อับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ผู้มีภาพลักษณ์สายกลางซึ่งเคยผลักดันให้ประเทศเปิดกว้างทางการเมืองมากขึ้น แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นผู้นำที่อ่อนแอ เสียชีวิตแล้วด้วยโรคหัวใจ ในวัย 85 ปี
อดีตนายกฯ อับดุลลาห์ ได้เข้ารับการรักษาที่สถาบันโรคหัวใจแห่งรัฐ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันอาทิตย์ (13 เม.ย.) ที่ผ่านมา หลังมีอาการหายใจติดขัด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจได้ดูแลอย่างใกล้ชิด แต่สุดท้ายอับดุลลาห์ก็จากไปในเวลา 19:10 น. ของเมื่อวานนี้ (14 เม.ย.) แม้จะมีความพยายามทางการแพทย์อย่างเต็มที่ โรงพยาบาลระบุในแถลงการณ์
ก่อนหน้านี้ในเดือนเมษายน 2567 เขาเคยเข้ารับการรักษาด้วยอาการปอดแตกเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ (Spontaneous Pneumothorax) ขณะที่ในปี 2565 ข่าน เจาะมาลุดดิน (Khairy Jamaluddin) ลูกเขยของเขาเคยเปิดเผยว่า อับดุลลาห์ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมและอาการทรุดลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถพูดคุยหรือจดจำสมาชิกในครอบครัวได้
อับดุลลาห์เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ของมาเลเซีย ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2546-2552 ก่อนจะถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งหลังพรรครัฐบาลพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างหนัก เขาเก็บตัวเงียบหลังอำลาการเมือง
เมื่อเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม 2546 เขามาพร้อมกับความนิยมล้นหลามในฐานะผู้สืบทอดตำแหน่งจาก ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ผู้นำจอมเผด็จการที่ปกครองประเทศมากว่า 22 ปี ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลและบุคลิกสุขุม ทำให้เขาเป็นตัวเลือกของมหาเธร์ในฐานะผู้นำที่น่าจะสานต่อนโยบายได้อย่างราบรื่น
อับดุลลาห์ให้คำมั่นว่าจะปฏิรูประบบสถาบันของประเทศ ส่งเสริมเสรีภาพทางการเมือง และต่อต้านคอร์รัปชัน เขาได้รับเสียงชื่นชมในช่วงแรก โดยเฉพาะเมื่อศาลได้ไต่สวนคดีทุจริตของอดีตรัฐมนตรีรายหนึ่ง
โอ อี้ ซุน นักวิเคราะห์จากสถาบันกิจการระหว่างประเทศสิงคโปร์กล่าวว่า “ในยุคของเขา ประเทศได้เปลี่ยนผ่านจากการปกครองแบบกดขี่ของมหาเธร์ มาสู่การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้หายใจมากขึ้น”
เขานำพรรครัฐบาลแนชันแนลฟรอนต์คว้าชัยชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งปี 2547 สะท้อนการยอมรับจากประชาชน แต่ความนิยมก็เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมา
ตลอดการดำรงตำแหน่ง อับดุลลาห์ถูกวิจารณ์ว่าเป็นผู้นำที่อ่อนแอ ไม่สามารถผลักดันการปฏิรูปที่สัญญาไว้ได้ เขายังควบตำแหน่งรัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีความมั่นคงภายในประเทศด้วยตัวเอง ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นภาระหนักเกินไป เขายังมักถูกสื่อจับภาพได้ขณะหลับในที่ประชุมหรือกิจกรรมสาธารณะ ซึ่งเขาระบุว่าเป็นเพราะโรคนอนหลับผิดปกติ
นอกจากนี้ยังมีข้อวิจารณ์ว่า คำปรึกษาส่วนใหญ่ของเขามาจากกลุ่มที่นำโดยลูกเขยข่าน เจาะมาลุดดิน ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงการตัดสินใจที่ถูกครอบงำ ขณะที่ความสัมพันธ์ของเขากับมหาเธร์แตกหักในภายหลัง เมื่อเขายกเลิกหลายโครงการของอดีตผู้นำ โดยเฉพาะแผนสร้างสะพานเชื่อมต่อกับสิงคโปร์ มหาเธร์จึงกลายเป็นผู้วิจารณ์ที่ดุเดือดที่สุดของเขา และกล่าวหาว่าอับดุลลาห์บริหารประเทศด้วยระบบอุปถัมภ์
แม้อับดุลลาห์จะถูกมองว่าอ่อนแอ แต่เขาก็เปิดพื้นที่ให้สื่อมวลชนสามารถวิจารณ์รัฐบาลได้มากขึ้น ซึ่งนักอนุรักษนิยมในพรรคกลับมองว่านั่นเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ฝ่ายค้านที่นำโดยอันวาร์ อิบราฮิม ฟื้นตัวได้อีกครั้ง จนนำไปสู่ความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่
ในปี 2550 เขาเผชิญการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศจากประเด็นราคาน้ำมัน ค่าแรง ความไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้ง และความเหลื่อมล้ำของกลุ่มชาติพันธุ์ รัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุม และอับดุลลาห์ออกมาเตือนว่าจะยอมเสียเสรีภาพเพื่อรักษาเสถียรภาพของประเทศ
การเลือกตั้งปี 2551 กลายเป็นจุดเปลี่ยนเมื่อพรรครัฐบาลสูญเสียเสียงข้างมาก 2 ใน 3 เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี และเสีย 5 รัฐให้ฝ่ายค้าน แม้อับดุลลาห์จะปฏิเสธที่จะลาออกในตอนแรก แต่สุดท้ายก็ถูกกดดันจากทั้งมหาเธร์และสมาชิกในพรรคอัมโน จนต้องส่งมอบอำนาจให้กับ นาจิบ ราซัก ในเดือนเมษายน 2552
ภาพ: Edgar Su / File Photo / Reuters
อ้างอิง: