แสงไฟนีออนของฮ่องกงเคยเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมีชีวิตชีวาของเมืองท่ามกลางความมืด กระทั่งวันเวลาผ่านไปแสงไฟเหล่านั้นกลับค่อยๆ หายไป และถูกแทนที่ด้วยหลอด LED แทน ทว่าสิ่งที่สาบสูญไปพร้อมกับแสงไฟนีออนไม่ได้มีแค่วัฒนธรรมและยุคสมัย แต่เป็นช่างฝีมือที่เคยสร้างความน่าอัศจรรย์ให้แก่แสงไฟเหล่านั้นจนฝังรากลึกกลายเป็นความทรงจำของใครหลายคน
ทั้งหมดนั้นคือแก่นสารสำคัญที่ A Light Never Goes Out ผลงานภาพยนตร์ยาวเรื่องแรกของ Anastasia Tsang ต้องการจะพูดถึง หรือถ้าจำกัดความอย่างเรียบง่ายมันคือจดหมายรักที่เธออยากจะมอบให้กับแสงไฟนีออนและช่างฝีมือที่กำลังถูกหลงลืมไปตามกาลเวลา
A Light Never Goes Out ว่าด้วยเรื่องราวของ Mei-hsiang (Sylvia Chang) หญิงหม้ายที่มักมีอาการนอนไม่หลับนับตั้งแต่ที่ Bill (Simon Yam) สามีที่เป็นช่างทำไฟนีออนของเธอเสียชีวิต และในขณะที่กำลังเศร้าเสียใจกับการจากไปของเขา Mei-hsiang ก็ได้พบกับ Leo (Henick Chou) ลูกศิษย์ของ Bill ทั้งสองพูดคุยกันจนได้รู้ว่าสามีของเธอยังมีความปรารถนาสุดท้ายหลงเหลืออยู่ ด้วยเหตุนี้ Mei-hsiang จึงชวนเด็กหนุ่มมาช่วยกันทำให้ความต้องการของเขาเป็นจริง
ความน่าสนใจของ A Light Never Goes Out นอกจากมันจะเป็นภาพยนตร์ที่ทางฮ่องกงเลือกเป็นตัวแทนเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ ส่วนที่น่าพูดถึงจริงๆ อีกอย่างคือ การที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ Sylvia Chang ในวัย 70 ปีกลับมาผงาดคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในเวทีม้าทองคำของไต้หวันได้อีกครั้ง หลังจากผ่านมานานถึง 37 ปี นับตั้งแต่ที่คว้ารางวัลนี้ครั้งแรกจากภาพยนตร์เรื่อง Passion (1986) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่เธอกำกับและแสดงนำเอง
อย่างไรก็ตาม ครึ่งค่อนชีวิตที่ผ่านมาฝีไม้ลายมือของ Sylvia Chang กลับไม่เคยตกต่ำลงไปตามสังขารเลย มิหนำซ้ำยังน่าจดจำมากขึ้นเมื่อการแสดงของเธอคือสิ่งที่งดงามและทรงพลังที่สุดในเรื่อง เมื่อตัวละครของเธอต้องแสดงความโศกเศร้ามากมายผ่านสีหน้า ท่าทาง และแววตา พร้อมทั้งมวลอารมณ์ที่อัดแน่นอยู่ในใจแต่ไม่อาจระบายออกมาให้ใครฟังได้ หรือต่อให้ระบายออกมาได้ก็ไม่มีใครเข้าใจเธออยู่ดี บ่อยครั้งเราจึงเห็นว่าคนหนุ่มสาวภายในเรื่องมักตั้งคำถามถึงการกระทำที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไร้สาระของเธออยู่เสมอ ฉะนั้นการหันกลับมองความทรงจำที่เคยใช้ชีวิตร่วมกับสามีเลยเป็นพื้นที่เพียงแห่งเดียวที่มีคนเข้าใจในตัวของเธอ
และด้วยการแสดงที่น้อยแต่มากของ Sylvia Chan ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับแนวทางของภาพยนตร์เป็นอย่างมาก เพราะถ้าว่ากันตามตรงตลอดระยะเวลาที่เรื่องราวกำลังดำเนินอยู่มันคือการเดินทางตามหาจิตวิญญาณของเธอเอง และมากไปกว่านั้นคือ การตามความทรงจำที่เคยมีร่วมกับไฟนีออนซึ่งเป็นสิ่งที่ชักนำให้เธอกับสามีได้มาพบกัน
นัยหนึ่งไฟนีออนจึงกลายเป็นตัวละคร ไม่ใช่ในแง่ของบุคคลแต่เป็นสิ่งที่ยึดโยงผู้คน วัฒนธรรม และความทรงจำเข้าด้วยกัน เพราะอย่างนั้นการที่มันล้มหายตายจากไปตามกาลเวลาอย่างที่ภาพยนตร์ได้กล่าวอ้างโดยอิงอาศัยจากสถานการณ์จริงของฮ่องกงที่ในปัจจุบันได้สั่งให้รื้อถอนป้ายไฟเหล่านั้นออกไปจนหมดสิ้นก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจยิ่งนักเมื่อสิ่งที่หายไปพร้อมกับมันอาจเป็นภาพจำทางประวัติศาสตร์ของฮ่องกงด้วย
แต่อย่างว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น Fiction ไม่ใช่ Documentary รายละเอียดที่ควรจะถูกขยายความจึงไม่ได้ใส่เข้ามาอย่างมีนัยสำคัญมากเท่ากับเรื่องที่คนทำอยากจะเล่า และถึงแม้ภาพยนตร์จะมีแกนกลางอยู่ที่การระลึกถึงอดีต แต่ก็ใช่ว่ามันจะไม่พูดเรื่องอื่นเลย
อีกส่วนหนึ่งที่ถูกสอดแทรกเข้ามาคือ การพูดถึงสถานการณ์ปัจจุบันของสังคมฮ่องกงผ่านตัวละครหนุ่มสาวภายในเรื่องที่ไม่มากไม่น้อยพวกเขาเหล่านั้นกลายเป็นภาพสะท้อนความจริงของผู้คนที่กำลังหลงทางและหาตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองไม่เจอ ซึ่งการพูดถึงสภาวะที่เกิดขึ้นกับคนทั้งสองยุคผ่านการเดินทางก็ถือเป็นสิ่งที่คนทำตัดสินใจได้หลักแหลมที่สุดสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ก็มีบางช่วงที่ควบคุมได้ไม่ดีนัก โดยเฉพาะการสลับห้วงอารมณ์ของโทนเรื่องและตัวละครอย่างรวดเร็วในช่วงท้ายของภาพยนตร์
ถึงกระนั้น A Light Never Goes Out ก็ยังคงเป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสมแก่การเป็นตัวแทนเข้าชิงออสการ์ของฮ่องกง เพราะนอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวความทรงจำของผู้คนที่มีต่อไฟนีออนซึ่งเปรียบเสมือนวัฒนธรรมสำคัญของฮ่องกง การพูดถึงช่องว่างระหว่างวัยผ่านตัวละครที่อายุไล่เลี่ยและแตกต่างกันก็เป็นภาพที่สะท้อนที่ช่วยปลอบประโลมจากความจริงอันไม่น่าอภิรมย์ของสังคมได้ดีทีเดียว
สามารถติดตามไลน์อัพและรับชมภาพยนตร์ฮ่องกงมากคุณภาพได้ใน Next Generation: Emerging Directors Exhibition & Hong Kong Film Gala Presentation ระหว่างวันที่ 22-27 ตุลาคมที่ House Samyan
รับชมตัวอย่างได้ที่: