×

โลกต้องจำกัดอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่วันนี้กลับขึ้นมาแล้วถึง 1.42 องศาเซลเซียส

โดย THE STANDARD TEAM
17.10.2024
  • LOADING...

รายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) คาดการณ์ว่าโลกจะร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2027 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นแล้ว 1.42 องศาเซลเซียส สะท้อนให้เห็นอัตราเร่งของวิกฤตโลกร้อนไปสู่โลกเดือด ขณะที่การบรรลุเป้าหมาย Net Zero ยังดูห่างไกลกว่าวิกฤตที่กำลังเร่งเข้ามา

 

ตัวการหลักของ ‘วิกฤตโลกเดือด’ ยังคงเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งทำให้เกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ร้อนจัด น้ำท่วม และพายุที่ทวีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในทุกมิติ

 

คำถามคือ ภารกิจสำคัญที่ทุกคนต้องร่วมมือกู้วิกฤตโลกก่อนที่จะสายเกินแก้คืออะไร อะไรคือสิ่งที่เราต้องปลดล็อกเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านให้ทัน

 

ทั่วโลกตั้งเป้าหมายอย่างไร 

 

ในการประชุมระดับโลกว่าด้วยการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP28) ผู้นำแต่ละประเทศมีข้อสรุปร่วมกันว่า จะต้องเร่งลดก๊าซเรือนกระจกด้วยการเพิ่มสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานทดแทนเป็น 3 เท่าภายในปี 2030 มีการจัดตั้งและดำเนินงานกองทุนชดเชยการสูญเสียและความเสียหาย ทั้งหมดล้วนเพื่อจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

 

เพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวสำเร็จ ที่ผ่านมาแต่ละประเทศจึงมีการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยประเทศไทยตั้งเป้าบรรลุ Net Zero ในปี 2065 และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 

ประเทศไทยปรับตัวอย่างไร

 

จากความท้าทายที่เกิดขึ้น ทำให้ทุกประเทศไม่เพียงแต่ต้องปรับตัวเพื่ออยู่ในโลกที่ร้อนขึ้น (Adaptation) แต่ต้องปรับลดคาร์บอน เพื่อลดโลกร้อน (Mitigation) หรือเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Transition to Low Carbon Economy)

 

โดยประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 372 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2019 เกิดจากภาคพลังงานถึง 70% ตามด้วยเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการผลิต และขยะ 15%, 10% และ 5% ตามลำดับ

 

ซึ่งในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มมีเป้าหมายจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) โดยกรมสรรพสามิต ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีต้นทุนหรือราคาที่จ่ายเพิ่มขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมการร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจมีการประกาศใช้จริงในปี 2025 

โอกาสที่ไทยจะเร่งแก้วิกฤตอยู่ตรงไหน

 

ในงาน ESG SYMPOSIUM 2024: Driving Inclusive Green Transition ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส เวทีที่มุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม มีการแชร์ประสบการณ์และตัวอย่างที่หลากหลายในการเปลี่ยนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำจากผู้นำระดับโลกและไทย ไม่ว่าจะเป็นจาก UNDP, World Economic Forum หรือจาก SCG และพาร์ตเนอร์ เพื่อ ‘เร่งเปลี่ยน’ ประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

 

หนึ่งในโครงการต้นแบบที่เป็นพื้นที่ทดลองการเปลี่ยนผ่าน คือโมเดล ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เนื่องจากสระบุรีเป็นจังหวัดที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับ 3 ของไทย และมีแหล่งอุตสาหกรรมตั้งอยู่ โดยโครงการนี้เกิดขึ้นจากการทำงานแบบบูรณาการของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ที่รวมใจเป็นหนึ่งเดียว เปลี่ยนสระบุรีให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย

 

โดยตัวโครงการมีความคืบหน้าอย่างมาก สามารถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ให้เป็นปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำที่ลดการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิต การพัฒนา Green Infrastructure รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด การหาทุนสีเขียว Green Funding จากต่างประเทศมาพัฒนานวัตกรรมคาร์บอนต่ำ รวมถึงเปลี่ยนผ่านกระบวนอื่นๆ ทั้งในภาคพลังงาน เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ซึ่งเกิดผลเป็นรูปธรรม สามารถแก้ไขข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน ซึ่งมีโอกาสนำไปสเกลต่อในพื้นที่อื่นของประเทศไทยได้ 

 

 

ในวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมานาย ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี จึงมีการยื่นข้อเสนอต่อนาย ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อปลดล็อกข้อจำกัด และเร่งให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ได้แก่ 

 

  • ปลดล็อกกฎหมายและข้อกำหนด (Law & Regulations) โดยภาครัฐเร่งเปิดเสรีซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาด จัดทำกฎหมายแม่บทว่าด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนส่งเสริมนโยบาย Green Priority ให้ความสำคัญกับการใช้สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
  • ผลักดันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว (Green Finance) โดยสนับสนุนงบประมาณ และพัฒนาบุคลากรของผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียนคาร์บอนที่เป็นมาตรฐานสากล 
  • พัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Technology & Green Infrastructure) โดยรัฐสนับสนุนการใช้และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานรูปแบบต่างๆ เช่น แบตเตอรี่กักเก็บความร้อน (Heat Battery)
  • สนับสนุนการปรับตัว เสริมศักยภาพการแข่งขัน SMEs พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดต้นทุน 

 

 

Regenerative Model คือโลกใหม่ของการทำธุรกิจ

 

แน่นอนว่านับจากวันนี้โลกของการทำธุรกิจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แม้ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า 1% ของโลก แต่โลกอาจไม่ต้องการคบค้ากับประเทศไทยหากเรายังทำเหมือนเดิม

 

หนึ่งในโมเดลใหม่ของการทำธุรกิจ คือการยกระดับจากการโฟกัสที่ Profit, People และ Planet ไปสู่ความรับผิดชอบ (Responsibilities), ความยืดหยุ่น (Resilience) และการฟื้นฟู (Regeneration) 

 

นี่คือหนึ่งในหนทางที่จะชุบชีวิตโลกที่เสื่อมสลายไป และลดผลกระทบใหม่ที่จะเกิดขึ้น ทั้งหมดต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันการเงิน ภาคเอกชน ไปจนถึงผู้บริโภค 

 

ซึ่งต้องติดตามต่อว่าในอนาคต เราทุกคนจะตระหนักถึงความสำคัญ และชุบชีวิตโลกใบนี้ได้หรือไม่ เพราะอำนาจในการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านนั้น ไม่สามารถพึ่งพาเพียงกำลังของใครคนหนึ่ง แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากเราทุกคน 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising