×

A Haunting in Venice คดีสุดสยองของยอดนักสืบหนวดงามที่เฉียบคมกว่าสองภาคแรก

14.09.2023
  • LOADING...
A Haunting in Venice

A Haunting in Venice ภาพยนตร์แนวสืบสวนจากผู้กำกับและนักแสดงมากฝีมือ Kenneth Branagh ที่ดัดแปลงมาจากนิยายสืบสวนของนักเขียนชาวอังกฤษ Agatha Christie ผู้ถูกกล่าวขานให้เป็นราชินีแห่งนิยายสืบสวนฆาตกรรม โดยนี่ถือเป็นผลงานลำดับที่ 3 ของ Kenneth Branagh ที่นำหนังสือของ Agatha Christie มาดัดแปลงเป็นฉบับภาพยนตร์ ต่อจาก Murder on the Orient Express (2017) และ Death on the Nile (2022) 

 

สำหรับ A Haunting in Venice เป็นการนำหนังสือชื่อ Hallowe’en Party ที่ออกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1969 มาตีความใหม่ บอกเล่าเรื่องราวของ Hercule Poirot (Kenneth Branagh) ยอดนักสืบหนวดงาม ที่ตัดสินใจเดินทางไปใช้ชีวิตวัยเกษียณ ณ เมืองอันงดงามอย่างเวนิส ประเทศอิตาลี 

 

แต่ดูเหมือนว่าวันเวลาอันสงบสุขของ Poirot จะต้องหยุดชะงัก (อีกครั้ง) เมื่อวันหนึ่ง Ariadne Oliver (Tina Fey) นักเขียนนิยายสืบสวนชื่อดังและเพื่อนเก่าของ Poirot มาชักชวนเขาให้ไปร่วมติดตามพิธีสื่อวิญญาณของร่างทรงหญิงนาม Reynolds (Michelle Yeoh) ที่ถูกจ้างวานจาก Rowena Drake (Kelly Reilly) หญิงสาวที่ปรารถนาจะได้พูดคุยกับลูกสาวที่เสียชีวิตไปแล้วอีกครั้ง แต่ในระหว่างการทำพิธีก็เกิดเหตุฆาตกรรมปริศนาขึ้น Poirot จึงต้องสืบหาความจริงว่าใครคือคนร้ายตัวจริง แต่ความยากครั้งนี้คือ Poirot ต้องเผชิญกับเหตุการณ์เหนือธรรมชาติมากมาย ที่แม้แต่ Poirot เองก็ไม่อาจอธิบายได้ 

 

 

ย้อนกลับไปในสองผลงานก่อนหน้าอย่าง Murder on the Orient Express และ Death on the Nile องค์ประกอบอันโดดเด่นของภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องที่ผู้เขียนชื่นชอบเป็นการส่วนตัวคือ การสร้างบรรยากาศของสถานที่ปิดตายที่ชวนสงสัย ไม่น่าไว้วางใจ ผ่านงานภาพ แสงสี ดนตรีประกอบ และการตัดต่อ ซึ่งช่วยตรึงให้เราอยู่กับการตามหาตัวคนร้ายของ Poirot ไปได้ตลอดทั้งเรื่อง และการแสดงอันยอดเยี่ยมของทีมนักแสดงระดับแถวหน้าที่ไม่มีใครโดดเด่นมากหรือน้อยไปกว่ากัน รวมถึงไดอะล็อกอันเฉียบคมของมือเขียนบท Michael Green ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดให้เราได้รวบรวมข้อมูลและคาดเดาว่าใครคือคนร้าย 

 

แต่ขณะเดียวกัน ข้อสังเกตที่ Murder on the Orient Express และ Death on the Nile ต่างมีคล้ายๆ กันคือ รูปแบบการนำเสนอที่อาจจะยังไม่กลมกล่อมนัก ทั้ง Murder on the Orient Express ที่เนืองแน่นไปด้วยตัวละครเปี่ยมเสน่ห์ แต่ผู้กำกับและทีมสร้างกลับกระจายบทบาทและหยิบปมปัญหาของตัวละครต่างๆ มาเล่าไม่ครอบคลุมเท่าไร และ Death on the Nile ที่นอกจากข้อสังเกตในแง่การกระจายบทบาทแล้ว ภาพยนตร์ยังมาพร้อมกับการเล่าเรื่องที่ดูยืดเยื้อเกินไปจนทำให้เราหลุดโฟกัสไปหลายครั้ง  

 

และเหตุผลที่เราขอหยิบยกจุดเด่นและข้อสังเกตของ Murder on the Orient Express และ Death on the Nile มากล่าวถึงก่อนนั้น เพราะดูเหมือนว่า A Haunting in Venice จะเป็นผลงานที่ผู้กำกับและทีมสร้างได้นำจุดเด่นและข้อสังเกตของทั้งสองเรื่องมาขัดเกลาให้เฉียบคมมากขึ้น จนเกิดเป็นภาพยนตร์แนวสืบสวนปนสยองขวัญที่กลมกล่อมในทุกๆ ด้าน 

  

  

 

เริ่มตั้งแต่การถ่ายภาพและการจัดแสงเงาที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อแทนมุมมองของ Poirot ยอดนักสืบที่ไม่เชื่อในภูตผีและสิ่งเหนือธรรมชาติ กระทั่งเขาได้ก้าวเท้าเข้าสู่บ้านพักของ Rowena Drake ที่อบอวลไปด้วยบรรยากาศอันมืดหม่นและเสียงกระซิบที่หาต้นตอไม่ได้ ภาพที่ปรากฏบนหน้าจอจึงถูกปรับเปลี่ยนให้มีมุมภาพที่ดูบิดเบี้ยว แปลกตา ดูมึนงงชวนสับสน เช่นเดียวกับจังหวะจะโคนในการตัดต่อและดนตรีประกอบที่ชวนลุ้นระทึกตามสไตล์ภาพยนตร์สยองขวัญ เพื่อให้ผู้ชมได้ ‘เห็น’ และ ‘สัมผัส’ กับบรรยากาศและความรู้สึกที่ Poirot กำลังเผชิญไปพร้อมกัน 

 

ซึ่งการสร้างบรรยากาศดังกล่าวไม่ได้ช่วยเสริมให้ตัวละครต่างๆ ดูน่าสงสัยมากขึ้นเท่านั้น แต่มันยังสร้างความลังเลให้เราอีกด้วยว่า หรือคนร้ายตัวจริงของคดีนี้อาจไม่ใช่ ‘คนจริงๆ’ ก็ได้ 

 

อีกหนึ่งจุดที่เราคิดว่าผู้กำกับและทีมสร้างนำเสนอเรื่องราวได้กลมกล่อมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนั่นคือ การเล่าเรื่องที่กระชับ ไม่ยืดเยื้อ ภาพยนตร์ใช้เวลาในการเกริ่นนำไม่นานนักก็พาเรากระโจนเข้าสู่การสืบสวนสอบสวนอย่างรวดเร็ว รวมถึงปมปัญหาของตัวละครต่างๆ ก็ถูกผูกโยงเข้ากับคดีฆาตกรรมได้อย่างน่าติดตาม และไม่ได้ซับซ้อนเกินไปจนตามไม่ทัน 

 

 

และจุดเด่นสำคัญที่เราชื่นชอบเป็นการส่วนตัวคือ การที่ผู้กำกับและทีมสร้างหยิบนำปมปัญหาส่วนตัวของ Poirot ที่เคยถูกบอกเล่าไว้ในภาพยนตร์สองภาคก่อน มาต่อยอดและเพิ่มมิติให้กับยอดนักสืบหนวดงามให้น่าติดตามยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเด็น ‘การโอบรับอดีตอันขมขื่น’ เพื่อให้ชีวิตในปัจจุบันได้เดินหน้าต่ออย่างเข้าใจ 

 

ซึ่งเหล่าทีมนักแสดงนำต่างก็นำเสนอเรื่องราวของทุกตัวละครออกมาได้อย่างสมบทบาท ทั้ง Kenneth Branagh ในบทบาทของ Poirot ที่นอกจากการตามหาคนร้ายตัวจริงแล้ว เขายังต้องเผชิญกับเรื่องเหนือธรรมชาติที่คอยสั่นคลอนจุดยืนของตัวเอง รวมถึง Michelle Yeoh ในบทบาทของร่างทรงที่มีจุดยืนแตกต่างจาก Poirot อย่างสุดขั้ว และเธอก็พร้อมที่จะยืนประจันหน้ากับ Poirot อย่างไม่เกรงกลัว

 

ส่วนตัวละครที่ดูเหมือนจะอยู่นอกสายตาในตอนแรก แต่กลับเป็นตัวแย่งซีนประจำเรื่องเห็นจะเป็น Leopold Ferrier เด็กหนุ่มไหวพริบดี รับบทโดย Jude Hill ซึ่งเคยร่วมงานกับ Kenneth Branagh มาแล้วใน Belfast (2021) ที่คอยสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมท่ามกลางบรรยากาศอันตึงเครียดได้เป็นอย่างดี 

 

 

รวมๆ แล้ว A Haunting in Venice นับว่าเป็นการกลับมาของยอดนักสืบหนวดงาม Hercule Poirot ที่หลายๆ องค์ประกอบถูกขัดเกลาให้เฉียบคมมากขึ้นกว่าสองภาคแรก ทั้งกลวิธีนำเสนอที่กระชับ ไม่ยืดเยื้อ การกระจายบทบาทของแต่ละตัวละครที่ครอบคลุมมากขึ้น และการสร้างบรรยากาศชวนสยองที่เสริมให้ภาพยนตร์น่าติดตามไปได้ตลอดทั้งเรื่อง 

 

A Haunting in Venice เข้าฉายอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์ 

 

รับชมตัวอย่างได้ที่

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising