วันนี้ (5 เมษายน) ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับโครงการบัณฑิตศึกษา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จัดงานเสวนา ‘เสรีภาพทางวิชาการในสภาวะเสื่อมถอย’ ในโอกาสตีพิมพ์หนังสือ 80 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ปัญญาชนแห่งสยามยุคเปลี่ยนผัน โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีวิทยากรได้แก่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ, ฉลอง สุนทราวาณิชย์ นักวิชาการอิสระ, วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
‘นิธิ ปัญญาชนสยาม ยุคเปลี่ยนผ่าน’
พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะบรรณาธิการประจำฉบับแนะนำหนังสือว่า ในช่วงเวลาที่เสรีภาพทางวิชาการอยู่ในสภาวะถดถอย เป็นสถานการณ์ที่คนในแวดวงวิชาการและทุกกลุ่มในสังคมไทย ไม่ว่านิสิต นักศึกษา นักการเมืองหรือต่างๆ ในสถานการณ์ปัจจุบัน หากจะแสดงความเห็นที่กลุ่มอำนาจเก่าปฏิเสธจะยอมรับวามจริง ก็จะเจอการคุกคามในรูปแบบต่างๆ งานเสวนาวันนี้จึงเป็นความรู้สึกร่วมต่อการถูกคุกคามในการแสดงความเห็นของคนในแวดวงต่างๆ
เหตุที่เรียกนิธิว่าเป็นปัญญาชนสยามในยุคเปลี่ยนผ่าน ก็เพราะ 80 ปีที่ผ่านมา นิธิได้เป็นประจักษ์พยานการเปลี่ยนแปลงสังคมมาอย่างหลายหน หลายครั้งเป็นการเปลี่ยนผ่านที่เปลี่ยนสังคมไทยครั้งใหญ่ เช่น การชุมนุม 14 ตุลา, เหตุการณ์ 6 ตุลา, ความตื่นตัวภาคประชาชนปี 2540 จนถึงการปรากฏตัวของขบวนการเสื้อสีต่างๆ และขบวนการคนรุ่นใหม่ปัจจุบัน
อาจารย์ได้เฝ้ามองและบันทึกทรรศนะไว้ในงานเขียนจำนวนมาก และการเปลี่ยนผันจำนวนมากย่อมต้องส่งผลต่อความคิดของอาจารย์ โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมและการเมือง เราจะได้เห็นความเปลี่ยนผันของอาจารย์นิธิอย่างแน่นอน ตัวอาจารย์เองเป็นนักวิชาการที่ถูกศึกษา ถูกวิจารณ์ด้วยนักวิชาการด้วยกันเองมากที่สุด คงไม่มีนักประวัติศาสตร์ไทยหรือนักเรียนทางมนุษยศาสตร์ไทยคนใดที่ไม่ได้อ่านงานหรือรับอิทธิพลของอาจารย์นิธิ ซึ่งมีขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่ 2520 ที่เริ่มมีงานเขียนเป็นเล่มๆ นักวิชาการจำนวนมากจึงเป็นศิษย์ทางอ้อมของอาจารย์นิธิ
‘คุกคามเสรีภาพทางวิชาการเพื่อให้ความรู้เก่าดำรงอยู่ไปได้’
ขณะที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า บริบทของเสรีภาพทางวิชาการขึ้นอยู่กับแต่ละสังคม เสรีภาพทางวิชาการไม่เกี่ยวข้องกับความรู้และระบบความรู้ใดๆ และเสรีภาพทางวิชาการไม่ได้ลอยอยู่โดดๆ แต่มันสัมพันธ์กับเสรีภาพอื่นๆ ด้วย
ทั้งนี้ เสรีภาพทางวิชาการสัมพันธ์กับเรื่องความรู้และระบบความรู้ รู้อะไร อย่างไร คนอื่นรู้บ้างหรือไม่ เราก็ยังพูดถึงเรื่องของความรู้อยู่นั่นเอง แต่ความรู้นั้นมันสัมพันธ์กับอำนาจของกลุ่มคนในสังคม ความรู้ชนิดหนึ่งให้อำนาจคนกลุ่มหนึ่ง ความรู้อีกชนิดก็ให้อำนาจคนอีกกลุ่ม และมีผลประโยชน์ เกียรติยศ และสถานะทางสังคมเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องกับความรู้ด้วย ความรู้จึงไม่ได้ดำรงในสังคมอยู่เฉยๆ มันมีกลไกที่ช่วยผดุงให้ความรู้นั้นดำรงอยู่ได้ด้วย
ดังที่เขาพูดว่าความรู้คืออำนาจ มันมีระบบครอบความรู้ ผดุงให้ความรู้นั้นให้อำนาจแก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ทุกสังคม ความรู้ไม่ใช่สิ่งที่เสรี มันถูกกำกับความคุมเสมอในทุกสังคม มากบ้างน้อยบ้าง ที่สำคัญคือมันถูกควบคุมโดยใครมากกว่า ในไทยปัจจุบัน ความรู้ที่ผดุงโครงสร้างอำนาจ ผลประโยชน์อื่นๆ มันกำลังพังลง ไม่ต้องชูสามนิ้วก็เห็นชัดๆ อะไรที่เชื่อว่าเป็นความจริงก็ถูกตั้งคำถามและถูกให้คำตอบที่มีเหตุผล มีข้ออ้างอิงที่น่าเชื่อถือกว่าความรู้เดิมที่เคยให้เราไว้ทั้งสิ้น และกระทบต่ออำนาจ ผลประโยชน์ เกียรติยศที่ปรากฏในสังคมไทยเป็นอย่างยิ่งทีเดียว มันไม่เหลือใครที่จะควบคุมระบบความรู้ที่มีในสังคมได้
สมัยหนึ่งเราเชื่อว่าอธิการบดีจะควบคุมให้การเผยแพร่ความรู้ชนิดหนึ่งสามารถส่งผ่านให้แก่คนรุ่นหลังได้ แต่ปัจจุบัน ถ้าอธิการบดีคนใดยังคิดอย่างนั้นอยู่คงจะหูหนวกตาบอด เพราะคุณควบคุมความรู้ ระบบความรู้ในสถาบันการศึกษาในมือคุณไม่ได้แล้ว ในโรงเรียนมัธยมก็เช่นกัน นักเรียนแสวงหาความรู้จากทางอื่นที่ไม่ใช่ทางโรงเรียนอย่างเดียวอีกต่อไป
ความรู้ที่เคยเป็นอยู่ในสังคม ไม่มีทางผดุงมันไว้ได้ และต้องอาศัยอำนาจรัฐ เป็นเหตุผลให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการต้องออกมา เพราะมันไม่มีทางเลือกอื่น เนื่องจากทางเลือกอื่นมีแต่คุณต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเท่านั้น ยังไม่เห็นใครจะปรับปรุงความรู้เก่าให้รองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้เลย ทางรอดเดียวคือคุกคามเสรีภาพทางวิชาการเพื่อให้ความรู้เก่าดำรงอยู่ไปได้
ระบบความรู้เดิมกำลังพังทลายลงต่อหน้าเรา และไม่มีทางควบคุมได้อีกต่อไปนอกจากใช้วิธีป่าเถื่อนรุนแรง ทุกสังคม อำนาจที่ดำรงอยู่ได้ก็ดำรงอยู่บนความรู้หรือระบบความรู้ชนิดหนึ่ง ในสังคมไทยก็เคยมีระบบความรู้หรืออำนาจเก่า เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม ก็มีการปรับเปลี่ยนความรู้ เช่น เมื่อศาสนาพุทธนิกายลังกาเข้ามายังไทย ก็เป็นครั้งแรกที่มีศาสนามวลชนเกิดขึ้น เกิดความเปลี่ยนแปลงมโหฬาร ระบบความรู้ที่เคยผดุงศาสนาชั้นสูงทั้งหลายดำรงอยู่ไม่ได้ และต้องเปลี่ยนระบบความรู้ใหม่เพื่อรองรับศาสนามวลชน
‘ความเป็นไทยและความเป็นวัง ความรู้ที่ถูกจับจองโดยชนชั้นนำ’
ชนชั้นนำไทยประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนความรู้เสมอมา เพราะมีความสืบเนื่องของระบบความรู้ในสังคมไทยค่อนข้างสูง ความเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างแรงและตอบสนองได้ดีที่สุดเกิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 19 เป็นการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความทันสมัย ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงทั้งในเอเชียและยุโรป เมื่อความทันสมัยโผล่เข้ามาในไทย ชนชั้นนำก็หาทางรองรับจนไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง เช่น วิทยาศาสตร์ที่เป็นเรื่องของความทันสมัยที่คุณเลี่ยงไม่ได้ และเรื่องของเหตุผลนิยม
“ชนชั้นนำไทยช่วงศตวรรษที่ 19 เก่งในการกลืนสองอย่างนี้เข้ามาด้วยกัน ด้วยการกลืนระบบความรู้โดยไม่ให้ระบบความรู้ไปกระทบโครงสร้างอำนาจเกินไป รัฐบาลอาณานิคมเอาความทันสมัยเข้ามา ทำให้เกิดความรู้แบบใหม่ที่ไม่สืบต่อกับระบบความรู้แบบเก่า ในชวา พวกเชื้อสายชวากลายเป็นตัวตลกของคนที่เรียนหนังสือทั้งหลาย และเรียกกลุ่มพวกนี้ว่าเป็นกลุ่มที่เชย และความรู้ใหม่ที่หลั่งไหลเข้ามาในจีน ญี่ปุ่น ทำให้ความรู้เก่าๆ ต้องเปลี่ยน คนที่ขึ้นมามีอำนาจก็ไม่ใช่กลุ่มคนชนชั้นนำเก่าอีกต่อไป เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วชนชั้นนำไทยจึงเก่งมากที่รองรับระบบความรู้ใหม่แล้วยังรักษาโครงสร้างอำนาจเดิมไว้ได้พอสมควร สิ่งสำคัญที่ชนชั้นนำไทยสามารถสร้างขึ้นได้ และเป็นตัวผดุงความเปลี่ยนแปลงไว้ได้คือ ความรู้เกี่ยวกับเรื่องความเป็นไทยและความเป็นวัง ที่กลายเป็นความรู้ที่ถูกจับจองโดยกลุ่มคนชนชั้นนำ ความเป็นไทยกับความเป็นวังคืออันเดียวกัน” นิธิกล่าว
ความเป็นไทยที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นมีความสำคัญต่อทุกอย่าง คือเป็นสาระนิยม มันเป็นเหมือนออกซิเจน คือมันไม่มีทางเปลี่ยน และมันถูกเปรียบเทียบต่อความเป็นสากลได้ มันไม่ได้เป็นสิ่งแปลกปลอม มันมีเหตุผลและมีประโยชน์ และปัจจุบันเราได้ยินสิ่งตรงข้ามกับความเป็นไทยเยอะ คือพูดกันว่าเราไม่เหมือนใครในโลก นับเป็นความเสื่อม เพราะพลังความเป็นไทยที่พยายามสร้างกันมาคือความเป็นสากลอีกรูปแบบหนึ่ง ปัจจุบันกลับไปบอกว่าความเป็นไทยคือข้อยกเว้น สะท้อนระบบความเชื่อที่วางไว้มันไม่รองรับความเปลี่ยนแปลง จนนำมาสู่ความเสื่อมความน่าเชื่อถือและคุณค่าในตัวของมันเองไป
“หัวใจสำคัญคือ มันถูกสร้างขึ้นอย่างแข็งแกร่งโดยคนที่เก่งมากอย่างปฏิเสธไม่ได้ รวมถึงเครือข่ายของเขาด้วย เช่น หลวงประดิษฐ์ไพเราะ ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นศิลปินด้านดนตรีที่เรียกได้ว่าระดับโลก ระบบความรู้แบบเก่าผลิตคนที่เก่งขนาดนี้ขึ้นมาในยุคปัจจุบันไม่ได้เลย จนล่วงมาถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก็รองรับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้จนเกิด 2475 เพราะจริงๆ แล้วในช่วงนั้น 2475-2490 คิดว่ามีความพยายามจากผู้นำคณะราษฎรที่พยายามสร้างระบบความรู้ที่เกี่ยวกับความเป็นไทยใหม่ขึ้นมา แต่ไม่มีคนที่มือถึงขนาดกรมพระยาดำรงฯ” นิธิอธิบาย
จนถึงปี 2500 ที่รัฐพยายามรื้อฟื้นความเป็นไทยสมัยรัชกาลที่ 5 กลับมาใหม่ เพราะเวลานั้นต่างละทิ้งมรดกของคณะราษฎรออกไปหมด จนต้องไปรื้อฟื้นความเป็นไทยของรัชกาลที่ 5 กลับมาให้ได้ แต่มันก็ไม่รองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอยู่ดี ส่วนตัวจึงคิดว่า การเสื่อมถอยของเสรีภาพทางวิชาการเกิดขึ้นพร้อมๆ กับความเสื่อมสลายของความรู้ที่จะรองรับอำนาจและผลประโยชน์ต่างๆ ที่มันดำรงอยู่ในสังคมไทย ไม่เพียงเสรีภาพทางวิชาการ คุณจะเห็นชะตากรรมของชนชั้นนำที่ต้องอาศัยแต่อำนาจดิบผ่านกฎหมาย ผ่านปืน ผ่านตำรวจควบคุมฝูงชน คุณต้องอาศัยอำนาจเหล่านี้ในการบำรุงรักษาอำนาจ เพราะไม่มีระบบความรู้รองรับเพียงพอ
“สังเกตเถอะว่าเวลานี้ในไทย การทำให้คุณมีสุขภาพที่ดี เป็นคนดีใดๆ ก็แล้วแต่ ทำไมมันต้องใช้อำนาจทุกที ทำไมเวลาบอกผมว่าอย่าสูบบุหรี่ ทำไมไม่ทำให้ผมเชื่อว่าการสูบบุหรี่มันเป็นอันตรายต่อคนอื่นและตัวเอง แต่ไม่ใช่การออกกฎหมาย ทำให้ราคามันแพง หรือสาปแช่งให้ตายทุกวัน ทำไมเราจึงไม่สามารถใช้เหตุผลต่างๆ ในการโน้มน้าวมนุษย์ได้ มนุษย์ในระบบความรู้ที่พังทลายถูกมองเป็นสัตว์นรก มนุษย์มีกิเลส แต่อีกส่วนคือมันมีศักยภาพที่จะเป็นคนดีนะ สังคมที่ระบบความรู้พังทลายจะไม่มองส่วนที่เป็นศักยภาพด้านดีของมนุษย์เลย และจะไม่ใช้ประโยชน์ด้านนี้ของเขา” นิธิกล่าว
‘โลกทางวิชาการของไทยกำลังหมุนกลับไปสู่ช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์’
ด้าน ฉลอง สุนทราวาณิชย์ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าไทยไม่เคยมีเสรีภาพทางวิชาการจริงๆ โดยเฉพาะเมื่อเข้ามาสู่สมัยใหม่ เสรีภาพทางวิชาการมีอยู่สองด้าน อย่างแรกคือเสรีภาพในการตั้งคำถามและแสวงหาความรู้ที่ต่างไปจากที่เคยเชื่อกันมา หรือถูกบังคับให้เชื่อมาโดยตลอด ในสังคมไทยมันไม่เคยมีเสรีภาพทางวิชาการในความหมายนี้ ที่นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สู่สังคมนั้นๆ เช่น สังคมตะวันตกที่ก้าวมาสู่สังคมสมัยใหม่ ก็ได้จากการตั้งคำถามและบอกว่ากูไม่เชื่อมึง และเสรีภาพในการแสวงหาความรู้ที่ต่างไปจากที่เคยเชื่อกัน
ในวัฒนธรรมการแสวงหาความรู้ของไทยในสมัยใหม่มีปัญหามาโดยตลอด เช่น กรณีของเทียนวรรณ ที่เป็นเรื่องของเสรีภาพทางวิชาการที่ไม่เคยมีอยู่จริงในสังคมไทย หรือจิตร ภูมิศักดิ์ ที่เป็นอีกกรณีที่สะท้อนให้เห็นเสรีภาพทางวิชาการไม่เคยอยู่ในวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมตั้งคำถามหรือปฏิเสธความเชื่อดั้งเดิมที่เคยมีมา ทั้งการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่มีสิ่งใดมาปิดกั้น สิ่งที่เป็นความย้อนแย้ง ตลกร้าย
ส่วนตัวคิดว่าเมื่อพูดถึง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ในความเข้าใจโดยทั่วไปมันน่าจะเป็น พ.ร.บ. ที่คุ้มครอง เปิดโอกาสให้พลเมืองไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐได้อย่างเสรี ไม่ถูกปิดกั้น แต่ที่ตลกร้ายคือ ตลอดเวลาที่ผ่านมา การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่าน พ.ร.บ. นี้เป็นเรื่องยากเย็น ต้องทำเรื่องต่อหน่วยงานของรัฐ กลายเป็น พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ที่สกัดกั้น เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ประชาชนล้วนมีสิทธิ์เข้าถึง เช่น คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติให้แก้ไข พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับนี้ใหม่ ซึ่งสองประเด็นสำคัญที่นำไปสู่ความยากลำบากมากยิ่งขึ้น นั่นคือเงื่อนไขข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ข้อมูลใดๆ ที่เชื่อว่าจะนำไปสู่ความเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ ต้องถูกปิดกั้นไว้ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง กลาโหม ที่จะต้องถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึง ซึ่งมีแต่ทำให้เสรีภาพทางวิชาการเสื่อมมากกว่าที่เป็นอยู่
“จารีตการเขียนกฎหมายของไทยนั้นน่าสนใจมาก ไม่เพียงแต่เขียนรัฐธรรมนูญได้ 19 ฉบับในเวลาไม่ถึงร้อยปี แต่ยังรวมไปถึงความสามารถในการเขียนกฎหมาย คำพิพากษาที่คลุมเครือ เปิดให้ผู้มีอำนาจใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวางและเสรีโดยอาจไม่มีประโยชน์ต่อประชาชนเลย” ฉลองกล่าว
ถ้ากฎหมายข้อมูลข่าวสารฉบับนี้ได้รับการแก้ไขและให้ความคุ้มครองต่อข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ และความมั่นคงในลักษณะตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ แล้วองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ไทยในอนาคตจะมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง คุณเขียนเรื่องการทหารไม่ได้ สงครามไม่ได้ พระราชกรณียกิจต่างๆ ไม่ได้ และเมื่อโยงเข้ากับเสรีภาพทางวิชาการปัจจุบัน มันสะท้อนสังคมด้วยความรุนแรงที่เกิดขึ้น
เราอาจพอพูดได้ว่าโลกทางวิชาการของไทยกำลังหมุนกลับไปสู่ช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่รัฐสามารถใช้ความรุนแรงกับงานค้นคว้าทางวิชาการที่มุ่งแสวงหาความจริง ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ตามแต่ วิกฤตที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ ที่ข้องเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก มันรุนแรงมาก เพราะมันมีความพยายามปลุกระดมกลุ่มคนเข้ามาประณาม กล่าวโทษ และใช้แรงกดดัน บีบคั้น เพื่อให้เกิดการลงโทษที่มีลักษณะที่รุนแรงไม่แพ้ความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ
‘เสรีภาพทางวิชาการจึงเป็นคุณค่าสำคัญอย่างหนึ่งในระบบประชาธิปไตย’
ด้าน วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวว่า อาจารย์นิธิเคยเขียนเรื่องการเมืองสมัยกรุงธนบุรี ส่วนตัวอยากรู้มาตลอดว่าพระเจ้าตากสวรรคตอย่างไร ในผ้าเหลือง ถูกทุบด้วยท่อนจันทน์ หรือตัดศีรษะ แล้วจะตอบคำถามนี้ได้อย่างไร ก็ต้องอาศัยนักวิชาการซึ่งใฝ่ใจศึกษาในด้านนี้ มีวิธีการทำงานที่เป็นระบบระเบียบ คำถามและคำตอบใหม่ๆ จะเปลี่ยนแปลง ‘ความจริงและความเชื่อ’ ของมนุษย์ตลอด นักวิชาการจึงมุ่งแสวงหาความจริงแตกต่างกัน เป็นการแสวงหาความรู้เพื่อให้เราฉลาดขึ้น การจำกัดเสรีภาพทางวิชาการจึงแปลได้ว่าทำให้เราโง่เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ
เสรีภาพทางวิชาการจึงเป็นคุณค่าสำคัญอย่างหนึ่งในระบบประชาธิปไตย และโลกคงวิวัฒน์ไปไม่ได้ถ้าไม่ยอมให้เสรีภาพเช่นนี้ดำรงอยู่ เสรีภาพทางวิชาการนั้นใครๆ ก็มีได้ เขามีวิธีการ กระบวนการค้นหาความรู้มีเป็นระบบระเบียบ พิสูจน์ได้ เนื้อหาและรูปแบบเป็นในทางที่ยอมรับกันทางวิชาการ คนทั่วไปจึงใช้เสรีภาพทางวิชาการได้เช่นเดียวกับเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ซึ่งต่างจากเสรีภาพทางวิชาการซึ่งมีแบบแผนกำกับความรู้ การแสดงความเห็นที่ไม่มีข้อพิสูจน์ มีอารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช่เสรีภาพทางวิชาการ
อย่างงานของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง จะเห็นความพยายามในการสร้างความรู้ใหม่ๆ เห็นจากหนังสืออ้างอิงที่มีปริมาณจำนวนมาก ถามว่า มันผิดได้หรือไม่ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับผลสรุปการค้นคว้าบางอย่างไม่เกี่ยวกับเสรีภาพทางวิชาการ คนที่เห็นว่าไม่ถูกก็มีสิทธิ์สร้างงานวิชาการมาโต้แย้ง แล้ววินิจฉัยว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูก กระบวนการบกพร่องหรือผลที่ผิดพลาดนั้นมันก็ไม่กระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ รัฐต้องให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกัน ซึ่งมีปัญหาต่อไปอีกว่า การคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการมีขอบเขตแค่ไหน มันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ภาพลักษณ์นักกฎหมายในสังคมไทยในเวลานี้เสื่อมทรามลงมาก
การรองรับเสรีภาพทางวิชาการปรากฏในรัฐธรรมนูญครั้งแรกปี 2517 เมื่อเริ่มมีการพูดถึงการรับรองเสรีภาพทางวิชาการ ปี 2517 มีการอภิปรายกันระหว่างการทำรัฐธรรมนูญ ว่าควรมีการกำหนดขอบเขตของเสรีภาพทางวิชาการหรือไม่
ความเห็นฝ่ายแรกเช่น อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เห็นว่าไม่ต้องจำกัด ขณะที่อีกฝั่งเห็นว่าจำต้องจำกัด ทั้งที่เสรีภาพทางวิชาการมันถูกจำกัดเมื่อไปปะทะกับเสรีภาพอันอื่น เช่น เราอ้างเสรีภาพทางวิชาการในการนำมนุษย์มาทดลองไม่ได้ เพราะมันไปปะทะกับความเป็นมนุษย์ และถูกจำกัดโดยขอบเขตของการใช้เสรีภาพเอง เพราะมันต้องใช้โดยคนที่ค้นคว้าอย่างแบบแผน อย่างมีระเบียบ แต่ไม่คุ้มครองพฤติกรรมอื่นๆ
อย่างไรก็ดี ที่มีความพยายามจำกัดนั้นเกิดจากความหวาดหวั่น ปี 2517 จะมีการพูดเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์ อีกสองปีต่อมาก็เกิดโศกนาฏกรรม 6 ตุลา 2519 ฝ่ายที่กังวลเรื่องนี้ก็คิดว่าต้องมีการจำกัด เพื่อเตือนนักวิชาการว่าคุณจะสอน ค้นคว้าอะไรนั้นต้องระมัดระวัง เพราะรัฐไทยอาจไม่ได้ปรารถนามากนักในการจะให้เสรีภาพทางวิชาการในแบบประเทศที่มีประชาธิปไตย และเห็นได้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่า เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นอื่น ซึ่งถูกเติมเข้ามาในฉบับปี 2560 โดยอ้างว่า เมื่อนักศึกษาทำวิทยานิพนธ์จะไม่ถูกอาจารย์ครอบงำ ซึ่งท้ายที่สุดอาจไม่ช่วยอะไร เพราะการทำวิทยานิพนธ์นั้นคือการทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์และนักศึกษา เมื่อความเห็นไม่ตรงกันก็ต้องเคารพความเห็นกันหรือเปลี่ยนอาจารย์ ส่วนตัวจึงไม่น่าจะเป็นข้ออ้างที่ถูกต้องเท่าไร โดยเฉพาะการใช้เรื่องหน้าที่ปวงชนชาวไทยมากำกับ อาจเพิ่มการตีความเพื่อจำกัดการค้นหาความรู้สิ่งที่สังคมไทยมองว่าเป็นเรื่องต้องห้าม
การรับรองนั้น รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครอง และนักวิชาการควรได้รับการคุ้มครองจากรัฐ รัฐจะไม่เข้ามาแทรกแซงหรือกำกับผลการวิจัยค้นคว้าในทางที่รัฐต้องการ ซึ่งอาจไม่เพียงพอ เช่น งานวิทยานิพนธ์ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ ที่ถูกชาวโคราชต่อต้านและเผาหนังสือ เพราะรับผลของการเสนอสิ่งที่วิทยานิพนธ์เสนอไม่ได้ โดยที่รัฐไม่ได้เข้ามาต้องห้าม เป็นคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัฐกระทำสิ่งที่กระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ
ดังนั้น เมื่อค้นคว้าสิ่งใดจึงต้องระวังอำนาจของรัฐ และปวงประชาที่ไม่เข้าใจวิธีทำงาน ยอมรับการนำเสนอบางอย่างไม่ได้ ทำให้ในที่สุดไม่มีใครกล้าเสนอ และเราจะจมกับความเชื่อเดิมๆ ต่อไป เสรีภาพทางวิชาการจึงเป็นสิ่งที่สังคมไทยมีปัญหาสองมิติ ทั้งจากรัฐและคนอื่น เพราะรัฐนอกจากจะคอยคุ้มครองโดยไม่ก้าวล่วงให้คนทำงานสามารถทำงานโดยปลอดภัย
‘เมื่อปัญญาถดถอยก็ต้องใช้อำนาจและกำลังกดทับ’
เอาเข้าจริง สังคมไทยไม่เคยมีเสรีภาพทางวิชาการจริงๆ เพราะบางเรื่องมีเพดานในการพูดโดยกลไกหรือระบบที่กำกับไว้ วิชาที่กระทบมากที่สุดคือประวัติศาสตร์ เพราะต้องค้นคว้าเพื่อดูว่าเกิดอะไรในอดีต ต้องตีความข้อมูลต่างๆ และเสนอจนหักล้างความเชื่อเดิม และนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ เพราะมันเกี่ยวพันกับอำนาจ หากคุณไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ คุณวิจารณ์คำสั่งศาล เช่น ตระกูลหมิ่นทั้งหลาย ไม่ว่าจะพระมหากษัตริย์หรือศาลก็เสี่ยงแล้ว
“การสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวจึงสร้างผลกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการด้วย เช่น กรณีของอาจารย์ณัฐพล ซึ่งประจักษ์แล้วว่าพลาด คือการแปลข้อความคลาดเคลื่อนไปหนึ่งจุด แน่นอนว่าคนที่ค้นเจอว่ามีความคลาดเคลื่อนและชี้ให้เห็นนั้นก็ต้องขอบคุณคนที่บอกว่าผิด เป็นสิ่งซึ่งนักวิชาการควรพึงทำต่อกันและกัน เพราะทุกคนผิดพลาดได้หมด ตอนที่เห็นว่าอาจารย์รัฐศาสตร์จากจุฬาฯ ทักท้วงงานวิชาการชิ้นนี้ก็ดีใจมาก ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษางานชิ้นนั้นก็ถือว่าเป็นความบกพร่องได้ แต่ถามว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตายจนถึงขั้นเพิกถอนปริญญาบัตร โดยไม่ยอมเปิดเผยชื่อคณะกรรมการที่มาสอบสวนด้วยซ้ำ
“อีกประการคือในแง่ของความผิดพลาดนี้ ภายหลังมีการอ้างต่อมาด้วยว่าพลาดสามสิบกว่าจุด ซึ่งเป็นเรื่องการตีความ ส่วนตัวคิดว่ามันมีหลักฐานก็จริง แต่คนที่อ่านหลักฐานก็มีสิทธิ์จะตีความอย่างอื่นได้” วรเจตน์กล่าว
แต่ไม่ใช่เรื่องการฟ้องคดี เพราะไม่ได้ฟ้องแค่อาจารย์ณัฐพล แต่ฟ้องมายังอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งตนเห็นว่าเป็นปัญหาในเชิงกฎหมาย เพราะมันสุ่มเสี่ยงกับการสร้างความรู้สึกว่า ต่อไปนักวิชาการในมหาวิทยาลัยที่จะรับเป็นที่ปรึกษางานเขียนเช่นนี้ต้องระวังตัวให้ดี ไม่อย่างนั้นจะเจอปัญหาแบบนี้ มันจึงมากไปกว่าการฟ้องตามปกติธรรมดา แต่ยังเป็นการสร้างบรรยากาศบางอย่างขึ้นมา
ทั้งนี้งานอาจารย์ณัฐพล ที่ผิดหนึ่งจุดนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในบริบทเช่นนี้ สภาพการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นจะบานปลายมากจนถึงขนาดนี้หรือไม่ อะไรเป็นเหตุที่ทำให้เรื่องนี้บานปลายมาถึงขนาดนี้ ด้านหนึ่งก็เพราะบริบททางสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ เพราะเป็นหนังสือขายดีและเยาวชนอ่านกันมาก และบริบทการเคลื่อนไหวและมีปฏิสัมพันธ์กับการเมืองในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงเกิดการพยายามเบรก สร้างบรรยากาศลักษณะแบบนี้ขึ้นมา ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้ คนอื่นๆ ก็ประเมินเอา ดังนั้น เสรีภาพทางวิชาการคือส่วนหนึ่งของบริบททางสังคมและการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้
ปัญหาคือแล้วอย่างนั้นจะหาทางออกจากสถานการณ์นี้อย่างไร เสรีภาพทางวิชาการต้องมีในสังคมประชาธิปไตย เรามีความรู้มากขึ้นผ่านคนที่เขาทุ่มเทความรู้งานวิชาการในแง่ต่างๆ เพื่อให้สิ่งที่มีเหตุลผลหนักแน่นกว่าจะถูกสถาปนาเป็นเหตุผลอันใหม่ ความรู้ที่ใกล้เคียงความจริงมากสุดก็จะตั้งมั่นมากสุด
ส่วนตัวคิดว่าคนที่มีความเห็นในแง่จินตนาการเกี่ยวกับการเมืองการปกครองต่างไปจากที่คนจำนวนหนึ่งต้องการ อาจไม่มีปัญญามากพอจะเสนองานวิชาการแบบนั้น และเมื่อปัญญาถดถอยก็ต้องใช้อำนาจและกำลังกดทับ ทำให้เกิดการพูดโดยไม่คิด การใช้สติปัญญาจะน้อย เพราะเมื่อมีกำลังก็ใช้กำลังทุบเอา ไม่มีความสามารถในการโน้มน้าวให้คนอื่นเชื่อ จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ ซึ่งเห็นได้ชัดหลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา รูปแบบของระบบเปลี่ยน ในเวลานี้มีการสร้างชุดของกฎหมายมารองรับระบบที่เปลี่ยน และทำไปได้หลายส่วนแล้วด้วย
ในช่วงการรัฐประหารก่อน 2549 มีการพูดเรื่องตุลาการภิวัฒน์ขึ้นมา ศาลเข้ามาในปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่หลังปี 2557 ขยับเข้ามาอีกแบบคือ ไม่ใช่เรื่องการใช้ตุลาการภิวัฒน์ที่มุ่งมั่นแก้ปัญหาทางการเมือง แต่จะเป็นคดีอื่นๆ อันเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหว ราคาที่ต้องจ่ายจะสูงขึ้นตามไปด้วย ศาลเข้ามาอยู่ในความสนใจมากขึ้น ลักษณะตัวองค์กรที่ปิดและกลไกเป็นระบบที่คนทั่วไปมองไม่เห็น ตัวบุคลากรขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน การดำเนินการแบบนี้เมื่อดำเนินไปจะส่งผลอย่างไร ส่วนตัวไม่กล้าฟันธง
ถ้าระบบนี้ตั้งตัวระบบได้สำเร็จ อาจารย์มหาวิทยาลัยในทางก้าวหน้าน่าจะมีปัญหาในแง่การทำงานในมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน เห็นทิศทางตัวกฎหมาย และจะพบว่ามันมีความพยายามควบคุมและสร้างระบอบใหม่ สิ่งที่เกิดกับอาจารย์ณัฐพลจึงเป็นส่วนหนึ่งของบริบททั้งหมดที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ในการพยายามให้ทุกอย่างอยู่ใต้ความสงบเรียบร้อยในความหมายของความมั่นคง และจะอ่อนไหวมากๆ เช่น แม้แต่งานเสวนาเช่นนี้ยังต้องส่งคนเข้ามาฟัง เตือนว่าอย่าล้ำเส้น
ส่วนตัวก็เห็นใจอาจารย์ณัฐพลที่ความผิดพลาดหนึ่งจุดมาเกิดในบริบทเช่นนี้พอดี ราวกับเป็นเหยื่ออันโอชะในการถอดรื้อและทำลายสิ่งที่พยายามอธิบายความรู้แบบใหม่ที่มาท้าทายความรู้แบบเดิมที่มีอยู่ และการต่อสู้กันทางวิชาการก็เป็นเรื่องทำได้
ส่วนตัวเป็นคนที่พยายามอ่านงานของฝ่ายที่เขียนอีกทิศทางหนึ่งตลอดเวลา ข้อสังเกตบางอย่างก็มีเหตุผลอยู่ แต่การสู้กันทางวิชาการก็ควรจะสู้กันอย่างวิชาการ เขียนบทความโต้แย้ง ชี้แจงเสียจะดีกว่า และช่วยลดทอนบรรยากาศที่น่าหวาดกลัวขึ้น ถ้าใช้เครื่องมืออื่นก็เสียเกียรติและสร้างความน่ากลัวขึ้น
‘เสรีภาพทางวิชาการผูกระบบตัวปกครองอย่างแยกไม่ออก’
เสรีภาพทางวิชาการผูกระบบตัวปกครองอย่างแยกไม่ออก กลไกสำคัญอันหนึ่งคือกฎเกณฑ์ในทางกฎหมาย สามารถสร้างความหวาดกลัวได้อย่างชะงัด ระบอบปัจจุบันมันเกิดจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งการจะพยายามแก้รัฐธรรมนูญนี้มันยากมากๆ ความพยายามเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญในสภามันล้มแล้ว มันจึงต้องเปลี่ยนคุณค่าในทางกฎหมายขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่ง่ายเลย
ตอนนี้เรามาถึงจุดที่การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ 2560 มีได้ 4 แบบ อันแรกคือเปลี่ยนแบบแก้ไขรายมาตรา คือแก้บางเรื่องเช่นเรื่องเร่งด่วนก่อน ซึ่งเป็นไปได้สูงมาก เพราะทางฝั่งรัฐบาลก็อยากแก้ในส่วนที่เอื้อประโยชน์ตัวเอง
สองคือการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คิดว่าคนในสังคมเข้าใจไม่ตรงกันว่ามันคืออะไรแน่ ร่างที่เสนอกันที่จะตั้ง สสร. คือแก้รัฐธรรมนูญเพื่อไปทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งเป็นความย้อนแย้งอย่างมาก เพราะรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่มีหมวดไหนเลยห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 มีแค่ห้ามแก้มาตรา 1 กับมาตรา 2 แต่ตัวเนื้อความอื่นๆ ในหมวด 1 หมวด 2 ไม่มีที่ไหนที่ห้ามแก้ เหตุใดเรามาถึงจุดที่ในสภาไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ส่วนตัวเห็นว่าเป็นความสำเร็จอันหนึ่งของคนที่ไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
สามคือการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยการรักษาโครงร่างรัฐธรรมนูญไว้ และ
สุดท้าย ส่วนตัวคิดว่าดีที่สุดคือ การไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น คือเริ่มจากศูนย์ กำหนดกติกาใหม่อย่างสิ้นเชิง หลุดจากกรอบทั้งปวงของฉบับ 2560 คือใช้รูปแบบการปกครองอย่างเดิมได้แล้วแต่การตัดสินใจ
แต่ในรูปแบบสี่นี้เราไปไม่ถึง เราไปได้แค่แบบที่สาม ทั้งที่ถ้าอำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง มันจะไปถึงแบบที่สี่ได้ ซึ่งไปได้สองทางคือใช้กำลังโค่นจากนอกระบบ เช่น รัฐประหารหรือปฏิวัติ กับการใช้วิธีทำประชามติ เลิกรัฐธรรมนูญ 2560 โดยไม่ใช่แค่แก้ เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่มีกรอบอะไร แล้วไปสู่กรอบกติกาใหม่ ถ้าประชาชนต้องการก็ต้องเสนอให้ทำประชามติยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับกำลังทางการเมือง และความต้องการของประชาชนว่ามากขนาดไหน
ส่วนตัวดีเบตรัฐรรมนูญมาสองครั้งก็แพ้มาสองครั้ง ไม่อยากแพ้รอบที่สามแล้ว เราต้องกล้าคิดที่จะหลุดไปจากตรงนี้ ทุกอย่างคือการต่อสู้ มันไม่มีอะไรได้มาจากการวอนขอทั้งสิ้น
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล