×

โฆษกรัฐบาลแจง นายกฯ สั่งเร่งปฏิรูปตำรวจ 7 ด้าน เผยกฎหมายปฏิรูปตำรวจตาม รธน. ปี 60 อยู่ในสภาแล้ว

โดย THE STANDARD TEAM
27.08.2021
  • LOADING...
ตำรวจ

วันนี้ (27 สิงหาคม) ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบข้อห่วงใยและกระแสเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจจากภาคประชาชน ยืนยันว่ารัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปองค์กรตำรวจ โดยยึดหลักสาระสำคัญตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในหมวดปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 

 

ซึ่งขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ… อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการร่วมของรัฐสภาแล้ว ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า กระบวนการยุติธรรมที่เข้มแข็ง คือเสาหลักในการบริหารประเทศ และได้สั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ดำเนินการปฏิรูปในระยะเร่งด่วน 7 ด้านคือ 

 

  1. ด้านโครงสร้างของตำแหน่งข้าราชการตำรวจ 
  2. ด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล 
  3. ด้านระบบงานสอบสวนและการบังคับใช้กฎหมาย 
  4. ด้านการนำระบบเทคโนโลยีมาสนับสนุนการรักษาความปลอดภัย 
  5. ด้านส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 
  6. ด้านการตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส 

และ 7. ด้านสวัสดิการตำรวจ 

 

ธนกรกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับการปฏิรูปโดยแก้ไขกฎหมายนั้น มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เสนอ แล้วส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา 

 

ต่อมามีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 203/2562 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2562 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. …. โดยมี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเลขานุการ ซึ่งได้ยกร่างกฎหมายจำนวน 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. …. จากนั้นมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว และให้เสนอรัฐสภา 

 

จากนั้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 ได้พิจารณาและลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. โดยได้ประชุมมาแล้วถึง 11 ครั้ง

 

“ท่านนายกรัฐมนตรีเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงองค์กรตำรวจ ด้วยการยกร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ที่ขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยรัฐสภา รัฐบาลพร้อมสนับสนุนเพื่อให้เกิดขึ้นจริง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ขอให้ความมั่นใจว่า ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกฉบับที่มีอยู่ด้วยความสุจริต โปร่งใส และหากเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายเป็นผู้กระทำความผิดเองนั้น ต้องได้รับโทษขั้นสูงสุดด้วย ซึ่งกรณีของผู้กำกับโจ้ รวมทั้งคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เช่นกัน เมื่อมีการกระทำผิดต้องรับโทษขั้นสูงสุด” ธนกรกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising