อนุสาวรีย์ลินคอล์นเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กที่สำคัญที่สุดของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมหลายล้านคนต่อปี การสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเชิดชูเกียรติประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น ผู้ล้มเลิกการค้าทาสได้สำเร็จ น่าจะเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมาและได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว อนุสาวรีย์ลินคอล์นในวิหารกรีกอันสง่างามที่เราเห็นกันทุกวันนี้เกือบจะไม่ได้สร้างขึ้น ด้วยแรงต่อต้านของ ส.ส. พรรครีพับลิกันจากมลรัฐอิลลินอยส์ บ้านเกิดของลินคอล์น ที่มีชื่อว่า โจ แคนนอน
แนวคิดที่จะสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเชิดชูเกียรติของลินคอล์นในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่หลังลินคอล์นถูกลอบสังหารใหม่ๆ แต่อย่างไรก็ดี พรรคเดโมแครต (ซึ่งในขณะนั้นเป็นพรรคของคนขาวในมลรัฐทางใต้) ยังมีความผูกใจเจ็บจากการแพ้สงครามกลางเมืองต่อฝ่ายเหนือที่นำโดยลินคอล์น ทำให้การผลักดันโครงการสร้างอนุสาวรีย์ถูกต่อต้านโดยเดโมแครตที่ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
พรรครีพับลิกันของลินคอล์นต้องรอจนถึงปี 1896 ที่พวกเขาชนะการเลือกตั้งในสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และประธานาธิบดีพร้อมกัน ซึ่งทำให้พวกเขาคุมอำนาจอย่างเด็ดขาดทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ และมีอำนาจเต็มที่ในการผลักดันนโยบายใดๆ ก็ได้ รวมทั้งการสร้างอนุสาวรีย์ลินคอล์น ซึ่งเป็นอดีตผู้นำพรรค
เท็ดดี รูสเวลท์ ซึ่งเป็นประธานาธิบดีในขณะนั้น ได้ออกคำสั่งให้ศึกษาที่ตั้งที่เหมาะสมของอนุสาวรีย์ และคณะกรรมการที่นำโดยสถาปนิกที่มีชื่อเสียงหลายคนก็ได้ลงความเห็นว่า พื้นที่ริมแม่น้ำโปโตแมค ซึ่งอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกับอนุสาวรีย์วอชิงตันและอาคารรัฐสภาเป็นโลเคชันที่เหมาะสมที่สุด เพราะพื้นที่บริเวณนั้นยังเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ไม่มีตึกสูงอยู่ใกล้ๆ อันจะทำให้ตัวอนุสาวรีย์ดูโดดเด่นเป็นสง่า และการมีผืนน้ำเป็นพื้นหลังก็ยิ่งทำให้ตัวอนุสาวรีย์ดูมีความสวยงามมากขึ้นไปอีก ตัวรูสเวลท์ก็มีทีท่าว่าจะเห็นด้วยกับแผนการนี้ แต่กระนั้นแคนนอน ผู้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น กลับไม่เห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้
แคนนอนไม่เห็นด้วยกับแผนการนี้ด้วยเหตุผล 2 อย่าง อย่างแรกคือเขาไม่เห็นด้วยกับการเลือกที่ดินริมฝั่งแม่น้ำโปโตแมคเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ เพราะที่ดินบริเวณนั้นเป็นที่ค่อนข้างลุ่ม หน้าฝนมักมีน้ำท่วมอยู่บ่อยๆ ทำให้บริเวณนั้นค่อนข้างรกชัฏ เต็มไปด้วยวัชพืชและยุง แคนนอนกลัวว่าด้วยความห่างไกลจากตัวชุมชนที่คนอยู่อาศัยและลักษณะทางกายภาพที่ไม่เอื้ออำนวย จะทำให้คนไม่เดินทางไปเยี่ยมชม จนกลายเป็นอนุสาวรีย์ร้างไป เหตุผลอีกข้อคือค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงสภาพดินและสร้างอนุสาวรีย์ที่คณะกรรมการเสนอมาอยู่ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น ถือเป็นเงินก้อนโตมาก และจะทำให้อนุสาวรีย์ลินคอล์นเป็นอนุสาวรีย์ที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ทำให้นักการเมืองที่มีแนวคิดขวาจัดและต้องการจำกัดการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางอย่างแคนนอนถึงกับตกใจกับตัวเลขที่ได้เห็น
แคนนอนตัดสินใจโยนรายงานฉบับนั้นทิ้งไป และเสนอแผนการสร้างอนุสาวรีย์ขนาดเล็กลงที่บริเวณข้างๆ สถานีรถไฟยูเนียน ใจกลางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แทน แคนนอนให้เหตุผลว่า การตั้งอนุสาวรีย์ไว้ข้างๆ สถานีรถไฟจะเป็นการสร้างความสะดวกให้ผู้คนที่ต้องการมาเยี่ยมชม และที่ดินแถวนั้นก็พร้อมต่อการสร้างสิ่งปลูกสร้างอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียงบประมาณไปปรับปรุงพื้นดินเหมือนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโปโตแมค แคนนอนไปข่มขู่รูสเวลท์ว่า รูสเวลท์มีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ ยอมรับแผนการของเขา หรือไม่ก็ไม่ต้องสร้างอนุสาวรีย์ไปเลย แคนนอนประกาศกร้าวว่า สภาฯ ภายใต้การนำของเขาจะไม่มีวันอนุมัติงบประมาณให้ก่อสร้างอนุสาวรีย์ในพงหญ้าริมฝั่งแม่น้ำที่ห่างไกลความเจริญ
รูสเวลท์ได้ฟังคำประกาศกร้าวของแคนนอนก็มีแนวโน้มที่จะยอมโอนอ่อนผ่อนตาม แต่อย่างไรก็ดี หนึ่งวันก่อนที่แคนนอนจะเปิดสภาฯ ให้ ส.ส. ของเขาโหวตเพื่ออนุมัติงบประมาณสร้างอนุสาวรีย์ริมสถานีรถไฟยูเนียน กลุ่มสถาปนิกที่จัดทำรายงานฉบับแรกได้ขอเข้าพบรูสเวลท์เป็นการส่วนตัว กลุ่มสถาปนิกพยายามชี้ให้รูสเวลท์เห็นว่า การสร้างอนุสาวรีย์ไว้ในที่ชุมชนแบบที่แคนนอนเสนอจะเป็นการลดความสง่างามของลินคอล์น เพราะตัวอนุสาวรีย์จะสกปรกด้วยความพลุกพล่านของผู้คนที่มาใช้บริการรถไฟ ที่สำคัญตัวอนุสาวรีย์จะถูกบดบังด้วยตัวอาคารสถานีและรัฐสภาที่อยู่ข้างๆ ทำให้ความโดดเด่นและความสำคัญของอนุสาวรีย์ถูกลดทอนไปโดยปริยาย
รูสเวลท์เห็นด้วยกับข้อถกเถียงของบรรดาสถาปนิก และได้สั่งให้แคนนอนยับยั้งการโหวตในสภาฯ ไปก่อน พร้อมทั้งให้จัดตั้งคณะกรรมการอีกชุด โดยรวบรวมสถาปนิกและจิตรกรเป็นจำนวนมากมาช่วยกันศึกษาเปรียบเทียบถึงข้อดีข้อเสียของโลเคชันสองที่ ซึ่งแน่นอนว่าคณะกรรมการที่เต็มไปด้วยศิลปินย่อมมองที่ความสวยงามเป็นหลัก และยืนยันว่าที่ดินริมฝั่งแม่น้ำโปโตแมคเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุด แคนนอนโกรธมากที่รูสเวลท์ปฏิเสธแผนการของเขา และไม่ยินยอมอนุมัติงบประมาณสำหรับการสร้างอนุสาวรีย์ที่ริมฝั่งแม่น้ำตามที่คณะกรรมการเสนอ
ความขัดแย้งของคณะกรรมการกับแคนนอนกลายเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ และกลายเป็นกระแสในสังคม ผู้คนส่วนใหญ่หลังจากที่ได้อ่านข้อโต้เถียงของบรรดาสถาปนิกแล้วก็คล้อยตามความเห็น แม้แต่ ส.ส. เอง หลายต่อหลายคนก็เห็นด้วยกับวิสัยทัศน์นี้ และพร้อมที่จะโหวตสนับสนุนโลเคชันริมฝั่งแม่น้ำโปโตแมค แต่อุปสรรคของโครงการนี้ติดอยู่ที่แคนนอน เพราะนอกจากเขาจะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เขายังควบตำแหน่งประธานกรรมาธิการควบคุมกฎระเบียบของรัฐสภา (Rules Committee) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ควบคุมการนำเข้าร่างกฎหมายเพื่ออภิปราย การโหวต การเปิดปิดการประชุมโดยตรง แคนนอนที่ยืนกรานเด็ดขาดว่าไม่เห็นด้วยกับโลเคชันนี้ตัดสินใจดองเรื่อง ไม่เอาร่างเข้าพิจารณา ทำให้โครงการสร้างอนุสาวรีย์หยุดนิ่ง ไม่มีความคืบหน้า จนแม้กระทั่งรูสเวลท์พ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดี
อย่างไรก็ดี ภายหลังการพ้นจากตำแหน่งของรูสเวลท์ได้ไม่นานก็เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในสภาผู้แทนราษฎร โดยที่ ส.ส. หน้าใหม่จำนวนหนึ่งของพรรคริพับลิกันไม่พอใจการบริหารงานของแคนนอนที่มีลักษณะเผด็จการ ไม่ฟังเสียงใครแม้แต่คนในพรรคเดียวกัน ส.ส. กลุ่มนี้จึงแอบไปจับมือกับ ส.ส. เดโมแครต เพื่อโหวตเอาแคนนอนออกจากตำแหน่งประธานกรรมาธิการควบคุมกฎระเบียบของรัฐสภา ซึ่งพวกเขาก็ทำได้สำเร็จในเดือนมีนาคม ปี 1910
ผลจากการพ้นจากตำแหน่งของแคนนอน ทำให้ร่างงบประมาณการก่อสร้างอนุสาวรีย์ที่ริมฝั่งแม่น้ำโปโตแมคเข้าสภาฯ ได้สำเร็จ แต่แคนนอนก็ยังพยายามสู้ในสภาฯ ต่อ ด้วยการเสนอให้เปลี่ยนโลเคชันเป็นที่สุสานทหารอาร์ลิงตัน หรือที่บ้านของลินคอล์นในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แทน หรือแม้กระทั่งผลักดันแผนที่จะสร้างถนนจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ไปยังเมืองเกตตีส์เบิร์ก (อันเป็นสนามรบสำคัญของสงครามกลางเมือง) เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติลินคอล์น แทนการสร้างอนุสาวรีย์ แต่ ส.ส. ส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยกับโครงการที่แคนนอนนำเสนอ ในที่สุดสภาฯ ก็อนุมัติงบประมาณสำหรับการสร้างอนุสาวรีย์ที่ริมฝั่งแม่น้ำโปโตแมคในปี 1912
ในปี 1915 แคนนอนได้เข้าไปเยี่ยมชมตัวอนุสาวรีย์ที่ก่อสร้างใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ เขาได้บอกกับสถาปนิกควบคุมโครงการที่ต่อสู้กับเขามาเกือบ 2 ทศวรรษ ว่าในชีวิตการเมืองของเขา เขาผ่านการต่อสู้มามาก มีทั้งแพ้และชนะ แต่เขาดีใจมากที่เขาแพ้ในการต่อสู้เรื่องอนุสาวรีย์ลินคอล์น เพราะอนุสาวรีย์ที่เขาเห็นตรงหน้านี้มันสง่างามสมเกียรติประธานาธิบดีผู้นำประเทศก้าวพ้นจากการค้าทาสอย่างลินคอล์นจริงๆ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล