×

ลมหายใจชาวแพรกษา กับกองขยะมหึมาเท่าภูเขา

03.03.2024
  • LOADING...

‘ภูเขา’ ที่เรารู้จักเห็นกันด้วยตาในนิยามแบบธรรมชาติสิ่งแวดล้อม มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นต้นกำเนิดอากาศ เป็นแหล่งรวมทรัพยากร ความสูงของภูเขาโดยทั่วไปจะวัดโดยความสูงที่ระดับเหนือน้ำทะเล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสีเขียวชอุ่มที่ทึมทึบไปด้วยป่าไม้

 

แตกต่างจากภูเขาลูกนี้ที่หลายคนเรียกมันว่า ‘ภูเขาขยะแห่งแพรกษาใหม่’ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เกิดจากมนุษย์และวงจรการจัดการขยะในหลายปีที่ผ่านมา

 

ช่วงฤดูร้อนถือเป็นช่วงที่อากาศโดยรอบจะอบอวลไปด้วยกลิ่นขยะ และลมแรงในช่วงฤดูหนาวสามารถพัดกลิ่นขยะลอยไปได้ไกลครอบคลุมพื้นที่หลายกิโลเมตร ภูเขาขยะลูกนี้เติบโตขึ้นบริเวณตำบลแพรกษาใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ บนพื้นที่กว่า 300 ไร่ ที่ล้อมรอบด้วยชุมชน หน่วยงานราชการท้องถิ่น และโรงเรียนอนุบาลประจำตำบล

 

ภูเขาขยะแห่งนี้เป็นจุดสิ้นสุดของขยะในจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดที่มีขยะมูลฝอยมากที่สุดเป็นลำดับ 2 ของประเทศ รองจากกรุงเทพฯ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษปี 2565 จังหวัดนี้มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้น 3,120 ตันต่อวัน และมีปริมาณขยะที่กำจัดไม่ถูกต้องมากถึง 2,530 ตันต่อวัน หรือคิดเป็น 81.08% มีปริมาณขยะเข้ามาราว 2,300 ตันต่อวัน มีขยะตกค้างอยู่ 1.2 ล้านตัน ทุกวันจะมีการนำขยะประมาณ 500 ตันเข้าสู่โรงงานผลิตไฟฟ้าขนาด 9.9 เมกะวัตต์เพื่อเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า

 

หลังภาพภูเขาขยะแพรกษาใหม่ถูกพูดถึงและส่งต่อกันในโซเชียลมีเดีย ถึงปริมาณและการจัดการขยะ ช่างภาพ THE STANDARD ลงพื้นที่ถ่ายภาพและพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ ส่วนใหญ่พบว่าประสบปัญหาในเรื่องกลิ่นและน้ำขยะจากการขนส่งขยะ 

 

ถึงแม้บริษัทที่เป็นเจ้าของบ่อขยะจะมีการติดตามผลกระทบต่อชุมชนอยู่เสมอ โดยติดตั้งระบบตรวจจับกลิ่น Electronic Nose หรือ E-Nose ที่จะช่วยวัดว่าจุดไหนที่กลิ่นรุนแรงเกินมาตรฐาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลปัญหาในทันที แต่ด้วยจำนวนขยะที่มากขึ้นในทุกๆ วัน จากบ่อขยะกลายเป็นภาพภูเขาขยะที่มีความสูงมากกว่าตึกห้าชั้น ปัญหาในเรื่องกลิ่นและจำนวนขยะที่เพิ่มมากขึ้นก็ไม่ได้มีทีท่าจะลดลง ได้แต่หวังว่าในอนาคตจะมีการจัดการให้สภาพแวดล้อมเอื้อต่อชุมชน ผู้คน ขณะที่เทคโนโลยีการจัดการขยะในอนาคตจะช่วยให้ปัญหานี้หมดไปเช่นกัน

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising