เว็บไซต์สำนักข่าว CNBC เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองของไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีรัฐมนตรีลาออกหลายตำแหน่ง รวมถึงตำแหน่งสำคัญซึ่งกุมบังเหียนเศรษฐกิจของประเทศไทยที่อยู่ในภาวะล่อแหลม และพยายามฟื้นตัวจากวิกฤตแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
CNBC ระบุว่า ไทยมีประวัติศาสตร์ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญการรัฐประหารโดยกองทัพสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเผชิญแรงกดดันในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และกระแสการชุมนุมของกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยจำนวนมากที่เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก
จนถึงตอนนี้มีรัฐมนตรีที่สละเรือจากรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ แล้วทั้งหมด 6 คน รวมถึงแม่ทัพด้านเศรษฐกิจอย่าง อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล
ขณะที่ยังไม่มีการเปิดเผยชัดเจนว่าบุคคลใดจะเข้ารับหน้าที่แทนอดีตรัฐมนตรีทั้ง 6 ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.อ. ประยุทธ์ เคยกล่าวว่า จะดำเนินการปรับ ครม. ชุด ‘ประยุทธ์ 2/2’ ให้เรียบร้อยภายในไม่เกินเดือนสิงหาคม ซึ่งนักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจเตือนว่าความล่าช้าในการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยนั้นเปราะบาง และคาดว่าอาจหดตัวรุนแรงที่สุดในเอเชียปีนี้ แม้ว่าไทยจะได้รับคำชื่นชมจากทั่วโลกถึงความสำเร็จในการรับมือวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ก็ตาม
รายงานยังระบุถึงสถานการณ์ของค่าเงินบาทและตลาดหุ้นไทยว่าตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง โดยเงินบาทช่วงต้นสัปดาห์นั้นอ่อนค่าลงถึงประมาณ 6% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่วนดัชนีตลาดหุ้นของไทยก็ร่วงหนักกว่า 13% ในปีนี้
สำหรับการลาออกของคณะรัฐมนตรีทั้ง 6 คน เกิดขึ้นหลังมีรายงานปัญหาขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งก่อนประกาศลาออกจากรัฐบาล รัฐมนตรีทั้ง 4 คนจากกลุ่มสี่กุมาร รวมถึงอุตตม ต่างก็ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเรียบร้อยแล้ว
ด้าน แฮร์ริสัน เฉิง รองผู้อำนวยการและนักวิเคราะห์หลักด้านสถานการณ์ในไทยของบริษัทที่ปรึกษาและจัดการความเสี่ยง Control Risk มองว่า การปรับ ครม. ของไทยครั้งนี้ ยิ่งทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อแย่งตำแหน่งอย่างตึงเครียดในหมู่สมาชิกพรรคและพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งอาจส่งผลให้สถานการณ์ความขัดแย้งภายในพรรคเลวร้ายลง
ขณะที่ท่าทีของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ที่มีแผนเชิญบุคคลภายนอกที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับจากภาครัฐและเอกชนมารับตำแหน่งรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ นอกจากจะเป็นที่กังขา ก็ยิ่งกระตุ้นความไม่พอใจลึกๆ แก่กลุ่มการเมืองต่างๆ ที่อยู่ภายในพรรค
อย่างไรก็ตาม เฉิงมองว่ารัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จะยังคงได้ ‘ไปต่อ’ เพราะไม่มีประโยชน์ใดสำหรับพรรคร่วมรัฐบาลที่จะถอนตัวในตอนนี้ อีกทั้งฝ่ายค้านเองก็ยังไม่มีจำนวน ส.ส. ที่มากพอจะตั้งรัฐบาลผสมได้
“ความไม่เห็นด้วยดูเหมือนจะปะทุขึ้นทั้งในพรรคพลังประชารัฐและสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล และอาจชะลอการปรับคณะรัฐมนตรีให้ยืดเยื้อออกไปนานถึง 2 เดือน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน” เฉิงระบุ
ส่วนนักวิเคราะห์จากธนาคารโนมูระของญี่ปุ่น ให้ความเห็นถึงการปรับ ครม. ของไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า ธนาคารไม่คาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลงใน ครม. ไทยครั้งนี้ว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแผนใช้จ่ายงบประมาณใดๆ แต่มีความกังวลเล็กน้อยเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการทางการคลังของรัฐบาล
ขณะที่การลาออกของสมคิด ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นสถาปนิกในนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าหลายนโยบายอาจมีความไม่แน่นอน ท่ามกลางช่วงเวลาสำคัญที่เศรษฐกิจของประเทศอาจถดถอยอย่างหนัก
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: