ่งที่ฝัน โดยที่มีพ่อแม่คอยสนับสนุนอย่างเต็มที่ ดังนั้นมันจึงเป็นเหมือนเพลงจากประสบการณ์ตรงของ Beyoncé เองเช่นกัน 
  • No Time To Die คือเพลง เจมส์ บอนด์ ที่ฟังดูล่องลอยเวิ้งว้างที่สุดในประวัติศาสตร์ 007 และตามธรรมเนียม เพลงธีมนี้จะถูกใช้ในช่วง Opening Title ประกอบกับภาพกราฟิกเพื่อนำพาเราสู่โลกของสายลับ 007 แต่โดยส่วนตัวแล้ว ในขณะที่เพลงกำลังทำงานในหนัง เรากลับรู้สึกเฉยๆ ถึงแม้จะมีความ Billie Eilish อยู่ 100% แต่มันไม่ได้ฟังดูดราม่ายิ่งใหญ่เท่ากับเพลงธีมของเจมส์ บอนด์ ภาคที่ผ่านๆ มาในอดีต

 

(L to R) Caitriona Balfe as “Ma”, Jamie Dornan as “Pa”, Judi Dench as “Granny”, Jude Hill as “Buddy”, and Lewis McAskie as “Will” in director Kenneth Branagh’s BELFAST, a Focus Features release. Credit : Rob Youngson / Focus Features

ภาพยนตร์ Belfast

 

วนเวียนมาถึงอีกครั้งกับงานประกาศรางวัลที่ขลังที่สุดในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ หลังจากที่ปีก่อนได้ผ่านไปได้อย่างทุลักทุเลเพราะพิษโควิดที่เข้ามาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ และอาจเปลี่ยนไปตลอดกาลในภายหลัง เมื่อเจ้าโรคระบาดลดความน่ากลัวกลายเป็นโรคประจำถิ่นในวันหนึ่ง

 

ดนตรีเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกอันหนึ่งที่มีส่วนช่วยผลักดันให้อารมณ์ของภาพยนตร์ไปถึงฝั่งฝันสมใจหมาย และหลายๆ ครั้งที่มีผู้คนบางกลุ่มเลือกซื้อตั๋วเข้ามาดูหนังเพราะชื่นชอบเพลงประกอบ และอยากเข้ามารับชมในขณะที่มันทำงานไปด้วยกันทั้งภาพและเสียง จึงเป็นที่มาของรางวัลสาขา Best Original Song ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1934 เป็นปีที่ 7 ของการจัดงานประกาศรางวัลออสการ์ ซึ่งยาวมาถึงปีนี้นับเป็นปีที่ 94 แล้ว

 

ในหลายๆ ปีที่ผ่านมา มีเพลงประกอบภาพยนตร์หลายๆ เพลงที่ขึ้นหิ้งเป็นเพลงฮิตคลาสสิกตลอดกาลมานับไม่ถ้วนแล้ว เช่น Take My Breath Away โดย Roxette จากภาพยนตร์เรื่อง Top Gun (1984), A Whole New World โดย Peabo Bryson และ Regina Belle จาก Aladdin (1992), My Heart Will Go On โดย Celine Dion จาก Titanic (1997) และ Let It Go โดย Demi Lovato จาก Frozen (2013) เป็นต้น

 

อนึ่ง รางวัลนี้จะถูกมอบให้กับนักประพันธ์เพลงเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับตัวศิลปินผู้ถ่ายทอด ยกเว้นกรณีที่ศิลปินเป็นผู้ประพันธ์เองหรือมีส่วนร่วมในการประพันธ์บทเพลงนั้นๆ ดังนั้นจึงนับว่ารางวัลสาขานี้อยู่ในหมวดหมู่ที่มอบให้กับคนเบื้องหลังแท้ๆ นั่นเอง

 

KR-06577.dng

 

รายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลในปีนี้

 

BE ALIVE

จากภาพยนตร์เรื่อง King Richard

Music and Lyric by DIXSON and Beyoncé Knowles-Carter

 

DOS ORUGUITAS

จากภาพยนตร์เรื่อง Encanto

Music and Lyric by Lin-Manuel Miranda

 

DOWN TO JOY

จากภาพยนตร์เรื่อง Belfast

Music and Lyric by Van Morrison

 

NO TIME TO DIE

จากภาพยนตร์เรื่อง No Time to Die

Music and Lyric by Billie Eilish and Finneas O’Connell

 

SOMEHOW YOU DO

จากภาพยนตร์เรื่อง Four Good Days

Music and Lyric by Diane Warren

 

ภาพยนตร์ No Time to Die

 

จากรายชื่อดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่าปีนี้การแข่งขันดูจะไม่ดุเดือดเท่าไรนัก และออกจะดูคลุมเครือตัดสินยากด้วยสิ ศักดิ์ศรีของแต่ละบทเพลงถือว่าใกล้เคียงกัน จนเดาได้ยากว่าใครจะเป็นตัวเต็งผู้คว้ารางวัลนี้ไปครอง หรืออีกนัยหนึ่งก็มองได้ว่า รางวัลสาขานี้ในปีนี้ออกจะจืดชืดไปนิด (ตบปากตัวเองหนึ่งที) แต่ละเพลงอาจจะเข้ากับภาพยนตร์ได้อย่างดี ได้มาตรฐานจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แต่เรายังต้องการรสชาติจัดจ้านที่พาให้อารมณ์กระเจิงไปพร้อมกับหน้าหนังที่หนักมือกว่านี้อีกสักหน่อย ให้คุ้มกับที่เรานั่งเบิ่งมาราธอนดูหนังทั้ง 5 เรื่องนี้จนจบเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการละเลงต้นฉบับบทความนี้

 

ทำไมถึงมองแบบนี้ทั้งๆ ที่มีหลายๆ ชื่อเป็นตัวการันตีคุณภาพ เช่น น้อง Billie Eilish และพี่ชาย Finneas O’Connell ที่อยู่ในช่วงขาขึ้นสุดๆ กับการทำงานแบบสองพี่น้อง Bro-ducer ที่ได้คว้ารางวัลนู่นนี่นั่นไปทั่วยุทธจักรมาแล้ว ซึ่งคราวนี้ได้รับโอกาสแต่งเพลงให้กับหนังเจมส์ บอนด์ 007 ภาคล่าสุด ปะทะกับมือเขียนเพลงชั้นครูอย่างคุณป้า Diane Warren ที่เก๋าเกมในวงการมานาน กับเพลง Somehow You Do จากเรื่อง Four Good Days และผู้เข้าชิงที่เหลือทั้งหมดก็ไม่ได้เป็นไก่กาอาราเล่ที่ไหนเลย เรียกว่าเครดิตระดับ A-List ทั้งนั้น หรือว่ายาต้านเศร้าวันละ 60 mg. ตลอดเวลาที่ผ่านมา ได้ทำให้เรากลายเป็นบุคคลไร้ความรู้สึกอย่างถาวรไปเสียแล้ว… ไม่นะ

 

ภาพยนตร์ Four Good Days

 

ภาพยนตร์ King Richard 

 

Track by Track

เริ่มจากเพลง Be Alive โดย Beyoncé จากภาพยนตร์เรื่อง King Richard ที่แม่นางบียอนเซ่ลงมือโปรดิวซ์เองร่วมกับ Dixson มาในโทนที่ลื่นไหลไม่ขัดเขินกับภาพรวมของตัวหนัง ภาคดนตรีที่ใช้ Sample แบบ Old School เพื่อให้เข้ากับช่วงเวลาของเหตุการณ์ในภาพยนตร์ และเนื้อหาที่ถอดจากเรื่องราวของหนังอย่างตรงไปตรงมา ถือว่าทำหน้าที่ได้ครบถ้วน 

 

แต่สำหรับคนเล็กแต่ลึกอย่างเรารู้สึกว่ามันอาจจะตรงๆ ทื่อๆ ไปหน่อย ไม่ได้สวิงสวายเหมือนวงสวิงไม้เทนนิสของ Venus และ Serena Williams ในหนัง ความฮึกเหิมของเพลงดูเหมือนตั้งใจให้เป็น Sport Anthem และด้วยอิทธิฤทธิ์ของการตัดต่อ Trailer และ MV ทำให้เรารู้สึกฮึกเหิมไปด้วย เหมือนจะไปได้ดีแล้วล่ะ แต่พอเพลงนี้มาโผล่ในที่ทำงานจริงอย่างตอน End Credit ของหนัง เรากลับไม่ได้รู้สึกฮึกเหิมเบอร์เดียวกับตอนดู Trailer น่ะสิ ยังไงดีน้า

 

อย่างไรก็ตาม เพลง Be Alive ได้รับการชื่นชมอย่างมากจาก Will Smith นักแสดงนำในภาพยนตร์เรื่องนี้ (ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากชีวิตจริงของ Venus และ Serena Williams สองพี่น้องนักเทนนิสระดับโลก) และตัวจริงของ Serena Williams เองได้กล่าวว่า ไม่มีใครจะเหมาะกับการทำเพลงๆ นี้ได้เท่ากับ Beyoncé อีกแล้ว เพราะทั้ง Serena, Venus และ Beyoncé ต่างก็มีจุดร่วมเดียวกัน คือทั้งสามผ่านการฝึกฝนอย่างหนักหน่วงมาตั้งแต่วัยเด็กเพื่อให้บรรลุในสิ่งที่ฝัน โดยที่มีพ่อแม่คอยสนับสนุนอย่างเต็มที่ ดังนั้นมันจึงเป็นเหมือนเพลงจากประสบการณ์ตรงของ Beyoncé เองด้วย

 

จุดแข็ง: การเรียบเรียงเสียงประสานพริ้วมาก จังหวะย่ำๆ ลุยๆ ฮุยเลฮุยดีเหลือเกิน

 

จุดอ่อน: เพลงมันฟังดูบิลด์อารมณ์ดีตอนอยู่ใน Trailer กับ MV นะ แต่พอมาอยู่ในหนังแล้วรู้สึกว่ามันจืดไปหน่อยนะสิ

 

 

Dos Oruguitas โดย Sebastián Yatra ประพันธ์เนื้อร้อง-ทำนองโดย Lin-Manuel Miranda จากภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Encanto เพลงนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่าดนตรีเป็นภาษาสากลจริงๆ เพราะเราฟังคำร้องภาษาสเปนไม่ออกเลยสักคำ แต่มันก็สามารถพาเราแหวกว่ายไปในดินแดนแห่งเวทมนตร์ในภาพยนตร์ Encanto ด้วยท่าฟรีสไตล์ได้อย่างลื่นไหล เรามองว่ามันเป็นเพลงแบ็กกราวด์ที่ช่วยเสริมความซาบซึ้งปนอ่อนไหวให้กับตัวหนังได้เป็นอย่างดี

 

อันนี้ถือเป็นงานถนัดของค่าย Walt Disney เขาล่ะ เพลง Dos Oruguitas เป็นส่วนผสมที่กลมกล่อมเอามากๆ อย่างเห็นได้ชัด มิติของการเรียบเรียงเครื่องดนตรีได้สร้างแรงปะทะกับจิตใจได้สูงตามมาตรฐานของโรงเรียนดิสนีย์ ถึงแม้ตัวบทภาพยนตร์เองจะไม่ถึงกับดราม่าพาซึ้งน้ำตารินเหมือนหนังแอนิเมชันเรื่องอื่นในยุคหลังๆ ของ Walt Disney

 

และเมื่อได้รู้ความหมายเนื้อหาของเพลงนี้แล้วยิ่งเพิ่มอรรถรสเข้าไปใหญ่ มันเหมือนเป็นเพลงนิทานที่ให้ข้อคิด เปรียบชีวิตรักที่เหมือนกับหนอนผีเสื้อสองตัว ที่ถึงวันหนึ่งต่างก็ต้องเติบโตแยกย้ายจากกัน แต่รางวัลที่ได้คือการได้กลายร่างเป็นผีเสื้อที่สวยงาม

 

จุดแข็ง: ภาพยนตร์ของดิสนีย์พิถีพิถันเรื่องเพลงประกอบเสมอมา และเคยได้ออสการ์สาขานี้มาแล้วหลายสมัย ถือเป็นแบรนดิ้งที่น่าเกรงขามยิ่งนัก

 

จุดอ่อน: ดูเหมือนว่าคราวนี้ดิสนีย์ไม่ได้หวังให้เพลงยิ่งใหญ่ตูมตามใน Pop Chart เหมือนสูตรเดิมที่เคยเล่นใหญ่มาก่อน อย่างเช่น Let It Go จาก Frozen (2013), You’ll Be in My Heart จาก Tarzan (1999), Can You Feel the love Tonight  จาก The Lion King (1994) หรือ A Whole New World จาก Aladdin (1992) ที่ขึ้นหิ้งกันไปหมดแล้ว และยังได้ออสการ์กันมาทั้งหมดด้วย เรียกว่าได้ทั้งกล่องและเงินไปพร้อมๆ กัน

 

 

Down to Joy โดย Van Morrison รับเหมาทำเองทั้งหมด ทั้งแต่งเองและร้องเองให้กับภาพยนตร์เรื่อง Belfast ซึ่งเดาได้ไม่ยากว่าทำไมป๋า Van Morrison จึงได้รับมอบหมายให้แต่งเพลงนี้ รวมไปถึงเหมาเพลงอื่นๆ ที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย เหตุผลก็เพราะป๋า Van แกเป็นชาวเบลฟาสต์แต่กำเนิดน่ะสิ ซึ่งเนื้อเรื่องของหนังทั้งหมดได้ดำเนินขึ้นในกรุงเบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ ฉายาส่วนตัวที่ป๋า Van ได้รับมาเนิ่นนานแล้วก็คือ The Belfast Cowboy หรือ The Belfast Lion และป๋ายังเกิดในครอบครัวชนชั้นแรงงานผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์เหมือนกับตัวเอกในหนังเป๊ะ เรียกว่าด้วยภูมิหลังของป๋า Van เขาน่าจะนำมาใช้ถ่ายทอดบทเพลงที่เป็นแบ็กกราวด์คอยขับเคลื่อนภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างเข้าอกเข้าใจเป็นที่สุด และมันก็ไหลไปกับตัวหนังได้อย่างไม่ขัดเขิน

 

จุดแข็ง: เมื่อเอาตัวจริงเรื่องปิ้งย่างมาทำหน้าที่ปิ้งย่าง ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมเป็น… ปิ้งย่าง

จุดอ่อน: น่าจะมีน้ำจิ้มรสเด็ดมาเพิ่มสีสันสักหน่อยนะ จะได้ถูกปากวัยรุ่นยิ่งขึ้น

 

 

มาถึงเพลงจากศิลปินที่น่าจับตามองที่สุดในนาทีนี้อย่าง Billie Eilish กับเพลง No Time To Die ที่ใช้ประกอบภาพยนตร์ชื่อเดียวกันนี้ หรือเรียกง่ายๆ มันคือหนังเจมส์ บอนด์ ภาคล่าสุดนั่นแหละ และแล้วก็เป็นไปตามสูตรของหนังแฟรนไชส์เรื่องนี้ที่มีเช็กลิสต์หลักๆ คือ

  1. สาวบอนด์ นางเอกแล้วหนึ่ง, นางรองตัวขโมยซีนอีกหนึ่ง
  2. เพลงประกอบโดยศิลปินที่กำลังโด่งดังในช่วงเวลาของหนัง ซึ่งในยุคนี้ก็คงต้องเป็นน้องบิลลี่ ที่มาพร้อมกับพี่ชายแท้ๆ Finneas O’Connell ผู้ทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์คู่บุญนั่นแหละ ถูกต้องแล้ว

เดาไม่ยากกับสูตรนี้ที่ใช้มานาน ไม่มีสูตรไขว้หรือสูตรค็อกเทลใดๆ ให้ต้องกังวลใจ

 

ผลที่ได้คือเพลงเจมส์ บอนด์ ที่ฟังดูล่องลอยเวิ้งว้างที่สุดในประวัติศาสตร์ 007 และตามธรรมเนียม เพลงธีมนี้จะถูกใช้ในช่วง Opening Title ประกอบกับภาพกราฟิกเพื่อนำพาเราสู่โลกของสายลับ 007 แต่โดยส่วนตัวแล้ว ในขณะที่เพลงกำลังทำงานในหนัง เรากลับรู้สึกเฉยๆ ถึงแม้จะมีความ Billie Eilish อยู่ 100% แต่มันไม่ได้ฟังดูดราม่ายิ่งใหญ่เท่ากับเพลงธีมของเจมส์ บอนด์ ภาคที่ผ่านๆ มาในอดีต

 

เช่น Skyfall ที่ Adele เคยพ่นไฟไว้อย่างยิ่งใหญ่สวยงามจนได้ออสการ์ไปในปี 2013, Writing’s On the Wall (2015) ที่โหยหวนโดย Sam Smith ก็ได้รางวัลนี้เช่นกัน หรือย้อนไป GoldenEye (1995) โดย Tina Turner ที่ประพันธ์โดย Bono และ The Edge แห่งวง U2 ที่เราว่ามันลงตัวสุดๆ จริงๆ ในสมัยนั้น

 

แต่ไม่แน่นะ เพลงเจมส์ บอนด์ ในแบบฉบับของ Billie Eilish อาจถูกต้องตามโจทย์แห่งการเปิดศักราชใหม่ของสายลับ 007 ที่ Daniel Craig จะมารับบท James Bond เป็นครั้งสุดท้ายก็ได้ ยุคนี้อะไรๆ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ขนาดพี่แดเนียล ที่เคยเป็นที่กังขาของแฟนหนัง ยังสามารถรับบท เจมส์ บอนด์ เวอร์ชันดิบๆ ได้เลย และยังมีอายุงานในฐานะสายลับ 007 ที่ยาวนานที่สุดเสียด้วยสิ

 

จุดแข็ง: ดวงชะตาราศีของน้อง Billie Eilish กำลังอยู่ในขาขึ้นสุดๆ กวาดรางวัลมาแทบทุกเวทีแล้ว หมอดูทุกสถาบันให้การยอมรับในความแรงนี้

 

จุดอ่อน: Daniel Craig… (หยอกๆ)

 

 

มาถึงบทเพลงสุดท้าย Somehow You Do โดย Reba McEntire ประพันธ์โดย Diane Warren จักรพรรดินีแห่งเพลงดราม่าประกอบภาพยนตร์ นับเป็นชื่อที่น่าเกรงขามที่สุดในหมู่ผู้เข้าชิงรางวัลสาขานี้ในปีนี้ ด้วยชั่วโมงบินและเครดิตเพลงฮิตมากมาย เช่น Because You Love me – Celine Dion จากภาพยนตร์เรื่อง Up Close & Personal (1997), How Do I Live? – Trisha Yearwood จาก Con Air (1998), I Don’t Want To Miss a Thing – Aerosmith จาก Armageddon (1999), There You’ll Be – Faith Hill จาก Pearl Harbor (2002) และอีกมากมายที่โด่งดังมาแล้วทั้งหมด ถ้าไม่รวมเพลงประกอบภาพยนตร์ก็เรียกได้ว่ามีเป็นร้อยๆ เพลงเลยทีเดียวเชียว

 

เพลงดังเหล่านั้นรวมกับเพลงอื่นจากปลายปากกาของ Dianne Warren ได้เคยเข้าชิงออสการ์สาขา Best Original Song มาแล้วทั้งหมดถึง 12 ครั้ง จาก 12 เพลง เก๋าไหมล่ะ แต่ทว่าที่น่าเศร้าคือคุณป้า Diane ไม่เคยชนะรางวัลออสการ์เลยสักครั้ง จนมาถึงโอกาสนี้กับเพลงที่ 13 นี่แหละ มาคอยดูกันว่าเลขอาถรรพ์กับเพลง Somehow You Do จะนำพาออสการ์ตัวแรกมาให้คุณป้าได้หรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม เพลงนี้อาจไม่ใช่เพลงที่สัมผัสใจที่สุดของ Diane Warren หากเทียบกับมาตรฐานในอดีตที่เธอเคยทำไว้ และมันออกจะฟังดูเฉยๆ และเชยๆ ด้วยซ้ำ เหมือนเพลงโบราณที่หลงมาอยู่ในสมัยที่เทรนด์ดนตรีเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนเราแอบสงสัยว่าคุณป้า Diane แกแอบเอาเพลงที่แต่งเก็บไว้ค้างสต๊อกมาระบายออกหรือเปล่า ก็ได้แต่เอาใจช่วยคุณป้า Diane ให้ได้สมหวังสักทีเถอะนะ

 

จุดแข็ง: Diane Warren เชียวนะ รุ่นใหญ่ลายคราม ประสบการณ์โชกโชน

 

จุดอ่อน: Diane Warren เชียวนะ อาจจะรุ่นใหญ่ไปหน่อย เพลงมันเลยติดกลิ่นเชยๆ แรงอยู่

 

 

It’s All About Wow Factor! 

คือเราก็ไม่ใช่เกจิกูรูจากไหนที่จะมาตัดสิน ก็ได้แต่เดาเอาตามความรู้สึก แต่สิ่งที่รู้สึกมาโดยตลอดสำหรับรางวัล Best Original Song คือหลายปีที่ผ่านมามักจะมีเพลงที่เป็นตัวเก็งโดดเด่นมาแต่ไกล และก็คว้ารางวัลได้ในที่สุดโดยไม่ต้องลุ้น อย่างเช่น เมื่อปี 2018 ที่เพลง Shallow – Lady Gaga มาพร้อมกับหนังเรื่อง A Star is Born ทำเอาเราน้ำตาพุ่งพรากไม่ว่าตอนที่เพลงอยู่ในหนัง หรือมาฟังแต่ตัวเพลงอีกทีทีหลัง ก็ทลายสันเขื่อนทางอารมณ์ผู้ฟังได้อย่างง่ายดาย ในปีนั้นเรียกว่าเจ๊กาก้าแกนอนมา ไม่ต้องเดาผลกันเลย

 

หรือเพลง Let It Go จาก Frozen เมื่อปี 2013 นี่ก็กระชากสุดใจ จนแอบหวั่นว่าถ้าเพลงนี้ไม่ได้ออสการ์คงเกิดจลาจลโดยเด็กๆ ทั่วโลกแน่ๆ เหมือนมีอะไรบางอย่างมาตัดสินให้ขาดอย่างง่ายดาย สิ่งนี้อาจจะเรียกว่า ‘Wow Factor’ หรือแปลเป็นไทยว่า ปัจจัยแห่งความว้าว? ฟังดูแปลกๆ นะ เอาเป็นว่าเหมือนเราได้ฟังเพลงไหนแล้วแอบเกิดความรู้สึกที่เรียกว่า ‘เจ็ตตะม่อน’ ขึ้นมาในหัวใจ ก็ถือว่าใช่แล้วล่ะ อย่าได้หาเหตุผลมากมายให้กับงานศิลปะ แม้แต่เพลงอินดี้จากหนังเล็กๆ อย่างเรื่อง Once (2007) กับเพลง Falling Slowly ก็สร้างความรู้สึกเจ็ตตะม่อนให้กับหัวใจเราได้ และมันก็ชนะรางวัลไปได้จริงๆ อีกตัวอย่างหนึ่งจากปี 2002 กับเพลง Lose Yourself จากหนังเรื่อง 8 Mile โดย Eminem นี่ก็เข้าข่ายเจ็ตตะม่อนเอามากๆ เหมือนกัน

 

แต่ทว่าจากเพลงทั้งหมดที่เข้าชิงในปีนี้ สำหรับเราเองไม่ได้รู้สึกถึง Wow Factor จากเพลงไหนเป็นพิเศษ และเราไม่ได้ร้องอุทานในใจว่า ‘เจ็ตตะม่อน’ เมื่อได้ฟังเพลงใดๆ  จึงรู้สึกว่าปีนี้เดายาก ออกจะคลุมเครือ แต่มันอาจจะไปเจ็ตตะม่อนง่ายๆ กับใจกรรมการผู้ตัดสินก็ได้นะ ว่าแต่คุณรู้สึกเจ็ตตะม่อนกับเพลงไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า? และมีใครแอบเชียร์เพลงไหนกันบ้าง?

 

ภาพยนตร์ Encanto 

 

สรุป! โดยใช้ความรู้สึกล้วนๆ ได้ ดังนี้

  • เพลงที่ขอเชียร์ให้ชนะ ได้แก่ Dos Oruguitas จาก Encanto
  • เพลงที่คิดว่าน่าจะชนะ ได้แก่ No Time To Die จาก No Time To Die (007)
  • เพลงที่ชนะจริงๆ ได้แก่ …  (ไว้รอชมไปด้วยกันในช่วงเช้าวันที่ 28 มีนาคมนี้)

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising