วันนี้ (21 ตุลาคม) กัณวีร์ สืบแสง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าคดีตากใบซึ่งเหลือเวลาแค่ 4 วันก่อนที่คดีจะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ ขณะที่นักกฎหมาย, นักวิชาการ, ภาคประชาสังคม, ภาคประชาชน และนักการเมือง ต่างคาดการณ์ไปในทางเดียวกันหมดว่า หมดสิทธิ์จะนำจำเลยทั้งหมด โดยเฉพาะเบอร์ใหญ่ๆ มายืนอกผายไหล่ผึ่งต่อหน้าศาลแล้วว่ากันตามกระบวนการยุติธรรม
“คณาจารย์ทางกฎหมายชี้ช่องบอกชัดว่ามีโอกาสทำได้ คือการใช้มาตรา 172 ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขอายุความที่เป็นประโยชน์เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ซึ่งก็ต้องพิจารณาว่าปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าเกณฑ์หรือไม่”
กัณวีร์กล่าวว่า หากจะเอามาตรา 172 มาแก้ไขอายุความคดีอาญากันจริง จะเหลือเวลาแค่ 1 วันครึ่งคือวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นวันที่จะสามารถนำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ที่สำคัญที่สุดคือใครจะกล้าเสนอ จะมีผู้หาญกล้าของ ครม. ชุดนี้กล้าพอที่จะเสนอเรื่องการต่ออายุความ กล้าพอไหมที่จะแสดงความเป็นผู้นำในการบอกทุกคนบนโลกใบนี้และโดยเฉพาะคนในพื้นที่ว่า รัฐบาลชุดนี้จะนำมาซึ่งสันติภาพที่ยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
“หากผมเป็นนายกรัฐมนตรี ผมจะทุบโต๊ะเปรี้ยงทันทีว่าเอาการต่ออายุความตามมาตรา 172 มาดูเดี๋ยวนี้ สันติภาพที่ยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องเกิดในรัฐบาลชุดนี้” กัณวีร์กล่าว
กัณวีร์ระบุว่า หากนายกฯ ทำอย่างนี้ในวันอังคารที่ 22 ตุลาคม อะไรจะเกิดขึ้น จึงอยากกระซิบผ่านไปถึงนายกฯ เผื่อจะได้ยินแล้วกล้าทำ กระแสนิยมจะกระเพื่อม ประชาชนจะเห็นความตั้งใจ และคนจะเริ่มมองว่านายกฯ คือความหวังของคนในพื้นที่
“แต่ผมทราบว่านายกฯ คงได้ยินแค่ว่าให้ สส. พรรคเพื่อไทยคนนั้นลาออกก็คงหมดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง เดี๋ยวทางกฎหมายค่อยว่าตามกระบวนการ แต่มันจะไม่หมดตามที่ท่านได้รับคำแนะนำ เพราะมันไม่ใช่การแก้ไขปัญหาของพรรคการเมือง แต่เป็นการพัฒนากระบวนการสร้างสันติภาพที่เรียกร้องความเป็นผู้นำ” กัณวีร์กล่าวต่อ
กัณวีร์ย้ำว่า การกล้าตัดสินใจที่เฉียบขาดและการพิจารณาองค์ประกอบองค์รวมที่อยู่นอกเหนือตำราภายในประเทศด้านความมั่นคงที่ไทยใช้มามากกว่า 20 ปี อีกทั้งที่สำคัญที่สุดคือความกล้าหาญในการยืนระดับเดียวกับพี่น้องประชาชนแล้วฟังว่าปัญหา ความต้องการ และทิศทางที่พวกเขาต้องการคืออะไร มากกว่าทิศทางของพวกที่ให้คำปรึกษานายกฯ แนะนำว่าคืออะไร ซึ่งเวลาของนายกฯ เหลือน้อยมาก แต่ตัดสินใจให้ดี ขอให้ฟังทั้งหัวใจของผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ที่มีปัญหามานานหลายทศวรรษ และหัวใจของนายกฯ เองที่อยากเป็นผู้นำของประเทศนี้ แล้วนายกฯ จะทราบว่าต้องทำอย่างไร
“เอาตัวผู้ต้องหากลับมาขึ้นศาลให้ทันก่อนเที่ยงคืนวันที่ 25 ตุลาคม ทำได้ไหม ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ก็กล้าต่ออายุความคดีตากใบไหม โอกาสสุดท้ายแล้วจริงๆ” กัณวีร์กล่าวย้ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มาตรา 172 แห่งรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ระบุไว้ว่า “ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ, ความปลอดภัยสาธารณะ, ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
“การตราพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้”
นอกจากนี้ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อเสนอแนะไว้ในงานเสวนา ‘คดีอาญาตากใบขาดอายุความ : ความรับผิดชอบใคร จะดำเนินคดีต่อได้หรือไม่?’ เมื่อวานนี้ (20 ตุลาคม) ระบุว่า รัฐบาลสามารถให้มีการออก พ.ร.ก. ก่อนคดีหมดอายุความได้ เพราะคดีตากใบเป็นคดีอาญา มีข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นและกักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งการใช้ พ.ร.ก. จะมีมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญรองรับอยู่