×

แมนฯ ซิตี้ชนะคดีพรีเมียร์ลีก? สรุปคดีกฎ APT และผลกระทบจากเรื่องนี้

08.10.2024
  • LOADING...
แมนฯ ซิตี้

HIGHLIGHTS

  • ในมุมของแมนฯ ซิตี้ พวกเขาออกแถลงการณ์ประกาศชัยชนะในเรื่องนี้ โดยอ้างถึงจุดที่คณะกรรมการอิสระ ซึ่งประกอบไปด้วยอดีตผู้พิพากษาผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้ตัดสินว่า ‘กฎ APT มิชอบด้วยกฎหมาย’
  • หัวใจสำคัญยังอยู่ที่เรื่องของกฎ APT ที่พรีเมียร์ลีกหยิบสำนวนการตัดสินระบุว่า กฎ APT คือสิ่งจำเป็น และถ้าราคา (จำนวนเงินที่สปอนเซอร์สนับสนุน) สูงกว่ามูลค่ายุติธรรมตลาดแล้วจะทำให้การแข่งขันถูกทำลายเพราะจะมีสโมสรที่ได้ประโยชน์จากเงินอุดหนุนนี้
  • ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาคือจุดที่คณะกรรมการอิสระชี้ในประเด็นเรื่องการกู้ยืมเงินจากผู้ถือหุ้นโดยปลอดดอกเบี้ย (Shareholder Loans) ควรจะถูกนำมาพิจารณาในเรื่อง ‘ดอกเบี้ย’ ตามที่ควรจะเป็นด้วยนั้น หมายถึงจะมีอีกหลายสโมสรที่ ‘งานเข้า’

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาในวงการฟุตบอลอังกฤษมีข่าวใหญ่เกิดขึ้น เมื่อสื่อใหญ่หลายเจ้าได้พร้อมใจกันรายงานผลการตัดสินคดีการฟ้องร้องระหว่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับพรีเมียร์ลีก เกี่ยวกับเรื่องของกฎที่เรียกว่า ‘Associated Party Transaction’ (APT)

 

สิ่งที่น่าสนใจคือแม้ว่าทิศทางส่วนใหญ่จะมองว่า ‘เรือใบสีฟ้า’ เป็นฝ่ายมีชัยเหนือลีกของตัวเอง โดยระบุว่าคณะกรรมการอิสระผู้ทรงคุณวุฒิชี้ว่ากฎ APT ที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมรอบล่าสุดในช่วงต้นปี 2024 ที่ผ่านมา ‘มิชอบด้วยกฎหมาย’

 

แต่ยังมีอีกกระแสที่มองว่าแมนฯ ซิตี้ ไม่ได้รับชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือพรีเมียร์ลีก ซึ่งฝ่ายของลีกเองอ้างว่าคำร้องเรียนส่วนใหญ่ถูกปัดตกไป อีกทั้งคณะกรรมการอิสระยังเห็นด้วยกับวัตถุประสงค์ กรอบการทำงาน และการตัดสินเกี่ยวกับเรื่องของระบบกฎ APT

 

สรุปแล้วใครชนะใครแพ้ในเรื่องนี้? และผลที่จะเกิดขึ้นตามมาจากคำตัดสินครั้งนี้จะเป็นอย่างไร

 

เรื่องนี้ยากหน่อย ขออนุญาตสรุปย่อยมาให้อ่านไว้ศึกษาหรือเป็นข้อมูลไว้เสวนากับเพื่อนได้

 

แมนฯ ซิตี้

 

คดี APT

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจากช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในการประชุมผู้ถือหุ้นพรีเมียร์ลีกซึ่งประกอบไปด้วย 20 สโมสรที่เป็นสมาชิกของลีกในเวลานั้น ได้มีการโหวตลงมติเพื่อปรับเปลี่ยนเกี่ยวกับรายละเอียดของกฎ APT ให้มีความเข้มงวดขึ้น

 

เดิมกฎ APT เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2021 ในวาระเร่งด่วนของพรีเมียร์ลีกที่มีความกังวลใจเกี่ยวกับการเข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย (PIF) ที่อาจจะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการแข่งขัน เพราะเป็นสโมสรที่ 2 ที่ได้รับการหนุนหลังจากรัฐ ต่อจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)

 

โดยใจความสำคัญของกฎ APT ระบุว่า “การเข้าสนับสนุนสโมสรฟุตบอลจากบริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับเจ้าของสโมสรจะต้องเป็นไปตามมูลค่ายุติธรรมการตลาด (Fair Market Value) เท่านั้น” เพื่อป้องกันไม่ให้มีการอัดฉีดเงินเข้าสโมสรแบบไม่มีข้อจำกัด

 

แต่การอัปเดตกฎครั้งล่าสุดนี้มีประเด็นอยู่

 

  1. เสียงที่โหวตเรื่องใดก็ตามต้องใช้เสียง 2 ใน 3 (14 สโมสรขึ้นไป) แต่ครั้งนี้การยกมือเห็นด้วยกันแค่ 12 เสียง ไม่เห็นด้วย 6 เสียง และที่ตัดสินคือ 2 เสียงที่งดออกเสียง พรีเมียร์ลีกถือว่าเสียงเกิน 2 ใน 3 จึงรับรองวาระ

 

  1. ทีมที่เสียหายจากกฎ APT ใหม่อย่างแมนฯ ซิตี้ ยื่นฟ้องร้องโดยกล่าวหาว่าพรีเมียร์ลีกเลือกปฏิบัติ มีอคติกับทุนจากกลุ่ม Gulf ไปจนถึงการเหยียดเชื้อชาติ และถูกกระทำโดยกลุ่ม ‘เผด็จการเสียงส่วนใหญ่’ ของสโมสรอื่นที่ร่วมลีกเดียวกัน

 

การต่อสู้คดีนี้จึงเกิดขึ้น ซึ่งถูกมองว่าเป็นหนึ่งใน ‘แท็กติก’ ของแมนฯ ซิตี้ ในการเบี่ยงเบนพลังและความสนใจของพรีเมียร์ลีกที่ยังมีเรื่องใหญ่กว่าอย่างการตัดสิน 115 คดีความผิดทางกฎการเงินของพวกเขา

 

โดยกระบวนการพิจารณาคดีเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ มีการส่งผลการตัดสินซึ่งเป็นเอกสารความยาว 175 หน้า ให้แก่คู่กรณีอย่างแมนฯ ซิตี้ และพรีเมียร์ลีก เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา

 

ก่อนจะมีการเผยแพร่ข่าวผลการตัดสินอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ ซึ่งมีความเห็นที่แตกต่างกัน

 

แมนฯ ซิตี้

 

มุมของแมนฯ ซิตี้: เมื่อ APT มิชอบด้วยกฎหมาย

ในมุมของแมนฯ ซิตี้ พวกเขาออกแถลงการณ์ประกาศชัยชนะในเรื่องนี้ โดยอ้างถึงจุดที่คณะกรรมการอิสระ ซึ่งประกอบไปด้วยอดีตผู้พิพากษาผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้ตัดสินว่า ‘กฎ APT มิชอบด้วยกฎหมาย’

 

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะคณะกรรมการอิสระพบว่ากฎ APT มีจุดที่ไม่เป็นธรรม

 

  • กฎมุ่งเน้นเรื่องของการรับเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับเจ้าของสโมสร แต่กลับไม่นับรวมเรื่องของการ ‘กู้เงินโดยปลอดดอกเบี้ยจากผู้ถือหุ้น’ ของสโมสร

 

  • ในพรีเมียร์ลีก ตัวเลขการกู้ยืมเงินของสโมสรต่างๆ มีมูลค่ารวมกันสูงถึง 4 พันล้านปอนด์ แต่ที่น่าตกใจคือในจำนวนนี้ 1.5 พันล้านปอนด์ เป็นการกู้เงินโดยปลอดดอกเบี้ยจากผู้ถือหุ้น ซึ่งแมนฯ ซิตี้ ชี้ว่าในบางกรณีการกู้ยืมเงินลักษณะนี้ไม่ต้องจ่ายคืนด้วยซ้ำ ตรงนี้ถือว่าไม่ชอบธรรม

 

  • อีกทั้งตัวกฎ APT ไม่ว่าจะในฉบับเดิม (2021) หรือฉบับปรับปรุง (2024) ถือว่าขัดต่อกฎหมายการแข่งขันในสหราชอาณาจักร

 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ Fair Market Value (FMV) ซึ่งแมนฯ ซิตี้ ยกกรณีที่พรีเมียร์ลีกขัดขวางการรับสปอนเซอร์จาก 3 ราย คือ Etihad Aviation Group, The First Abu Dhabi Bank (FAB) และ Emirates Palace ว่าได้มีการขอเข้าถึงฐานข้อมูลสปอนเซอร์ของสโมสรต่างๆ ที่พรีเมียร์ลีกใช้เพื่อประเมินค่า FMV แต่ได้รับการปฏิเสธ (ในความหมายคือ FMV เป็นสิ่งที่ไม่รู้จะประเมินกันอย่างไร และจะรู้ได้อย่างไรว่ายุติธรรม)

 

สำหรับแมนฯ ซิตี้ เรื่องนี้พวกเขาถือว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ในการได้ความยุติธรรมกลับคืนมา

 

แมนฯ ซิตี้

 

มุมของพรีเมียร์ลีก: กฎ APT คือสิ่งจำเป็น

ในเวลาไล่เลี่ยกับที่แมนฯ ซิตี้ ออกแถลงการณ์ พรีเมียร์ลีกก็ได้ออกแถลงการณ์โต้ตอบและเป็นไปในทิศทางตรงข้าม ลักษณะเป็นการประกาศชัยชนะในแบบของพวกเขาเองเหมือนกัน

 

หรือพูดง่ายๆ คือต่างฝ่ายต่างประกาศชัยชนะ

 

สำหรับพรีเมียร์ลีก ในแถลงการณ์ระบุว่า “ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ของแมนฯ ซิตี้ ถูกคณะกรรมการปัดตก​ (รวมถึงเรื่องอคติ การเหยียดเชื้อชาติ ฯลฯ)”

 

แต่หัวใจสำคัญยังอยู่ที่เรื่องของกฎ APT ที่พรีเมียร์ลีกหยิบสำนวนการตัดสินระบุว่า กฎ APT คือสิ่งจำเป็น และถ้าราคา (จำนวนเงินที่สปอนเซอร์สนับสนุน) สูงกว่ามูลค่ายุติธรรมตลาดแล้วจะทำให้การแข่งขันถูกทำลายเพราะจะมีสโมสรที่ได้ประโยชน์จากเงินอุดหนุนนี้

 

แหล่งข่าวของพรีเมียร์ลีกมองในภาพรวมว่าผลการตัดสินที่ออกมาแบบนี้ ใน 7 ประเด็นที่มีการหยิบยก แมนฯ ซิตี้ ชนะแค่ 2 ประเด็นเท่านั้น และผลการตัดสินจากคณะกรรมการอิสระยังส่งเสริมความชอบธรรมของกฎ APT ด้วย

 

และพรีเมียร์ลีกยืนยันว่าจะมีการจัดการ 2 ประเด็นที่คณะกรรมการชี้ช่องด้วยการ ‘ทำให้ชอบธรรมทางกฎหมาย’

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา: ทีมอื่นงานเข้าแทน?

คาดว่าจะมีการประชุมด่วนของผู้ถือหุ้นพรีเมียร์ลีกเพื่อจัดการแก้ไขกฎ APT – ซึ่งเวลานี้ฉบับปี 2024 ถูกยกเลิก ต้องย้อนกลับไปใช้ในเวอร์ชันปี 2021 ก่อน – เพื่อให้ถูกต้องและชอบธรรมทางกฎหมาย

 

คาดว่าเรื่องนี้จะมีขึ้นภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์จากนี้ เพื่อให้ทุกอย่างเรียบร้อยโดยเร็วที่สุดสำหรับพรีเมียร์ลีก

 

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาคือจุดที่คณะกรรมการอิสระชี้ในประเด็นเรื่องการกู้ยืมเงินจากผู้ถือหุ้นโดยปลอดดอกเบี้ย (Shareholder Loans) ควรจะถูกนำมาพิจารณาในเรื่อง ‘ดอกเบี้ย’ ตามที่ควรจะเป็นด้วยนั้น หมายถึงจะมีอีกหลายสโมสรที่ ‘งานเข้า’

 

เพราะหากนำเงินจำนวนนี้มาคำนวณรวมด้วยตามกฎ PSR แล้ว มีความกังวลใจว่าจะมีหลายสโมสรที่ผิดกฎ ซึ่งตามข้อมูลจาก Swiss Ramble สโมสรที่กู้ยืมเงินในลักษณะนี้มีหลายทีมด้วยกัน โดยจากข้อมูลฤดูกาล 2022/23 พบดังนี้

 

แมนฯ ซิตี้

 

ในประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะต้องรอดูกันต่อไป แต่คาดว่าพรีเมียร์ลีกจะมีการใช้ FMV คำนวณเกี่ยวกับเรื่องมูลค่าของการกู้ยืมเงิน (เช่น การคำนวณจากดอกเบี้ย) โดยไม่ได้หยิบมูลค่าทั้งหมดมาคำนวณแต่อย่างใด

 

นั่นหมายถึงสุดท้ายแล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นจากประเด็นนี้อาจจะมีแค่เล็กน้อยเท่านั้น อีกทั้งการนำเรื่องการกู้เงินจากผู้ถือหุ้นมาคำนวณรวมจะมีผลบังคับเมื่อมีการปรับปรุงกฎ APT เสร็จเรียบร้อย ‘ไม่มีการคำนวณย้อนหลัง’ แต่อย่างใด

 

แต่จุดนี้ทางฝั่งแมนฯ ซิตี้ พร้อมที่จะโต้แย้งอย่างเต็มที่เพราะมองว่ายังคงไม่เป็นธรรมอยู่ดี

 

ในประเด็นเรื่องที่แมนฯ ซิตี้ รวมถึงสโมสรอื่นๆ อาจจะมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากพรีเมียร์ลีกจากเรื่องของกฎ APT ทางด้านพรีเมียร์ลีกไม่ได้มีความกังวล โดยเชื่อว่าจะสามารถหาข้อตกลงร่วมกันในการจ่ายเงินชดเชยได้โดยไม่เกิดความขัดแย้งที่รุนแรง

 

สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือเรื่องของ ‘จุดยืน’ ของสโมสรในพรีเมียร์ลีกที่กำลังแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว

 

ขั้วหนึ่งคือแมนฯ​ ซิตี้ ซึ่งก็มีกลุ่มสโมสรที่มองว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่เกิดขึ้นเช่นกัน ประกอบไปด้วย เชลซี, นิวคาสเซิล และเอฟเวอร์ตัน ที่เป็นพยานให้กับทีมแชมป์อังกฤษ

 

อีกขั้วคือกลุ่มที่ถูกมองว่าเป็นขั้วอำนาจเก่าอย่างอาร์เซนอล, แมนฯ ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูล ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น ‘The Red Cartel’ ของวงการฟุตบอลอังกฤษ

 

นอกจากนี้ยังร่วมด้วยท็อตแนม ฮอตสเปอร์, ไบรท์ตัน และเวสต์แฮม ที่เป็นพยานให้กับพรีเมียร์ลีกในการต่อสู้คดี APT ขณะที่เบรนท์ฟอร์ด, บอร์นมัธ, ฟูแลม และวูล์ฟส์ ร่างจดหมายสนับสนุนกฎนี้ให้กับพรีเมียร์ลีกเช่นกัน

 

ส่วนประเด็นเรื่อง 115 คดีที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีที่ยังไม่เสร็จสิ้น ที่คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 7 สัปดาห์ด้วยกัน ถูกมองว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้โดยตรง

 

แต่ทางด้านแมนฯ ซิตี้ ที่ว่าจ้างทีมกฎหมายระดับรวมดาวที่เก่งที่สุดของอังกฤษ นำโดย ลอร์ด แพนนิก พร้อมจะเดินหน้าต่อในการหาช่องโหว่ในกฎของพรีเมียร์ลีกเพื่อเอาชนะให้ได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising