แม้ตลาดยานยนต์ของจีนซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของโลก รวมถึงตลาดในไทยที่ปีนี้ชะลอตัวจากหลายๆ ปัจจัย ทั้งหนี้ครัวเรือน การเปลี่ยนผ่านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และหลายๆ ค่ายรถต่างปรับแผนกลยุทธ์ เช่นเดียวกับ ‘เกรท วอลล์ มอเตอร์’ (Great Wall Motor หรือ GWM) ที่วันนี้เริ่มโอนย้ายฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาจากจีนมาสู่ไทย พร้อมประกาศผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวา เพื่อส่งออกตลาดโลก
อะไรที่ทำให้เกรท วอลล์ มอเตอร์ ยกให้ไทยเป็นน่านน้ำสำคัญ และเป็นฐานผลิตรถพวงมาลัยขวาแทนจีน?
ปาร์คเกอร์ ฉี ประธานเกรท วอลล์ มอเตอร์ ตลาดต่างประเทศ (GWM International) กล่าวว่า เหตุผลที่เลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิต เนื่องจากไทยมีความพร้อมในหลายด้าน ทั้งในด้านแรงงานที่มีทักษะ ด้านกฎหมาย ภาษี และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงนโยบายสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของรัฐบาล
โดยเฉพาะหากมองในแง่แนวโน้มตลาดในไทยช่วง 3 ปี 3 เดือนที่ผ่านมา สามารถทำยอดขายได้ดี โดยมีรถยนต์รุ่น ORA Good Ca ที่ทำได้ดี แม้จะมีบางช่วงที่ยอดขายลดลง มีสิ่งที่ต้องปรับปรุง และมีการแข่งขันแบรนด์รถยนต์ EV จากจีนเข้ามามากขึ้น นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ทำไม ‘ฮอนด้า’ เลือกที่จะปิดไลน์ผลิตรถยนต์ที่ ‘อยุธยา’ ย้ายไปโรงงานปราจีนบุรีที่เดียว สัญญาณนี้กำลังบอกอะไรกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย
- เปิดชื่อแบรนด์รถยนต์ EV จีน ที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย เริ่มเดินสายพานปี 2567-2568 กำลังผลิตเท่าไร ตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง
- เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย? ครั้งนี้ไม่เหมือนยุค 1980 ปิกอัพไทยเสี่ยงล่มสลาย ถูกกินรวบจาก EV จีน
ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่วันนี้บริษัทจะมุ่งไปสู่การผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์พวงมาลัยขวาไปยังทั่วโลก
โดยตั้งเป้าว่าจะเพิ่มการผลิต จากกำลังผลิตปัจจุบัน 80,000 คัน ให้ถึง 120,000 คันภายใน 3 ปี ซึ่งในขณะนี้เริ่มผลิตและส่งออกรถยนต์พวงมาลัยขวาไปยังเวียดนามและอินโดนีเซีย โดยในอนาคตก็มองไปที่มาเลเซีย รวมถึงออสเตรเลียที่เกรท วอลล์ มอเตอร์ ซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งแบรนด์จีนในตลาดออสเตรเลียอยู่แล้วด้วย นี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเชิงกลยุทธ์ที่สะท้อนว่าบริษัทมุ่งทำธุรกิจในไทยในระยะยาว
ปาร์คเกอร์ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาบริษัทลงทุนในประเทศไทยไปแล้วกว่า 12,000 ล้านบาท และ 3 ปีจากนี้เตรียมลงทุนเพิ่มอีกกว่า 23,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมไปถึงจะขยายการลงทุนด้านแบตเตอรี่ด้วย
ปาร์คเกอร์เปิดใจถึงช่วงระยะเวลา 4 ปีที่เข้ามาทำตลาดในไทย มาถึงวันนี้เป็นอย่างไร
“ผมให้คะแนนทีมงานในไทยแตกต่างกัน”
โดย 2 ปีแรกให้คะแนน 8 เต็ม 10 ขณะที่ใน 2 ปีหลังนั้นขอให้คะแนนเพียง 6 เต็ม 10 รวมๆ แล้วเฉลี่ยที่ 6 ทั้งนี้ ในภาพรวมนั้นมองว่าการเข้ามาทำตลาดในไทยนั้นเห็นภาพชัดขึ้นว่าตั้งแต่ปีแรกๆ ทีมงานทำตลาดได้ดี เพราะต้องบอกว่าก่อนจะเข้ามาทำตลาดในอาเซียนและไทยยอมรับว่าวันนั้นยังเป็นตลาดใหม่ ยังไม่ค่อยเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคมากนัก แต่เมื่อได้สัมผัสและเรียนรู้วัฒนธรรมไทยก็ชื่นชอบคนไทย ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีความท้าทาย หลากหลาย แต่สงบ ซึ่งอาจแตกต่างจากสิ่งที่อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังเผชิญอยู่ เพราะเต็มไปด้วยการแข่งขัน โดยเฉพาะในจีนเองด้วย
“หากบริษัทไม่มีทีมงานที่ดี โปรดักต์ที่ดี หรือ Ecosystem ที่ดี ก็อาจต้องออกจากการแข่งขันไปแล้ว และถ้าเราไม่มีอาวุธเราก็ตาย ถ้าเราไม่ดิ้นรนเราก็ตาย ที่สำคัญถ้าเราไม่มีทีมงานที่ดีและแข็งแกร่งเราก็ตาย” ปาร์คเกอร์ย้ำ
กลยุทธ์ One Price Policy ยังสำคัญอยู่หรือไม่? มองสงครามราคา EV วันนี้อย่างไร
แม้บริษัทจะเป็นผู้บุกเบิกนโยบายราคาเดียว (One Price Policy) แต่ก็ต้องบอกว่า 2 ปีที่แล้วเราก็มีการปรับลดราคาหลายๆ รุ่น รุ่นละหลายแสนบาท แต่การเล่นสงครามราคาอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะในแง่การทำธุรกิจระยะยาว ‘ราคา’ ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวของการทำตลาด แต่สิ่งที่ลูกค้าจะได้รับก็อาจต้องแลกมาด้วยเงินที่มากกว่า
ดังนั้นมองว่าการทำสงครามราคาไม่ดีต่อทุกฝ่าย และท้ายที่สุดผลเสียจะตกอยู่ที่ผู้บริโภค ได้คุณภาพสินค้าตกต่ำลง แม้จะได้มาร์เก็ตแชร์ในระยะสั้น แต่อาจมีผลต่อชื่อเสียงของแบรนด์ในระยะยาว แน่นอนว่าไม่ใช่ทิศทางที่จะเลือกใช้ในการบุกตลาดนอกประเทศจีน
ส่วนคำถามที่ว่า คิดเห็นอย่างไรกับสภาพเศรษฐกิจในไทยวันนี้ที่ไม่สู้ดี ประชาชนมีหนี้สิน แบงก์ไม่ปล่อยกู้ ทำให้ตลาด EV แผ่วลง
“น่าจะชะลอตัวไปบ้าง ซึ่งไม่ใช่แค่ไทย แต่โดยสรุปตลาดในไทยยังมีศักยภาพ ยังมีแนวโน้มเติบโต ที่สำคัญย้ำว่าการที่บริษัทมีฐานผลิตในไทยก็ล้วนมาจากการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ซัพพลายเชนไทยมีครบวงจร ดังนั้นไทยจึงสำคัญมากในอาเซียน จึงมุ่งมั่นให้เป็นฐานผลิตทั้งพวงมาลัยขวาและพวงมาลัยซ้าย” ปาร์คเกอร์กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ GWM International จะปรับกลยุทธ์การทำตลาดและวาง Ecosystem ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้ดีขึ้น 4 ด้าน ได้แก่
- กลยุทธ์ด้านบริการหลังการขาย ซึ่งจะมีทั้งการอบรมพนักงานเพื่อให้สามารถมอบบริการที่ดีกับลูกค้า รวมถึงรับฟังเสียงลูกค้าเพื่อไปพัฒนาและปรับปรุงบริการหลังการขาย และการสร้างศูนย์กระจายอะไหล่ขนาดใหญ่ รวมทั้งเพิ่มจำนวนการเก็บชิ้นส่วนอะไหล่กว่า 1,000 SKUs ในไทย
- วางแผนเปิดตัวโปรดักต์ที่ตอบโจทย์ตลาด เช่น การเปิดตัวรถยนต์ GWM TANK เครื่องยนต์ดีเซล ในปี 2568 เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค
- กลยุทธ์การขาย ให้ความสำคัญกับพาร์ตเนอร์เพื่อรองรับการแข่งขันของตลาด และจะเดินหน้าขยายธุรกิจฟลีตให้ครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม รวมถึงเข้าร่วมการประมูลของรัฐด้วย
- สร้างแบรนด์ (Branding) ให้แตกต่าง โดยเฉพาะเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมถึงเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคมมากขึ้น
ตั้งเป้ายอดขายต่างประเทศ 1 ล้านคันภายใน 6 ปี
ด้าน เจมส์ หยาง รองประธาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ ตลาดต่างประเทศ (GWM International) กล่าวทิ้งท้ายว่า GWM International ตั้งเป้ายอดจำหน่ายในต่างประเทศที่ 1 ล้านคันภายในปี 2573 โดยในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2567 เราทำยอดขายในตลาดต่างประเทศได้ 316,000 คัน เติบโตขึ้น 22.17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ปัจจุบันเกรท วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor) หรือ GWM เป็นผู้ผลิตรถ SUV และรถกระบะระดับโลก โดยมีสำนักงานใหญ่ในเมืองเป่าติ้ง ประเทศจีน และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ในปี 2546 และ 2565 ตามลำดับ
อีกทั้งยังมีพนักงานมากกว่า 70,000 คนทั่วโลก ปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในประเทศจีนที่มียอดการผลิตและยอดขายมากกว่า 1 ล้านคันในเวลา 8 ปี มีเครือข่าย 1,000 แห่งใน 170 ประเทศในหลายภูมิภาค