เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกทีวีพูลประกาศไปทั่วประเทศว่า จะเปิดประเทศทั้งหมดให้ได้ภายใน 120 วัน ซึ่งได้สร้างความหวังและความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง
แต่แล้วความหวังเหมือนจะพังทลายลง เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่ยังทะยานขึ้นต่อเนื่อง จนเกิดปัญหาผู้ป่วยล้นเตียงอีกครั้ง ล่าสุดรัฐบาลต้องกลับมาใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์อีกครั้ง ทั้งการสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง รวมไปถึงการสั่งห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านอีกครั้ง สิ่งเหล่านี้กำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นประชาชนและผู้ลงทุนลงเรื่อยๆ นำไปสู่คำถามว่า แล้วแผนเปิดประเทศใน 120 วันจะทำได้จริงหรือไม่
สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและร้านอาหารต้องการจากภาครัฐในเวลานี้คือความชัดเจนของนโยบายเพื่อวางแผนทางธุรกิจ และการให้ความช่วยเหลือแบ่งเบาภาระต้นทุนบางส่วน มากกว่าการประกาศเปิดประเทศใน 120 วัน เพราะภายในประเทศเองก็ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้
“เวลานี้สิ่งที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องการไม่ใช่การประกาศว่าเราจะเปิดประเทศภายในกี่วัน แต่เป็นความชัดเจนของเงื่อนไขการเปิดมากกว่า เช่น ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ต้องไม่เกินกี่คนต่อวัน จะเปิดแบบเสรีหรือทำเป็น Bubble เพื่อให้เขาวางแผนทางธุรกิจได้ แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าเราจะเปิดได้จริงหรือไม่ มีความไม่แน่นอน เขาวางแผนกันไม่ได้” สิทธิเดชกล่าว
สิทธิเดชกล่าวอีกว่า ภาครัฐควรมีการกำหนดตัวชี้วัดด้านสาธารณสุขที่ชัดเจนก่อนจะประกาศแผนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้ามา เพราะหากไทยยังไม่สามารถคุมการแพร่ระบาดในประเทศให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจได้ แรงดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจะมีน้อยและอาจได้ไม่คุ้มเสีย
“จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว มีจำนวนไม่น้อยที่สนใจแนวคิดแบบเจ็บแต่จบ ค่อยๆ ฟื้นตัวจากตลาดท่องเที่ยวในประเทศก่อน โดยมองว่าการล็อกดาวน์สักสองสัปดาห์เป็นเรื่องที่รับได้ หากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ดีขึ้นและคนเริ่มกลับมากล้าเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ อย่างไรก็ดี ภาครัฐจะต้องมีมาตรการเยียวยาหรือชดเชยให้พวกเขาด้วย เช่น การร่วมจ่ายค่าจ้างซึ่งอยู่ในวิสัยที่ทำได้และใช้งบประมาณไม่สูงมากอาจจะอยู่ในหลักหมื่นล้านเท่านั้น” สิทธิเดชกล่าว
สิทธิเดชกล่าวว่า หากตลาดนักท่องเที่ยวภายในประเทศสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ 40-50% ของภาวะปกติ ผู้ประกอบการในหลายจังหวัดจะสามารถประคองตัวได้ แต่ในพื้นที่ที่พึ่งพาตลาดต่างชาติสูง อย่างเช่น ภูเก็ตและสมุย การใช้วิธีทำ Bubble เหมือนที่ภูเก็ตกำลังจะมีแซนด์บ็อกซ์ก็เป็นเรื่องจำเป็น
สิทธิเดชกล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่าการทำแซนด์บ็อกซ์ที่ภูเก็ตเป็นเรื่องที่ดี และภาครัฐสามารถใช้ภูเก็ตเป็นจุดทดลองก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยังเป็นห่วงขณะนี้คือจำนวนนักท่องเที่ยวที่สนใจจะเดินทางมายังภูเก็ตจะมีมากน้อยเพียงใด และการควบคุมการเคลื่อนย้ายของคนในภูเก็ตจะทำได้มีประสิทธิภาพหรือไม่
“ผมเชื่อว่าการดูแลให้นักท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่คงอยู่ในวิสัยที่ทำได้ แต่ตัวคนภูเก็ตเองที่อาจมีการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัดไปมาตรงนี้จะดูแลกันอย่างไร” สิทธิเดชกล่าว
นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb Analytics) กล่าวว่า การหาจุดสมดุลระหว่างมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อควบคุมโรคกับการเปิดประเทศเพื่อประคองภาคการท่องเที่ยวถือเป็นโจทย์ที่ยากของรัฐบาล เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในเวลานี้เริ่มจะประคองตัวได้ลำบากแล้ว กรณีที่ภาครัฐออกมาตรการคุมโรคก็ควรมีมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการด้วย
“ประเทศไทยมีธุรกิจเอสเอ็มอีประมาณ 5 ล้านราย ในจำนวนนี้น่าจะอยู่ในภาคบริการและท่องเที่ยว 2 ล้านราย รัฐสามารถช่วยประคองพวกเขาได้ผ่านการช่วยจ้างงานหรือโคเพย์ เพราะค่าจ้างแรงงานคิดเป็น 40% ของต้นทุนรวมของธุรกิจเอสเอ็มอี หากรัฐเข้ามาแบ่งเบาตรงนี้ได้จะช่วยเขาได้เยอะ” นริศกล่าว
สำหรับแผนการเปิด ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ มองว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการทดลองที่สำคัญของภาครัฐ แต่มาตรการทางสาธารณสุขก็ควรมีความรัดกุม ไม่เช่นอาจเกิดการระบาดระลอกใหม่แล้วต้องกลับมาปิดเกาะคล้ายกรณีของประเทศมัลดีฟส์และเซเชลส์
“เรื่องแซนด์บ็อกซ์ยังประเมินได้ยากว่าจะได้ผลหรือไม่ เพราะแซนด์บ็อกซ์เป็นเหมือนสนามทดลอง แต่เชื่อว่าคงกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มากนักเพราะจีนซึ่งเป็นตลากหลักยังห้ามไม่ให้คนของเขาเดินทางท่องเที่ยว ถ้าจะไปเน้นตลาดยุโรปหลายประเทศก็ยังกังวลเรื่องไวรัสกลายพันธุ์ แต่ถ้าเราไม่เริ่มก็ไม่รู้จะได้เริ่มเมื่อไรเหมือนกัน เรื่องนี้จึงเป็นโจทย์ที่ยากมาก” นริศกล่าว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์