×

สิ่งที่จีนไม่ได้บอก แต่โลกต้องตีความ กับการยิงขีปนาวุธข้ามทวีปครั้งแรกในรอบ 44 ปี

01.10.2024
  • LOADING...
ขีปนาวุธข้ามทวีป

สัปดาห์ที่แล้ว ในระหว่างที่ทั่วโลกมุ่งความสนใจไปที่ตะวันออกกลางที่กำลังมีสงครามร้อนระอุ จีนยิงขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ไปตกในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่น่าสนใจก็เพราะเป็นการทดสอบ ICBM แบบเปิดเผยต่อสาธารณะครั้งแรกในรอบ 44 ปี คำถามคือ ทำไมต้องเลือกเวลานี้ และจุดประสงค์แท้จริงคืออะไร

 

เรารู้อะไรเกี่ยวกับการยิง ICBM รอบนี้

 

สิ่งที่เรารู้จากข้อมูลที่เปิดเผยออกมา บวกกับรายงานข่าวและบทวิเคราะห์คือ ขีปนาวุธลูกนี้เดินทางในอากาศรวมระยะทาง 12,000 กิโลเมตร จากฐานยิงในมณฑลไห่หนาน ทางใต้ของจีน บินเฉียดน่านฟ้าฟิลิปปินส์ และเกาะกวมของสหรัฐอเมริกา ก่อนจะตกใกล้หมู่เกาะมาร์เคซัสของฝรั่งเศสในมหาสมุทรแปซิฟิก

 

จีนชี้แจงว่าเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมตามปกติของกองกำลังจรวด โดยที่ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ และได้แจ้งให้สหรัฐฯ และฝรั่งเศส ทราบล่วงหน้าแล้วว่าจะยิงขีปนาวุธรอบนี้ ซึ่งสหรัฐฯ บอกว่าเป็นนิมิตหมายดีที่จีนสื่อสาร และหวังว่าจะสื่อสารเช่นนี้เป็นประจำหากจีนจะทดสอบอาวุธทางยุทธศาสตร์แบบนี้อีกในอนาคต

 

แม้จีนจะไม่บอกรายละเอียดว่าขีปนาวุธ ICBM ที่ทดสอบด้วยหัวรบจำลองคือรุ่นอะไร เป็นแบบไหน แต่นักวิเคราะห์และผู้สังเกตการณ์ทางทหารได้อาศัยภาพถ่ายที่จีนเผยแพร่และมีข้อสรุปว่า น่าจะเป็นขีปนาวุธในตระกูลตงเฟิง-31 (DF-31)

 

ตงเฟิงแปลว่า ‘ลมตะวันออก’ เป็นชื่อที่จีนใช้เรียกขีปนาวุธที่ผลิตในประเทศ โดยมีเลขกำกับท้ายบอกชื่อรุ่น สำหรับ DF-31 เป็นขีปนาวุธ ICBM 1 ใน 3 รุ่นที่จีนมีประจำการในกองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) ตั้งแต่ปี 2006 ส่วนอีก 2 รุ่นคือ DF-5 ที่เข้าประจำการตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 และ DF-41 ที่ใหม่กว่าและทันสมัยกว่า

 

ขีปนาวุธในตระกูล DF-31 แบ่งย่อยออกได้ 2 รุ่น คือ DF-31A และ DF-31AG สามารถติดตั้งหัวรบได้ตั้งแต่ 1 หัวรบ ไปจนถึง 3 หรือ 4 หัวรบที่เล็กลง และสามารถโจมตีหลายเป้าหมายได้พร้อมกัน โดยมีพิสัยทำการไกลถึง 13,200 กิโลเมตร นั่นหมายความว่าดินแดนของสหรัฐฯ อยู่ในระยะโจมตีของจีนด้วยขีปนาวุธชนิดนี้

 

ย้อนกลับไปครั้งล่าสุดที่จีนทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปโดยยิงออกนอกประเทศคือเดือนพฤษภาคม 1980 ซึ่งครั้งนั้นเป็นการยิง DF-5 ไปตกในน่านน้ำแปซิฟิกใต้ โดยปกติแล้วจีนจะทดสอบขีปนาวุธในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ที่อยู่ห่างไกล หรือไม่ก็ในทะเลป๋อไห่ ซึ่งอยู่ภายในอาณาเขตอธิปไตยของจีน

 

ทำไมเลือกทดสอบเวลานี้ จุดมุ่งหมายคืออะไร

 

ในบทวิเคราะห์ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ South China Morning Post ฝูเฉียนเส้า อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านยุทโธปกรณ์ของกองทัพจีนบอกว่า จีนมีความจำเป็นต้องทดสอบขีปนาวุธรุ่นนี้ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการโจมตีระยะไกล เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยทดสอบยิงเต็มระยะมาก่อน แม้ DF-31 จะมีพิสัยทำการในระดับ ICBM ก็ตาม

 

ขณะที่ มัลคอล์ม เดวิส นักวิเคราะห์อาวุโสแห่งสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ในออสเตรเลีย คิดว่าการทดสอบครั้งนี้น่าจะเป็นรุ่น DF-31AG ที่ยิงจากระบบยานเคลื่อนที่ และอาจเป็นการทดสอบในภูมิประเทศป่าเขา เพื่อเปิดทางให้กองทัพสามารถกระจายหัวรบออกจากเครือข่ายถนนหนทาง ทำให้ศัตรูตรวจจับและทำลายยากขึ้น สำหรับ DF-31AG นี้จีนเปิดตัวครั้งแรกในระหว่างพิธีสวนสนามฉลองครบรอบ 90 ปีแห่งการสถาปนากองทัพ PLA เมื่อปี 2017

 

ส่วนคำถามว่า ทำไมจีนเลือกเวลานี้ในการทดสอบขีปนาวุธ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง มองว่าเป็นคำถามที่ตอบได้ยาก แต่สิ่งที่บอกได้ก็คือ การทดสอบ ICBM ครั้งนี้ทำให้สถานการณ์โลกซับซ้อนขึ้น

 

จากปัจจัยแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมา ทั้งสงครามในยูเครนที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียออกมาเตือนบ่อยขึ้นว่า จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีกับคู่สงครามและพันธมิตร รวมถึงการที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธถี่ขึ้นในคาบสมุทรเกาหลี และสหรัฐฯ ยกระดับการเตรียมพร้อมด้านอาวุธนิวเคลียร์ ล้วนมีส่วนทำให้จีนขยับทั้งสิ้น

 

ส่วนในแง่การตีความนัยต่อปัญหาการเมืองระหว่างประเทศนั้น ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ มองว่าจีนอาจกำลังส่งสัญญาณเตือนบางอย่าง ท่ามกลางความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในเอเชีย ทั้งในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกที่สถานการณ์ล้วนพัฒนาไปในทางลบมากขึ้น เช่น เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเรือยามฝั่งของจีนและฟิลิปปินส์ และเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นอ้างว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดของจีนล่วงล้ำน่านฟ้า ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภัยในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น

 

ในอดีตจีนมักไม่ยิงขีปนาวุธไปตกในน่านน้ำสากล แต่จะทดสอบภายในประเทศ ครั้งนี้จึงถือเป็นสัญญาณใหญ่ เราได้เห็นพัฒนาการของขีปนาวุธจีน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เหมาเจ๋อตงเริ่มคิดสร้างจีนให้มีอาวุธนิวเคลียร์ในปี 1955 ซึ่งสมัยนั้นจีนพึ่งพาสหภาพโซเวียตอย่างมาก แต่ต่อมาจีนกับโซเวียตเริ่มแตกคอกันในปี 1960 โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะจีนพยายามเรียกร้องให้โซเวียตสนับสนุนโครงการอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งรัสเซียไม่อยากเปิดเผยความลับ ดังนั้นจีนจึงต้องพึ่งพาตนเองในมิติทางอาวุธนับแต่นั้น และพัฒนาจนมีอาวุธนิวเคลียร์สำเร็จในปี 1964 แต่ในช่วงสงครามเย็น การพัฒนาของจีนค่อนข้างจำกัด เป็นหัวรบนิวเคลียร์ขนาดเล็กที่ไม่น่ากังวลมาก และมีในครอบครองไม่เกิน 200 หัวรบ ในขณะที่สหรัฐฯ และโซเวียตมีมากกว่ากันมาก

 

ช่วงหลังจีนหันมาพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์มากขึ้น จากรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน ประเมินว่า ปัจจุบันจีนมีหัวรบนิวเคลียร์ที่พร้อมใช้งานอยู่ที่ประมาณ 500 หัวรบ ขณะที่สหรัฐฯ มีจำนวน 5,044 หัวรบ และรัสเซียมี 5,580 หัวรบ ซึ่งจะเห็นว่า 90% ของหัวรบนิวเคลียร์บนโลกอยู่ในสหรัฐฯ และรัสเซีย อย่างไรก็ตาม หากไม่นับหัวรบที่ปลดประจำการและอยู่ในคลังสำรองแล้ว สหรัฐฯ มีหัวรบที่พร้อมใช้งานอยู่ที่ 1,419 หัวรบ และรัสเซียมีอยู่ 1,549 หัวรบ

 

สัญญาณรอบนี้จีนบอกอะไรเรา ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ มองว่าในมิติความมั่นคงนั้นถือเป็นสัญญาณทางการทหารบนเวทีโลกที่จีนประกาศว่า มีศักยภาพด้านนิวเคลียร์ที่ทันสมัยขึ้นแล้วและสามารถยิงข้ามทวีปได้จริง

 

ขณะเดียวกันก็เป็นการประกาศว่า จีนกลายเป็นรัฐมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์อย่างแท้จริง จากที่เคยถูกมองว่าเป็นมหาอำนาจชั้นรอง แต่ตอนนี้น่าจะขยับขึ้นเป็นมหาอำนาจหัวแถว

 

นอกจากนี้จีนยังพยายามบอกด้วยว่าจีนมีศักยภาพในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1964 ตั้งแต่หัวรบ ไปจนถึงขีปนาวุธที่ยิงจากยานเคลื่อนที่ ขีปนาวุธที่ติดตั้งในเรือดำน้ำ และระเบิดที่บรรจุในเครื่องบินทิ้งระเบิด

 

อีกเรื่องที่ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจคือ จีนพยายามสร้างชุดความคิดการถ่วงดุลทางยุทธศาสตร์ (Strategic Counterbalance) คล้ายกับที่รัสเซียพยายามทำในช่วงสงครามเย็น นั่นคือการเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยอมรับความเท่าเทียมทางนิวเคลียร์ หรือก็คือการเคารพสถานะทางทหารของจีนบนเวทีโลก

 

เช่นเดียวกับในมิติทางการเมือง จีนก็พยายามเรียกร้องว่าสหรัฐฯ ควรเคารพสถานะการเมืองของจีนบนเวทีระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน

 

และสุดท้ายจีนพยายามคานอิทธิพลของสหรัฐฯ ในเอเชีย ซึ่งเป็นนัยในมิติทางยุทธศาสตร์ ปัจจุบันจีนแสดงให้เห็นว่ามีขีปนาวุธพิสัยกลางที่สามารถโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในเอเชียได้ นอกจากนี้ยังโจมตีพันธมิตรของสหรัฐฯ ในเอเชียได้ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นกังวล โจทย์ใหญ่ในเวลานี้ของเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่นคือ พวกเขาต้องคิดพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ด้วยหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์รอบด้านพร้อมกัน ทั้งจากจีน เกาหลีเหนือ และรัสเซียที่พูดถึงการใช้นิวเคลียร์บ่อยขึ้น แม้จะในบริบทของสงครามกับยูเครนก็ตาม

 

คงต้องติดตามพัฒนาการด้านนิวเคลียร์ของจีนกันต่อไป มีแนวโน้มที่จีนจะขยับเพดานหัวรบนิวเคลียร์ให้แตะ 1,000 หัวรบ ซึ่งจะทำได้เมื่อใดยังเป็นคำถาม ส่วนรัสเซียและสหรัฐฯ นั้นมีการควบคุมจำนวนหัวรบภายใต้สนธิสัญญา New START ซึ่งจำกัดหัวรบที่มีประจำการสำหรับสหรัฐฯ และรัสเซียไว้ที่ประมาณ 1,400 และ 1,500 หัวรบตามลำดับ นั่นหมายความว่า หากจีนเพิ่มไปถึง 1,000 หัวรบ ก็จะสามารถทาบมหาอำนาจ กลายเป็นคู่แข่งบนเวทีนิวเคลียร์อย่างเต็มตัว จากปัจจุบันที่ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ มองว่าจีนยังเป็นมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ในระดับกลาง

 

ในรายงานของเพนตากอนที่เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม 2023 ระบุว่า กองกำลังจรวดของจีนมีขีปนาวุธประเภท ICBM อยู่ราว 350 ลูกในปี 2022 และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงจำนวนแท่นยิงด้วย ขณะที่รายงานอีกฉบับจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศในสตอกโฮล์มประเมินว่า จีนเพิ่มหัวรบนิวเคลียร์ในคลังแสงมากถึง 90 หัวรบเมื่อปีที่แล้ว

 

ซึ่ง ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ ชี้ว่าการที่จีนจะเพิ่มจำนวนหัวรบนิวเคลียร์แตะ 1,000 หัวรบภายในปี 2030 ตามที่นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ไว้ก็มีความเป็นไปได้ และมีโอกาสที่จะมีขีปนาวุธข้ามทวีปแซงหน้าทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียภายใน 10 ปีข้างหน้าด้วย

 

ภาพ: Jason Lee / Pool / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising