×

เกิดอะไรขึ้น? ‘ไทย’ เสี่ยงเสียแชมป์รถยนต์นั่งตลาดอาเซียนให้กับจีน-ญี่ปุ่น รถในประเทศรวมถึง EV ขายไม่ออก ก.ย. ลดฮวบ 37% ต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี

24.10.2024
  • LOADING...
รถยนต์

ส.อ.ท. ระบุ 9 เดือนที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว โดยเดือนกันยายนที่ผ่านมาลดลงทุกประเซ็กเตอร์ ทั้งยอดผลิตที่ลดลง 25.48% ส่งออกลดลง 17.67% ยอดขายทั้งสันดาปและ EV ทรุดลงอีก 37.11% ถือเป็นตัวเลขการขายที่ต่ำสุดในรอบ 53 เดือน (4 ปี 5 เดือน) 

 

สอดคล้องกับข้อมูลที่น่าสนใจจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระบุว่า แม้ตั้งแต่ปี 2560 ไทยจะครองตำแหน่งแชมป์ส่งออกรถยนต์นั่งไปอาเซียนมาโดยตลอด ทว่าหลังผ่าน 7 เดือนแรกของปี 2567 กลับพบจีนและญี่ปุ่นขยับส่วนแบ่งขึ้นนำไทยได้เป็นครั้งแรก โดยมีผู้เล่นอย่างอินโดนีเซีย แม้ยังมีส่วนแบ่งน้อยกว่า แต่ก็ขยับเข้ามาใกล้ไทยมากขึ้น รายละเอียดเป็นอย่างไร

 

วันนี้ (24 ตุลาคม) สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนกันยายน 2567 ว่า จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนกันยายน 2567 มีทั้งสิ้น 122,277 คัน ลดลงจากเดือนกันยายนปีที่แล้วถึง 25.48% โดยการผลิตเพื่อส่งออกลดลง 15.78% และการผลิตเพื่อขายในประเทศก็ลดลง 42.31% ตามจำนวนการส่งออกและการขายในประเทศที่ลดลง 

 

ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ 9 เดือน รวมทั้งสิ้น 1,128,026 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม-กันยายน 2566 ถึง 18.61%

 

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) 

 

ขณะที่ยอดขายในประเทศ สุรพงษ์ยอมรับว่าปีนี้ ‘อยู่ในระดับที่น่าห่วงอย่างมาก’ โดยยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนกันยายนมีจำนวนทั้งสิ้น 39,048 คัน และลดลงจากเดือนสิงหาคม 13.59%  

 

“ปัจจัยหลักๆ มาจากความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อให้ผู้ซื้อรถยนต์ เพราะเป็นหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) ยังอยู่ในระดับที่สูงที่ 208,575 ล้านบาท หนี้เสียรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ 259,330 ล้านบาท แบงก์ยังคงปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 50-60% สอดคล้องกับข้อมูลสถาบันเครดิตบูโร 

 

หมายความว่าขณะนี้การที่หนี้ครัวเรือนไทยยังสูง 90% ต่อ GDP สะท้อนว่าคนไทยยังคงไม่มีกำลังซื้อ ส่งผลกระทบไปถึงซัพพลาย

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

 

“อุตสาหกรรมชิ้นส่วน บางโรงงานลดการจ้างงาน คือทำงาน 4 วัน 3 วัน ไม่ถึง 5 วันแล้ว แม้ว่ามีตัวเลขจาก BOI ที่ระบุว่ามีผู้มาขอส่งเสริมการลงทุนสูงก็ตาม หากมาขอและลงทุนจริงๆ ก็จะดี เพราะจะมีผลต่อการจ้างงาน สถาบันการเงินจะได้ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งอย่าลืมว่าภาคอุตสาหกรรมนั้นมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมาก คิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของ GDP ในประเทศ”

 

ประกอบกับเมื่อดูอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไตรมาส 2 ปี 2567 ที่โตต่ำแค่ 2.3% และคาดว่า ปี 2567 จะเติบโตแค่ 2.7-2.8% เท่านั้น บวกกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2567 หดตัว 1.91% แสดงว่ารายได้คนทำงานยังคงอ่อนแอ 

 

“ส่งผลให้ยอดขายในเดือนกันยายน 2567 ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วถึง 37.11% ถือเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 53 เดือน ปีนี้อุตสาหกรรมยานยนต์เรียกได้ว่า น้องๆ ต้มยำกุ้งจริงๆ” สุรพงษ์กล่าว

 

ยอดขาย EV ลด ส่งออกก็ร่วง 

 

เดือนกันยายน 2567 มียานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) จดทะเบียนใหม่ 6,606 คัน ถือว่าลดลง 25.81% โดยยอดขายรถ BEV ลดลง 33.53% แม้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1,481 คัน แต่ก็มาจากมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า EV 3.0-3.5 อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมตลาดมีการแข่งขันลดราคา EV อย่างมากแต่คนก็ยังไม่ตัดสินใจซื้อ อีกมุมหนึ่งหลายๆ แบรนด์ก็รอจังหวะทำราคา ทำให้ยอดขายชะลอ 

 

นอกจากนี้การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนกันยายน 2567 ส่งออกได้ 80,254 คัน ลดลงจากเดือนที่แล้ว 6.75% และลดลงจากเดือนกันยายนปีที่แล้ว 17.67% 

 

“ยอดส่งออกในเดือนกันยายน 2567 เมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ ก่อนหน้านั้นถือว่าไม่ดี ยกเว้นตลาดออสเตรเลียที่ยังเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยที่เข้ามากระทบกับการส่งออกมาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่มีความระมัดระวังการใช้จ่าย”

 

ประกอบกับสงครามตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลกับฮามาสที่ขยายวงกว้าง และยังประเมินไม่ได้ว่าจะส่งผลกระทบกับการค้าโลกหรือไม่ จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ยอมรับว่าจำเป็นต้องปรับลดเป้าเดือนหน้า

 

“เราจำเป็นต้องปรับเป้าส่งออก เบื้องต้นยังยืนยันว่าจะเกิน 1 ล้านคัน ส่วนยอดขายในประเทศคาดว่าปีนี้อาจอยู่ที่ 6-6.2 แสนคัน ตรงนี้ก็ต้องประเมินกันอีกครั้ง เพราะยอดขาย 9 เดือน ณ ตอนนี้ทำได้แค่ 438,659 คัน”

 

ดังนั้นด้วยหลายๆ ปัจจัย เดือนหน้าจะมีการปรับเป้าทั้งยอดผลิตรถยนต์รวมและยอดขายในประเทศ รวมถึงการส่งออกรถยนต์ เบื้องต้นคาดว่าจะปรับลดหลักหมื่นคัน ก็ขอให้ไม่ถึงหลักแสนคัน และจะประกาศเป้าหมายยอดผลิตใหม่อีกครั้ง

 

โดยเป้าหมายยอดผลิตรถยนต์ไทยปี 2567 ที่ตั้งเป้าไว้มีดังนี้

 

  • ผลิตเพื่อส่งออก 1,150,000 คัน 
  • ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 550,000 คัน 
  • รวม 1,700,000 คัน 

 

“จากสถานการณ์ 9 เดือนที่ผ่านมาในปีนี้ ต้องมาดูที่เหลืออีก 3 เดือนว่าจะมีทางฟื้นตัวหรือไม่ เพราะการผลิตขายในประเทศยังน่าเป็นห่วง ส่วน EV ความต้องการยังมี แต่เจอปัญหายอดปฏิเสธสินเชื่อเช่นกัน ผมมองไปถึงปีหน้าว่าอาจดีขึ้นบ้าง แต่การเติบโตทางธุรกิจของไทยเป็นลักษณะ K-Shaped Recovery (จะมีทั้งกลุ่มที่ฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว และกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวและแย่ลงเรื่อยๆ)” สุรพงษ์กล่าวทิ้งท้าย

 

ขณะเดียวกันมีข้อมูลที่น่าสนใจจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยผ่านบทวิเคราะห์ ‘ส่งออกรถนั่งไทยไปอาเซียนคาดเสียแชมป์ในปี 67 นี้ การเรียกคืนตำแหน่งผู้นำอาจไม่ง่ายในระยะข้างหน้า’ โดยระบุว่า การส่งออกรถยนต์ไทยในปี 2567 คาดว่าจะหดตัว 6% นำโดยตลาดหลักอย่างอาเซียน ปี 2567 ‘เป็นหนึ่งปีที่ยากลำบากสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย’ เพราะนอกจากยอดขายรถยนต์ในประเทศจะหดตัวแรงแล้ว ยอดส่งออกรถยนต์ของไทยก็คาดว่าอาจหดตัวถึง 6%YoY เหลือส่งออกได้เพียง 1,050,000 คันจาก 1,117,539 คันในปี 2566 

 

โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการส่งออกไปตลาดหลักอันดับ 2 ของไทยอย่างอาเซียนที่ลดลงมาก (ตลาดอาเซียนคิดเป็น 25% ของมูลค่าส่งออกรถยนต์ไทย) การหดตัวสูงของการส่งออกรถยนต์นั่งไปอาเซียนในช่วง 7 เดือนแรกที่ผ่านมาติดลบถึง 19%YoY ขณะที่รถเพื่อการพาณิชย์ส่งออกลดลง 3%YoY (ดังปรากฏในภาพ) สะท้อนว่ารถยนต์นั่งไทยอาจกำลังเจอความเสี่ยงในตลาดนี้

 

 

ส่งออกรถยนต์นั่งไทยไปอาเซียน คาดเสียแชมป์ให้จีนและญี่ปุ่นในปีนี้

 

ฉายภาพให้ชัดขึ้นอีกว่า แม้ตั้งแต่ปี 2560 ไทยจะครองตำแหน่งแชมป์ส่งออกรถยนต์นั่งไปอาเซียนมาโดยตลอด ทว่าหลังผ่าน 7 เดือนแรกของปี 2567 มา กลับพบจีนและญี่ปุ่นขยับส่วนแบ่งขึ้นนำไทยได้เป็นครั้งแรก ขณะที่อินโดนีเซียแม้ยังมีส่วนแบ่งน้อยกว่า แต่ก็ขยับเข้ามาใกล้ไทยมากขึ้น 

 

โดยคาดว่า ‘จีนจะขึ้นมาสู่อันดับ 1 แทนที่ไทย’ ในตลาดอาเซียนปีนี้ หลังสามารถส่งออกรถยนต์นั่ง BEV เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ญี่ปุ่นขยับขึ้นเป็นอันดับ 2 นำโดยการส่งออกรถยนต์นั่งไฮบริด (HEV) จากปัจจัยหนุนสำคัญคือมาตรการส่งเสริมรถยนต์ลดมลพิษของรัฐบาลแต่ละประเทศที่ออกมาในช่วงนี้ (ตารางที่ 1) ส่งผลกดดันให้ไทยตกลงมาอยู่อันดับ 3

 

เนื่องจากไทยเพิ่งเริ่มผลิตรถ BEV และแม้จะผลิตรถยนต์นั่งไฮบริดแล้ว แต่ที่ผลิตได้ก็เน้นรองรับตลาดในประเทศที่กำลังเติบโตก่อน

 

รถยนต์

 

ขณะที่อินโดนีเซียแม้ปัจจุบันอยู่ในอันดับ 4 แต่พบการส่งออกรถยนต์นั่งขนาดเล็กใช้น้ำมันล้วน (ICE) ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่วนแบ่งขยับเข้าใกล้ไทยมากขึ้น หลังความต้องการรถยนต์นั่งขนาดเล็กหรือรถอเนกประสงค์ราคาประหยัดเพิ่มขึ้นมากในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ประชากรรายได้ยังไม่สูงนัก เช่น ฟิลิปปินส์และเวียดนาม 

 

อนาคตการกลับสู่การเป็นผู้นำส่งออกรถนั่งไปอาเซียนยังมีอีกหลายปัจจัยลบรออยู่ในระยะข้างหน้า การส่งออกรถยนต์นั่ง BEV และไฮบริดอาจเร่งขึ้นมาช่วยชดเชยได้ หลังไทยมีแนวโน้มผลิตรถยนต์นั่ง BEV และไฮบริดในประเทศได้มากขึ้นจากการสนับสนุนของภาครัฐ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอีกหลายด้าน

 

4 ปัจจัยส่งออกรถยนต์นั่งไทยที่ต้องเผชิญในอนาคต โดยเฉพาะความเสี่ยงฝั่ง ‘อุปทาน’  

 

  1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ที่ยืดเยื้อ อาจกดดันให้จีนยังคงต้องส่งออกรถ BEV มายังตลาดเป้าหมายเดิมของไทยอย่างอาเซียนต่อ ทำให้การส่งออกรถ BEV จากไทยในอนาคตยังคงต้องเจอการแข่งขันต่อไป

 

  1. รถยนต์นั่งส่งออกจากญี่ปุ่นกำลังถูกรถ BEV จีนเข้าตีตลาดในหลายประเทศ ทำให้ ‘ญี่ปุ่นต้องกระจายการส่งออกรถไฮบริด’ ซึ่งเป็นตัวหลักออกไปยังหลายตลาดมากขึ้นรวมถึงอาเซียน เพื่อรักษาปริมาณการผลิตรถยนต์ในประเทศ ทำให้โอกาสการลงทุนผลิตรถยนต์นั่งไฮบริดในไทยปริมาณมากเพื่อการส่งออกในอนาคตยังมีความไม่แน่นอน

 

  1. มาตรการส่งเสริมรถยนต์นั่ง BEV และไฮบริดของตลาดศักยภาพอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ อาจหมดในสิ้นปีหน้า ทำให้โอกาสนำเข้ารถ BEV และไฮบริดของตลาดอาเซียนอาจไม่เร่งตัวมากเหมือนช่วงที่ผ่านมา แม้จะยังมีเวียดนามและฟิลิปปินส์ที่คงมาตรการส่งเสริมตลาดรถยนต์นั่ง 2 กลุ่มนี้ต่อถึงปี 2570 และ 2571 ตามลำดับก็ตาม

 

  1. ค่ายรถ BEV ที่ลงทุนผลิตในไทยลงทุนผลิตเพิ่มในอินโดนีเซียด้วยเพื่อรองรับตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทำให้โอกาสส่งออกรถ BEV จากไทยไปอีกตลาดศักยภาพอย่างอินโดนีเซียลดน้อยลง รวมถึงไทยอาจเจอการแข่งขันจากรถ BEV ส่งออกจากอินโดนีเซียในอนาคตด้วย

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising