×

นักวิชาการประเมินกองทุนน้ำมันอาจต้องกู้เงินเพิ่ม หากราคาตลาดโลกกลับไปทะลุ 100 ดอลลาร์ แนะเปลี่ยนมาอุดหนุนแบบตรงกลุ่มมากขึ้น

20.08.2022
  • LOADING...
กองทุนน้ำมัน

นักวิชาการประเมินว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่น่ากู้เงินเต็มวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง แต่ต้องจับตาฤดูหนาวปีนี้ หากราคาน้ำมันโลกทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อาจต้องกู้เพิ่มได้เช่นกัน

 

นอกจากนี้ ยังได้แนะรัฐบาลให้เลิกอุดหนุนราคาน้ำมันแบบหว่านแห (Universal Subsidy) และหันมาช่วยเหลือแบบตรงกลุ่ม (Targeted Subsidy) เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลัง และทำให้ราคาน้ำมันสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง รวมถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ที่ประกาศไว้ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

 




ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (16 สิงหาคม) คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.ก.ฯ) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ทำให้เกิดการถกเถียงว่า ร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวเป็นผลมาจากการบริหารที่ผิดพลาด เป็นการผลักภาระให้กับประชาชน และสร้างความเสี่ยงทางการคลังให้แก่ประเทศหรือไม่

 

ไม่กระทบงบประมาณ แต่นับเป็นหนี้สาธารณะ

 

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม จินดารัตน์ วิริยะทวีกุล โฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ให้ข้อมูลว่า แม้ว่าร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวจะกำหนดให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้แก่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) แต่การชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว สกนช. จะต้องเป็นผู้รับภาระการชำระหนี้เอง โดยใช้รายได้ของตน และกระทรวงการคลังไม่สามารถตั้งงบประมาณเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้กับ สกนช. ได้ ดังนั้นจึงไม่เป็นภาระต่องบประมาณ และไม่ได้เป็นการผลักภาระให้กับประชาชน

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก สกนช. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่กู้เงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน นั้นมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ประเภทหน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐ ตามบทนิยามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 จึงหมายความว่า ‘การก่อหนี้ของกองทุนน้ำมันย่อมนับเป็นหนี้สาธารณะของประเทศอยู่แล้ว’

 

ขณะที่ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมว่า ภายใต้วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ก็ไม่ได้หมายความว่ากองทุนน้ำมันจะต้องกู้ทั้งหมด พร้อมทั้งย้ำว่า การกู้เงินต้องเป็นทางเลือกสุดท้าย  

 

กองทุนน้ำมันจะกู้เต็มวงเงินหรือไม่?

 

ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านพลังงาน มองว่า ถ้าสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงเหลือประมาณ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล การใช้เงินกู้ของกองทุนน้ำมันก็อาจจะน้อยลง หรือพอมีเงินกลับเข้ากองทุนได้ ทำให้การติดลบน้อยลง หรืออาจจะเป็นบวกได้ เพราะฉะนั้นการกู้เต็มวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท อาจจะไม่จำเป็น ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันในตลาดโลก 

 

โดยหากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง การกู้เงินสัก 1.2 แสนบาทก็น่าจะเพียงพอ เนื่องจากเงินจะเริ่มไหลเข้ากองทุนน้ำมันจนกลับมาเป็นบวกแล้ว แต่อาจจะติดลบที่ก๊าซหุ้งต้มบ้าง แต่สำหรับดีเซล ถ้าเรายังคงราคาขายปลีกอยู่ที่ 35 บาทต่อไป เงินก็อาจไหลเข้ากองทุนน้ำมันจนเป็นบวกได้ ดังนั้นถ้าราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มลดลง กองทุนน้ำมันก็ไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม

 

ฤดูหนาวซีกโลกเหนือ บททดสอบราคาน้ำมันโลก

 

นักวิชาการด้านพลังงานกล่าวอีกว่า ในช่วง 5-6 เดือนข้างหน้า เป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป ซึ่งปกติแล้วจะใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติค่อนข้างมาก เพราะว่าอากาศหนาว ดังนั้นช่วงเวลาดังกล่าวจึงจะเป็นบทพิสูจน์ว่า ราคาน้ำมันโลกจะได้รับผลกระทบจากอากาศหนาวในยุโรปหรือไม่ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า ราคาน้ำมันจะสูงขึ้นอีก โดยหากราคาน้ำมันสูงขึ้นอีก ทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กองทุนน้ำมันก็อาจต้องกู้เงินอีกครั้ง

 

ศักยภาพในการใช้หนี้ของกองทุนน้ำมัน

 

ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ มองว่า กองทุนน้ำมันมีโอกาสจะใช้หนี้เองได้ เนื่องจาก ราคาน้ำมันโลกไม่น่าเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐไปตลอด ตามที่หลายสำนักคาดการณ์ไว้ ดังนั้นหากราคาน้ำมันลงมาอยู่ถึง 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็อาจมีเงินไหลเข้า  

 

คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบโลก

 

ตามข้อมูลด้านหน่วยงานด้านข้อมูลพลังงานของสหรัฐอเมริกา (U.S. Energy Information Administration) หรือ EIA คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยในปี 2565 น่าจะอยู่ที่ 104.78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2566

 

ใกล้เคียงกับ Barclays ที่คาดการณ์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 103 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 94 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีหน้า

 

ทางออกอย่างยั่งยืน

 

รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สิ่งที่ควรต้องกังวลเป็นอันดับแรกคือ “กลไกการอุดหนุนราคาน้ำมัน” ของประเทศเรา ซึ่งสามารถเรียกได้ว่า เป็นการอุดหนุนแบบหว่านแห หรือทั่วไป (Universal Subsidy) พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า การอุดหนุนราคาน้ำมันแบบทั่วไปนี้ สร้างต้นทุนทางการคลังให้ประเทศราว 137,800 ล้านบาท ตั้งแต่เกิดสงครามในยูเครน (1 กุมภาพันธ์ 2565 – 19 สิงหาคม 2565) โดยจำนวนนี้มาจากการอุดหนุนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 66% จากภาษีสรรพสามิต 27% และมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%

 

อุดหนุนน้ำมันแบบตรงกลุ่มช่วยพิชิตเป้า Net Zero – ลดเหลื่อมล้ำ

 

รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ กล่าวอีกว่า วิธีการอุดหนุนน้ำมันแบบหว่านแหที่รัฐบาลกำลังทำอยู่เป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เป็นการดีต่อสิ่งแวดล้อม และต่อความเสี่ยงทางการคลัง พร้อมทั้งแนะให้รัฐบาลใช้วิธีการอุดหนุนน้ำมันแบบตรงกลุ่มมากขึ้น (Targeted Subsidy) เช่น กลุ่มคนรายได้น้อย และธุรกิจในภาคขนส่ง นอกจากนี้ ยังเป็นการดำเนินการตามเป้าหมายระยะยาวในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ด้วย เนื่องจากการอุดหนุนน้ำมันแบบตรงกลุ่มจะช่วยสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การกดราคาน้ำมันดีเซลจูงใจให้คนใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป

 

นอกจากนี้ วิธีการอุดหนุนน้ำมันแบบตรงกลุ่มยังสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำลงได้ โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจะพบว่า ผู้ใช้ยานพาหนะที่ใช้น้ำมันดีเซลส่วนมากเป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูง ดังนั้นการอุดหนุนแบบหว่านแหที่รัฐบาลใช้จึงมีโอกาสรั่วไหลไปยังกลุ่มคนที่มีความต้องการน้อยกว่าได้

 

สรุป 4 เหตุผลที่รัฐบาลควรหันมาอุดหนุนราคาน้ำมันแบบเฉพาะกลุ่ม

 

  1. เพื่อทำให้ราคาน้ำมันสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง การทำให้ราคาน้ำมันดีเซลต่ำผิดปกติเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ไม่ถูกต้องต่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจ และไม่สอดคล้องกับความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เมื่อเราหันไปใช้การอุดหนุนแบบตรงกลุ่ม ราคาน้ำมันก็จะสามารถสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง รวมถึงต้นทุนต่อสิ่งแวดล้อมได้  

 

  1. ความเสี่ยงทางการคลัง เนื่องจากการอุดหนุนน้ำมันแบบทั่วไป ทั้งผ่านการลดภาษีสรรพสามิต และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะทำให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังไปตลอด ดังนั้นการที่รัฐบาลต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉบับนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินนโยบายอุดหนุนดังกล่าวทำให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังเช่นทุกวันนี้ 

 

  1. การเพิ่มประสิทธิผลของต้นทุนการขนส่ง เนื่องจากยานพาหนะที่ใช้ดีเซลเป็นรถกระบะส่วนบุคคลราว 50% รถยนต์ที่นั่งส่วนบุคคลราว 30% ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือไปที่ธุรกิจขนส่งโดยตรง ก็จะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพกว่า

 

  1. ช่วยกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยโดยตรง ดร.อธิภัทรเปิดเผยอีกว่า ตามข้อมูลพบว่า ครัวเรือนท่ีใช้น้ำมันดีเซลในยานพาหนะส่วนตัวมีเพียง 30% เท่านั้นที่มีรายได้น้อย ขณะที่อีก 65% เป็นครัวเรือนรายได้สูง นอกจากนี้เมื่อดูจากปริมาณการใช้จ่ายตามข้อมูลยังพบว่า ครัวเรือนรายได้น้อยมีค่าใช้จ่ายน้ำมันดีเซลต่อเดือนเพียง 1,300 บาทต่อเดือนเท่านั้น ขณะที่ครัวเรือนรายได้สูงมีค่าใช้จ่ายน้ำมันดีเซลต่อเดือนมากกว่าครัวเรือนรายได้น้อยเกือบ 2 เท่า

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising