×

เจาะ 5 ความหวังและความกังวลต่อปัญหาโลกร้อนของลูกจ้างที่ซีอีโอควรต้องรับฟัง

03.10.2024
  • LOADING...

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการดำเนินธุรกิจขององค์กร รวมทั้งการปฏิบัติงานของลูกจ้าง โดยล่าสุดข้อมูลจากรายงานผลสำรวจความหวังและความกังวลของกำลังแรงงานในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี 2567 ของ PwC ระบุว่า ความตระหนักรู้โดยทั่วไปเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหมู่พนักงานได้พัฒนาไปสู่ความกังวลที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสกับความเครียดจากความร้อน, มลพิษทางอากาศ และความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัยอื่นๆ ภายในสถานที่ทำงาน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ในปัจจุบันพนักงานยังมีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้งกับปัญหาสภาพภูมิอากาศมากขึ้น จนทำให้ซีอีโอและผู้บริหารองค์กรทั้งหลายต้องหันมาใส่ใจต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองความคาดหวังของลูกจ้างในเรื่องนี้ ซึ่งจากรายงานของ PwC มีประเด็นที่น่าสนใจต่างๆ ที่ผมอยากจะนำมาแลกเปลี่ยน ดังต่อไปนี้

 

 

1. ความคาดหวังของลูกจ้างต่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศขององค์กรเพิ่มสูงขึ้น

 

กำลังแรงงานในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีความตระหนักรู้มากขึ้นต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อพวกเขา และคาดหวังให้นายจ้างต้องดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศและสร้างความพึงพอใจของพนักงานไปพร้อมๆ กัน รายงานฉบับเอเชีย-แปซิฟิกระบุว่า 42% ของลูกจ้างเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยิ่งส่งผลกระทบต่องานของพวกเขาภายใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับซีอีโอมีเพียง 34% เท่านั้นที่แสดงความกังวลในเรื่องนี้

 

นอกจากนี้บทวิเคราะห์ของ PwC ยังรายงานว่า บริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาดรวมกันคิดเป็น 58% ของตลาดหลักทรัพย์ใหญ่ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ล้วนอยู่ในภาคส่วนที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับธรรมชาติอย่างมีนัยสำคัญ และ 53% ของมูลค่าเพิ่มสุทธิ (GVA) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือราว 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังขึ้นอยู่กับธรรมชาติอย่างสูงหรือปานกลางอีกด้วย

 

2. ความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัยในสถานที่ทำงานที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นภัยคุกคามที่จับต้องได้

 

นอกจากนี้เรายังพบว่ากำลังแรงงานไทยมากถึง 60% กังวลว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน

 

ในขณะที่พนักงานมากกว่าครึ่ง (51%) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงอย่างความเครียดจากความร้อน มลพิษทางอากาศ และการสัมผัสกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย ซึ่งความกังวลนี้ยังมีความรุนแรงเป็นพิเศษในประเทศต่างๆ เช่น ฟิลิปปินส์ (67%), เวียดนามและอินโดนีเซีย (65%), ไทย (60%), อินเดีย (58%) และมาเลเซีย (55%)

 

ด้วยเหตุนี้ซีอีโอควรต้องมีมาตรการปกป้องทั้งสินทรัพย์ทางกายภาพและแรงงานจากความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหากผู้บริหารไม่มีแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน, การฝึกอบรม หรืออุปกรณ์ป้องกันที่จำเป็นในการลดภัยคุกคามนี้ ก็คาดว่าในอนาคตจะต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

3. นายจ้างต้องแสดงความรับผิดชอบในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากองค์กร

 

รายงานของ PwC ยังพบว่าแรงงานในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมากถึง 52% ต้องการให้นายจ้างมีความรับผิดชอบต่อการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับกำลังแรงงานไทยที่ 59% ซึ่งซีอีโอส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยในจุดนี้ โดย 75% ได้ดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และ 68% แนะนำผลิตภัณฑ์, บริการ หรือเทคโนโลยี ที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ แต่ถึงแม้ว่าซีอีโอจะได้ดำเนินการด้านความยั่งยืนไปบ้างแล้ว เรายังพบว่ามีองค์กรเพียงจำนวนน้อยที่ดำเนินการนอกเหนือจากการลดการปล่อยก๊าซ เช่น มีแนวทางการแก้ปัญหาในระบบนิเวศธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นผู้นำองค์กรต้องมองว่าการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสามารถดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถได้อีกด้วย

 

4. พนักงานคาดว่าตนจะต้องพัฒนาทักษะใหม่เพื่อรับมือกับสภาวะโลกร้อน

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้การทำงานเปลี่ยนไป โดย 42% ของกำลังแรงงานไทยกล่าวว่า เทคโนโลยีใหม่ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้พวกเขาต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เช่นเดียวกับเอเชีย-แปซิฟิกที่ 40% เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน, ห่วงโซ่อุปทาน, ความต้องการของลูกค้า และกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม พนักงานก็จะต้องมีทักษะในการปรับกระบวนการ, บริการ และผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสม

 

ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นของซีอีโอทั่วโลกพบว่าธุรกิจส่วนหนึ่งได้เริ่มปรับทักษะสีเขียวให้แก่พนักงานแล้ว แต่สำหรับองค์กรที่กำลังวางแผนพัฒนาทักษะด้านนี้ ควรเริ่มจากการริเริ่มโครงการเฉพาะที่มุ่งเป้าไปที่พนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรงมากที่สุด

 

5. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสร้างงานใหม่

 

วิกฤตสภาพภูมิอากาศอาจทำให้เกิดงานใหม่ๆ ในหลากหลายสาขา ตั้งแต่พลังงานหมุนเวียน, การออกแบบที่ยั่งยืน ไปจนถึงการวิเคราะห์ข้อมูลและการพัฒนานโยบาย ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า 37% ของกำลังแรงงานในเอเชีย-แปซิฟิกตระหนักดีถึงความเป็นไปได้นี้

 

แต่สำหรับพนักงานที่อาจยังมองไม่เห็นโอกาสในจุดนี้ ผู้บริหารสามารถเริ่มต้นมองหาช่องว่างทางทักษะ (Skills Gaps) ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการคว้าโอกาสใหม่ๆ ของพนักงาน และควรสื่อสารอย่างชัดเจนเกี่ยวกับโอกาสงานที่มีอยู่แล้วในบทบาทที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ รวมถึงอาจแบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จ (Success Stories) ของพนักงานที่ได้เปลี่ยนเข้าสู่บทบาทเหล่านั้นด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X