จากเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย กำลังนับถอยหลังสู่การหมดอายุความ จะไม่สามารถเอาผิดใครได้อีก หากรัฐบาลไม่สามารถติดตามผู้ต้องหามาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้แม้แต่คนเดียวก่อนเวลา 23.00 น. ของวันที่ 25 ตุลาคม 2567
หลังจากระยะเวลายาวนานถึง 9 นายกรัฐมนตรี และการรัฐประหารอีก 2 ครั้ง จนถึงวันนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดได้รับการลงโทษจากกรณีดังกล่าวแม้แต่คนเดียว เสียงที่เคยเงียบจึงเริ่มดังกังวานขึ้นเรื่อยๆ แข่งขันกับทุกวินาทีที่กำลังผ่านไป
วันพรุ่งนี้ (22 ตุลาคม) บางคนเริ่มเรียกร้องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อแก้ไขให้คดีตากใบไม่มีอายุความ โดยถือว่าเข้าเกณฑ์เพื่อประโยชน์ต่อความปลอดภัยของประเทศ
“แต่จะมีรัฐมนตรีคนไหนกล้าพอจะเสนอหรือไม่” กัณวีร์ สืบแสง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม บอกกับ THE STANDARD เกี่ยวกับข้อเสนอให้แก้ไขอายุความของคดีตากใบ ที่เขามองว่าเป็นการ ‘หักด้ามพร้าด้วยเข่า’
กัณวีร์ตั้งคำถามว่า รัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยมี พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี จำเลยที่ 1 ในคดีตากใบ เป็นสมาชิก แม้กระทั่ง พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเคยปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีใครกล้าพอที่จะเสนอและเห็นชอบกับวิธีนี้หรือไม่
THE STANDARD ชวนมองย้อนก่อนจะมองไปข้างหน้า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่คดีตากใบกำลังจะหมดอายุความ แต่จะกลายเป็น ‘ประวัติศาสตร์บาดแผล’ ที่ไม่มีอายุความ ฝังสนิทแน่นในความทรงจำของสังคม
ภาพญาติผู้เสียชีวิตจากกรณีตากใบเมื่อปี 2547
ภาพรวมความสูญเสีย แผลเป็นที่ไม่มีวันหาย
ย้อนไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 กรณีตากใบเริ่มต้นจากการชุมนุมที่บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธร (สภ.) ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวน 6 คนที่ถูกจับกุมตัว
จากนั้นมีชาวบ้านในพื้นที่นั้นมามุงดูนับพันคน จนทหารต้องทำการปิดล้อมพื้นที่และสลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ชุมนุม 7 คน ตามด้วยการจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 1,370 คน แล้วขนย้ายจาก สภ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ที่อยู่ไกลออกไป 150 กิโลเมตร จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการขนส่ง 78 คน รวมเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งหมด 85 คน
หลังเหตุการณ์ผ่านไป ศาลจังหวัดสงขลาได้สรุปในการไต่สวนว่าผู้ชุมนุมทั้ง 78 คนที่เสียชีวิตระหว่างขนย้าย ‘ขาดอากาศหายใจ’ ซึ่งคดีจบลงด้วยการประนีประนอมยอมความ โดยกระทรวงกลาโหมต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนรวม 42 ล้านบาทให้กับญาติผู้เสียหาย และต่อมามีการจ่ายเงินเยียวยาผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกรายละ 7.5 ล้านบาท และผู้บาดเจ็บรายละ 5 แสนบาท
ภาพรวมความสูญเสียของกรณีตากใบจากรายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง
รัฐบาลที่นำโดย ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ประกอบด้วยบุคคลภายนอกและไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐ ผลการสอบข้อเท็จจริงเห็นว่า
“พล.ท. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีหน้าที่ติดตามดูแลภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติอย่างใกล้ชิด”
เวลาผ่านไปกระทั่งถึงช่วงเดือนสิงหาคม 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาสรับฟ้องในคดี อ.578/2567 ที่ญาติของผู้เสียชีวิตและสูญเสียจากกรณีตากใบรวมตัวกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย 9 คน ข้อหาหรือฐานความผิดฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย, พยายามฆ่า, หน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง, ข่มขืนใจ โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ
หลังชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลยกฟ้องจำเลย 2 คน และรับคำร้องจำเลยอีก 7 คน ประกอบด้วย
- พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และอดีต สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
- พล.อ. เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร (ยศในขณะนั้น) อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5
- พล.ต.อ. วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า
- พล.ต.ท. มาโนช ไกรวงศ์ (ยศในขณะนั้น) อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9
- พล.ต.ต. ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจอำเภอตากใบในขณะนั้น
- ศิวะ แสงมณี ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรองปลัดกระทรวงมหาดไทย
- วิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในขณะนั้น
ส่วนจำเลยที่ศาลยกฟ้องคือ พล.ท. สินชัย นุตสถิตย์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 และ พ.ต.อ. ภักดี ปรีชาชน อดีตรองผู้กำกับสถานีตำรวจอำเภอตากใบ ปัจจุบันเป็นรอง ผบก.ภ.จว.ปัตตานี
ณ ปัจจุบัน ศาลได้นัดไต่สวน 2 ครั้ง แต่จำเลยทุกคนไม่ปรากฏตัวต่อศาล และบางคนมีรายงานว่าเดินทางไปต่างประเทศ ศาลจึงออกหมายจับ และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามตัว หรือให้เวลาผู้ต้องหามามอบตัวภายในเวลา 23.00 น. ของวันที่ 25 ตุลาคม 2567 และนัดฟังคำสั่งศาลในวันที่ 28 ตุลาคม
ทำไมเยียวยาแล้วแต่คดียังจบไม่ได้?
ก่อนหน้านี้ตัวแทนจากฝั่งรัฐบาล โดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทยที่ พล.อ. พิศาล เคยเป็น สส. อยู่ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในทิศทางที่สอดคล้องกันว่า กรณีตากใบได้ถึงที่สุดแล้ว เพราะมีการสอบข้อเท็จจริงและมอบเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบไปแล้ว
ย้อนไปเมื่อปี 2555 รัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น ได้มีการจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบ 987 ราย วงเงินรวม 641 ล้านบาท ตามมติ ครม.
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม เมื่อ 17 ตุลาคม 2567 พรรณิการ์ วานิช ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคำถามกลับถึงคำชี้แจงของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยระบุว่า ถ้ามีการจ่ายเงินเยียวยาไปแล้วจะไม่สามารถดำเนินคดีอาญาต่อได้ แล้วการที่มีการรับเงินเยียวยาของพี่น้องเสื้อแดงที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 และมีการเรียกร้องให้ต้องฟื้นคดีอาญาขึ้นมา พร้อมนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการให้ได้ นั่นเป็นเรื่องหลอกลวงหรือไม่ เพราะเป็นกรณีเดียวกัน
พรรณิการ์มองว่าการเยียวยาสมัยรัฐบาลของยิ่งลักษณ์เป็นสิ่งที่ดี เป็นการแสดงความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีของการสลายการชุมนุมเสื้อแดงหรือกรณีตากใบ แต่การรับเงินเยียวยานั้นไม่ได้เกี่ยวกับการทำให้กระบวนการทางอาญาสิ้นสุดลง
“การจ่ายเงินเยียวยาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถนำมาซึ่งความปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริงได้ และไม่ได้หมายความว่ารับเงินแล้วจบ ถ้ารับเงินแล้วจบ ดิฉันมองว่าต้องตั้งคำถามกับคดีสลายการชุมนุมเสื้อแดงว่ารับเงินไปแล้วก็ต้องจบเหมือนกันหรือไม่” พรรณิการ์กล่าว
ในทำนองเดียวกัน อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้แสดงความเห็นว่า รัฐบาลปัจจุบันของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่มีความชอบธรรมที่จะระบุว่าไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็รู้สึกผิด นำมาสู่กระบวนการเยียวยา
ทั้งนี้ อังคณาชี้ว่า ตามหลักสากลไม่ใช่แค่การให้เงินอย่างเดียว แต่คือการคืนกลับสู่สภาพเดิม คืนศักดิ์ศรี การหยุดตีตราว่าคนเหล่านี้เป็นโจร ซึ่งไม่เคยเห็นความพยายามของรัฐในช่วงปีที่ผ่านมา แม้แต่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็พูดว่าลืมไปแล้ว จำไม่ได้ ทำให้ผู้เสียชีวิตทั้ง 85 คนจากเหตุการณ์ตากใบกลายเป็นคนที่ไม่มีค่า
ทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
ภารกิจวัดใจรัฐบาล คดีไม่มีอายุความ ทำได้จริงไหม?
เมื่อ 20 ตุลาคม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะจัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ ‘คดีอาญาตากใบขาดอายุความ: ความรับผิดชอบใคร จะดำเนินคดีต่อได้หรือไม่’ ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นต่ออายุความของคดีในมุมกฎหมาย
ปกป้องระบุว่า บางประเทศกำหนดให้คดีฆาตกรรมไม่มีอายุความ เนื่องจากเป็นคดีร้ายแรง แต่ในประเทศไทย คดีที่กำหนดอายุความจะเปิดช่องให้ผู้กระทำผิดหลบหนีไปต่างประเทศและกลับมาโดยรอดคดี
ด้านปริญญาเสนอให้รัฐบาลใช้แนวทางออก พ.ร.ก. เพื่อแก้ไขอายุความในคดีตากใบได้ โดยมีมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญรองรับ คือบุคคลจะรับผิดในทางอาญาตามที่กฎหมายบัญญัติ และรับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติขณะนั้น แม้อายุความขาดแล้ว ไม่ได้แปลว่าจำเลยตามหมายจับจะพ้นผิด เพียงแต่ลงโทษไม่ได้
กัณวีร์ สืบแสง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ระบุกับ THE STANDARD ว่าเขาเห็นด้วยกับข้อเสนอของปริญญาเรื่องการออก พ.ร.ก. แก้ไขอายุความ แต่เท่ากับว่าเหลือเวลาจำกัดมาก เพราะรัฐบาลต้องพิจารณาข้อเสนอนี้ในการประชุม ครม. วันที่ 22 ตุลาคม และคำถามสำคัญคือจะมีใครกล้าเสนอและเห็นชอบกับการออก พ.ร.ก. หรือไม่ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน สรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวกับสื่อมวลชนว่า สำหรับข้อเสนอให้ พ.ร.ก. ดังกล่าว ในข้อเท็จจริงจากการประเมินเรื่องช่วงเวลาแล้วคงไม่น่าจะทัน ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมขอโทษอย่างจริงใจ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นคนละรัฐบาลกัน
“ในส่วนของพรรคเองมีมาตรการอย่างที่เรียนให้ทราบไป โดย พล.อ. พิศาล ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคและเป็นผู้ต้องหาในคดี เราพยายามพูดคุยให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อแสดงความรับผิดชอบ จนกระทั่ง พล.อ. พิศาล ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ และเป็นการลาออกจาก สส. ไปด้วย ส่วนเรื่องคดีความให้ท่านกลับเข้ามาต่อสู้คดีเอง” สรวงศ์กล่าว
ท้ายที่สุด แม้จะค่อนข้างชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลมีแนวโน้มที่จะไม่ต้องการ ‘หักด้ามพร้าด้วยเข่า’ ตามที่หลายฝ่ายเสนอมา และคดีตากใบจะหมดอายุความไปเอง แต่รัฐบาล โดยเฉพาะแกนนำพรรคเพื่อไทยล้วนต้องตระหนักอยู่แล้วว่าผลกระทบที่ตามมาหากปล่อยให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น อาจไม่หยุดอยู่แค่เพียงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่หนาหูในช่วงนี้
แต่อาจเป็นการสร้างแผลเป็นของวิกฤตศรัทธาที่หลายส่วนในสังคมรู้สึกต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันว่ายังไม่มีความจริงใจมากพอต่อการพยายามคืนความยุติธรรมที่ล่าช้ามาหลายทศวรรษ ซึ่งแผลเป็นดังกล่าวจะไม่เลือนหายไปโดยง่าย เช่นเดียวกับบาดแผลทางประวัติศาสตร์ในใจของผู้ได้รับผลกระทบที่จะไม่มีวันหมดอายุเหมือนกับคดีความ