×

รู้จักอัล-บูร์ฮาน และเฮเมดติ สองผู้นำทหารซูดาน ในเกมชิงอำนาจที่มีชะตากรรมของประเทศเป็นเดิมพัน

17.04.2023
  • LOADING...

ตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุนองเลือดขึ้นที่กรุงคาร์ทูม หลังกองทัพซูดานและกองกำลังกึ่งทหาร Rapid Support Forces (RSF) ได้เปิดฉากห้ำหั่นกันกลางเมืองหลวง จนมีประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก โดยตัวเลขล่าสุดระบุว่ายอดผู้บาดเจ็บปัจจุบันอยู่ที่กว่า 1,100 คน ส่วนผู้เสียชีวิตอยู่ที่อย่างน้อย 97 คนด้วยกัน

 

ชนวนเหตุของความรุนแรงในครั้งนี้มาจากศึกชิงอำนาจของสองผู้นำทางทหารที่มีความเห็นไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับทิศทางที่ประเทศกำลังดำเนินอยู่ โดยประเด็นสำคัญคือแผนการควบรวมกองกำลัง RSF เข้ากับกองทัพ ที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าใครจะเป็นผู้นำคนใหม่กันแน่

 

THE STANDARD จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับสองตัวละครหลักอย่าง พล.อ. อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้บัญชาการกองทัพซูดาน และ พล.อ. โมฮาเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล หรือที่รู้จักในชื่อ เฮเมดติ ผู้บัญชาการกองกำลังกึ่งทหาร RSF ว่าพวกเขาคือใคร เหตุใดจึงต้องเปิดฉากเกมชิงอำนาจที่มีชะตากรรมของซูดานเป็นเดิมพัน

 

เกมชิงอำนาจ ต้นตอเหตุนองเลือดในซูดาน

 

  • ศูนย์กลางของเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น คือความขัดแย้งระหว่างสองผู้นำทางทหารที่มีอำนาจในซูดาน นั่นคือ พล.อ. อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้บัญชาการกองทัพซูดาน และ พล.อ. โมฮาเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล หรือที่รู้จักในชื่อ เฮเมดติ ผู้บัญชาการกองกำลังกึ่งทหาร RSF 

 

  • ต้องเล่าย้อนกลับไปว่า แต่ก่อนนั้นทั้งสองเคยเป็นพันธมิตรกันมาก่อน โดยทั้งคู่เคยร่วมมือกันโค่นอำนาจอดีตประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาชีร์ เมื่อปี 2019 อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการก่อรัฐประหารครั้งล่าสุดในซูดานเมื่อปี 2021 ด้วย

 

  • อย่างไรก็ตาม ดังภาษิตที่ว่า ‘เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้’ ที่สุดเขาทั้งคู่ก็เกิดความคิดเห็นไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับทิศทางการบริหารประเทศ รวมถึงข้อเสนอในการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การปกครองภายใต้การนำของพลเรือน และประเด็นสำคัญคือเรื่องของแผนการผนวกกองกำลัง RSF เข้ากับกองทัพ 

 

  • ท่ามกลางคำถามสำคัญคือ ‘ใครจะเป็นผู้นำกองกำลังใหม่หลังจากนั้น’

 

เปิดประวัติอับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ประมุขแห่งรัฐโดยพฤตินัย

 

  • แม้ว่าชื่อเสียงของอัล-บูร์ฮานจะเพิ่งมาปรากฏเด่นชัดในปี 2019 หลังการปฏิวัติในซูดาน แต่แท้ที่จริงแล้วเขาเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกองทัพของซูดานมานานแล้ว โดยเขาเป็นหนึ่งในขุนพลที่กำกับดูแลกองทัพในสงครามดาร์ฟูร์ช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 ส่งผลให้เขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการภูมิภาคได้ในปี 2008

 

  • แม้สงครามที่โหดร้ายซึ่งเกิดขึ้นในดาร์ฟูร์นั้นจะส่งผลให้อดีตประธานาธิบดีอัล-บาชีร์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของซูดานอีกหลายคนถูกศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ตั้งข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่อัล-บูร์ฮานไม่ได้ถูกตั้งข้อหาด้วย เช่นเดียวกับเฮเมดติที่ไม่โดนข้อหาใดๆ เหมือนกัน

 

  • ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัล-บูร์ฮานพยายามปลีกตัวออกห่างจากเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในดาร์ฟูร์ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวกองกำลังที่ได้รับการสนับสนุนจาก RSF ได้สังหารผู้ที่คิดการกบฏและจับอาวุธขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐอย่างทารุณ จนเป็นเหตุให้มีผู้คนมากถึง 300,000 คนต้องล้มตาย และประชาชนอีก 2.7 ล้านคนต้องระหกระเหินออกมาจากพื้นที่ดังกล่าว โดยรัฐสภาสหรัฐฯ และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนมากเรียกเหตุความขัดแย้งในดาร์ฟูร์ว่าเป็น ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งแรกของศตวรรษที่ 21’

 

  • ย้อนกลับไปในช่วงก่อนปี 2019 หรือก่อนหน้าการปฏิวัติในซูดาน อัล-บูร์ฮานได้เดินทางไปยังจอร์แดนและอียิปต์เพื่อฝึกฝนทางทหารเพิ่มเติม และได้ขยับตำแหน่งขึ้นมาเป็นเสนาธิการกองทัพในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2018

 

  • ในช่วงปี 2018 ประชาชนชาวซูดานได้รวมตัวประท้วงขับไล่อดีตประธานาธิบดีอัล-บาชีร์ ซึ่งครองอำนาจในซูดานมายาวนานเกือบ 30 ปี หลังจากการรัฐประหารปี 1986 จนกระทั่งต่อมาในเดือนเมษายน 2019 ผู้นำสี่เหล่าทัพของซูดานได้ก่อการรัฐประหารซ้อน จนสามารถโค่นอำนาจของอัล-บาชีร์ได้สำเร็จ ในเวลานั้นอัล-บูร์ฮานซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้ตรวจราชการของกองทัพ และเป็นนายพลอาวุโสที่มีอำนาจมากเป็นอันดับสามของซูดาน ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาทหารเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transitional Military Council: TMC) ด้วย

 

  • ไม่กี่เดือนต่อมา แรงกดดันจากนานาชาติที่ต้องการให้ทหารคืนอำนาจให้กับประชาชนก็นำไปสู่การจัดตั้งสภาอธิปไตย (SC) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างพลเรือนและกองทัพที่หวังจะพาซูดานกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยที่ปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง โดยเป็นหน่วยงานที่มาแทนที่ TMC และในฐานะที่อัล-บูร์ฮานดำรงตำแหน่งเป็นประธาน SC จึงทำให้เขากลายเป็นประมุขแห่งรัฐโดยพฤตินัย และต้องทำงานร่วมกับกองกำลังพลเรือนที่สนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศ

 

  • แต่แล้วในปี 2021 อัล-บูร์ฮานได้ผนึกกำลังกับเฮเมดติก่อการรัฐประหารรอบใหม่ ทำให้ซูดานตกอยู่ภายใต้การปกครองของทหารโดยสมบูรณ์อีกครั้ง ซึ่งนั่นทำให้หนทางสู่การกลับสู่ประชาธิปไตยของประชาชนในประเทศริบหรี่ลงไปยิ่งกว่าเดิม

 

  • ในฐานะประมุขของประเทศโดยพฤตินัย อัล-บูร์ฮานได้พยายามกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ ซึ่งเป็นประเทศที่เคยสนับสนุนให้ตัวเขาและเฮเมดติโค่นอำนาจอดีตประธานาธิบดีอัล-บาชีร์

 

  • อย่างไรก็ตาม แม้อัล-บูร์ฮานจะเคยจับมือกับเฮเมดติเพื่อร่วมกันก่อการรัฐประหารกัน แต่ในเวลาเดียวกัน ชายทั้งสองต่างก็แข่งขันขับเคี่ยวกันเพื่อที่จะได้เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด จนนำไปสู่จุดแตกหักที่เกิดขึ้นระลอกล่าสุด

 

เฮเมดติ ผู้นำ RSF กองกำลังกึ่งทหารที่เคยก่อปฏิบัติการสุดเหี้ยมในดาร์ฟูร์

 

  • อีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่นำไปสู่การเปิดฉากห้ำหั่นกันใจกลางเมืองหลวงคือ พล.อ. โมฮาเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล หรือที่รู้จักในชื่อ เฮเมดติ 

 

  • เขาเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในสงครามดาร์ฟูร์ โดยในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 เฮเมดติดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งได้เปิดฉากปฏิบัติการอย่างโหดเหี้ยมทารุณในดาร์ฟูร์ โดยมีการสังหารประชาชน ข่มขืนผู้หญิง และขับไล่ผู้คนออกจากหมู่บ้านของตัวเอง เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลให้เขากลายเป็นผู้นำทางทหารที่ทรงอิทธิพล จนในที่สุดก็ได้ก้าวขึ้นเป็นบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดเป็นอันดับสองของประเทศ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยมากที่สุดของซูดานด้วย 

 

  • โดยกองกำลังกึ่งทหาร RSF ที่กำลังปะทะกับกองทัพซูดานในขณะนี้ก็คือกองกำลังติดอาวุธในดาร์ฟูร์เมื่อครั้งอดีตนั่นเอง

 

  • เฮเมดติมีบทบาทเด่นในภาคการเมืองของซูดานตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเขาเคยมีส่วนช่วยในการโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีอัล-บาชีร์ในปี 2019 และต่อมาก็เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการปราบปรามผู้ประท้วงที่เรียกร้องประชาธิปไตยในซูดาน

 

  • ในฐานะรองประมุขแห่งรัฐ เฮเมดติ อดีตพ่อค้าอูฐที่มีการศึกษาไม่สูงนัก ได้รับหน้าที่สำคัญในการดูแลซูดานในยุคหลังอัล-บาชีร์ ทั้งการกอบกู้เศรษฐกิจที่ถดถอยลงอย่างหนัก รวมถึงการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มกบฏ โดยเหตุที่เขามีอำนาจมากในซูดานนั้น เนื่องจากเขาเป็นผู้บัญชาการของกองกำลังกึ่งทหาร RSF ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่ขึ้นชื่อเรื่องการต่อสู้กับกลุ่มกบฏต่างๆ อย่างโหดเหี้ยมในทะเลทรายของดาร์ฟูร์ดังที่กล่าวไปข้างต้น 

 

  • มูฮัมหมัด ซาอัด อดีตผู้ช่วยของเฮเมดติ เปิดเผยว่า เฮเมดติจับอาวุธต่อสู้ครั้งแรกในภูมิภาคดาร์ฟูร์ตะวันตก จากความแค้นที่โดนกลุ่มคนร้ายโจมตีขบวนสินค้าของเขา อีกทั้งยังสังหารคนไปอีก 60 คน ซึ่งรวมถึงคนในครอบครัวของเฮเมดติด้วย ก่อนที่จะปล้นอูฐไปหลายตัว ต่อมาในช่วงปี 2003 ความขัดแย้งในดาร์ฟูร์ได้ปะทุเป็นความรุนแรงในวงกว้าง โดยชุมชนชาวแอฟริกันผิวดำบางแห่งกล่าวหาผู้นำซูดานว่า สนับสนุนชนเผ่าอาหรับเร่ร่อนมากกว่าเกษตรกรผิวดำ ส่งผลให้กลุ่มกบฏเลือกจับอาวุธขึ้นสู้กับกองทัพ

 

  • หลังจากนั้นเฮเมดติก็ได้จัดตั้งทหารกองหนุนที่สนับสนุนรัฐบาลขึ้นมาภายใต้ชื่อกลุ่มติดอาวุธจันจาวีด (Janjaweed) โดยสมาชิกส่วนใหญ่มาจากชนเผ่าอาหรับเร่ร่อน ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่ม RSF ที่มีสมาชิกที่หลากหลายมากขึ้น

 

  • แม้ความขัดแย้งในดาร์ฟูร์จะมีความโหดร้ายทารุณ รวมถึงถูกกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ ICC กลับไม่ได้ตั้งข้อหากับเฮเมดติซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่มจันจาวีดแต่อย่างใด

 

  • คำบอกเล่าจากแหล่งข่าววงในยังเปิดเผยอีกด้วยว่า ในสมัยที่อัล-บาชีร์เรืองอำนาจในซูดานและต้องการการปกป้องจากคู่แข่งของเขานั้น เขาได้เลือกให้เฮเมดติมารับหน้าที่อันสำคัญนี้ เนื่องจากประทับใจในไหวพริบและทักษะการต่อสู้ของเขา 

 

  • อัล-บาชีร์พึ่งพาเฮเมดติในการจัดการกับศัตรูของรัฐทั้งในดาร์ฟูร์ รวมถึงพื้นที่ความขัดแย้งอื่นๆ ในซูดาน นอกจากนี้เฮเมดติยังมีอำนาจในการเข้าควบคุมเหมืองทองคำหลายแห่งในดาร์ฟูร์และขายทรัพยากรเหล่านั้นด้วย ทำให้เขามั่งคั่งจนจัดอยู่ในกลุ่มบุคคลที่รวยที่สุดของประเทศ 

 

  • นอกจากนี้เฮเมดติยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หลังจากที่เขาส่งกองกำลัง RSF ไปช่วยหนุนการสู้รบกับกลุ่มกบฏในสงครามกลางเมืองที่เยเมน

 

  • แต่แน่นอนว่าโลกนี้ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูที่ถาวร หลังจากที่ช่วยสนับสนุนอัล-บาชีร์อยู่หลายปี ในที่สุดเฮเมดติก็ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ โค่นอำนาจของอัล-บาชีร์ในปี 2019 หลังจากที่ผู้ประท้วงลุกฮือเรียกร้องให้มีการคืนอำนาจสู่ประชาชน และยุติปัญหาทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อปากท้องของผู้คน

 

  • หลังจากเหตุความวุ่นวายดังกล่าว ซูดานก็ได้จัดตั้งกลุ่มความร่วมมือระหว่างพลเรือนและทหาร ซึ่งเฮเมดติก็พยายามกำหนดอนาคตของซูดานใหม่หลังจากที่ถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารของอัล-บาชีร์มานานเกือบ 30 ปี โดยเขาได้กล่าวต่อสาธารณชนว่า ซูดานต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง อีกทั้งยังได้เข้าพบกับทูตจากชาติตะวันตกและเจรจากับกลุ่มกบฏ

 

  • แต่ดูเหมือนว่าเขาจะไม่ใช่ผู้นำที่อดทนอดกลั้นต่อเหตุความขัดแย้งได้มากนัก เพราะภายหลังจากที่อัล-บาชีร์ถูกโค่นจากอำนาจ กองกำลัง RSF เคยได้เปิดฉากยิงกลุ่มผู้ประท้วงที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในกรุงคาร์ทูม จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 118 คนด้วยกัน ซึ่งเขาปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้สั่งการให้ยิงประชาชน

 

  • ต่อมาในเดือนตุลาคม 2021 เขาก็ได้ร่วมมือกับอัล-บูร์ฮานก่อรัฐประหารขึ้นอีกครั้งในซูดาน ซึ่งเฮเมดติกล่าวว่า กองทัพจำเป็นต้องยึดอำนาจเพื่อ ‘แก้ไขแนวทางปฏิวัติของประชาชน’ และสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในประเทศ ทั้งยังกล่าวด้วยว่า กองทัพเตรียมที่จะมอบอำนาจให้กับพลเรือนในกรณีที่มีการทำข้อตกลงกันหรือมีการเลือกตั้ง ซึ่งชาวซูดานหลายคนไม่เชื่อในสิ่งที่เขาพูด

 

  • อย่างไรก็ตาม กองกำลัง RSF และกองทัพซูดานนั้นมีความคิดเห็นที่ต่างกันเกี่ยวกับทิศทางประเทศ อีกทั้งยังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอในการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การปกครองภายใต้การนำของพลเรือน

 

  • ด้านผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เฮเมดติไม่ต้องการอยู่ใต้เงาของอัล-บูร์ฮาน เขาต้องการเป็นผู้นำอันดับหนึ่ง และเขาก็เป็นผู้ที่มีความทะเยอทะยานอย่างมาก

 

อนาคตที่ไม่แน่นอนของซูดาน

 

  • ท่ามกลางการต่อสู้รุนแรงที่ยังมองไม่เห็นจุดจบ ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างสิทธิในการควบคุมสถานที่สำคัญในเมืองหลวง ขณะที่มีรายงานถึงการปะทะกันอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศ ไม่ใช่แค่เพียงกรุงคาร์ทูมเท่านั้น

 

  • ข้อมูลจากการประมาณการระบุว่า จำนวนสมาชิกของกองกำลังติดอาวุธซูดานอยู่ที่ราว 210,000-220,000 นาย ส่วนสมาชิกของ RSF คาดว่ามีอยู่ราว 70,000 นาย ซึ่งถึงแม้จะมีจำนวนน้อยกว่า แต่มีการฝึกฝนกำลังพลที่เหนือกว่า อีกทั้งยังมีอาวุธที่ดีกว่าด้วย

 

  • ด้านนานาชาติได้ออกมาแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะนอกเหนือจากความปลอดภัยของพลเรือนแล้ว ซูดานยังเป็นประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ โดยก่อนหน้านี้สำนักข่าว CNN เคยรายงานว่า รัสเซียได้สมรู้ร่วมคิดกับผู้นำทางทหารของซูดานเพื่อลักลอบขนทองคำออกจากประเทศ ขณะเดียวกัน กองกำลัง RSF ของเฮเมดติก็ได้รับทั้งการฝึกฝนและการสนับสนุนอาวุธจากรัสเซีย ส่วนตัวอัล-บูร์ฮานนั้นก็คาดว่าได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียด้วย

 

  • ในตอนนี้อียิปต์และซูดานใต้ได้พยายามเสนอตัวเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องจับตาดูต่อไปว่าจะมีชาติใดที่สามารถเป็นกาวใจเชื่อมรอยร้าวที่ยากจะผสานในครั้งนี้ เพราะผู้ที่ทุกข์ทนที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นประชาชนชาวซูดานที่ต้องรับกรรมจากสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ก่อ และไม่มีสิทธิ์เลือกใดๆ ทั้งสิ้น

 

ภาพ: Mahmoud Hjaj / Anadolu Agency via Getty Images และ Rvector Via Shutterstockฃ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising