เชื่อว่าหลายคนคงผ่านตากับข่าวครึกโครมเมื่อราวสองสัปดาห์ที่แล้ว ชายผิวดำสองคนถูกจับกุมในร้านสตาร์บัคส์สาขาหนึ่งของเมืองฟิลาเดลเฟียข้อหาบุกรุกสถานที่ ต้นสายปลายเหตุจริงๆ ตามที่สำนักข่าวหลายแห่งรายงานตรงกันก็คือ ชายสองคนนี้นั่งรอใครบางคนอยู่ในร้านสตาร์บัคส์โดยไม่ได้สั่งอะไร ก่อนที่พวกเขาจะขอเข้าห้องน้ำ ทว่าผู้จัดการร้านปฏิเสธและขอให้พวกเขาออกไป เมื่อทั้งสองไม่ปฏิบัติตามเนื่องจากมีนัดหมาย (และในเวลาต่อมาใครคนนั้นก็ปรากฏตัว) ผู้จัดการก็เลยโทรเรียกตำรวจมาจับกุม
ภาพเหตุการณ์ที่ตำรวจพาชายผิวดำสองคนออกไปจากร้านในสภาพ ‘ถูกใส่กุญแจมือ’ ถูกโพสต์ในโลกโซเชียลและกลายเป็นไวรัลชั่วข้ามคืน ซึ่งนำไปสู่การประท้วงในประเด็นการเลือกปฏิบัติทางสีผิว หนึ่งในข้อความทางทวิตเตอร์น่าจะสรุปความหมายของเหตุการณ์ดังกล่าวได้รัดกุม “คนขาวนั่งในสตาร์บัคส์นานเป็นชั่วโมงโดยไม่สั่งอะไรเลยเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ไม่มีใครเรียกตำรวจจับ” เพื่อยับยั้งไม่ให้เรื่องบานปลาย ซีอีโอของสตาร์บัคส์ออกมาขอโทษและประกาศปิดร้านสตาร์บัคส์ทั่วประเทศกว่าแปดพันสาขาเป็นเวลาครึ่งวัน เพื่ออบรมพนักงานเรื่องอคติทางเชื้อชาติและสีผิว
แม้ว่าจะไม่มีทางที่ใครจะรู้ได้ แต่ก็อย่างที่ทวิตเตอร์ข้างต้นและอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วนตั้งสมมติฐาน เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าเหตุการณ์นี้คงจะไม่เกิดขึ้น หากสองคนนั้นเป็นคนขาว โดยอ้อมสมมติว่าจะมีสักหนึ่งหรือสองความหมายที่เรากลั่นกรองได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างหนึ่งที่แน่ๆ ก็คือ สิ่งที่เรียกว่าอคติ (ไม่ว่าจะในเรื่องใดๆ เชื้อชาติ สีผิว เพศสภาพ ฯลฯ) อาจมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เนื่องจากมันซ่อนอยู่ในห้วงคิดคำนึงของผู้คน ทว่านั่นก็ไม่ได้แปลว่ามันไม่ได้ดำรงอยู่รอบตัวเรา บางทีอาจเป็นด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้สองหนุ่มผิวดำเลือกที่จะไม่ต่อต้านขัดขืนการจับกุม เพราะลึกๆ แล้ว เหมือนพวกเขาตระหนักว่าความผิดกระทงแรกที่สุดของพวกเขาภายใต้เงื่อนไขของสังคมที่ดำรงอยู่ ก็คือการเป็นคนผิวดำ
นับเป็นเรื่องประจวบเหมาะเหลือเกินที่หนังสัญชาติชิลีเรื่อง A Fantastic Woman ผลงานกำกับของ เซบาสเตียน เลลิโอ ซึ่งเพิ่งชนะรางวัลออสการ์หนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านพ้นไป และกำลังเข้าฉายในโรงหนังบ้านเราวีกเดียวกับที่หนังเรื่อง Avengers: Infinity War ออกอาละวาด พูดเรื่องเดียวกับกรณีหนุ่มผิวดำสองคนในร้านสตาร์บัคส์ นั่นคืออคติและความเกลียดชังที่ดำรงอยู่ แต่ไม่มีใครมองเห็นจนกระทั่งมีเหตุการณ์บางอย่างเป็นตัวกระตุ้นเร้า ด้านที่อัปลักษณ์ในจิตใจของผู้คนจึงได้เผยโฉม
ฉากหลังตามท้องเรื่องได้แก่เมืองซานดิเอโก หนังเริ่มต้นด้วยการบอกเล่าความสัมพันธ์ของหนุ่มใหญ่นักธุรกิจที่ชื่อออร์แลนโด (ฟรานซิสโก เรเยส) กับสาวประเภทสองที่ชื่อมารินา (ดานีลา เวก้า) ผู้ซึ่งนอกจากจะเป็นนักร้องในไนต์คลับตามที่ผู้ชมได้พบเธอในตอนต้น (และสุ้มเสียงของเธอก็ช่างมีเสน่ห์ เย้ายวน และเซ็กซี่) เธอยังแบกอีกจ็อบเป็นสาวเสิร์ฟในร้านอาหารตอนกลางวัน ไม่ว่าจะอย่างไร อย่างหนึ่งที่ผู้ชมสรุปได้ก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างออร์แลนโดกับมารินาไม่ได้เป็นเรื่องของความพึงพอใจทางด้านเพศอย่างเดียว ทว่าเป็น ‘ความสัมพันธ์ที่ดูดดื่มและแนบแน่น’
จุดปะทุของเรื่องอยู่หลังจากนั้นชั่วอึดใจ ออร์แลนโดตื่นขึ้นมากลางดึกด้วยอาการวิงเวียน และเมื่อมารินาหอบหิ้วคนรักไปถึงโรงหมอในสภาพทุลักทุเล (แถมหน้าผากของเขายังฟกช้ำเนื่องจากตกบันไดหัวกระแทกพื้น) เขาก็จากไปอย่างปัจจุบันทันด่วนด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก ตรงไหนสักแห่งแถวนี้เองที่ ‘สิ่งที่มองไม่เห็น’ ก็ค่อยๆ สำแดงตัวตน
หรือพูดง่ายๆ ก็คือ แทนที่หญิงสาวจะได้รับการปฏิบัติในฐานะญาติของคนไข้ สายตาของทั้งพยาบาลและโดยเฉพาะหมอ จ้องมองเธอด้วยท่าทีเคลือบแคลงและกังขา เป็นไปได้ว่าตัวมารินา ณ ช่วงเวลานั้นก็เหมือนกับหนุ่มผิวดำสองคนในร้านสตาร์บัคส์ นั่นคือตระหนักว่าเธออยู่ในสังคมที่รอบข้างไม่ได้นับเธอเป็นพวกเดียวกัน หรือจริงๆ แล้ว มองเห็นเป็นสิ่งแปลกปลอม หรือแม้กระทั่งภัยคุกคาม
ยิ่งเมื่อคำนึงว่าในสังคมที่อักเสบและกลัดหนองด้วยอคติทางด้านเพศ เหตุการณ์ที่สาวประเภทสองพาหนุ่มใหญ่ซึ่งหมดสติมาโรงพยาบาลในยามวิกาล แถมศีรษะยังมีร่องรอยถูกกระทบกับของแข็ง ย่อมเรียกร้องและเชิญชวนให้ประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นในแง่ลบแทบจะสถานเดียว
น่าจะเป็นเพราะเหตุนี้เองที่ทำให้หญิงสาวตัดสินใจเดินหนีออกมาดื้อๆ (เพราะเจ้าตัวเริ่มนึกได้ว่าความผิดอย่างแรกของเธอก็คือการเป็นสาวประเภทสอง) แต่ปรากฏว่า นั่นเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด เพราะสุดท้ายเธอก็ถูกตำรวจสายตรวจเรียกกลับไปให้ปากคำเพิ่มเติม และนั่นยิ่งทำให้เธอดูมีพิรุธมากขึ้น
แต่พูดเสียตั้งแต่ตอนนี้เลยก็ได้ว่า ทิศทางที่หนังมุ่งหน้าไปก็ไม่ได้เน้นหนักที่เรื่องของการต้องเคลียร์ความบริสุทธิ์ของหญิงสาวจากการตกเป็นผู้ต้องสงสัย แม้ว่าถึงที่สุดแล้ว การถูกนักสืบหญิงตั้งคำถามอย่างจ้องจับผิดทำนองว่าเธออาจจะ ‘ก่ออาชญากรรมทางเพศ’ ก็นำพาให้เธอต้องเผชิญกับเรื่องแย่ๆ การถูกลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างน่าอึดอัด คับข้อง และไม่มีความจำเป็น
พาร์ตที่สร้างความยุ่งยากลำบากใจให้จริงๆ ได้แก่ การที่มารินาต้องรับมือกับครอบครัวของออร์แลนโด อันได้แก่ ซอนย่า เมียเก่า (เอลีน คุปเพนไฮม์) ผู้ซึ่งไม่ปิดบังอำพรางความคิดเห็นส่วนตัวที่มองว่า การอยู่กินระหว่างอดีตสามีของเธอกับมารินาเรียกเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากความวิปริตและน่าขยะแขยง และถึงกับยืนกรานไม่ให้หญิงสาวไปร่วมงานศพ เพราะเธอมีลูกสาวที่ ‘ต้องปกป้องคุ้มครอง’ ข้อน่าสังเกตก็คือ ปมขัดแย้งระหว่างซอนย่ากับมารินาไม่ได้มีแค่เรื่องความรังเกียจเดียดฉันท์ทางด้านเพศอย่างเดียว หากยังมีประเด็นชนชั้นเจือปนอยู่ด้วย
อีกคนที่ทำให้ชีวิตของมารินาเหมือนตกนรกทั้งเป็นก็คือ บรูโน (นิโคลัส ซาเวดรา) ลูกชายของออร์แลนโด ผู้ซึ่งนอกจากรับไม่ได้ที่พ่อของตัวเองมีความสัมพันธ์กับสาวประเภทสอง ยังพยายามสยบ ‘ความรู้สึกหวาดกลัวเพศที่สาม’ ที่ซุกซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึกด้วยการใช้พละกำลัง ช่วงหนึ่งของหนังเราถึงกับได้เห็นเขากับพรรคพวกกลุ้มรุมทำร้ายมารินาอย่างทารุณ แต่นั่นก็ไม่อาจกลบเกลื่อนข้อเท็จจริงซึ่งถูกแสดงไว้ในช่วงที่หมอนี่ได้พบกับหญิงสาวเป็นครั้งแรก ว่าลึกๆ แล้วเขาก็มีแนวโน้มที่จะเป็น ‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น’
แต่ก็อีกนั่นแหละ ส่วนที่ทำให้หนังเรื่อง A Fantastic Woman ฉีกตัวเองออกมาจากหนังแนวเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคทางเพศที่ถูกสร้างมากขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่การที่มันไม่ได้ไปหมกมุ่นอยู่กับกระบวนการ ‘ลุยไฟ’ ที่ตัวละครต้องเผชิญ และสัมผัสที่พิเศษจริงๆ ได้แก่การนำพาผู้ชมไปรู้สึกความรู้สึกของตัวละคร หรือแม้กระทั่งดำดิ่งลงไปในห้วงคำนึงของเธอ แน่นอนว่าหลายครั้งมันตลบอบอวลไปด้วยความคับแค้นกับเรื่องบ้าบอคอแตกที่ต้องพบเจอ (อันส่งผลให้เจ้าตัวต้องหาทางปลดปล่อยด้วยการซ้อมชกมวย หรือในกรณีที่แย่ที่สุดก็คือการทำร้ายตัวเอง) อีกทั้งความรู้สึกโศกเศร้าสูญเสียก็ไม่เลือนหายไปไหน และภาพของคนรักก็ยังคงปรากฏอยู่ในมโนสำนึกอยู่เนืองๆ ทว่าทีละน้อย แต่ละเหตุการณ์ที่เรียงร้อย โดยเฉพาะช่วง 15 นาทีสุดท้ายซึ่งมีลักษณะ ‘ละไว้ในฐานที่เข้าใจ’ ค่อนข้างเยอะ ก็ทำให้สิ่งที่หนังต้องการจะสื่อสารกับผู้ชมจริงๆ ไม่ใช่เรื่องของการที่ตัวละครต้องผจญกับคนรอบข้างแต่อย่างใด หากเป็นเรื่องกระบวนการเปลี่ยนแปลงของตัวละครที่นอกจากเติบโตขึ้น แข็งแกร่งมากขึ้น เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ข้อสำคัญ สามารถดำรงอยู่ในสังคมที่เกินจะเยียวยาเรื่องความคับแคบได้อย่างไม่ต้องสะทกสะท้านมากขึ้น
ในตอนที่หนังได้รับการกะเก็งว่ามีโอกาสเข้ารอบสุดท้าย หรือแม้กระทั่งชนะรางวัลออสการ์หนังต่างประเทศ (ซึ่งหนังก็เข้ารอบและชนะจริงๆ) หลายคนยังมองเลยไปอีกด้วยว่า ดานีลา เวก้า อาจเป็นนักแสดงข้ามเพศคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม น่าเสียดายที่เหตุการณ์นั้นไม่เกิดขึ้น (อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ออสการ์ก็ต้องจารึกไว้ว่าเธอเป็นนักแสดงข้ามเพศคนแรกที่ได้เป็นผู้ประกาศรางวัล) แต่นั่นก็ไม่อาจปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่า นักแสดงสาวถ่ายทอดบทบาทการแสดงที่เลอเลิศ น่าจดจำ และเปี่ยมด้วยรสนิยม นอกจากหลบเลี่ยงทุกกับดักและหลุมพรางของแอ็กติ้งแบบสเตอริโอไทป์ของสาวประเภทสองที่เราพบเห็นอย่างเจนตา ผู้ชมยังสัมผัสได้ทั้งความอ่อนไหวเปราะบาง ความหยิ่งทระนงในเกียรติยศศักดิ์ศรีของตัวเอง และความเป็นมนุษย์ปุถุชนของตัวละคร และแน่นอน ไม่ใช่ผลลัพธ์ของความผิดพลาดทางพันธุกรรม
ข้อน่าสังเกตก็คือ ฉากที่ดีมากๆ ในหนังไม่ใช่ซีนอารมณ์ที่ตัวละครต้องแสดงออกอย่างคร่ำครวญฟูมฟาย ซึ่งจริงๆ แล้วแทบไม่มี แต่ได้แก่ช่วงเวลาที่กล้องจับให้เห็นสีหน้าของเธอในระยะใกล้เป็นพักๆ และเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้หยั่งความรู้สึกนึกคิดของตัวละครภายใต้การแสดงออกที่ดูเหมือนเรียบเฉยและสงบนิ่ง ทว่าหลายครั้งมันผสมปนเปทั้งความโกรธเกรี้ยว เก็บกด จำนน ยอมแพ้ บางครั้งก็รับรู้ได้ถึงความเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่น การเติบโตขึ้นและเรียนรู้ เหนืออื่นใด ใบหน้าของเธอในหนังเรื่องนี้ทั้งเย้ายวนและดึงดูดการจ้องมองของผู้ชมอย่างชนิดไม่อาจละวาง
ไม่มากไม่น้อย ชื่อของหนังเรื่องนี้ซึ่งน่าจะแปลได้ว่า ‘ผู้หญิงที่ช่างน่าอัศจรรย์’ จึงไม่ได้หมายความถึงตัวละครในเรื่องเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงตัวนักแสดงด้วยอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะมีรางวัลมาเป็นเครื่องการันตีหรือไม่ก็ตาม
A Fantastic Woman (2017)
กำกับ: เซบาสเตียน เลลิโอ, ผู้แสดง: ดานีลา เวก้า, ฟรานซิสโก เรเยส, เอลีน คุปเพนไฮม์, นิโคลัส ซาเวดรา
ตัวอย่างภาพยนตร์