×

‘พลังเก่า-พลังใหม่’ การปะทะครั้งสุดท้ายในการเมืองไทย ผ่านมุมมอง กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด

26.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • อาจารย์กุลลดาชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยภายนอกมีผลต่อพลวัตการเมืองภายในประเทศ ความขัดแย้งในหมู่ผู้นำเองก็มีนัยยะสำคัญหลายเรื่อง และยังมีความหวังที่จะเห็นพลังเก่า-พลังใหม่ ปะทะกันเป็นครั้งสุดท้าย

มองการเมืองไทยผ่านคอนเซปต์รัฐศาสตร์ 4 คอนเซปต์

     อาจารย์กุลลดามองว่า การเมืองไทยมีความเป็นเส้นตรงที่ยักเยื้อง และเมื่อเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส เราอาจจะอยู่ในเส้นทางที่นำไปสู่ประชาธิปไตยเช่นกัน

     การยักเยื้องที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการปะทะกันระหว่างพลังเก่ากับพลังใหม่ สภาวะนี้ในปัจจุบันมีความรุนแรงมากกว่าที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ อาจมองว่าเป็นการปะทะกันที่มีนัยยะสำคัญมาก นั่นคือพลังใหม่รวบรวมฐานอำนาจของตนขึ้นมาเพื่อทำให้พลังเก่ารู้สึกหวั่นไหวในการที่ตนเองต้องสูญเสียอำนาจไป และอาจจะเป็นการปะทะกันครั้งสุดท้ายก็ได้

     อาจารย์กุลลดาได้มองการเมืองไทยผ่านคอนเซปต์ทางรัฐศาสตร์ 4 คอนเซปต์ใหญ่ๆ ดังนี้

14 ตุลาคม 2516 เกิดจากความขัดแย้งของกลุ่มผู้นำกันเอง และการผสมโรงของสหรัฐอเมริกา หากไปดูรายละเอียดแล้วก็จะพบว่ามี conspiracy มากมายที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ซึ่งทำให้เราต้องทบทวนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ กันใหม่

 

     1. Critical International Political Economy

     คือการพูดถึงบทบาทของทุนนิยมศูนย์กลางที่มีต่อโครงสร้างทางสังคมโครงสร้างทางการเมืองประเทศไทย

     ทฤษฎีนี้จะทำให้เรามีความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม ซึ่งประกอบด้วยพลังทางสังคมต่างๆ และบทบาทของศูนย์กลางทุนนิยมในกระบวนการเมืองของไทย

     การเปลี่ยนแปลงจากรัฐศักดินามาเป็นรัฐสมัยใหม่ ข้อสังเกตคือ การเปลี่ยนแปลงตรงนั้นมีระยะเวลาสั้นมากเมื่อเทียบกับฝรั่งเศส ขบวนการนี้ในฝรั่งเศสทำให้เกิดชนชั้นใหม่ๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กัน อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่ในไทยเป็นเรื่องของชนชั้นข้าราชการที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่จำนวนเพียงเล็กน้อยที่มีอำนาจแคบมาก แต่ว่าสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

     บทบาทที่สำคัญของอำนาจภายนอกที่มีต่อการเมืองภายใน ยกตัวอย่าง การขึ้นมามีอำนาจของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากการศึกษาเอกสารทำให้เห็นชัดเจนว่าประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลังการขึ้นมาของจอมพลสฤษดิ์ สหรัฐอเมริกามีลักษณะผู้นำที่ต้องการ ซึ่งไปตรงกับคุณลักษณะของจอมพลสฤษดิ์พอดี ทำให้สามารถตอบคำถามได้ว่าทำไมตอนนั้นสหรัฐฯ ซึ่งมองไทยเป็นฐานสำคัญในสงครามเวียดนามจึงต้องการผู้นำแบบจอมพลสฤษดิ์

     หากเราไม่เข้าใจบทบาทสหรัฐอเมริกา เราก็อาจจะกล่าวว่าการเลือกตั้งในสมัยจอมพลถนอมเกิดขึ้นเพราะร่างรัฐธรรมนูญแล้วก็คงต้องมีการจัดการเลือกตั้งสักที แต่ในปี 2514 จริงๆ แล้วผู้นำไทยไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งในครั้งนั้นเลย แต่เกิดจากการชักจูง และผลักดันของสหรัฐอเมริกา ทั้งให้เงิน และวิธีหาเสียง เพื่อที่จะทำให้รัฐบาลที่เป็นทหารเปลี่ยนยูนิฟอร์มมาเป็นผู้นำ เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นของประชาธิปไตยอีกครั้งไม่ได้เกิดจากความต้องการภายใน

     ในยุคสงครามอินโดจีน สหรัฐฯ มีการแฝงงบประมาณสงครามที่จะเอาไปใช้ที่เขมรไว้ในงบที่จะมาพัฒนาเรา เมื่อเรามีประชาธิปไตย มีรัฐสภา การจะผ่านงบประมาณก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เมื่อระบบรัฐสภาไม่เอื้อต่อผลประโยชน์ของประเทศสหรัฐอเมริกาในการปฏิบัติการในสงครามอินโดจีน ก่อนการเลือกตั้ง 1 วัน มีนักการเมืองระดับสูงเดินทางมาพร้อมเงินที่บอกว่าจะนำไปใช้ในการปราบปรามยาเสพติด แต่เงินดังกล่าวถูกใช้อย่างไรก็ไม่มีใครทราบ

     สรุปได้ว่า ประชาธิปไตยครั้งแรกในสมัยใหม่หลังยุคจอมพลสฤษดิ์ ไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการภายใน

     14 ตุลาคม 2516 เป็นการรวมพลังต่อต้านรัฐบาลทหารจากกลุ่มต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งขบวนการนักศึกษาที่มารวมตัวกัน ภาพจากภายนอกดูเป็นชัยชนะของขบวนการนักศึกษา แต่จากมุมมองนักรัฐศาสตร์ที่ได้ศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์พลังนักศึกษาเป็นแค่ส่วนประกอบ

     14 ตุลาคม 2516 เกิดจากความขัดแย้งของกลุ่มผู้นำกันเอง และการผสมโรงของสหรัฐอเมริกา หากไปดูรายละเอียดแล้วก็จะพบว่ามี conspiracy มากมายที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ซึ่งทำให้เราต้องทบทวนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ กันใหม่

     พลเอก กฤษณ์ สีวะรา เป็นคนสำคัญที่ทำให้จอมพล ถนอม กิตติขจร และจอมพล ประภาส จารุเสถียร ลงจากตำแหน่ง เมื่อจอมพลถนอมจะเดินทางออกนอกประเทศก็ได้เข้าพบพลเอกกฤษณ์และมีการร่างรายชื่อรัฐมนตรีชุดใหม่ จึงทำให้กลุ่มจอมพลถนอมยอมรับ เพราะรัฐมนตรีชุดใหม่ครึ่งหนึ่งก็มาจากรัฐมนตรีชุดเก่านั่นเอง โครงสร้างอำนาจของทหารไม่ได้หมดไปหลัง 14 ตุลาฯ แต่มีการใช้วิธีการแทนที่กัน มีหุ่นเชิด เพราะหลัง 14 ตุลาฯ ทหารตระหนักว่าการมีรัฐประหารจะไม่เป็นที่ต้องการของประชาชน จึงต้องหาพลเรือนมาเป็น front

     สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของการเมืองในยุคนั้นคือ การเติบโตของขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ผนวกกับข้อเรียกร้องให้ทหารอเมริกันถอนทหารออกจากประเทศ และความไม่พอใจที่รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถบริหารราชการอย่างเรียบร้อยได้ ทั้งสามปัญหานี้นำไปสู่สองเหตุการณ์สำคัญคือ การสังหารหมู่นักศึกษาธรรมศาสตร์ตอนเช้า และยึดอำนาจตอนเย็น

     จากการศึกษาของอาจารย์กุลลดาเสนอว่า เป็นการกระทำของกลุ่มทหารสองกลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน แต่ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

     อย่างไรก็ตามสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ทหารเมื่อยึดอำนาจเสร็จแล้วก็เอาพลเรือนขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลพลเรือนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาสำคัญคือ ภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ แต่กลับยิ่งทำให้ภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์รุนแรงขึ้น ในที่สุดก็มีผู้นำทหารคนหนึ่งยึดอำนาจจาก นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้นำคนนั้นก็คือ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

     อาจารย์กุลลดาตั้งข้อสังเกตว่า สหรัฐอเมริกาเมื่อผ่านจากยุคสงครามเย็นแล้วก็เปลี่ยนมาเป็นยุคของการผลักดันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจภายใต้นโยบายเสรีนิยม สหรัฐฯ กลับมาพร้อมคำว่า ‘เสรีนิยม’ ‘ธรรมาภิบาล’ ‘โลกาภิวัตน์’ คอนเซปต์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่เป็นการนำเข้า ยัดเยียด โดยสหรัฐอเมริกามีบทบาทในการเข้ามากำหนดวิธีคิดและอุดมการณ์ในสังคมไทยในยุคต้นทศวรรษที่ 1990

     จากนั้นมีการต่อต้านรัฐบาลทหาร ดังที่เราจะเห็นบทบาทของสหรัฐฯ ที่เข้ามาอบรมหน่วยสังคมต่างๆ ให้ตื่นตัวในเรื่องประชาธิปไตย

     อาจารย์กล่าวว่า แม้เอกสารชั้นต้นจะยังมองไม่เห็น แต่ก็พอเห็นบทบาทของ Asia Foundation ในการเข้ามาจัดประชุมเรื่องประชาธิปไตย การเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทหารและพลเรือน การสนับสนุนการฝึกอบรมสหภาพแรงงานในประเทศไทย

     แม้จะยังบอกไม่ได้ว่าสหรัฐอเมริกามีบทบาทต่อการเมืองไทยมากแค่ไหน แต่พูดได้ว่าสหรัฐฯ มีความสนใจต่อบรรยากาศทางการเมืองของไทย และหากมีโอกาสทางผลประโยชน์จากการรักษารูปแบบทางการเมืองไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตามที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา เราก็อาจจะได้เห็นปรากฏการณ์ Bangkok Spring ก็เป็นได้ นี่ก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งของพลวัตการเมืองภายใน

     การตื่นตัวของชนชั้นล่าง ทุนนิยมโลกทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆ มากขึ้น และทำให้สังคมเกิดความความหลากหลายและสลับซับซ้อนมากขึ้นด้วย

     ก่อนหน้านี้ประชาชนไม่มีความสนใจมาตรการทางการเมืองเพราะมองว่าการเมืองเป็นเรื่องภายนอก แต่สิ่งที่เห็นในการเมืองปัจจุบันคือการตื่นตัวของชนชั้นล่างต่อมาตรการการเมือง ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เช่น ทักษิณทำให้คนจำนวนมากมีความตื่นตัวทางการเมืองขึ้น ทำให้ชนชั้นล่างตระหนักว่าผลประโยชน์ของเขาผูกอยู่กับผลประโยชน์ทางการเมือง

การปะทะกันของอำนาจอาจไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์ แต่เป็นเรื่องใครจะเป็นผู้มีอำนาจในการควบคุมทรัพยากร และใช้อำนาจนั้นในการจัดสรรทรัพยากร ตอนนี้เราเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลปัจจุบันมีความสามารถมากในการจัดการทรัพยากรไปในแนวทางที่ต้องการว่าจะจัดงบไปที่ใด

รศ. ดร. กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

     2. คุณลักษณะพิเศษ​ของผู้นำ

     อาจารย์กุลลดากล่าวว่า คุณลักษณะพิเศษหรือคุณลักษณะเฉพาะของผู้นำเองก็มีผลกับการเมืองการปกครองด้วยเช่นกัน

     พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นทหารที่ลักษณะไม่เหมือนทหารทั่วไป ประการแรกก็คือเป็นคนที่ฉลาดมาก และประการที่สองคือมีความมุ่งมั่นแก้ปัญหาของชาติ

     พลเอกเกรียงศักดิ์ให้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากกลุ่มที่หลากหลาย ทั้งผู้แทนที่มาจากพรรคการเมืองที่สำคัญ ฝ่ายกองทัพ ข้าราชการ และนักธุรกิจ ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีฉันทามติพอสมควร ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่มาจนถึงการปฏิวัติของ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ)

     อาจารย์กุลลดามองว่า พลเอกเกรียงศักดิ์เป็นผู้นำที่มีแท็กติก คือสั่งให้มีการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยให้คนต่อต้าน แล้วจึงค่อยแทรกแซงเข้ามาโดยบอกว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้บุคลิกของพลเอกเกรียงศักดิ์ดูเป็นผู้นำที่มีความเป็นประชาธิปไตย เรียกได้ว่าท่าน ‘เป็น’ ทางการเมืองของยุคสมัยนั้นที่ประกอบด้วยคนสำคัญคือ นักการเมือง นักธุรกิจ ทหาร เป็นรัฐธรรมนูญที่พอประสานผลประโยชน์ทางการเมืองได้

     รัฐธรรมนูญของพลเอกเกรียงศักดิ์ใช้ยืนยาวมาถึงสมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ แล้วจึงมีการรัฐประหาร หลังจากนั้นจึงมีความพยายามที่ทหารจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ จนเกิดขบวนการต่อต้าน

     นอกจากนั้นพลเอกเกรียงศักดิ์ฉลาดรับมือกับภัยคอมมิวนิสต์ด้วยวิธีการที่ไม่ใช่การปราบปราม แต่เป็นการสร้างความยินดี ลดความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ในยุคนั้น

 

     3. Comparative Politics

     อาจารย์กุลลดากล่าวว่า เมื่อมองขบวนการชาตินิยมในไทยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขบวนการชาตินิยมเป็นขบวนการต่อต้านอาณานิคม แต่ลึกๆ แล้วเป็นการต่อต้านระบบโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ในขณะนั้น เพราะฉะนั้นเราก็อาจจะรวมเหตุการณ์ในปี 2475 ในฐานะขบวนการชาตินิยมในลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

     ช่วงเริ่มต้นของการบรรยาย อาจารย์ได้อธิบายถึงกลุ่มเล็กๆ ทางการเมืองที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ปรากฏการณ์ส่วนหลังของชาตินิยม เราอาจจะได้เห็น mass movement ซึ่งโดยปกติแล้ว mass movement ที่เกิดขึ้นในประเทศอาณานิคมนั้นเป็นกระบวนการต่อต้านทุนนิยม แต่อาจจะมีความผกผันกับ ขบวนการ mass movement ในไทยที่กำลังก่อตัวและเกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งเป็นขบวนการที่เติบโตมากับทุนนิยมและได้ประโยชน์จากทุนนิยมก็เป็นได้

     อาจารย์กุลลดากล่าวว่า สิ่งที่ไม่เหมือนกับการเมืองการปกครองของฝรั่งเศส คือในสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 เศรษฐกิจประเทศฝรั่งเศสเติบโตเป็นอย่างมาก ในขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้คือการถดถอยทางเศรษฐกิจ จากการศึกษาประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน อาจารย์กุลลดาเชื่อว่าพลังอะไรก็ตามที่กระทบกับความเป็นอยู่ของคน อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

     เราอาจต้องมองการมีส่วนร่วมของขบวนการในประเทศไทยว่า ก็เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการชาตินิยมที่พบได้ในที่อื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

     4. อำนาจ

     อำนาจ คือความสามารถในการจัดสรรและควบคุมทรัพยากร อำนาจนี้อยู่ที่ใคร เป็นไปเพื่อเหตุผลอะไร

     การปะทะกันของอำนาจอาจไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์ แต่เป็นเรื่องใครจะเป็นผู้มีอำนาจในการควบคุมทรัพยากร และใช้อำนาจนั้นในการจัดสรรทรัพยากร ตอนนี้เราเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลปัจจุบันมีความสามารถมากในการจัดการทรัพยากรไปในแนวทางที่ต้องการว่าจะจัดงบไปที่ใด ไม่ว่าจะเป็น งบประมาณทหาร หรือสุขภาพประชาชน

FYI

     รายงานนี้สรุปความจากเวทีเสวนา ‘การเมืองกับประวัติศาสตร์-ประวัติศาสตร์กับการเมือง’ จัดโดยภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เผยแพร่ความรู้เรื่องเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475

     ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ศ. ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์, ดร. กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ. ดร. กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ. ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.ณัฐพล ใจจริง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

     ดำเนินรายการโดย ผศ. ดร. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X