×

อภิสิทธิ์ มองเจรจาสันติภาพชายแดนใต้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แนะออกแบบการปกครองพิเศษ รองรับอัตลักษณ์ความหลากหลายของพื้นที่

21.06.2022
  • LOADING...
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

วานนี้ (20 มิถุนายน) ในงาน ‘SCENARIO PATANI ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้’ โดยในช่วงหนึ่งได้เชิญ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งอภิสิทธิ์เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ตนเชื่อว่าสิ่งที่เป็นที่ปรารถนาของคนในพื้นที่ไม่ต่างอะไรไปจากมวลมนุษย์ทั่วโลก ที่ต้องการจะเห็นชุมชนของตัวเองมีความสันติสุข มีความเจริญเติบโต ความสงบสุข และพี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในส่วนปัญหาก็มีอยู่ว่า ท่ามกลางเงื่อนไขที่เป็นปัญหาอุปสรรคยืดเยื้อมายาวนาน เราจะไปสู่อนาคตที่พึงปรารถนาได้อย่างไร

 

อภิสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า เมื่อมีการให้ใครมาแสดงวิสัยทัศน์ เป็นเรื่องไม่ยากที่จะพูดในสิ่งที่ฟังดูแล้วทุกฝ่ายเห็นด้วย แต่การที่จะตรวจสอบวิสัยทัศน์ เราจำเป็นจะต้องเชื่อมโยงไปยังหลักคิดและการกระทำในอดีตที่ผ่านมาด้วย

 

“ในช่วงที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรี สถานการณ์ในพื้นที่ทำให้ผมต้องเริ่มต้นแก้ไขปัญหาในลักษณะตั้งรับเป็นหลัก พื้นที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจให้กับพี่น้องทั้งในพื้นที่ และคนข้างนอกที่รับรู้ถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน พื้นที่ยังถูกดำเนินการด้านต่างๆ โดยฝ่ายความมั่นคง คือทหารและตำรวจเป็นหลัก โดยเฉพาะหลังจากมีความพยายามที่จะรื้อฟื้น ศอ.บต. ในยุคนั้น แต่สุดท้าย พ.ร.บ.ความมั่นคง กลับมามีบทบาทมากกว่า ไม่นับว่าพื้นที่ต่างๆ ยังอยู่ใต้กฎหมายพิเศษ นั่นคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” อภิสิทธิ์กล่าว

 

อภิสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ตนใช้เป็นหลัก ณ ขณะนั้น คือการเมืองต้องนำการทหาร และต้องการที่จะหมุนให้เรื่องของการแก้ปัญหากลายเป็นเรื่องของการพัฒนา ในช่วงนั้นจึงได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขึ้นมาโดยเป็นกฎหมาย แล้วก็ถ่ายโอนอำนาจออกมาจากการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และนโยบายที่สำคัญมากที่ตนได้เริ่มต้นคือ การยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ ซึ่งประกาศมาอย่างยาวนานตั้งแต่มีกฎหมายฉบับนี้ โดยในสมัยตนสามารถยกเลิกไปได้ 1 อำเภอ และมีความตั้งใจว่าจะทยอยยกเลิกกฎหมายพิเศษต่างๆ ออกไปด้วย เช่น กฎอัยการศึก ที่มาจากการรัฐประหารในช่วงก่อนหน้า

 

“ในกระบวนการของการพัฒนา ซึ่งเมื่อพื้นที่มีความเสียเปรียบ มีความด้อยโอกาสในเชิงเศรษฐกิจมายาวนาน เราก็มีนโยบายที่ทำงานค่อนข้างละเอียด เราตั้งเป้าว่าทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลในพื้นที่จะต้องมีศักยภาพที่จะทำให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ในระดับที่เทียบเคียงกับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย และยังพยายามที่จะให้กองทัพหรือหน่วยงานความมั่นคงมามีบทบาทในการพัฒนาด้วย จะเห็นได้จากการที่ผมก็ผลักดันโครงการในการเชื่อมโยงสามจังหวัด โดยถนนหลักซึ่งในขณะนั้นยังขาดอยู่และมีการทิ้งงานมาตลอด ให้กองทัพเข้ามาดำเนินการจนแล้วเสร็จ เป็นต้น นี่คือสิ่งที่ผมบอกว่าเป็นการทำงานในเชิงตั้งรับ อีกทั้งยังรวมไปถึงการที่พยายามในการสร้างความเข้าใจให้หน่วยงานความมั่นคง ว่าการที่มีการใช้อำนาจต่างๆ ต้องถูกตรวจสอบได้

 

“ซึ่งในขณะที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีเหตุการณ์ที่น่าเสียใจ โดยมีผู้นำทางศาสนาเสียชีวิตขณะที่อยู่ในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งในกรณีเช่นนี้จะต้องมีการสอบสวนและส่งต่อขึ้นศาล เพื่อให้เป็นแนวทางที่ชัดเจนว่า การที่จะอยู่ร่วมกันด้วยการที่จะต้องใช้อำนาจในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงนั้น ก็ต้องเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกฝ่าย และต้องมีความรับผิดชอบ” อภิสิทธิ์กล่าว

 

อภิสิทธิ์ระบุด้วยว่า ตนทราบดีว่าที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาในเชิงตั้งรับ แต่สุดท้ายความขัดแย้ง หรือปัญหาในทำนองเดียวกันที่คนในพื้นที่ประสบอยู่ก็ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ที่มีปัญหาแบบนี้ในโลก โดยปัญหาไม่สามารถจะจบลงได้หากไม่มีการเสวนา การพูดคุย การเจรจา และสิ่งที่ตนได้เริ่มทำคือ การรื้อฟื้นให้มีการพูดคุยกัน และที่สำคัญก็คือว่า คณะที่ตนมอบหมายให้พูดคุยในส่วนของรัฐบาล จะนำโดยบรรดานักวิชาการ หรือคนที่ทำงานกับภาคประชาสังคม ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เพราะคิดว่าจะเป็นการเริ่มลดช่องว่าง และสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ที่เห็นต่างกันได้ดีกว่า อีกทั้งยังได้เริ่มต้นในเรื่องของการยุติความรุนแรงในพื้นที่ และได้ทดลองใน 2-3 อำเภอ ซึ่งตนเองก็ต้องไปทำความเข้าใจกับฝ่ายความมั่นคงว่า ช่วงที่จะมีการยุติความรุนแรงนั้น จะต้องไม่มีการปฏิบัติในเชิงรุกของฝ่ายความมั่นคงใดๆ ทั้งสิ้น จนกระทั่งหมดอายุของรัฐบาล

 

“ตรงนี้คือหัวใจที่ผมมองว่ามันคือกระบวนการสำคัญที่จะต้องเดินหน้าไปสู่อนาคต ผมไม่ปฏิเสธบรรดาความคิดหรือโครงการต่างๆ ที่จะมาช่วยเสริมแก้ปัญหาในทางเศรษฐกิจและสังคม ที่สอดรับกับความต้องการของคนในพื้นที่ อย่างเช่นที่อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เสนอไปเมื่อวานนี้ แต่ว่ากระบวนการตรงนี้คือหัวใจ” อภิสิทธิ์กล่าว

 

อภิสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า หลังจากรัฐบาลของตนหมดวาระ รัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้เดินหน้าเรื่องของการเจรจา โดยติดต่อผ่านรัฐบาลของประเทศมาเลเซียให้เข้ามาช่วยในเรื่องนี้ด้วย และเป็นครั้งแรกที่เปิดเผยถึงการพูดคุยจนต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

 

“ผมคิดว่าเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะทำให้กระบวนการนี้เป็นกุญแจไปสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริงในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ที่ผมพูดอย่างนั้นก็เพราะว่า ในช่วงที่ผมเริ่มต้นในเรื่องการพูดคุย ไม่ได้พูดกันในเฉพาะเรื่องของวิธีการพูดคุย หรือการพูดถึงเป้าหมายกว้างๆ แต่เริ่มมีการพูดถึงเนื้อหาสาระที่เป็นคำตอบในระยะยาว ซึ่งหมายถึงการที่จะต้องมีรูปแบบของการเมืองการปกครองที่สอดรับกับอัตลักษณ์ของชุมชนปาตานี ของคนในพื้นที่ตามความต้องการ โดยมีกรอบที่ยังอยู่ใต้ระบบกฎหมาย ก็คือรัฐธรรมนูญ รวมไปจนถึงการคิดถึงความหลากหลายที่ยังดำรงอยู่ในพื้นที่ ที่มีทั้งชุมชนพุทธ ชุมชนมุสลิม เป็นต้น” อภิสิทธิ์กล่าว

 

อภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ที่ตนบอกว่าเราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นเพราะว่าหลังจากที่ตนเจรจามา เราแทบไม่ได้ยินในเรื่องของเนื้อหาสาระที่จะเดินหน้าในการพูดคุยไปสู่คำตอบที่เป็นความยั่งยืนในอนาคต จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ที่ตนได้รับทราบว่ามีการเริ่มต้นในการตกลงเรื่องของหลักการทั่วไปที่เป็นที่ยอมรับของผู้ที่ร่วมพูดคุยจากทั้งสองฝ่าย ซึ่งตนถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี

 

“หลักการพื้นฐานตรงนั้นแหละครับที่ผมคิดว่าเราจะต้องเริ่มต้นให้เห็นว่า ในที่สุดกระบวนการแบบนี้มันจะต้องมีการประนีประนอมระดับหนึ่ง หัวใจของการประนีประนอมตรงนี้มีอยู่ 2 ส่วน ในหลักการทั่วไปที่ผมคิดว่าจะต้องรีบยึดถือและผลักดันเพื่อไปสู่ความก้าวหน้าในการพูดคุยต่อไป นั่นก็คือด้านหนึ่ง ก็ดูจะเป็นที่ยอมรับเป็นหลักการทั่วไปแล้วว่า สุดท้ายปลายทางที่เราจะหาคำตอบนั้น ยังอยู่ภายใต้หลักคิดของการเป็นรัฐเดียว แต่ภายใต้รัฐเดียวไม่ได้หมายความเหมือนในช่วงแรกที่ผู้ดำเนินรายการพูดไปว่า เป็นเสื้อตัวเดียวที่ใส่เหมือนกันทุกที่ แต่สามารถที่จะมีความพิเศษในพื้นที่ในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายๆ ด้าน เพื่อตอบสนองชุมชนนั้นๆ แต่อีกด้านหนึ่ง การที่หลักการทั่วไปที่เป็นที่ตกลงของคู่เจรจา ในขณะนี้ กล่าวถึงการที่จะต้องเคารพในเรื่องของพื้นเพอัตลักษณ์ที่มาของชุมชนปาตานี อันนี้ก็ถือเป็นการยอมรับว่า การที่จะออกแบบรูปแบบของการแก้ปัญหาในครั้งนี้ จะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นหลัก เป็นหัวใจสำคัญ” อภิสิทธิ์กล่าว

 

อภิสิทธ์กล่าวต่อไปว่า การที่เดินมาถึงจุดนี้กำลังเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่ทุกคนจะต้องช่วยกันสานต่อ เพราะลำพังการพูดถึงแค่จะมีการกระจายอำนาจมากขึ้น หรือจะใช้คำว่า เขตปกครองพิเศษ เขตจัดการตัวเอง เขตปกครองตัวเอง มันมีการซ่อนรายละเอียดหลายอย่าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเดินหน้าหาข้อสรุปหรือหาข้อตกลงร่วมกันได้

 

“ผมจึงคิดว่าภายใต้หลักการทั่วไปตรงนี้ สิ่งที่ผมอยากจะเห็นก็คือ การเริ่มลงไปสู่รายละอียด เริ่มต้นตั้งแต่คำว่า ชุมชนปาตานี ขอบเขตของพื้นที่ หมายถึงอะไร อย่างไรบ้าง ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพูดคุยกัน เพราะว่าเวลาเราใช้คำรวมๆ ว่า สามจังหวัดบ้าง สามจังหวัดสี่อำเภอบ้าง จังหวัดชายแดนภาคใต้บ้าง บางคนก็เข้าใจไม่ตรงกัน แต่จำเป็นจะต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของชุมชน ของพื้นที่ เมื่อมีตรงนี้แล้ว แน่นอนว่ารูปแบบการปกครองก็ต้องมีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงการมีตัวแทน การมีสภาจากการเลือกตั้ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปยึดรูปแบบเดียวกับการเมืองใหญ่ ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบเดียวกับ อบจ. อบต. หรือเทศบาล เราก็สามารถที่จะออกแบบได้” อภิสิทธิ์กล่าว

 

อภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า เหมือนกับที่ตนเคยพยายามผลักดันที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในเรื่องของการมีสภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ เพราะว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ที่ต้องการความพิเศษของการมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจบริเวณชายแดน หรือการส่งเสริมให้เกิดการค้าและการลงทุนในบริเวณที่เป็นชายแดน เป็นต้น 

 

การมีส่วนร่วมความเป็นประชาธิปไตยก็สำคัญ เพราะในสมัยรัฐบาลของตนเช่นเดียวกัน ศอ.บต. ก็มีความพยายามที่จะให้สภาที่ปรึกษามีตัวแทนจากทุกฝ่าย รวมทั้งคนที่เห็นต่างก็สามารถมีโอกาสเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ด้วย 

 

“เรื่องที่ยากที่สุดก็คือ มันคงไม่ใช่แค่เพียงว่าปล่อยให้เป็นกระบวนการของการปกครองท้องถิ่นพิเศษ มันจะต้องพูดต่อไปว่า ความพิเศษของความเป็นชุมชนตรงนี้ อัตลักษณ์ของชุมชนตรงนี้ จะต้องมีอำนาจพิเศษอะไรบ้าง ที่รูปแบบของการเมืองการปกครองที่เราจะออกแบบมาสามารถตอบสนองได้ นั่นหมายความว่าการมีอำนาจพิเศษในการออกกฎระเบียบบางเรื่องที่ใช้เฉพาะในพื้นที่” อภิสิทธิ์กล่าว

 

อภิสิทธิ์ระบุอีกว่า ต้องสนับสนุนในการกระจายอำนาจมากกว่านี้ และยังเห็นอีกว่าเรามีข้อจำกัดมากมายที่จะไม่สามารถออกแบบหรือกำหนดกฎเกณฑ์ข้อบัญญัติอีกหลายอย่างให้สอดคล้องหรือเป็นเงื่อนไขเฉพาะในพื้นที่ โดยยกตัวอย่างว่า ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้ภาษาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเคยมีข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระในสมัย อานันท์ ปันยารชุน ว่าภาษาตรงนี้สามารถเป็นภาษาที่พี่น้องประชาชนใช้ในการติดต่อราชการได้ไหม หรือทำเป็นกฎสำหรับพื้นที่ตรงนี้ได้หรือเปล่า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยืนยันถึงความเคารพในอัตลักษณ์ของชุมชนในพื้นที่นี้ แต่อย่างไรเมื่อมาถึงจุดนี้ก็ต้องมีการกำหนดขอบเขตอำนาจต่างๆ ถ้าเราอยากเห็นความสงบสุขในพื้นที่ที่ยังมีความหลากหลายอยู่ ก็จะต้องคุ้มครองผู้ที่เป็นคนส่วนน้อย ก็คือชุมชนพุทธ ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา

 

“กฎเกณฑ์กติกาที่ออกมาก็ต้องไม่ทำให้ชุมชนพุทธนี้มีปัญหาในการใช้ชีวิต ตามวิถี ตามความเชื่อของเขาด้วย เรื่องต่างๆ เหล่านี้ก็จะมีบางเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน อย่างในปัจจุบันผมก็เข้าใจเลยว่า พอมีการดำเนินนโยบายหรือออกกฎหมายโดยสภาในขณะนี้ที่มีการถกเถียงกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุราก็ดี เป็นเรื่องกัญชาก็ดี เป็นเรื่องการสมรสเท่าเทียมก็ดี แน่นอนว่าพี่น้องชาวมุสลิมก็มีหลายเรื่องที่รู้สึกว่ามันขัดกับหลักศาสนา คำถามก็คือว่า พอเราออกแบบรูปแบบพิเศษที่ว่าแล้ว เราจะสามารถสร้างข้อยกเว้นได้แค่ไหน อย่างไร 

 

“ด้านหนึ่ง ก็เพื่อให้พี่น้องที่เป็นชาวมุสลิมในพื้นที่มีความสบายใจว่าไม่ได้ถูกยัดเยียดให้มีบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งขัดกับหลักความเชื่อเข้ามารบกวนสิ่งที่ดูจะเป็นชุมชนในความปรารถนา แต่ขณะเดียวกัน คนที่มีความหลากหลายอยู่ในพื้นที่ ทั้งชุมชนพุทธ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เขาก็ควรที่จะไม่ถูกกำจัดสิทธิไปมากกว่าคนอื่นๆ แต่จะอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาที่มีความพิเศษในพื้นที่อย่างไร จะเป็นตัวอย่างสำคัญที่จำเป็นจะต้องมาพูดคุย

 

“ในกระบวนการทั้งหมดนี้ เราก็จะเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เราต้องยอมรับความเป็นจริง แต่ว่าข้อยุติที่จะเกิดขึ้นได้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าหากว่าเราไม่ยึดกระบวนการของการพูดคุยและการมีส่วนร่วมเป็นหลัก และแน่นอนว่าในประสบการณ์ของหลายพื้นที่ในโลกที่มีความขัดแย้งแบบนี้ แม้จะมีการพูดคุยเจรจา หรือแม้จะมีข้อยุติไปแล้ว เราต้องยอมรับว่ามันก็จะมีคนบางกลุ่มซึ่งจะไม่ยอมรับกระบวนการแบบนี้ และจะใช้ความรุนแรงเป็นวิธีการ แต่เราต้องทำให้ความหวังของพี่น้องทุกคนเป็นพลังในการสนับสนุนกระบวนการนี้ไปสู่ความสำเร็จ ก็ต้องช่วยกันในการลดแนวคิดจะใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย” อภิสิทธิ์กล่าว

 

อภิสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า อีกหนึ่งประเด็นที่ตนคิดว่าสำคัญคือ การมีส่วนร่วม ซึ่งเมื่อเราได้ข้อยุติ เราต้องมั่นใจได้ว่านั่นคือความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง นั่นหมายความว่า การพูดคุยเมื่อเข้าสู่เนื้อหาสาระ จะต้องมีกระบวนการประชาพิจารณ์ ทั้งนี้ ตนก็ยังไม่แน่ใจว่าถึงจุดหนึ่งยังต้องมีประชามติด้วยหรือไม่ เพื่อให้เกิดการยอมรับและความชอบธรรมที่ทุกฝ่ายจะสามารถมาช่วยรักษาให้เกิดความยั่งยืนได้

 

แม้ว่าตัวแทนการพูดคุยของฝ่ายรัฐจะเป็นใครก็ตาม ข้อตกลงสุดท้ายที่จะเกิดขึ้น มันหนีไม่พ้นที่จะต้องไปผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งหมายความว่า การมีส่วนร่วมของฝ่ายที่มาพูดคุย จะต้องมั่นใจและช่วยสร้างความเข้าใจด้วยว่า สิ่งที่พยายามจะผลักดันเพื่อความต้องการของคนในพื้นที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 

 

“การทำงานที่สำคัญประการหนึ่งที่หลายคนมักจะมองข้ามก็คือว่า ความสำเร็จของงานตรงนี้จะต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจของคนนอกพื้นที่ด้วย ผมพูดเสมอว่า ถ้าคนนอกพื้นที่หรือสื่อนอกพื้นที่นำเสนอข่าวสารต่างๆ ซึ่งยังไม่ทำให้มุมมองของหลายๆ ฝ่ายปรับเปลี่ยน เพื่อมารองรับสิ่งที่เราพยายามจะสร้างขึ้นมา โอกาสของความสำเร็จก็จะน้อย ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของคนนอกพื้นที่ เพื่อมาสนับสนุนกระบวนการตรงนี้ด้วย ทั้งหลายทั้งปวงจะเห็นว่าเราต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกองคาพยพ ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ต้องอาศัยเจตนารมณ์หรือความเป็นผู้นำทางการเมืองสูง เพื่อให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานมาสนับสนุนกระบวนการเหล่านี้อย่างแท้จริง แล้วก็สร้างความหวังและความไว้เนื้อเชื่อใจกับพี่น้องประชาชน” อภิสิทธิ์กล่าว

 

“นี่คือหนทางที่จะเป็นคำตอบที่มีความยั่งยืน และแน่นอน ในอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ตนไม่ได้พูดในวันนี้ มันคงจะมีอีกหลายโครงการที่เป็นที่ต้องการของพี่น้องประชาชน ซึ่งจะมาช่วยสนับสนุนกระบวนการตรงนี้ แต่ตนเชื่อว่ากระบวนการนี้เป็นหัวใจที่จะตอบโจทย์ปัญหาที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาอันยาวนาน

 

“เมื่อวานนี้เข้าใจว่า อาจารย์ชัยวัฒน์ก็พยายามจะให้พวกเรามองว่า เวลามันมีทั้งอดีตและอนาคต อดีตเป็นสิงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ อนาคตเป็นความไม่แน่นอน แต่เราร่วมสร้างกันได้ ผมได้มีโอกาสฟัง โทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ที่เป็นคนทำข้อตกลงที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์ที่ยุติความรุนแรงในพื้นที่ไอร์แลนด์เหนือได้ และเขาได้พูดว่า ในการพยายามทำหลายสิ่งหลายอย่าง รวมถึงการนิรโทษกรรม หรือการขอร้องให้หลายๆ ฝ่ายยอมรับอดีตและไม่พกติดมาเพื่อนำไปสู่ความรุนแรงในอนาคต นายกฯ แบลร์บอกว่า หลายเรื่องมันไม่มีทางตอบคำถามได้ คนที่เคยสูญเสียจากความรุนแรง บางทีก็จะยอมรับไม่ได้ว่ามันมีการประนีประนอม แล้วเมื่อเขาถูกถามจากครอบครัวผู้สูญเสีย เขายอมรับตรงไปตรงมาว่า เขาไม่มีคำตอบในแง่ของความเป็นธรรมหรือความชอบธรรมในบางสิ่งบางอย่าง แต่คำตอบเดียวที่เขาสามารถให้ได้กับผู้คนเหล่านั้น ที่ทำมาทั้งหมด อาจไม่สามารถแก้ไขอดีตอะไรได้ แต่ทำเพื่อให้อนาคตของลูกหลานไม่ต้องเจอปัญหาเดียวกับในอดีตที่เป็นความเลวร้ายทั้งหมดทั้งปวง” อภิสิทธ์กล่าว

 

อภิสิทธ์กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากเชิญชวนว่า เมื่อทุกวันนี้มีการพูดคุยเจรจา มีการยอมรับหลักการทั่วไปเบื้องต้นแล้ว การจะสร้างอนาคตที่พึงปรารถนาที่พี่น้องสามารถใช้ชีวิตและกำหนดอนาคตที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตนเอง การเคารพความแตกต่างหลากหลายที่มีอยู่ในพื้นที่จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของความรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต เพราะเมื่อครั้งตนยังทำงานอยู่ในภาคการเมืองและได้ลงพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นในสามจังหวัด สงขลา หรือสตูล ตนยังเห็นศักยภาพในพื้นที่แน่นอน และเชื่อว่าถ้าความสงบสุขเกิดขึ้น และการเมืองการปกครองในพื้นที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย นั่นเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งและสำคัญที่สุดในการได้หลายสิ่งหลายอย่าง และเติมเต็มในสิ่งที่เป็นศักยภาพ และจะสร้างสันติสุขต่อไปในอนาคต

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X