×

‘การบินไทย’ ทวงบัลลังก์มาร์เก็ตแชร์ที่สุวรรณภูมิ ตั้งเป้าในอนาคตเพิ่มกลับที่ 42% เดินหน้าเพิ่มฝูงบินในปี 2576 เป็น 150 ลำ เปิดแผนทำ FX Hedging ชี้ว่าเป็นความเสี่ยงใหญ่

04.10.2024
  • LOADING...

หลังจาก ‘การบินไทย’ เดินหน้าแผนปรับโครงสร้างทุน ลุยแปลงหนี้เป็นทุนและเตรียมขายหุ้นเพิ่มทุน ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและนำหุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในไตรมาส 2/68 พร้อมประกาศแผนขยายฝูงบินเพิ่มเป็น 150 ลำในปี 2576

 

ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย เปิดเผยในงานแถลงข่าว ‘การบินไทยเผยทิศทางใหม่ที่บินไกลกว่าเดิม พร้อมความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ’ ว่า แผนธุรกิจระยะยาวของบริษัทในปี 2576 ตั้งเป้าหมายจะขยายฝูงบินเพิ่มเป็นจำนวน 150 ลำ จากปัจจุบันที่มีจำนวน 77 ลำ โดยสิ้นปีนี้จะทยอยเพิ่มขึ้นเป็น 79 ลำ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว

 

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกเติบโตถึง 2.1 เท่าภายในปี 2586 โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตมากที่สุดถึง 5.3% ขณะที่ภูมิภาคอื่นเติบโต 2-3%

 

โดยในอนาคตบริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดหรือมาร์เก็ตแชร์ (Market Share) สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกลับไปที่ระดับ 42% ใกล้เคียงกับที่เคยทำได้ในปี 2556 ซึ่งในขณะนั้นบริษัทมีฝูงบิน 100 ลำ ต่อมาในปี 2562 ส่วนแบ่งลดลงเหลือ 37% แม้มีฝูงบินอยู่ที่ 103 ลำ และในช่วงเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทได้ปรับโครงสร้างฝูงบินโดยการลดจำนวนลงเหลือ 70 ลำ ส่งผลกระทบต่อมาร์เก็ตแชร์ ทำให้ส่วนแบ่งลดลงมาที่ 27% เพื่อสร้างความคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุนให้กับธุรกิจ

 

เป้าหมายมาร์เก็ตแชร์ของ บมจ.การบินไทย ในอนาคต

 

นอกจากนี้ การบินไทยมีแผนลงทุนสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยานที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา (สนามบินอู่ตะเภา) เพิ่มจากปัจจุบันซึ่งบริษัทมีศูนย์ซ่อมอากาศยาน 2 แห่ง คือที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับฝูงบินของบริษัทที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้งขยายโอกาสทางธุรกิจและหารายได้เพิ่มเติมจากการรับซ่อมอากาศยานให้กับสายการบินอื่นๆ รวมทั้งรองรับการเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานของภูมิภาค

 

พร้อมทั้งคาดว่าในปี 2567 บริษัทจะมีรายได้รวมเพิ่มเป็นประมาณ 1.8 แสนล้านบาท เท่ากับรายได้จากผู้โดยสารในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่โควิดจะระบาด ทั้งนี้เป็นไปตามแนวโน้มการเดินทางที่เติบโตขึ้น โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีรายได้ 9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 14%

 

ลุยทำ FX Hedging ชี้ว่าเป็นความเสี่ยงใหญ่

 

ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนราว 6,000 ล้านบาท จากผลกระทบที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า เนื่องจากในช่วงที่บริษัทอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการตามกฎหมาย บริษัทไม่สามารถทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (FX Hedging) ได้ เพราะถูกมองว่าสถานภาพของบริษัทไม่อยู่ในสถานะที่ลูกค้ายอมรับได้เช่นในอดีตก่อนเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ

 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งมีนโยบายให้บริษัทสามารถเข้าไปบริหารความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนได้แล้ว เพราะถือเป็นความเสี่ยงใหญ่ประเด็นหนึ่งที่จะมีผลกระทบต่อกำไรสุทธิของบริษัท แต่ไม่สามารถเปิดรายละเอียดดังกล่าวได้

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงต้นปีนี้ แต่ไม่สามารถชี้นำผลกระทบต่องบการเงินได้ เนื่องจาก บมจ.การบินไทย เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แต่โดยปกติธุรกิจของการบินไทยจะได้รับประโยชน์จากทิศทางของเงินบาทที่แข็งค่า เนื่องจากสัดส่วนรายได้ของบริษัทที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ไม่สูง แต่มีภาระหนี้กับค่าใช้จ่ายที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ในสัดส่วนที่สูง

 

สำหรับกรณีที่กลุ่มประเทศตะวันออกกลางมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในขณะนี้ ปัจจุบันบริษัทไม่มีไฟลต์บินเข้า-ออก ในเส้นทางตะวันออกกลาง

 

ขณะที่ช่วงก่อนหน้านี้ที่ผ่านมาแม้มีสงครามเกิดขึ้นระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้โดยสารบ้างในช่วงแรก แต่หลังจากระยะเวลาผ่านไปแล้ว สถานการณ์เริ่มคงที่ผ่อนคลายลงก็ไม่มีผลกระทบความมั่นใจและการเดินทางของผู้โดยสาร รวมทั้งธุรกิจของบริษัท

 

ผู้บริหารและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย แถลงข่าว

 

สศค. ชี้ ยากที่ ‘การบินไทย’ จะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ

 

ด้าน พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง และผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย หรือ THAI เปิดเผยว่า หลังจากการปรับโครงสร้างทุนของ บมจ.การบินไทย ทั้งการแปลงหนี้เป็นทุนและการเพิ่มทุนเสร็จสิ้นตามแผนฟื้นฟูกิจการทำให้มีความมีความเป็นไปได้ยากที่ บมจ.การบินไทย จะมีโอกาสกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากเจ้าหนี้กลุ่มอื่นๆ ที่ใช้สิทธิ์แปลงหนี้เป็นทุนจะมีสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มมากขึ้น

 

“สุดท้ายโครงสร้างผู้ถือหุ้นของการบินไทยตอนจบ สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังกับกองทุนวายุภักษ์ เมื่อเปรียบกับกลุ่มผู้ถือหุ้นอื่นๆ ซึ่งมาจากการแปลงหนี้เป็นทุนแล้วจะมีสัดส่วนการถือหุ้นที่เพิ่มมากขึ้น” พรชัยกล่าว

 

พรชัยตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลังมีนโยบายขายหุ้นรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่ถือหุ้นอยู่ออกมา เพื่อเป็นแหล่งรายได้ ว่ามีโอกาสที่จะขายหุ้นของ บมจ.การบินไทย ออกมาด้วยหรือไม่

 

โดยพรชัยระบุว่า ตนเองไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เนื่องจากทำงานที่ สศค. โดยนโยบายดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งคาดว่าจะมีการหารือกับผู้ที่ดูแลนโยบายนี้โดยตรง

 

ทั้งนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทย หลังการแปลงหนี้เป็นทุนและการเพิ่มทุนเสร็จสิ้นในสิ้นปี 2567 กระทรวงการคลังจะมีสัดส่วนการถือหุ้นไม่เกิน 41.4% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนการถือหุ้นที่ 47.9%

 

นอกจากนี้หลังจากที่ บมจ.การบินไทย ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ สามารถทำธุรกิจในฐานะบริษัทเอกชนเช่นเดียวกับสายการบินอื่นๆ ขณะที่มาตรฐานการกำกับดูแลจากภาครัฐก็จะเป็นเช่นเดียวกันอีก

 

ปิยสวัสดิ์ยอมรับ ในอดีต ‘การบินไทย’ เคยโดนภาครัฐแทรกแซง

 

ส่วน ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีเงินสดประมาณ 8.20 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีส่วนเพียงราว 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้นที่มาจากการขายสินทรัพย์ที่ไม่มีความจำเป็น ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นเงินสดที่มาจากการดำเนินงาน ส่วนเป้าหมายของบริษัทที่จะมี มาร์เก็ตแชร์ของผู้โดยสารผู้เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มขึ้นถือเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี

 

ปิยสวัสดิ์ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า มีความกังวลหรือไม่ว่าหากในอนาคตภาครัฐจะเข้ามาแทรกแซง บมจ.การบินไทย ปิยสวัสดิ์ระบุว่าการบริหารจัดการธุรกิจที่มีประสิทธิภาพในอนาคตขึ้นกับผู้ถือหุ้นที่จะมีการคัดเลือกแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ของบริษัทในช่วงไตรมาส 2/68 นี้ เพื่อให้บริษัทสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพคล้ายกับช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืนไม่กลับไปคล้ายกับเหตุการณ์ที่มีปัญหาเกิดขึ้นในอดีต

 

“สมัยก่อน ช่วงที่บริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจต้องยอมรับว่ามีกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามในฐานะหน่วยงานภาครัฐในการขออนุมัติตามขั้นตอนต่างๆ ทำให้การตัดสินใจทำได้ช้า แล้วก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีการแทรกแซงในการโยกย้ายหรือแต่งตั้งในระดับต่างๆ ซึ่งการบินไทยอยู่ในสภาพธุรกิจที่แข่งขันสูงมาก เพราะฉะนั้นเมื่อได้คนไม่ดีเข้ามาบริหารบริษัทก็แข่งขันสู้กับสายการบินคู่แข่งไม่ได้” ปิยสวัสดิ์กล่าว

 

ทั้งหลังจากบริษัทได้ดำเนินการตามเป้าหมายของแผนฟื้นฟูกิจการตามขั้นตอนอย่างต่อเนื่องได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3.37 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจจนทำให้ EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 – มิถุนายน 2567 เท่ากับ 29,292 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง และการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการโดยไม่เกิดเหตุผิดนัด

 

ความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินเฉพาะกิจการ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ยังคงติดลบ 40,427 ล้านบาท การบินไทยจึงเร่งดำเนินงานตามแผนปรับโครงสร้างทุนเพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของการบินไทยกลายเป็นบวก ผ่านการแปลงหนี้เป็นทุน 2 ส่วน คือ แปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้เป็นทุนภาคบังคับและให้สิทธิแก่เจ้าหนี้เพื่อแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ รวมถึงจะมีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลตามที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนด ได้แก่ ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของทุนให้กับการบินไทย และเตรียมความพร้อมสำหรับการนำหุ้นการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้ง

 

คาด ‘คลัง’ ถือหุ้นลดลง แต่ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

 

ภายหลังการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ คาดว่ากระทรวงการคลังจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่สัดส่วนการถือหุ้นจะลดลงเพื่อเปิดโอกาสให้แก่นักลงทุนรายอื่นๆ ซึ่งกระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนนี้จะเสร็จสิ้นภายในปี 2567 ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่

 

พร้อมทั้งคาดว่าการบินไทยจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและนำหุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในไตรมาส 2/68

 

การปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทย

 

โครงสร้างผู้ถือหุ้นของ บมจ.การบินไทย หลังแปลงหนี้เป็นทุนและการขายหุ้นเพิ่มทุน

 

กำหนดการปรับโครงสร้างทุนของ บมจ.การบินไทย

 

เดินหน้าแผนลด Par Value ปูทางจ่ายเงินปันผล

 

ขณะที่ ตรัยรักษ์ เต็งไตรรัตน์ กรรมการผู้จัดการ ประธานสายงานวาณิชธนกิจและตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บมจ.การบินไทย เปิดเผยว่าวันที่ 13 กันยายน 2567 บมจ.การบินไทย ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี เพื่อขอลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) หรือลดพาร์ จากปัจจุบันที่หุ้นละ 10 บาท เพื่อนำมาเป็นวิธีใช้ล้างขาดทุนสะสมซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 6 หมื่นล้านบาท

 

โดยกำหนดวันนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567

 

ทั้งนี้หากเจ้าหนี้มีมติเห็นชอบอนุมัติให้มีการลดพาร์แล้ว คาดว่าจะมีการดำเนินการประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2568 หลังงบการเงินปี 2567 ออกมา และดำเนินงานเพิ่มทุนเสร็จสิ้น เพื่อรองรับแผนในการนำหุ้น บมจ.การบินไทย กลับเข้ามาซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ และจะสามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงวดปี 2568 ให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกรายได้ทันที

 

ทั้งนี้ บมจ.การบินไทย มีนโยบายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 25% ของกำไรสุทธิ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising