แบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์เริ่มทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หลังจากเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ไปสู่ระดับ 2.25% ต่อปี
เหตุผลสำคัญที่ กนง. ตัดสินใจเช่นนี้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ของประชาชน เนื่องจากประเมินแล้วว่าจังหวะการลดอัตราดอกเบี้ยขณะนี้จะไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (Deleveraging) และเพื่อเป็นการปรับให้อัตราดอกเบี้ยสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ
โดยธนาคารออมสินถือเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) รายแรกที่ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.25% ต่อปี ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยก็เป็นธนาคารพาณิชย์รายแรกที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตามมาด้วยธนาคารรายอื่นๆ ทั้งธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นต้น
นอกจากนี้ธนาคารออมสิน, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ยังประกาศร่วมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อส่งเสริมการออมของคนไทย
THE STANDARD WEALTH รวบรวมข้อมูลพบว่า ปัจจุบันธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยเป็นธนาคารที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Prime Rate (เทียบเท่า MRR) ต่ำสุดในระบบธนาคารไทย โดยอยู่ที่ 6.35% ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยครั้งนี้ถือเป็นการลดครั้งที่ 3 ของปีนี้แล้ว รวมทั้งหมด 0.40% ต่อปี
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย