×

อุตสาหกรรมเหล็กไทยปี 2025 ยังมีแนวโน้มเติบโต แต่เหล็กจากจีนยังคงเข้ามาตีตลาดต่อเนื่อง

02.10.2024
  • LOADING...

การผลิตเหล็กในประเทศปี 2025 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย จากอุปสงค์การใช้งานที่เพิ่มขึ้นในภาคการก่อสร้างเป็นหลัก แต่ยังมีปัจจัยกดดันจากเหล็กจีนที่เข้ามาตีตลาดอย่างต่อเนื่อง

 

อุปสงค์การใช้งานเหล็กที่หดตัวทั้งในภาคการก่อสร้างและการผลิตรถยนต์ในช่วงต้นปี 2024 ประกอบกับเหล็กราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาด ส่งผลให้ปริมาณการผลิตเหล็กในประเทศปี 2024 มีแนวโน้มหดตัว 12.7%YoY อย่างไรก็ดี ปริมาณการผลิตเหล็กมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในปี 2025 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5.8 ล้านตัน (+0.8%YoY) จากอุปสงค์การใช้งานที่ขยายตัว โดยเฉพาะในภาคการก่อสร้าง ขณะที่เหล็กจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่ายังคงถูกนำเข้ามาใช้งานต่อไป กระทบกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเหล็กของไทย (%CapU) ที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จนอยู่ในระดับต่ำกว่า 30% ซึ่งเป็นอัตราที่ถือว่าค่อนข้างวิกฤตในปัจจุบัน

 

นอกจากนี้การเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเข้ามาทำการตลาดเชิงรุกของผู้ผลิตและผู้ค้าเหล็กจากจีน ยังเป็นปัจจัยกดดันให้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตที่หนักกว่าเดิม สำหรับราคาเหล็กในปี 2025 ยังคงมีแนวโน้มที่ลดลงตามแนวโน้มราคาวัตถุดิบและราคาพลังงาน 
ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กต้องหาแนวทางบริหารจัดการต้นทุนและการระบายสต็อกสินค้า เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาจำหน่ายสินค้าเหล็กที่มีโอกาสลดลง

 

การปรับตัวเข้าสู่ Carbon Neutrality จะเป็นปัจจัยกดดันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็ก โดยผู้ผลิตเหล็กที่สามารถลดการปล่อย GHG จะเป็นผู้ที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน

 

การตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ส่งผลให้ทั่วโลกเริ่มมีการใช้นโยบายและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษี CBAM ของกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ทั้งนี้ ในปัจจุบันผู้ผลิตเหล็กของไทยเริ่มมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงได้มีการจัดทำข้อมูลการปล่อย GHG เพื่อสร้างโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งของ Green Supply Chain ของอุตสาหกรรมเหล็ก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ท่ามกลางแนวโน้มที่ทั่วโลกกำลังปรับตัวเข้าสู่ Carbon Neutrality

 

Industry Overview

 

อุตสาหกรรมเหล็กของไทยประกอบด้วยผู้ประกอบการกลุ่มกลางน้ำและผู้ประกอบการกลุ่มปลายน้ำ โดยผู้ประกอบการกลุ่มกลางน้ำ เป็นผู้ผลิตและแปรรูปวัตถุดิบเหล็กขั้นกลาง ได้แก่ เหล็กแท่งแบน (Slab) และเหล็กแท่งยาว (Billet) 
ซึ่งส่วนมากต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากการหลอมเศษเหล็กในประเทศเพื่อนำมาผลิตเป็นเหล็กกลางน้ำยังคงไม่เพียงพอต่อการนำไปผลิตต่อเป็นสินค้าเหล็กขั้นปลาย สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มปลายน้ำ เป็นผู้ผลิตสินค้าขั้นปลาย โดยการนำผลิตภัณฑ์เหล็กกลางน้ำไปแปรรูปผ่านกระบวนการรีดร้อน, รีดเย็น, เคลือบผิว หรือนำไปขึ้นรูปเป็นเหล็กในรูปทรงต่างๆ เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน/เย็น, เหล็กเคลือบ/ชุบ, เหล็กเส้น และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณต่างๆ

 

ทั้งนี้ สามารถจำแนกผู้ประกอบการตามกิจกรรมและกลุ่มประเภทสินค้าได้ 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

  1. ผู้ผลิตเหล็กทรงยาว
  2. ผู้ผลิตเหล็กทรงแบน
  3. ผู้ค้าเหล็ก
  4. ผู้ประกอบการอื่นๆ ที่มีการผลิตหรือจำหน่ายเหล็กซึ่งไม่ได้ถูกจัดกลุ่มไว้ใน 3 กลุ่มข้างต้น

 

 

อุตสาหกรรมเหล็กของไทยส่วนใหญ่เป็นการผลิตเหล็กทรงยาวสำหรับการก่อสร้างในประเทศ ขณะที่เหล็กราคาถูกจากต่างประเทศถูกนำเข้ามาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงต่อเนื่อง

 

การประกาศยกเลิกใช้งานเตาหลอมประเภท Induction (Induction Furnace: IF) โดยรัฐบาลจีนในปี 2021 ทำให้อุปทานสินค้าเหล็กในช่วงดังกล่าวหยุดชะงัก ต่อเนื่องมายังสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่มีความรุนแรงขึ้นในเดือนมีนาคม 2022 ได้ส่งผลให้ราคาเหล็กปรับตัวเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดกว่า 60% เมื่อเทียบกับราคาเหล็กในช่วงก่อนปี 2021 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 มาถึงปี 2024 ราคาเหล็กได้มีการปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กของไทย ได้แก่ ผู้ผลิตเหล็กและผู้ค้าเหล็ก ต่างเผชิญภาวะรายได้ที่หดตัว รวมถึงกลุ่มที่ไม่สามารถบริหารจัดการสต็อกได้ดี ยังเผชิญภาวะขาดทุนจากสต็อกสินค้าที่ระบายได้ช้ากว่าอัตราการลดลงของราคาเหล็ก

 

การผลิตเหล็กของไทยเป็นการผลิตเพื่อใช้งานในประเทศเป็นหลัก โดยในช่วงปี 2019-2023 มีการผลิตเหล็กในประเทศประมาณ 7.5 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็นการผลิตเหล็กทรงยาวที่ใช้ในการก่อสร้าง 70% และอีก 30% เป็นการผลิตเหล็กทรงแบนที่นำไปใช้ทั้งในการก่อสร้าง, การผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ขณะที่ความต้องการใช้งานเหล็กโดยรวมในประเทศประมาณ 17.3 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศมาใช้งานมากถึง 11.5 ล้านตันต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 66% ของปริมาณการใช้งานเหล็กในประเทศ

 

ทั้งนี้ ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา การนำเข้าเหล็กของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น โครงสร้างต้นทุน ราคาเหล็กจากต่างประเทศที่ถูกกว่า การส่งสินค้าเหล็กเข้ามาทุ่มตลาด การระบายอุปทานส่วนเกินของเหล็กจีนจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้ความต้องการเหล็กในจีนหดตัว ส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กของไทยต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น กระทบกับความสามารถในการสร้างรายได้และรักษาอัตรากำไร โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตเหล็กในประเทศที่ลดลงจนเข้าสู่ระดับที่ต่ำกว่า 30% ของกำลังการผลิตโดยรวม สะท้อนภาวะวิกฤตของอุตสาหกรรม

 

Industry Outlook and Trend

 

การใช้งานเหล็กในประเทศตลอดทั้งปี 2024 มีแนวโน้มลดลง 2.9%YoY จากความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2024 ในช่วงสี่เดือนแรกของปี รวมถึงการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยและยอดการผลิตรถยนต์ที่หดตัว ขณะที่ราคาเหล็กยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องไปจนถึงปี 2025

 

ปริมาณการใช้งานเหล็กสำเร็จรูปในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2024 อยู่ที่ 9.4 ล้านตัน หดตัว 5.2%YoY จากความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2024 รวมถึงการลงทุนก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยและยอดการผลิตรถยนต์ที่หดตัวในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2024 แม้ว่าจะสามารถเร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2024 ในช่วงท้ายปีงบประมาณได้ แต่คาดว่ายังไม่สามารถชดเชยปริมาณการใช้งานเหล็กที่หดตัวตั้งแต่ช่วงต้นปีได้ ส่งผลให้ความต้องการใช้งานเหล็กในประเทศปี 2024 มีแนวโน้มอยู่ที่ 15.9 ล้านตัน (-2.9%YoY) สำหรับในปี 2025 อุปสงค์การใช้งานเหล็กในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1%YoY ตามกิจกรรมก่อสร้าง รวมถึงยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าในปี 2024

 

ราคาเฉลี่ยเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบนในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 มีแนวโน้มอยู่ที่ประมาณ 22,000 บาทต่อตัน และ 24,000 บาทต่อตัน ตามลำดับ โดยราคาเหล็กในปี 2025 ยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเฉลี่ยประมาณ -2.3%YoY ตามแนวโน้มราคาเหล็กในจีนที่ปรับตัวลดลงจากราคาวัตถุดิบและราคาพลังงาน ได้แก่ สินแร่เหล็กและถ่านหิน ที่คาดว่าจะลดลง และยังมีปัจจัยกดดันราคาเหล็กจากอุปสงค์ที่อ่อนแอจากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่คาดว่าจะยังไม่ฟื้นตัว

 

 

การผลิตเหล็กในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยจากการผลิตเหล็กทรงยาวที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังเผชิญการเข้ามาตีตลาดของเหล็กราคาถูกจากต่างประเทศ

 

ในปี 2025 การผลิตเหล็กของไทยมีแนวโน้มอยู่ที่ประมาณ 5.8 ล้านตัน (+0.8%YoY) จากการผลิตเหล็กทรงยาวที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนจากกิจกรรมการก่อสร้างในประเทศ ขณะที่การผลิตเหล็กทรงแบนยังมีปัจจัยกดดันจากการแข่งขันกับเหล็กที่ถูกระบายมาจากจีน ทั้งนี้ อุปทานเหล็กโดยรวมที่มาจากการผลิตในประเทศและการนำเข้า ฟื้นตัวสอดคล้องกับความต้องการใช้งานเหล็กในประเทศ อย่างไรก็ตาม การผลิตเหล็กของไทยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 33% ของอุปทานเหล็กโดยรวม ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ลดลงจากในอดีต โดยอัตราการใช้กำลังการผลิต (%CapU) เหลือเพียง 30% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2024 ลดลงจาก 32% ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2023 ซึ่งถือว่าเป็นภาวะวิกฤตของอุตสาหกรรมเหล็ก เมื่อเทียบกับในอดีตปี 2016-2021 ที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ราว 35-40%

 

 

สัดส่วนปริมาณการผลิตเหล็กของไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมีสาเหตุหลักมาจากการเข้ามาตีตลาดของเหล็กราคาถูกจากต่างประเทศที่มีความได้เปรียบด้านโครงสร้างราคา โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งยังเป็นผลมาจากการระบายสินค้าเหล็กที่เป็นอุปทานส่วนเกินที่ยังมีการผลิตเกินความต้องการใช้งาน และคาดว่าเหล็กจากจีนยังคงจะถูกระบายออกมายังไทยเพิ่มมากขึ้นในปี 2025 เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ฟื้นตัว

 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามผลการพิจารณาการต่ออายุมาตรการปกป้องสินค้าที่ถูกนำเข้ามาทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) ที่ไทยมีการใช้กับสินค้าเหล็กประเภทต่างๆ จากจีน ที่จะสิ้นสุดในช่วงที่เหลือของปี 2024-2025 ได้แก่ เหล็กกล้าไร้สนิมรีดเย็น, เหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอน, เหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน และเหล็กแผ่นรีดเย็นชุบหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียมและสังกะสีแบบจุ่มร้อน ที่ยังคงถูกนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทยค่อนข้างมาก รวมถึงยังต้องติดตามปริมาณการนำเข้าลวดเหล็กที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติในช่วงปี 2023-2024 ว่าจะเป็นสินค้าเหล็กที่ถูกนำเข้ามาด้วยวิธีการทุ่มตลาดหรือไม่

 

ทั้งนี้ มาตรการ AD ซึ่งมีกลไกของการตั้งกำแพงภาษีนำเข้า จะช่วยลดปริมาณสินค้าเหล็กที่ถูกนำเข้ามาทุ่มตลาด ดังตัวอย่างกรณีการต่ออายุมาตรการ AD กับสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบหรือชุบอะลูมิเนียมและสังกะสีแล้วทาสีจากเวียดนามในเดือนพฤษภาคม 2023 ได้ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากเวียดนามลดลงทันที หลังจากที่มีการประกาศต่ออายุมาตรการออกไปอีก 5 ปี อย่างไรก็ตาม ผลของการใช้มาตรการ AD อาจเป็นไปอย่างจำกัด ดังตัวอย่างกรณีที่ไทยมีการใช้มาตรการ AD กับสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนจากจีนมาโดยตลอด แต่ก็ยังคงพบว่าการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากจีนมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่า 15-20% เมื่อเทียบกับราคาสินค้าที่ผลิตในประเทศ แม้รวมอัตราภาษีจากมาตรการ AD แล้ว โดยเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตเหล็กจีนที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตเหล็กในไทยเป็นอย่างมาก กับอีกส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นที่มีโครงสร้างราคาที่ต่ำกว่ามากที่เป็นการนำเข้าด้วยวิธีปกติ

 

Competitive Landscape

 

ผู้ประกอบการกลุ่มที่มีศักยภาพในการแข่งขัน ได้แก่ กลุ่มที่มีความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนและระบายสต็อก รวมถึงกลุ่มที่สามารถปรับกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อย GHG ได้

 

ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กจำนวนมากประสบกับภาวะขาดทุน ทั้งกลุ่มผู้ผลิตที่มียอดขายลดลงจากการลดลงของราคาเหล็กและการลดปริมาณการผลิตเหล็ก เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับเหล็กจากต่างประเทศที่ราคาถูกกว่า รวมถึงยังเผชิญกับภาวะขาดทุนจากต้นทุนสินค้าในสต็อกที่ได้มาในช่วงเวลาก่อนหน้าสูงกว่าราคาในช่วงที่มีการจำหน่าย อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ที่สามารถบริหารความเสี่ยงและมีความยืดหยุ่นในการปรับกลยุทธ์ โดยเฉพาะการจัดหาวัตถุดิบทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ทำให้สามารถจัดหาวัตถุดิบได้ในราคาและปริมาณที่เหมาะสมกับแผนการผลิต และสามารถระบายสต็อกสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาผลประกอบการท่ามกลางความผันผวนของราคาเหล็กได้

 

นอกจากนี้การเข้ามาตีตลาดของเหล็กราคาถูกจากต่างประเทศ รวมทั้งการเข้ามาทำการตลาดเชิงรุก เช่น การเข้ามาเปิดโชว์รูมสินค้าเหล็กของผู้ผลิตและผู้ค้าเหล็กจากจีน เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าเหล็กจากโรงงานในจีนโดยตรง ส่งผลให้ทั้งผู้ผลิตเหล็กและผู้ค้าเหล็กของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยสินค้าจากจีนมีความได้เปรียบในด้านการกำหนดราคาขายได้ต่ำ จากปริมาณการผลิตที่มากจนเกิด Economies of Scale ดังนั้นกลุ่มผู้ผลิตเหล็กของไทยจึงควรหันมาพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า ขณะที่ภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการต่างๆ ควบคู่กันไป เช่น การเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กจากจีน, การใช้มาตรการ AD เพื่อสกัดสินค้าที่ถูกนำเข้ามาทุ่มตลาด, การกำหนดมาตรฐานสินค้าเหล็กนำเข้าและส่งออก, การจำกัดการอนุญาตตั้งโรงงานเหล็กแห่งใหม่เพื่อรักษาอัตราการใช้กำลังการผลิต โดยเฉพาะผู้ผลิตจากจีน ที่มีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตเข้ามาเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

 

สำหรับในระยะข้างหน้า อุตสาหกรรมเหล็กไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามเทรนด์ของโลกที่มุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality การตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ส่งผลให้ประเทศต่างๆ เริ่มใช้นโยบายและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษี CBAM ของกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กไทยปัจจุบันได้มีกลุ่มผู้ประกอบการเริ่มเตรียมความพร้อมบ้างแล้ว เช่น การวัดปริมาณการปล่อย GHG, การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในขั้นตอนการผลิต รวมถึงเริ่มมีการจับกลุ่มคลัสเตอร์ผู้ผลิตเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทานการผลิต โดยผู้ผลิตเหล็กที่สามารถปรับกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อย GHG และผู้ค้าเหล็กที่สามารถจำหน่ายสินค้าเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานในห่วงโซ่อุปทาน จะเป็นกลุ่มที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาด มีโอกาสเพิ่มมูลค่าสินค้า และขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะในยุโรปที่กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การจัดเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) รวมถึงสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มดำเนินนโยบายในลักษณะเดียวกันในอนาคต นอกจากนี้การจัดทำ Thailand Taxonomy Phase II ซึ่งเป็นการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อให้ภาคการเงินออกแบบและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ช่วยสนับสนุนธุรกิจไปสู่เส้นทางที่เป็นสีเขียว จะเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตเหล็กที่มีแผนลดการปล่อย GHG มีโอกาสเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับการปรับตัวเข้าสู่ Carbon Neutrality ได้มากขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X