วันนี้ (10 ตุลาคม) ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ ประธานอำนวยการศูนย์ประสานงานส่งเสริมเครือข่ายออนไลน์ และศูนย์ข่าวต้านโกง พร้อมประชาชนซึ่งระบุว่าเป็นผู้เสียหายจากการลงทุนเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ภายใต้การกำกับของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด (The iCon Group Co., Ltd.) เข้ายื่นเอกสารร้องเรียนต่อ ธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการ สคบ. เพื่อขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัท โดยมี จิติภัทร์ บุญสม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง (สคบ.) เป็นตัวแทนรับเรื่อง
กฤษอนงค์กล่าวว่า เนื่องด้วยศูนย์ฯ ได้รับการสอบถามและร้องเรียนจากประชาชนและผู้บริโภคเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด โดยมีความกังวลว่าอาจมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย หรือขาดการจดทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนด จึงขอความอนุเคราะห์เลขาธิการ สคบ. ช่วยตรวจสอบบริษัทดังกล่าวดังนี้
- ตรวจสอบสถานะการจดทะเบียนว่าบริษัทดังกล่าวได้จดทะเบียนประกอบธุรกิจตามกฎหมายหรือไม่
- ตรวจสอบการดำเนินงานว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่
- ตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิผู้บริโภค หรือมีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สคบ. หรือไม่
เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภคและประชาชน ทางศูนย์ฯ ขอความอนุเคราะห์ในการดำเนินการตรวจสอบและแจ้งผลให้ทราบเพื่อที่จะได้ประสานงานและให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนต่อไป และขอให้เกิดมาตรการป้องกันจริงๆ เพราะ สคบ. คือผู้ออกใบอนุญาต ก็ควรรับผิดชอบดูแลบริษัทที่ตนเองออกใบอนุญาตไปด้วย ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยจนเกิดความเสียหายกับประชาชน ไม่อยากให้เป็นภาวะไฟไหม้ฟาง
ด้านจิติภัทร์กล่าวว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้เสียหายที่ร้องเรียนเข้ามาในระบบของ สคบ. ตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 15 ราย ความเสียหายรายละ 200,000 บาท ถึงหลักล้านบาท หลังจากที่ สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้ว เราก็ได้เป็นตัวแทนเจรจาไกล่เกลี่ยให้กับผู้เสียหาย โดยในจำนวนที่ร้องเรียนเข้ามา 15 ราย ยุติเรื่องไปแล้ว 12 ราย ส่วนอีก 3 รายอยู่ระหว่างการเจรจา แต่ในส่วนของผู้เสียหายกลุ่มใหม่ที่กำลังจะเข้ามา ทาง สคบ. จะรับเรื่องเข้าไปตรวจสอบการประกอบธุรกิจอีกครั้ง
เพราะว่า สคบ. ได้อนุญาตให้บริษัทดังกล่าวประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงไปเมื่อปี 2562 ส่วนหลังจากนั้นในปี 2565 ทางบริษัทได้กลับมายื่นขอจดทะเบียนขายตรง โดยระบุว่าที่ยื่นจดขายตรงเพราะบริษัทมีลักษณะจำหน่ายขายปลีกขายส่งสินค้า ขณะที่กำไรที่ได้บอกว่ามาจากส่วนต่างของสินค้า ซื้อมากได้ราคาลดมาก ซื้อน้อยได้ราคาลดน้อย ซึ่งในครั้งนั้นนายทะเบียนจึงมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนขายตรงให้กับบริษัท
จิติภัทร์กล่าวต่อว่า หาก สคบ. ดำเนินการแล้วพบว่าบริษัทดังกล่าวมีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 จะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในการตรวจสอบสำหรับพิจารณาเรื่องการฉ้อโกงประชาชนอีกด้วย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า สคบ. ดูแลและจะดำเนินการอย่างเคร่งครัด
ส่วนที่ก่อนหน้านี้ปี 2565 ปรากฏเอกสารตอบกลับของ สคบ. ต่อประชาชนผู้ร้องเรียนในทำนองว่า “ผู้ร้องเรียนสมัครสมาชิกเพื่อเข้าร่วมประกอบธุรกิจ และได้รับผลตอบแทนจากกำไรขายปลีกตามข้อตกลงที่ได้สัญญาไว้ กรณีพิพาทนั้นจึงเป็นเรื่องระหว่างผู้ประกอบธุรกิจด้วยกัน จึงไม่ใช่ผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 สคบ. จึงไม่สามารถพิจารณาดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ของท่านได้”
ยืนยันว่าข้อเท็จจริงปรากฏลักษณะแบบนั้นจริง เพราะกฎหมายสองฉบับนี้กำหนดให้ สคบ. มาดูแลคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก ดังนั้นการเข้าองค์ประกอบของบริษัทนี้จะมีผู้ค้า 2 ส่วน คือ 1. ขายให้ผู้บริโภคโดยตรง และ 2. ขายในลักษณะตัวแทน และลักษณะตัวแทนจะมีการแบ่งปันผลประโยชน์กันในลักษณะขายตรง ซึ่งตรงนี้ต้องเข้าไปดูว่าข้อตกลงสัญญาการจ่ายผลตอบแทนเป็นไปตามสัญญาหรือไม่ และกลุ่มผู้เสียหายที่ลงทุนในธุรกิจนี้ด้วย จึงเป็นอำนาจนอกเหนือจากที่ สคบ. เข้ามาดูแล แต่ยังช่วยเจรจาให้อยู่
จิติภัทร์กล่าวอีกว่า ทราบว่าตอนนี้มีผู้เสียหายจำนวนมากทั่วประเทศ สคบ. จึงได้เปิดศูนย์รับเรื่องเยียวยาแก้ไขปัญหาให้ผู้เสียหาย ขอให้ประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดเข้ายื่นเรื่องร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัด ถ้ามีการร้องเรียนเข้ามา สคบ. ก็จะตรวจสอบเพื่อดูว่าประเด็นใดเข้าข้อกฎหมายฉบับใด เพื่อไปร่วมดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นๆ ต่อไป
เมื่อถามว่าพฤติการณ์ของบริษัทและแผนธุรกิจออนไลน์ดังกล่าวมีลักษณะคล้ายจะเป็นแชร์ลูกโซ่ มีแนวโน้มที่เรื่องราวจะอยู่ในความรับผิดชอบของ DSI หรือไม่ จิติภัทร์กล่าวว่า การจะเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ต้องดูลักษณะการประกอบธุรกิจ เพราะส่วนใหญ่แชร์ลูกโซ่จะเป็นการชักชวนให้ลงทุนเป็นระบบเครือข่าย แต่ต้องไม่มีสินค้า เพราะเป็นการชวนลงทุนและได้กำไร แต่ถ้าเป็นการขายตรงคือต้องขาย จะอยู่ลำดับชั้นไหนก็ต้องขาย มิใช่ลงทุนแล้วนั่งรอเงินปันผลอย่างเดียว และขายตรงคือมีสินค้าในการขาย จึงต้องพิจารณาว่าเป็นการขายตรงหรือไม่
ส่วนกรณีที่ สคบ. มีการมอบโล่แก่ผู้บริหารบริษัท จิติภัทร์กล่าวว่า การมอบโล่รางวัลในวันคุ้มครองผู้บริโภคไทยเป็นกิจกรรมที่จะส่งเสริมสนับสนุนผู้ทำคุณประโยชน์ ซึ่งตอนนั้นตรงกับช่วงเหตุการณ์โควิดพอดี และบริษัทดังกล่าวได้มีการสนับสนุนหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์แก่ผู้เข้ารับความรู้ในการคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบกับในช่วงนั้นยังไม่มีเรื่องร้องทุกข์ของบริษัทนี้ปรากฏขึ้นมาแต่อย่างใด และยังผ่านเกณฑ์การพิจารณากลั่นกรองของคณะกรรมการ จึงได้รับโล่รางวัล
จิติภัทร์กล่าวถึงกรณีของดาราที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจดังกล่าว หรือเผยแพร่ความน่าเชื่อถือของบริษัทว่า ในส่วนของธุรกิจขายตรงจะมีความผิดเฉพาะในส่วนของกรรมการและนิติบุคคลเท่านั้น แต่ในส่วนของอินฟลูเอ็นเซอร์ที่กระทำการชักชวนให้มาลงทุน ต้องไปพิจารณากฎหมายข้างเคียง เช่น พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 เพราะเป็นการโฆษณาชักชวนให้ลงทุน แต่ถ้าโฆษณาเพื่ออวดอ้างสรรพคุณสินค้าจะพิจารณากับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
ทั้งนี้ คาดว่าการที่ดาราขึ้นเวทีสัมมนาและเผยแพร่ผลประกอบการต่างๆ มองว่าเข้าองค์ประกอบของการชักชวน แต่ต้องดูเจตนาด้วยว่าชักชวนโดยปกปิดเรื่องกำไรหรือผลประโยชน์หรือไม่ ซึ่งอาจเข้ากฎหมายอาญาเป็นการฉ้อโกงประชาชน แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบ
ดังนั้นการที่ดาราไปรับตำแหน่งบริหาร แล้วหากบริษัทมีความผิด ดาราก็จะมีความผิดเช่นกัน ทั้งนี้ ขั้นตอนการทำงานของ สคบ. หลังจากนี้คือ สัปดาห์นี้ สคบ. จะลงพื้นที่ตรวจสอบการประกอบธุรกิจของบริษัท ส่วนสัปดาห์หน้าจะทำการเชิญผู้บริหารดาราหรือบอสดาราต่างๆ มาให้ข้อมูล รวมทั้งผู้เสียหาย ว่าลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัทดังกล่าวผิดกฎหมายด้านใดบ้าง