×

2566 ปีมหัศจรรย์ของหนังไทย

27.12.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • หากพูดถึงสภาวะของหนังไทยเมื่อตอนต้นปี 2566 หนึ่งในคำถามที่คนในวงการตั้งกันเห็นจะหนีไม่พ้น วงการหนังไทยจะผ่านพ้นปีนี้อย่างไร ในเมื่อหนังไทยที่เปิดตัวในช่วงครึ่งปีแรกล้วนแต่ทำรายได้อย่างน่าผิดหวัง ไม่ว่าจะเป็น แสงกระสือ 2 ที่ทำรายได้ไม่ถึง 10 ล้านบาททั่วประเทศ 
  • อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนสำคัญได้เกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 4 ของปี เมื่อหนังสยองขวัญฟอร์มเล็กว่าด้วยมนตร์ดำมุสลิมเรื่อง ของแขก สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการทำรายได้ทั่วประเทศกว่า 50 ล้านบาทในช่วงปลายเดือนตุลาคม
  • สัปเหร่อ ได้สร้างปรากฏการณ์ที่ก่อให้เกิดสถิติอย่างว่าที่หนังไทยที่ทำรายได้สูงสุดในปีนี้ ด้วยตัวเลขกว่า 720 ล้านบาท หรือเป็นหนังไทยที่ได้กำไรมากที่สุดในประวัติศาสตร์ (จากทุนสร้างเพียง 10 ล้านบาท)
  • คำถามสำคัญคือ เกิดอะไรขึ้นกับหนังไทยในช่วงไตรมาสสุดท้าย ที่สามารถพลิกสถานการณ์จากการเผชิญหน้ากับภาวะหดหู่ไปสู่การโอบกอดความหวังที่เรืองรองได้ สำหรับผู้เขียน ความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงแบบทันด่วนเช่นนี้อาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้

หากพูดถึงสภาวะของหนังไทยเมื่อตอนต้นปี 2566 หนึ่งในคำถามที่คนในวงการตั้งกันเห็นจะหนีไม่พ้น วงการหนังไทยจะผ่านพ้นปีนี้อย่างไร ในเมื่อหนังไทยที่เปิดตัวในช่วงครึ่งปีแรกล้วนแต่ทำรายได้อย่างน่าผิดหวัง ไม่ว่าจะเป็น แสงกระสือ 2 ที่ทำรายได้ไม่ถึง 10 ล้านบาททั่วประเทศ หรือแม้แต่ บ้านเช่า..บูชายัญ หนังสยองขวัญที่ได้รับความคาดหวังว่าจะทำรายได้มโหฬาร ก็ยังทำรายได้ไม่ถึง 100 ล้านบาท มีเพียงแค่ ขุนพันธ์ 3 หนังแฟรนไชส์ที่โด่งดังจากสหมงคลฟิล์มเท่านั้นที่ทำรายได้สูงกว่า 100 ล้านบาททั่วประเทศ 

 

ขุนพันธ์ 3

 

สถานการณ์ดังกล่าวช่างตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเวียดนาม ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 รายได้บ็อกซ์ออฟฟิศของหนังทุกเรื่องที่ฉายในประเทศเวียดนามรวมกันได้ 46 ล้านดอลลาร์ (หรือ 1,610 ล้านบาท) ในจำนวนนี้กว่าครึ่ง หรือ 800 ล้านบาท เป็นรายได้ที่เกิดจากการฉายหนังเวียดนามจำนวน 8 เรื่อง หรือถ้าจะอธิบายให้ชัดขึ้น ก็หมายความว่าหนังเวียดนามแต่ละเรื่องทำรายได้เฉลี่ยเรื่องละ 100 ล้านบาท 

 

เมื่อย้อนกลับมามองที่เมืองไทย ภาวะการเซื่องซึมทางด้านรายได้ของหนังไทยในช่วงครึ่งปีสร้างความกังวลใจให้แก่บุคลากรในวงการหนังไทยอยู่ไม่น้อย สตูดิโอหลายแห่งเริ่มวางแผนการผลิตที่รัดกุมขึ้น ขณะที่บุคลากรในสายผลิตตั้งแต่ผู้กำกับหนัง ไปจนถึงทีมงาน ก็เริ่มตั้งคำถามถึงความมั่นคงในวิชาชีพ คำถามว่าหนังไทยจะตายหรือไม่ ซึ่งคำถามที่เคยได้ยินครั้งสุดท้ายเมื่อหลายสิบปีก่อนเริ่มได้ยินบ่อยขึ้นและดังขึ้น พอๆ กับคำถามที่ว่า หรือสตรีมมิงจะกลายเป็นที่พึ่งสุดท้ายของคนทำหนังไทยแทนหรือไม่

 

ของแขก 

 

อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนสำคัญได้เกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 4 ของปี เมื่อหนังสยองขวัญฟอร์มเล็กว่าด้วยมนตร์ดำมุสลิมเรื่อง ของแขก สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการทำรายได้ทั่วประเทศกว่า 50 ล้านบาทในช่วงปลายเดือนตุลาคม โดยแหล่งรายได้สำคัญมาจากจังหวัดทางใต้ตอนล่าง ซึ่งเป็นฐานที่ไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อน

 

ถัดจาก ของแขก สึนามิลูกถัดไปที่ได้สร้างความตื่นตะลึง ไม่เพียงแค่คนในวงการหนังไทย แต่ยังรวมถึงสังคมไทยในระดับมหภาค ก็คือหนังเรื่อง สัปเหร่อ ของกลุ่มไทบ้าน สตูดิโอ กลุ่มคนทำหนังจากภาคอีสาน ที่ผลงานก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นในพื้นที่ของตัวเอง ก่อนสร้างความน่าสนใจให้แก่ผู้ชมนอกภูมิภาคโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ สัปเหร่อ ได้สร้างปรากฏการณ์ที่ก่อให้เกิดสถิติอย่างว่าที่หนังไทยที่ทำรายได้สูงสุดในปีนี้ ด้วยตัวเลขกว่า 720 ล้านบาท หรือเป็นหนังไทยที่ได้กำไรมากที่สุดในประวัติศาสตร์ (จากทุนสร้างเพียง 10 ล้านบาท)  

 

4KINGS 2

 

เท่านั้นยังไม่พอ คล้อยหลังมาไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่หนังเรื่อง สัปเหร่อ เข้าฉาย หนังสยองขวัญอีกเรื่องหนึ่งอย่าง ธี่หยด ก็ตอกย้ำความสำเร็จของอุตสาหกรรมหนังไทยด้วยการทำรายได้รวมไปอีกกว่า 480 ล้านบาท ก่อนที่ล่าสุดหนังเรื่อง 4KINGS 2 ซึ่งเป็นภาคต่อของหนังในชื่อเดียวกันที่ทำรายได้สูงสุดในปี 2564 จะทำรายได้ปิดปีที่ดูเหมือนจะน่ารันทดของหนังไทยไปอีกกว่า 200 ล้านบาท 

 

นั่นเท่ากับว่า เฉพาะไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 หนังไทยทั้ง 4 เรื่องทำรายได้รวมกันเกือบ 1,500 ล้านบาท ซึ่งถ้าหากนับรวมกับรายได้หนังไทยในช่วงสามไตรมาสแรกเข้าไปด้วย ก็เป็นไปได้ว่าเฉพาะปีนี้หนังไทยอาจทำรายได้รวมกันถึง 1,800 ล้านบาท ถือเป็นสถิติสูงสุดในรอบหลายๆ ปี 

 

คำถามสำคัญคือ เกิดอะไรขึ้นกับหนังไทยในช่วงไตรมาสสุดท้าย ที่สามารถพลิกสถานการณ์จากการเผชิญหน้ากับภาวะหดหู่ไปสู่การโอบกอดความหวังที่เรืองรองได้ สำหรับผู้เขียน ความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงแบบทันด่วนเช่นนี้อาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้ 

 

สัปเหร่อ

 

1. ความหลากหลายของเนื้อหา

 

หากไม่รวม 4KINGS 2 หนังทำเงินทั้ง 3 เรื่องล้วนแต่เป็นหนังสยองขวัญทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ของแขก, สัปเหร่อ และ ธี่หยด แต่สิ่งที่น่าสนใจ ภายใต้แนวทางแบบเดียวกัน แต่รูปแบบการนำเสนอของแต่ละเรื่องนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดย ของแขก นำเสนอเรื่องราวมนตร์ดำมุสลิม ซึ่งเป็นเรื่องไกลตัวและแปลกใหม่สำหรับคนไทย ขณะที่ สัปเหร่อ แม้ว่ายังคงความสยองขวัญในแบบที่คนไทยคุ้นเคย โดยเฉพาะส่วนผสมของความขบขันและน่ากลัว แต่สิ่งที่หนังไปไกลกว่านั้นคือการนำเสนอแนวคิดปรัชญาเกี่ยวกับความตายที่เข้าใจง่ายแต่แหลมคม ส่วน ธี่หยด ก็เป็นหนังผีที่ผสมผสานความหลอนจากเรื่องราวที่อ้างจากความจริงในอดีต กับความสนุกแบบหนังแอ็กชันที่ไม่ค่อยปรากฏในหนังผีไทยเท่าใดนัก ความหลากหลายของแนวทางและวิธีการนำเสนอนี้เองที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกตื่นเต้น ใคร่รู้ และเกิดความหวังเมื่อได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของหนังเหล่านี้ ผ่านช่องทางการโปรโมตต่างๆ รวมถึงการถูกพูดถึงในลักษณะปากต่อปาก

 

ธี่หยด

 

2. คุณภาพการผลิต

 

ในอดีตหนังไทยมักถูกตัดสินตั้งแต่แรก (Prejudge) ว่าคุณภาพการผลิตแย่ เนื่องจากทุนการผลิตที่ต่ำกว่าหนังต่างประเทศ โดยเฉพาะจากฮอลลีวูด หรือเกาหลีใต้ แต่ในระยะหลัง โดยเฉพาะ 4-5 ปีที่ผ่านมา คุณภาพการผลิตของหนังไทยยกระดับขึ้นมาก อันเนื่องมาจากบุคลากรที่มีความชำนาญในการผลิตหนังมีจำนวนมากขึ้น ทั้งผู้กำกับหนัง ผู้กำกับภาพ นักลำดับภาพ ไปจนถึงผู้ออกแบบเสียง การสั่งสมความเชื่อมั่นในคุณภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องนี้เองที่ทำให้ผู้ชมเกิดความเชื่อมั่นในหนังไทยอย่างไม่รู้ตัว สังเกตได้ว่าหนังไทย 4 เรื่องล่าสุดที่เข้าฉายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ แทบไม่มีเรื่องไหนถูกตำหนิว่าคุณภาพการผลิตแย่ ยกเว้นบทของบางเรื่องที่อาจถูกติในแง่ความอ่อนด้อยในการเล่าเรื่อง นอกจากนี้ หนังอย่าง ธี่หยด ก็ได้สร้างมิติใหม่ทางด้านประสบการณ์การดูหนัง (Cinematic Experience) ด้วยการฉายในโรง IMAX ซึ่งก่อนหน้านี้ให้พื้นที่เฉพาะหนังจากฮอลลีวูดเท่านั้น 

 

ของแขก

 

3. การเผยโฉมของฐานผู้ชมซ่อนเร้น

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าฐานผู้ชมหลักของหนังไทยตลอดมาเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี แต่ตัวชี้วัดว่าหนังไทยเรื่องไหนจะประสบความสำเร็จมักจะมีตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็คือฐานผู้ชมซ่อนเร้น (Hidden Audiences) ผู้ชมกลุ่มนี้คือกลุ่มผู้ชมที่ไม่ค่อยได้ออกมาดูหนังไทยเท่าใดนัก อาจจะด้วยความผิดหวังที่มีต่อหนังไทย หรือไม่ก็เป็นเพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อใดก็ตามที่ฐานผู้ชมกลุ่มนี้ถูกปลุก ผลที่ตามมาคือความสำเร็จอย่างถล่มทลายของหนังเรื่องนั้น 

 

หากเจาะลึกไปที่หนังไทยทั้ง 4 เรื่องที่ฉายในไตรมาสสุดท้าย จะพบว่าฐานผู้ชมซ่อนเร้นมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเพิ่มยอดรายได้ของหนังแต่ละเรื่องอย่างมีนัยสำคัญ ในกรณีของ ของแขก ฐานผู้ชมใหม่ที่น่าสนใจได้แก่กลุ่มผู้ชมในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก หรือพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกอย่างบางกะปิ มีนบุรี และหนองจอก ซึ่งมีชุมชนมุสลิมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วน สัปเหร่อ นอกจากจะได้กลุ่มผู้ชมแถบพื้นที่อีสานแล้ว หนังยังดึงกลุ่มผู้ชมซ่อนเร้นในภาคอื่นๆ ออกมาดูในโรงอย่างคลาคล่ำ ที่น่าสนใจคือ กรุงเทพฯ ที่หนังเปิดตัวค่อนข้างอ่อน (4 ล้านบาท) แต่เมื่อกระแสปากต่อปากแรงขึ้น กระแสความสนใจในตัวหนังก็เพิ่มขึ้นตาม เมื่อบวกกับแรงส่งเสริมจากสื่อกระแสหลักอย่างรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ จึงทำให้ผู้ชมซ่อนเร้นออกมาดูหนังในโรงเป็นจำนวนมาก  

 

4KINGS 2

 

สำหรับ ธี่หยด แม้ว่ากระแสของหนังจะแรงตั้งแต่แรก แต่ความสนุกของหนัง รวมถึงที่มาของเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้หนังสร้างความสนใจแก่ผู้ชมที่ไม่ค่อยออกมาดูหนังในโรงได้ไม่ยาก ส่วนหนังเรื่อง 4KINGS 2 แม้ว่าหนังจะอาศัยต้นทุนความสำเร็จจากภาคแรก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังยังคงได้รับการตอบรับจากฐานผู้ชมซ่อนเร้น โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนช่างทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ คุณภาพการเล่าเรื่องที่ทรงพลังยังสร้างกระแสปากต่อปากจนทำให้กลุ่มคนดูที่มีความรู้สึกเคลือบแคลงต่อหนังยอมออกมาดู แล้วร่วมสร้างกระแสบอกต่อ จนทำให้หนังยังคงได้รับความนิยมอยู่ถึงตอนนี้ 

 

สัปเหร่อ

 

แม้ว่าข้อสังเกตทั้งสามข้อข้างต้นอาจจะไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับหนังไทยในตอนนี้ได้ทั้งหมด แต่ที่อาจจะชัดเจนและแน่นอนคือ หนังไทยกำลังอยู่ในช่วงภาวะสะท้อนกลับอย่างรุนแรง (Rebound) จากจุดที่อาจเรียกได้ว่าต่ำสุด อันเป็นผลมาจากโรคระบาดโควิดเมื่อ 3 ปีก่อน สู่จุดที่อาจสูงกว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่คำถามที่ชวนสงสัยก็คือ ภาวะนี้จะอยู่ได้นานแค่ไหน เพราะจะว่าไปภาวะการสะท้อนกลับเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประวัติศาสตร์หนังไทย ใครที่ทันร่วมฉลองยุคทองของหนังไทยในทศวรรษที่ 2540 คงทราบดีว่าช่วงเวลานั้นหนังไทยในแต่ละปีนั้นมีความหลากหลาย และแต่ละเรื่องได้รับการตอบรับที่ดีทั้งในเชิงรายได้และเสียงชื่นชม ไม่ว่าจะเป็นหนังแอ็กชันครีเอทีฟอย่าง องค์บาก (2546) หนังผีที่สร้างความสยองไปทั่วโลกอย่าง นางนาก (2542) และ ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547) หรือหนังอาร์ตไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลเมืองคานส์อย่าง สุดเสน่หา (2545) และ สัตว์ประหลาด (2547) จนคำว่า ‘ศรัทธาต่อหนังไทย’ ได้กลับมาอีกครั้ง หลังจากที่หายไปในช่วงปลายทศวรรษที่ 2530 

 

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่สวยงามของหนังไทยในทศวรรษที่ 2540 ก็ดำเนินไปในช่วงเวลาอันสั้นเท่านั้น เมื่อผู้สร้างหลายรายเลือกที่จะย้ำรอยความสำเร็จของหนังที่ประสบความสำเร็จก่อนหน้า จนในที่สุดตลาดก็ขาดความหลากหลาย ผลักไสคนดูออกห่างไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กับคำครหาที่ว่าหนังไทยมีแต่เรื่องเดิมๆ ไม่ตลกก็ผี  

 

ธี่หยด

 

ด้วยเหตุนี้ ถ้าจะรักษาความต่อเนื่องของภาวะสะท้อนกลับของหนังไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ให้ยืนยาวต่อไป ผู้สร้างหนังและคนทำหนังก็ต้องร่วมกันรักษาศรัทธาที่กำลังก่อตัวในหมู่ผู้ชมด้วยการผลิตผลงานที่มีคุณภาพและหลากหลาย ขณะเดียวกันผู้ชมเองก็ควรเตรียมรับความหลากหลายของหนังไทยอย่างเปิดกว้าง โดยพึงตระหนักว่าในความหลากหลายที่หลั่งไหลเข้ามาในตลาดหนังไทย คงไม่ใช่ทุกเรื่องที่ถูกใจเราทั้งหมด ซึ่งหากสถานการณ์ในปีหน้าเป็นไปอย่างที่กล่าวไว้ คำว่า ‘ยุคทอง’ ครั้งใหม่ของหนังไทยคงไม่น่าไกลเกินจริง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising