×

เศรษฐกิจไทย เงินบาท และดอกเบี้ยนโยบาย จะเป็นอย่างไร? ใต้เงาทรัมป์ vs. แฮร์ริส

24.10.2024
  • LOADING...

CIMB THAI คาด เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัวได้เพียง 2.5% หาก โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะ เทียบกับ 3.2% ในกรณีที่ คามาลา แฮร์ริส ชนะ พร้อมคาดว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าลงถึงระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐช่วงปลายปี 2568 หากทรัมป์ชนะ ในทางตรงกันข้ามหากแฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง เงินบาทน่าจะแข็งค่าแตะระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปลายปี 2568 ด้าน UOB มองว่า นโยบายของทรัมป์อาจดันให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น พร้อมชี้ว่านโยบายของแฮร์ริสเน้นเป้าหมายชัดเจนกว่าแม้จะไม่สุดโต่งเท่า

 

วันนี้ (24 ตุลาคม) ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า สำนักวิจัยฯ ประเมินฉากทัศน์ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะชนะได้เป็นประธานาธิบดีในการเลือกตั้งสหรัฐฯ เพราะหาก คามาลา แฮร์ริส ชนะ คงเห็นการเปลี่ยนแปลงไม่มาก เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่จะดำเนินนโยบายต่อเนื่องจาก โจ ไบเดน ประธานาธิบดี ดังนั้นหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะเต็มไปด้วยทั้งโอกาสและความท้าทาย

 

โดยสำนักวิจัยฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัวได้เพียง 2.5% ในกรณีของทรัมป์ เทียบกับ 3.2% ในกรณีของแฮร์ริส โดยคาดว่านอกจากการส่งออกที่จะชะลอและกดดันการลงทุนภาคเอกชนให้เติบโตช้าลงแล้ว ความต้องการในประเทศจะอ่อนแอตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง โดยเฉพาะข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ภาคการเกษตรทั่วประเทศ รวมทั้งครัวเรือนที่มีรายได้น้อยในพื้นที่ชนบท ก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการลดลงของกำลังซื้อ แต่เชื่อว่าการบริโภคภาคเอกชนยังเติบโตได้ด้วยแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวและมาตรการแจกเงินของรัฐบาล

 

“เศรษฐกิจไทยภายใต้นโยบายการค้าและนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์น่าจะมีความผันผวนมากกว่ากรณีของแฮร์ริส โดยเฉพาะจากความพยายามลดทอนอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งจะกดดันการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน” ดร.อมรเทพ กล่าว

 

แนวโน้มด้านบวกหากทรัมป์ชนะ

 

  1. เศรษฐกิจโลกจะรอดจากภาวะถดถอย เพราะมาตรการลดภาษีนิติบุคคลจะกระตุ้นให้ธุรกิจในสหรัฐฯ เพิ่มการจ้างงานและปรับขึ้นค่าแรง ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตขึ้น

 

  1. ราคาน้ำมันดิบโลกจะลดลงจากนโยบายส่งเสริมการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ และการทำข้อตกลงที่เป็นประโยชน์กับประเทศในตะวันออกกลางและรัสเซีย เป็นผลดีต่อประเทศที่นำเข้าพลังงานอย่างไทย และจะช่วยลดค่าครองชีพของคนในประเทศ

 

  1. มีการย้ายฐานการลงทุนมาไทยเพิ่มขึ้น เพราะภาษีการค้าที่กำหนดต่อจีนจะกระตุ้นให้บริษัทจีนย้ายการดำเนินงานไปยังประเทศอื่น ช่วยเสริมสร้างอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล 

 

แนวโน้มด้านลบหากทรัมป์ชนะ

 

  1. การส่งออกของไทยเสี่ยงโตช้าจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และความกังวลว่าการค้าระหว่างประเทศจะหยุดชะงัก

 

  1. ต้นทุนกู้ยืมของรัฐบาลจะอยู่ระดับสูงตามความเสี่ยงทางการคลัง ไม่ใช่เพียงแค่ในสหรัฐฯ แต่ยังรวมถึงไทยด้วย เพราะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมักเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน

 

  1. รายได้ภาคเกษตรของไทยเสี่ยงลดลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก กดดันให้อุปสงค์ในประเทศไทยอ่อนแอตาม

 

ได้ทรัมป์บาทอ่อน แฮร์ริสมาบาทแข็ง

 

ดร.อมรเทพ ยังมองด้วยว่า กรณีทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง แม้ Fed อาจปรับลดดอกเบี้ยลงมากกว่าที่คาดไว้ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ รอดพ้นจากภาวะถดถอยจากสงครามการค้า ดอลลาร์สหรัฐน่าจะอ่อนค่าตามทิศทางดอกเบี้ยที่ลดลง แต่คาดว่าตลาดจะให้น้ำหนักกับความเสี่ยง รวมทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อาจยังคงอยู่ในระดับสูง สะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนที่สูงจะทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดเกิดใหม่ และนำเงินกลับไปถือดอลลาร์สหรัฐแทน ทำให้ดอลลาร์แข็ง บาทอ่อน โดยคาดว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าลงถึงระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปี 2568

 

ในทางตรงกันข้าม หากแฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง Fed จะทยอยปรับลดดอกเบี้ยตามทิศทางเงินเฟ้อที่ลดลง นักลงทุนจะลดความสนใจในเงินดอลลาร์ลง เงินบาทน่าจะแตะระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปลายปี 2568

 

ในส่วนของมาตรการทางการเงินของไทย ดร.อมรเทพ มองว่า ธปท. จะปรับลดดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ และลดความเสี่ยงด้านภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ แม้การลดดอกเบี้ยจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าและเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อต่อสินค้านำเข้ามากขึ้นก็ตาม สำนักวิจัยฯ มองว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ที่ระดับ 1.25% ในกรณีของทรัมป์ เทียบกับที่ระดับ 1.50% ในกรณีของแฮร์ริส

 

UOB มอง นโยบายของทรัมป์อาจดันให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น

 

เฮงคุนเฮา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกลยุทธ์ตลาด ธนาคารยูโอบี กล่าวเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมถึงนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ย และค่าเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ผลกระทบดังกล่าวอาจส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วเศรษฐกิจโลก รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

 

นักวิเคราะห์หลายท่านระบุถึงความเสี่ยงที่นโยบายของทรัมป์อาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น โดยระหว่างการหาเสียง ทรัมป์ประกาศสนับสนุนให้มีการเพิ่มภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าหลายรายการ

 

  • เสนอให้เพิ่มภาษีนำเข้าจากจีนอย่างมีนัยสำคัญสูงสุดถึง 60% 
  • ภาษีนำเข้ารถยนต์จากเม็กซิโกในอัตราร้อยละ 200
  • เสนอให้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทในอัตรา 10% 

 

“การดำเนินนโยบายดังกล่าวอาจส่งผลต่อเงินเฟ้อ เนื่องจากภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ราคาสินค้านำเข้าปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ทรัมป์ยังต้องการส่งตัวผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายกลับประเทศ ซึ่งอาจทำให้ตลาดแรงงานตึงตัวและผลักดันให้ค่าแรงสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออีกทางหนึ่ง” UOB กล่าว

 

แม้จะดูเหมือนว่านโยบายของทรัมป์จะช่วยยืดอายุวงจรการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่การดำเนินนโยบายเหล่านี้แม้เพียงบางส่วนอาจส่งผลให้เกิดเงินเฟ้ออีกครั้งในสหรัฐฯ สถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สันเตือนว่า ข้อเสนอภาษีนำเข้าของทรัมป์อาจทำให้ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของชาวอเมริกันทั่วไปเพิ่มขึ้นกว่า 2,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

 

เงินเฟ้อที่สูงขึ้นนี้อาจส่งผลทำให้แผนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ไม่ลงลึกเท่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เราคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed จะลดลงจาก 5% ในปัจจุบัน เหลือ 3.5% ภายในสิ้นปีหน้า แต่หากทรัมป์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เราก็ไม่อาจคาดเดาการดำเนินการอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ได้

 

แฮร์ริสเสนอนโยบายเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายชัดเจนและไม่สุดโต่งเท่า

 

ในขณะเดียวกัน คามาลา แฮร์ริส ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต ได้นำเสนอนโยบายในภาพรวมกว้างๆ โดยเฉพาะด้านการค้า แฮร์ริสน่าจะยังคงดำเนินนโยบาย ‘สนามเล็กรั้วสูง’ ตามแนวทางของรัฐบาลไบเดน โดยจัดเก็บภาษีนำเข้าเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่สุดโต่งเท่านโยบายที่ทรัมป์เสนอ

 

ส่วนด้านนโยบายภาษี แฮร์ริสเสนอให้เพิ่มภาษีรายได้สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด รวมถึงภาษีสำหรับกลุ่มการเก็งกำไรสูงสุดและภาษีนิติบุคคล โดยสงวนการลดภาษีให้กับอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์และอุตสาหกรรมสะอาด

 

ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตมีเป้าหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจขนาดเล็กและครัวเรือนที่มีรายได้น้อยรับมือกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยรวมแล้วนโยบายเศรษฐกิจของแฮร์ริสมีเป้าหมายชัดเจนและไม่สุดโต่งเท่านโยบายของทรัมป์ และน่าจะมีผลกระทบด้านเงินเฟ้อน้อยกว่าต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

 

นอกจากนี้แฮร์ริสยังสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงมีอิสระในการดำเนินนโยบาย ซึ่งแตกต่างจากข้อเสนอของทรัมป์ที่ต้องการให้ประธานาธิบดีมีอำนาจในการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินมากขึ้น แฮร์ริสยังไม่ได้เสนอมาตรการให้ลดค่าเงินดอลลาร์เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทรัมป์กล่าวถึงบ่อยครั้ง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X