×

A Guilty Conscience พิพากษาคนรวยในนามของ ‘ความยุติธรรม’

24.10.2023
  • LOADING...
A Guilty Conscience

ชื่อเสียงเรียงนามที่ทำให้หลายคนรู้จัก A Guilty Conscience อาจไม่ได้เริ่มจากการเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของ Wai-Lun Ng (Jack Ng) ที่เคยคร่ำหวอดอยู่ในวงการภาพยนตร์ฮ่องกงด้วยการเขียนบทภาพยนตร์แอ็กชันมากมาย แต่เป็นการที่ภาพยนตร์สามารถกวาดรายได้ถึง 114.2 ล้านเหรียญฮ่องกง หรือราวๆ 530.1 ล้านบาท จนกลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์เท่าที่ภาพยนตร์ฮ่องกงเคยมีมา

 

 

ถึงกระนั้น A Guilty Conscience ที่ถูกวางในฐานะภาพยนตร์ที่พูดถึงสภาพการณ์ของคนรวยและระบบตุลาการ กลับดูเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับผลงานการเขียนบทก่อนหน้านั้นของ Wai-Lun Ng จนแทบจะไม่เชื่อว่าเขาเลือกปั้นภาพยนตร์เรื่องแรกของตัวเองด้วยการนำเสนอเรื่องราวของทนายและอัยการที่อุดอู้อยู่ในศาลที่ซึ่งความยุติธรรมมีอำนาจสูงสุด 

 

แต่ Wai-Lun Ng ก็เล่าแบบติดตลกว่า แรกเริ่มเดิมทีเขาก็อยากทำภาพยนตร์แอ็กชันเหมือนกัน แต่จนแล้วจนรอดก็หาทุนทำไม่ได้ จนต้องเปลี่ยนแนวทางมาหยิบจับเรื่องราวที่คิดว่าจะเอามาใช้เป็นส่วนประกอบของภาพยนตร์ได้ โดยที่ตัวเองยังคงไว้ลายในฐานะคนเขียนบทที่ผ่านงานแอ็กชันมาอย่างโชกโชน จนสุดท้ายภาพยนตร์ก็ลงเอยกับการว่าความในศาล เพราะเขาคิดว่าห้วงเวลาที่เขม็งเคร่งเครียดของทั้งสองฝ่ายในนั้นไม่ต่างอะไรกับฉากแอ็กชันที่รวดเร็วและดุดันดีๆ เลย

A Guilty Conscience

 

A Guilty Conscience ว่าด้วยเรื่องราวของ Adrian Lam (Chi-Wah Wong) อดีตผู้พิพากษาที่โดนปลดออกจากราชการ จนต้องออกมาทำงานเป็นทนายความร่วมกับ Evelyn (Renci Yeung) หญิงสาวที่เขาไม่เคยมองว่าเธออยู่ในระดับเดียวกันเพราะมีประสบการณ์น้อยกว่า กระทั่งวันหนึ่งพวกเขารับงานว่าความให้กับ Jolene Tsang (Louise Wong) อดีตนางแบบที่ถูกจับข้อหาฆ่าลูกสาววัย 7 ปีของเธอ และเมื่อเริ่มสืบหาความจริง Adrian ก็ได้พบกับผู้ต้องสงสัยที่อาจเป็นคนร้ายตัวจริง แต่เพราะความประมาทเลินเล่อทำให้ความผิดทั้งหมดไปตกอยู่กับลูกความของเขาเอง จนเธอต้องถูกศาลสั่งจำคุกนานถึง 17 ปี

 

หลังจากความผิดพลาดในวันนั้น ชีวิตของ Adrian เริ่มตกต่ำลงเรื่อยๆ แต่ด้วยแรงใจที่ได้รับมาจากคนรอบข้างและหัวใจที่รักในความยุติธรรม เขาจึงได้ร่วมมือกับ Evelyn อีกครั้งเพื่อหาหลักฐานมาใช้ในการรื้อคดีของ Jolene แต่ยิ่งขุดลึกลงไปมากเท่าไร ก็พบว่าสิ่งที่พวกเขากำลังต่อสู้อยู่คือ ตระกูลจุง ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีใหญ่ของฮ่องกง และมีเส้นสายเหนียวแน่นในแวดวงราชการ 

 

 

Wai-Lun Ng ไม่ได้นำเสนอตัวเอกที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่เป็นตัวเอกที่หลงทางตั้งแต่แรก การไล่เรียงพัฒนาการของเขาจึงทำให้เห็นถึงความลึกตื้นหนาบางของตัวละครอย่างชัดเจน จากผู้พิพากษาที่ยืนอยู่จุดสูงสุดของบัลลังก์ สู่ทนายที่ต้องกู้หนี้ยืมสินจากแก๊งมาเฟีย ภาพยนตร์ตั้งคำถามถึงระบบยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมา จนบางครั้งเมื่อมองโดยอิงบริบทของความเป็นคนไทยที่อยู่ในสภาวะแบบเดียวกับสิ่งที่คนทำต้องการนำเสนอ มันจึงไม่ใช่เรื่องยากที่ภาพยนตร์จะเข้าถึงความรู้สึกของคนดูได้

 

ถึงจะว่าด้วยเรื่องของทนายความที่ต้องว่าความผ่านการร่ายศัพท์เฉพาะทางมากมาย แต่สิ่งที่ไม่อาจมองข้ามคือ ความเก่งกาจของคนทำและนักแสดงที่สามารถถ่วงดุลน้ำหนักระหว่างความสนุกกับความตึงเครียดให้ดูราวกับเป็นเนื้อเดียวกันได้ เพราะถ้าว่ากันตามตรง ภาพยนตร์แนวนี้มักมีบทที่อัดแน่นไปด้วยคำพูดมากมายและอาจลากยาวหลายบรรทัด ซึ่งต้องพึ่งพาทักษะของนักแสดงพอสมควรในการทำให้บทสนทนาเหล่านั้นลื่นไหลไปตามจังหวะของภาพยนตร์ โดยเฉพาะเมื่อต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ของตัวละครที่คอยเปลี่ยนโทนไปมาอย่างชัดเจนทั้งในและนอกศาล ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของภาพยนตร์

A Guilty Conscience

 

ทั้งนี้ ด้วยความที่เนื้อหาแกนกลางของการว่าความเกี่ยวโยงกับคดีฆาตกรรมเด็กสาว มันจึงเป็นเรื่องที่คนทำต้องวางแผนมาเป็นอย่างดีว่าเขาจะเล่าออกมาอย่างไรให้คนดูเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีน้ำหนักมากพอที่จะสามารถเอาผิดกับคนร้ายได้อย่างสมเหตุสมผล ซึ่ง Wai-Lun Ng เลือกที่จะออกแบบฉากเหล่านั้นด้วยบริบทที่เรียบง่าย นั่นคือความสัมพันธ์รักสามเส้าของคนในครอบครัว 

 

แต่ถึงอย่างนั้น เนื้อในจริงๆ ของมันนอกจากจะเป็นคดีที่มีต้นสายปลายเหตุมาจากความรัก พื้นหลังของเรื่องราวยังพูดถึงความโลภและความอิจฉาริษยาของคนรวยที่ไม่อยากจะสูญเสียตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองไป ซึ่งในภายหลังองค์ประกอบเหล่านี้ก็ได้เป็นไม้เด็ดที่ผู้กำกับใช้เป็นเครื่องมือในการขมวดปมและวิพากษ์วิจารณ์ระบบยุติธรรมในประเทศของตัวเอง 

 

แม้จะดูมีความเป็นสูตรสำเร็จ และบางตัวละครก็ไม่ได้มีหน้าที่ช่วยผลักดันองค์รวมใดๆ นอกจากมีไว้เพื่อเติมเต็มเงื่อนไขในโลกของภาพยนตร์ แต่ด้วยความที่เล่าออกมาอย่างขบขันภายใต้ความขมขื่นของระบบยุติธรรม Wai-Lun Ng ได้ทำให้เห็นว่า ฉากแอ็กชันที่สนุกอาจไม่ได้อยู่แค่ในรูปแบบของการต่อยตีหรือวิ่งไล่ แต่เป็นคำพูดเฉือนคมราวกับใบมีดที่กำลังกระหน่ำแทงเหยื่ออย่างไม่ลดละ

A Guilty Conscience

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูถึงองค์ประกอบของ A Guilty Conscience ในอีกทาง สิ่งที่น่าครุ่นคิดอย่างจริงจังคือ การให้อิสรภาพกับคนทำภาพยนตร์ Wai-Lun Ng เล่าว่า ก่อนที่ภาพยนตร์ของเขาจะฉาย รัฐบาลฮ่องกงได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แต่ก็ไม่ได้ขอให้ตัดประโยคหรือฉากใดๆ ออกเลย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก และ Wai-Lun Ng เองก็ขอบคุณรัฐบาลที่สนับสนุนผลงานของเขาอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน

 

เรื่องที่ผู้กำกับเล่าให้คนดูฟังจึงชวนอดคิดไม่ได้ว่า หากบ้านเราเปิดโอกาสให้คนทำงานได้พูดถึงเรื่องเหล่านี้บ้างโดยไม่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอ ความสมจริงและดำมืดที่ถูกซุกซ่อนเอาไว้อยู่ใต้พรมของระบบยุติธรรมประเทศไทยคงเป็นเรื่องที่น่าดูเสียยิ่งกว่าภาพยนตร์ฮ่องกงหรือซีรีส์เกาหลีเป็นแน่แท้

 

สามารถติดตามไลน์อัพและรับชมภาพยนตร์ฮ่องกงมากคุณภาพได้ใน Next Generation: Emerging Directors Exhibition & Hong Kong Film Gala Presentation ระหว่างวันที่ 22-27 ตุลาคม ที่ House Samyan 

 

รับชมตัวอย่างได้ที่

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising