ช่วงเวลา 3 วันที่ทีมข่าวของ THE STANDARD ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัย ยังมีอีกประเด็นที่เข้มข้นและได้รับความสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือเรื่องของปางช้างในอำเภอแม่แตง ซึ่งมีเหตุการณ์ใหม่เกิดขึ้นอีกระหว่างที่ทีมข่าวลงพื้นที่
ประเด็นดังกล่าวมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นต่างระหว่างกลุ่มคนทั้ง 2 ฝ่ายในเรื่องวิธีการดูแลช้าง อย่างไรก็ตาม THE STANDARD ได้ประมวลข้อเท็จจริงจากที่ได้รับฟังและพบเจอมา ด้วยหวังว่าจะทำให้สังคมได้เข้าใจมุมมองที่รอบด้านของปรากฏการณ์นี้
แสงเดือน ชัยเลิศ ขณะกำลังประชุมร่วมกับทีมงานของ Elephant Nature Park
ภาพ: ฐานิส สุดโต
‘ความเห็นต่าง’ สู่การนำช้างคืน
ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม แสงเดือน ชัยเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริบาลช้าง และประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ได้แจ้งเหตุอุทกภัยระดับวิกฤต ช้างจำนวนมากใน Elephant Nature Park (ENP) ได้รับอันตราย ถูกกระแสน้ำพัดไปไกล นำมาสู่การระดมกำลังช่วยเหลือจากหลายฝ่าย
ทว่าหลังเหตุการณ์นั้น สังคมก็จุดประเด็นถกเถียงตามมาถึงวิธีการดูแลช้าง กระทั่งเกิดการเปรียบเทียบกับปางช้างอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกันในอำเภอแม่แตง เช่น กิตติราช ชัยเลิศ ผู้บริหารปางช้างแม่แตง ที่เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่าหากนับจากวันที่ 2 ตุลาคม ซึ่งเริ่มมีประกาศแจ้งเตือนเรื่องอุทกภัย เขายืนยันว่ามีเวลามากพอในการนำช้างขึ้นมาจากพื้นที่ติดน้ำ
“ผมว่าอย่างไรก็ย้ายทันอยู่แล้วหากเรามีจำนวนควาญช้างเพียงพอและคอยอยู่ประจำช้างตลอด” ผู้บริหารปางช้างแม่แตงระบุ
ข้อถกเถียงใหญ่คือการเลี้ยงดูช้างแบบดั้งเดิมหรือการเลี้ยงช้างในลักษณะของ Elephant Nature Park ที่จะส่งผลมาสู่ความปลอดภัยของช้างในภาวะวิกฤตเช่นนี้ต่างกันหรือไม่ โดยมีผู้มาแสดงความเห็นอย่างหลากหลาย รวมถึง กัญจนา ศิลปอาชา หรือ ‘หนูนา’ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ด้วย
ช้างพลาย ‘ขุนเดช’ ซึ่งเป็นช้างป่าที่ได้รับความช่วยเหลือ ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ Elephant Nature Park
ภาพ: ฐานิส สุดโต
กระทั่งวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา แสงเดือนได้สื่อสารผ่านเฟซบุ๊กว่า “มีช้างตัวผู้ 2 เชือก ชื่อพลายขุนเดชและพลายดอกแก้ว ที่คุณหนูนาเอามาฝากเลี้ยงไว้หลายปี ถ้าคุณหนูนาสงสารและเป็นห่วงเขาจริงๆ ขอช่วยมาย้ายพวกเขาไปอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมโดยด่วน”
จากนั้นไม่นานกัญจนาได้แจ้งทันทีว่ากำลังจะไปรับช้างทั้ง 2 เชือกมาจาก Elephant Nature Park พร้อมขอบคุณแสงเดือนที่ช่วยดูแลมาตลอด
ทีมข่าว THE STANDARD ได้เดินทางกลับไปที่อำเภอแม่แตงอีกครั้ง ก่อนจะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิ Elephant Nature Park ให้สามารถเข้ามาถ่ายภาพและนำเสนอข่าวภายในพื้นที่ด้านหลังมูลนิธิฯ ซึ่งเป็นที่อยู่ของช้าง ‘ขุนเดช’ และ ‘ดอกแก้ว’ โดยพื้นที่ดังกล่าวรถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ และต้องผ่านสะพานข้ามแม่น้ำแตง
สะพานข้ามแม่น้ำแตงใน Elephant Nature Park ที่เสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งเป็นทางไปสู่คอกของช้างทั้ง 2 เชือก
ภาพ: ฐานิส สุดโต
เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ รวมถึงสัตวแพทย์จากสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ และจากจังหวัดอื่นในพื้นที่ภาคกลาง เดินทางเข้ามาเพื่อประเมินความพร้อมและความเสี่ยงในการขนย้ายช้างว่ามีความเหมาะสมหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของขุนเดชที่เป็นช้างป่า หากจะเคลื่อนย้ายออกไปที่อื่นจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และมีหนังสือที่ลงนามโดยอธิบดีกรมอุทยานฯ เท่านั้น จึงต้องรอให้มีการประเมินจากกรมอุทยานฯ ว่าจะอนุญาตให้เคลื่อนย้ายหรือไม่
ช้างพลายขุนเดชระหว่างรอการประเมินจากสัตวแพทย์
ภาพ: ฐานิส สุดโต
ต่อมาในเวลา 17.20 น. รถสำหรับขนช้างได้เดินทางมาถึงมูลนิธิฯ แต่ยังมีเงื่อนไขว่าขุนเดชซึ่งเป็นช้างป่าต้องได้รับการอนุญาตเป็นหนังสือที่มีอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงนาม จึงจะสามารถเคลื่อนย้ายได้
แหล่งข่าวในมูลนิธิฯ ระบุกับ THE STANDARD ว่าหากมีความประสงค์จะนำช้างทั้งสองเชือกออกจากพื้นที่ในวันนี้จริง ฝ่ายที่ต้องการขนย้ายจะต้องมาดำเนินการทั้งหมดด้วยตนเอง โดยอาจใช้วิธียิงยาที่ทำให้เกิดอาการซึม แล้วให้ควาญช้างพร้อมด้วยสัตวแพทย์นำทางช้างขึ้นไปยังรถบรรทุก
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปจนกระทั่งช่วงค่ำก็ไม่ได้มีการขนย้ายเกิดขึ้น ก่อนจะมีการประสานงานมาว่าได้ยกเลิกภารกิจขนย้ายช้างในคืนนี้ออกไปก่อน
ช้างพลายดอกแก้ว ซึ่งเป็นช้างเลี้ยง ปัจจุบันอยู่ที่ Elephant Nature Park
กัญจนาหวังนำช้างทั้ง 2 เชือกออกมาพร้อมกัน
รุ่งขึ้นวันต่อมา (10 ตุลาคม) กัญจนาได้ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ระบุว่า เมื่อคืนวานนี้ได้ยกเลิกภารกิจขนช้างทั้ง 2 เชือกออกมา เนื่องจากขุนเดชที่เป็นช้างป่าจำเป็นต้องได้รับหนังสืออนุญาตขนย้ายจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
กัญจนาเผยว่าแม้อธิบดีกรมอุทยานฯ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับทราบและอนุมัติด้วยวาจาแล้ว แต่อีกฝ่ายยืนยันว่าต้องการเอกสารอนุญาต ซึ่งขณะนี้กำลังพยายามเร่งประสานปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ และมองว่าควรจะต้องแล้วเสร็จวันนี้ เพราะเจ้าหน้าที่ได้ไปเตรียมตัวถึงหน้างานแล้ว
ส่วนดอกแก้วที่เป็นช้างเลี้ยงนั้น กัญจนามองว่าสามารถนำออกมาได้เลย แต่ตั้งใจว่าควรจะนำออกมาพร้อมกันทั้ง 2 เชือก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องไปเสียเที่ยว
ช้างพลายดอกแก้วที่เจ้าของเดิมคือ กัญจนา ศิลปอาชา
ภาพ: ฐานิส สุดโต
โดยเบื้องต้นจะนำช้างทั้ง 2 เชือกไปอยู่ที่ปางช้างภัทร ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ และให้ดอกแก้วอยู่ต่อไป แต่สำหรับขุนเดช เป็นกรรมสิทธิ์ของกรมอุทยานฯ จึงต้องนำไปอยู่ที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จังหวัดลำปาง และต้องรอกระบวนการทำหนังสือระหว่างสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.)
กัญจนายังหวังว่าหากนำช้างทั้ง 2 เชือกออกมาได้ ประเด็นความขัดแย้งและการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ จะจบ เพราะยอมรับว่าเบื่อ และไม่อยากเป็นศัตรูกับใคร พร้อมยืนยันว่าในวันที่ Elephant Nature Park เกิดเหตุอุทกภัย ตนเองได้โทรศัพท์สอบถามแสงเดือนด้วยความเป็นห่วง และเร่งประสานหลายฝ่ายให้ความช่วยเหลือ เพราะตนเองรักช้างมาก และไม่มีเจตนาจะซ้ำเติมใดๆ
“ที่พูดมาตลอดไม่ได้แซะเลย คนที่มองไม่ดีก็จะว่าแซะ” กัญจนายืนยัน
อธิบดีกรมอุทยานฯ เผย ยังไม่อนุมัติย้าย ‘ขุนเดช’
ล่าสุดวันนี้ (11 ตุลาคม) หลายสำนักข่าวที่ติดตามภารกิจขนย้ายช้างได้รายงานตรงกันว่า ทีมปฏิบัติการเคลื่อนย้ายช้างทั้ง 2 เชือกได้ชะลอภารกิจออกไป เนื่องจากยังต้องประเมินสุขภาพของช้างอย่างละเอียดก่อน เพราะช้างทั้งสองเพิ่งผ่านสถานการณ์น้ำท่วมมา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ระหว่างนี้ช้างทั้งสองเชือกจึงต้องอาศัยอยู่ที่เดิมไปก่อน
THE STANDARD สอบถาม อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่อกรณีนี้ โดยอรรถพลยืนยันว่ายังไม่ได้ลงนามในหนังสืออนุญาตเคลื่อนย้ายช้าง เพราะยังต้องรอให้ทีมแพทย์ประเมินความพร้อมของช้างก่อน ทั้งสัตวแพทย์ของกรมอุทยานฯ และสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ก็ต้องประสานงานกัน
“ทางเราไม่ขัดข้องเรื่องการย้ายอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการย้ายต้องไม่เกิดผลกระทบกับช้าง จึงต้องให้แพทย์เข้าไปพิจารณาก่อนว่าจะย้ายในรูปแบบใด สถานที่ซึ่งจะรับไปดูแลมีความพร้อมหรือไม่ ให้ทุกฝ่ายพร้อม และไม่เกิดผลกระทบกับตัวช้าง” อธิบดีกรมอุทยานฯ เผย
อรรถพลเผยว่า ตามที่ทุกฝ่ายได้ประชุมกันเมื่อวานนี้ เห็นว่าต้องมีการตรวจสุขภาพช้างก่อน ซึ่งต้องทำอย่างรอบคอบ ส่วนตัวเชื่อว่าคงไม่นาน แต่ต้องให้แพทย์ตัดสินใจร่วมกัน และตนเองก็ได้พูดคุยกับทาง อ.อ.ป. เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ อธิบดีกรมอุทยานฯ ไม่ได้รับปากว่าจะเสร็จกระบวนการภายในสัปดาห์หน้าหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องรีบ แต่ขอให้มีความพร้อม
สำหรับขุนเดชเป็นช้างป่าที่ได้รับการช่วยเหลือจากการติดบ่วงล่าสัตว์ ทำให้ขาข้างหนึ่งมีลักษณะผิดปกติ และได้รับการตรวจจากสัตวแพทย์ของสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จังหวัดลำปาง รวมถึงสัตวแพทย์จากสถาบันอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ
สภาพพื้นที่ของ Elephant Nature Park ภายหลังประสบเหตุอุทกภัย
ภาพ: ฐานิส สุดโต