×

เหตุลอบสังหาร ชินโซ อาเบะ ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญของญี่ปุ่น

โดย THE STANDARD TEAM
09.07.2022
  • LOADING...
Shinzo Abe

วันนี้ (9 กรกฎาคม) การลอบยิงอดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ในระยะประชิด ระหว่างการปราศรัยหาเสียงเมื่อวานนี้ (8 กรกฎาคม) ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการคุ้มครองบุคคลสำคัญของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความปลอดภัย โดยที่เหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองและอาชญากรรมจากปืนเกิดขึ้นแบบนับครั้งได้

 

บุคคลสำคัญในญี่ปุ่นได้รับการคุ้มครองความปลอดภัย โดยเน้นที่ภัยคุกคามทางกายภาพโดยตรงเป็นหลัก มากกว่าการคุ้มกันอารักขาจากเจ้าหน้าที่ที่ถูกเตรียมความพร้อมมาเพื่อรับมือการโจมตีด้วยอาวุธปืนแบบที่พบในประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา

 

อาเบะ วัย 67 ปี ถูกคนร้ายลอบยิงขณะกำลังกล่าวปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาสูงให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ในเมืองนารา ทางตะวันตกของประเทศ ก่อนการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ โดย Nippon TV รายงานว่าคนร้ายอยู่ห่างออกไปเพียงประมาณ 3 เมตร (10 ฟุต)

 

ชายวัย 41 ปี ถูกควบคุมตัวในที่เกิดเหตุ โดยตำรวจกล่าวว่าผู้ต้องสงสัยใช้ปืนที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง ทั้งยังพบปืนและวัตถุระเบิดอื่นๆ ที่บ้านของผู้ต้องสงสัยในเวลาต่อมา และเขายอมรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุ

 

เจ้าหน้าที่จากกรมตำรวจจังหวัดนาราบอกกับผู้สื่อข่าวว่า การร้องขอความปลอดภัยในงานนี้ ‘เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน’ และกรมตำรวจจะตรวจสอบว่าการรักษาความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ และดำเนินการตามความเหมาะสม

 

Nippon TV รายงานอ้างคำกล่าวของตำรวจนาราว่า ในงานหาเสียงเมื่อวันศุกร์ อาเบะได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ชำนาญการติดอาวุธคนหนึ่งและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ดี ตำรวจนาราปฏิเสธที่จะระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจกี่คนที่ดูแลความปลอดภัยให้กับอาเบะ

 

เมื่อตอนที่ถูกยิง อาเบะกำลังยืนอยู่ที่สี่แยกด้านนอกสถานีรถไฟ พูดคุยกับฝูงชนหลายร้อยคน ขณะที่รถโดยสารและรถตู้แล่นผ่านด้านหลังของเขาบนถนนที่คนร้ายปรากฏตัว

 

นักวิจารณ์หลายคนกล่าวว่า การรักษาความปลอดภัยอดีตนายกรัฐมนตรีน่าจะรัดกุมแน่นหนากว่านี้

 

“ใครๆ ก็โจมตีเขาจากระยะนั้นได้” มาซาซูมิ นากาจิมะ อดีตตำรวจสืบสวน กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ TBS ของญี่ปุ่น “ผมคิดว่าการรักษาความปลอดภัยอ่อนแอเกินไป”

 

“ท่านจำเป็นต้องได้รับการปกป้องจากทุกทิศทาง” โคอิจิ อิโตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลระดับวีไอพี กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ NHK “ถ้าเรื่องแบบนี้ไม่ดำเนินการ 100% ก็ไม่ดี”

 

เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการคุ้มครองโดยหน่วยงานพิเศษของตำรวจโตเกียว เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดอาวุธที่รู้จักกันในชื่อ SP (Security Police) หรือตำรวจรักษาความปลอดภัย ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มงวด ซึ่งรวมถึงความเชี่ยวชาญในการต่อสู้แบบประชิดตัว พวกเขามักจะอยู่ใกล้กับนักการเมืองที่พวกเขากำลังปกป้อง เพื่อป้องกันภัยคุกคามทางกายภาพโดยตรง

 

เมื่อปีที่แล้วเกิดเหตุการณ์เกี่ยวกับอาวุธปืนเพียง 10 ครั้งในญี่ปุ่น โดยหนึ่งในนั้นมีผู้เสียชีวิตเพียงรายเดียว อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

การลอบสังหารที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับอดีตนายกรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งของญี่ปุ่น นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 หรือในช่วงลัทธิทหารนิยมของญี่ปุ่น

 

โดยในอดีต อดีตนายกรัฐมนตรี ไซโตะ มาโกโตะ และอดีตนายกรัฐมนตรี ทาคาฮาชิ โคเรคิโยะ ถูกลอบสังหารในวันเดียวกันในปี 1936 ในขณะที่นายกรัฐมนตรี สึโยชิ อินุกาอิ ถูกลอบสังหารในปี 1932

 

พอล นาโด ซึ่งเคยร่วมกิจกรรมหาเสียงกับอาเบะมาก่อน กล่าวว่ากิจกรรมปราศรัยอย่างเช่นเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์เป็นเหตุการณ์ที่ผู้คนใกล้ชิดกันมาก

 

“ประชาชนอยู่ในระยะใกล้ พวกเขามักจะมายืนออกันเต็มจัตุรัสใจกลางเมือง บริเวณด้านหน้าสถานีรถไฟ” นาโดซึ่งเคยทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ LDP และปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์สมทบที่มหาวิทยาลัยเทมเปิลแห่งประเทศญี่ปุ่นในโตเกียวกล่าว

 

“คุณไม่เคยรู้สึกไม่ปลอดภัยหรืออันตราย หรืออะไรแบบนั้นเลย” นาโดกล่าว

 

ด้าน อิวาโอะ โฮริอิ สมาชิกพรรค LDP ที่ยืนอยู่ข้างอาเบะตอนที่เขาถูกยิง กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมสำหรับงานนี้เป็นปกติ โดยมีเจ้าหน้าที่ของพรรคประมาณ 15 คนที่ได้รับมอบหมายให้ควบคุมฝูงชน และรักษาความปลอดภัยโดยตำรวจท้องที่

 

ทุกพรรคใหญ่ประกาศระงับกิจกรรมหาเสียงเลือกตั้งหลังเกิดเหตุการณ์ลอบยิงอดีตผู้นำ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญทางการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดของประเทศ

 

แหล่งข่าวของพรรครัฐบาลรายหนึ่งบอกกับ Reuters ว่า ถึงแม้จะเป็นบุคคลสำคัญ แต่ระดับการรักษาความปลอดภัยที่อาเบะได้รับมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่เขาออกจากตำแหน่งในปี 2020

 

ตำรวจนาราปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นว่าอดีตนายกรัฐมนตรีได้รับการคุ้มครองน้อยกว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติที่อยู่ในตำแหน่งหรือไม่ โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง

 

แกรนต์ นิวแชม นายทหารนาวิกโยธินนอกราชการของสหรัฐฯ และอดีตนักการทูตที่ Japan Forum for Strategic Studies กล่าวว่า เขาคาดหวังว่าจะมีการเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น และนักการเมืองอาวุโสในญี่ปุ่นจะได้รับความคุ้มครองอย่างเข้มงวดมากขึ้น หลังจากเหตุการณ์ลอบสังหารครั้งนี้

 

“จะมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัย เห็นได้ชัดว่าการรักษาความปลอดภัยนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ นั้นเข้มงวดกว่ามาก” โรเบิร์ต วอร์ด นักวิจัยอาวุโสของ Japanese Security Studies ที่สถาบันนานาชาติเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษากล่าว

 

“แต่ความใกล้ชิดกับประชาชนก็เป็นเอกลักษณ์ของการหาเสียงเลือกตั้งของญี่ปุ่น ผมเคยเข้าร่วมการชุมนุมหาเสียงซึ่งผู้คนใกล้ชิดกัน บางทีสิ่งนี้อาจเปลี่ยนไป ถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงน่าเสียดาย” วอร์ดกล่าวในที่สุด

 

ภาพ: Charly Triballeau / AFP

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising