×

แม่ทัพ ‘ไทยเบฟ’ มอง ทุกตลาดมีโอกาสโต เดินหน้าลงทุนเสริมแกร่งธุรกิจไทย-เทศ พร้อมโชว์ธุรกิจเบียร์หนุนกำไร 9 เดือนพุ่ง 3.8 หมื่นล้านบาท

01.10.2024
  • LOADING...
ไทยเบฟ

ทุกตลาดมีโอกาสเติบโต ‘ฐาปน สิริวัฒนภักดี’ แม่ทัพไทยเบฟย้ำ พร้อมโชว์รายได้ 9 เดือนพุ่ง 2.1 แสนล้านบาท กำไร 3.8 หมื่นล้านบาท จากธุรกิจเบียร์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เดินหน้าลงทุนเสริมแกร่งธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ ‘PASSION 2030’ ฝ่าความท้าทายทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ซึ่งเป็นตัวแปรหลักในการสร้างรายได้

 

ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ฉายภาพว่า จากความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาคและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สร้างความท้าทายด้านการดำเนินงานและต้นทุน แต่ไทยเบฟสามารถบริหารอัตรากำไรและความเสี่ยงได้

 

สะท้อนจากผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ไทยเบฟมีรายได้จากการขายรวม 217,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย EBITDA อยู่ที่ 38,595 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% ส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากธุรกิจเบียร์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ โดยไตรมาสสุดท้ายประเมินว่ายังมีสัญญาณที่ดี แต่ก็ท้าทาย โดยเฉพาะวิกฤตทางภัยธรรมชาติ

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ถึงวันนี้เรามองไปข้างหน้า ต่อยอดความสำเร็จจากแผน PASSION 2025 สู่ PASSION 2030 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เราเดินมาตลอด เราเน้นวางแผนระยะสั้นไปจนถึงระยะกลาง ต้องยอมรับว่าถ้ามองไกลไปจะไม่ทันเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

 

สิ่งที่เราสนใจมีอยู่ 2 เรื่อง เริ่มตั้งแต่ 1. Reach Competitively สร้างประสิทธิภาพในการบริการ เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความอดทนที่จะรอคอยกับการบริการน้อยมาก ตามด้วย 2. Digital for Growth นำเทคโนโลยีมาเชื่อมต่อทั้งผู้ขายและซัพพลายเออร์ เรามองการเชื่อมต่อของธุรกิจเพื่อขยายไปถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทั้ง 2 เรื่องเป็นสิ่งที่ต้องรีบทำเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและต้องชำนาญให้มากพอเพื่อรองรับในการแข่งขัน

 

ท่องเที่ยวฟื้น-สภาพอากาศร้อน ดันธุรกิจเบียร์โต

 

แม่ทัพใหญ่ไทยเบฟยังอัปเดตความเคลื่อนไหวในตลาดเบียร์หลังจากมีผู้เล่นเพิ่มขึ้นว่า ตลาดเบียร์นั้นไม่ง่าย เวลามีรายใหม่เข้ามาทุกครั้งทุกค่ายสร้างจุดยืนได้ชัดเจน แต่ในแง่ของการทำตลาดต้องใช้เวลา เราก็เคยผ่านมาแล้ว

 

ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ทำแรกๆ ไม่ได้สำเร็จในทันที ต้องใช้เวลา โดยปัจจุบันตลาดเบียร์มีผู้ประกอบการไทย 3 ราย ถือส่วนแบ่งการตลาด 98% และยุโรป 1 หนึ่งราย ถือส่วนแบ่งการตลาด 2%

 

สำหรับในปีนี้ ธุรกิจเบียร์ได้รับสัญญาณบวกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว บวกกับสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้ธุรกิจเบียร์ในประเทศไทยมีปริมาณขายเติบโตขึ้น โดยเฉพาะในช่วงกลางปี 2567

 

สะท้อนได้จากผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 EBITDA ของธุรกิจเบียร์เติบโต 10.2% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาด ตลอดจนต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ปริมาณขายรวมจะลดลง 2.9% ก็ตาม

 

ส่วนธุรกิจเบียร์ในเวียดนาม ปัจจุบัน Bia Saigon ยังเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจมหภาคและการบังคับใช้กฤษฎีกาฉบับที่ 100 อย่างเข้มงวด ซึ่งกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับผู้กระทำผิดข้อหาเมาแล้วขับ ทำให้การบริโภคเบียร์ลดลง แต่ยังต้องจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย สร้างช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ และสานความสัมพันธ์กับตัวแทนจำหน่ายในท้องถิ่นไปพร้อมกัน

 

แต่ยังมองเห็นโอกาสที่ดีของธุรกิจในเมียนมาจากการรวมธุรกิจ F&N เข้ามาเป็นบริษัทย่อย รวมถึงการขยายสู่ตลาดกัมพูชา เนื่องจากกัมพูชาเป็นตลาดเบียร์ที่เติบโตเร็วที่สุดและใหญ่เป็นอันดับสี่ของอาเซียนเมื่อวัดจากปริมาณการขาย โดยมีปริมาณการบริโภครวมต่อปีประมาณ 10 ล้านเฮกโตลิตร

 

จึงเป็นที่มาของการสร้างโรงงานผลิตเบียร์ในกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงต้นปี 2569 โดยจะมีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 50 ล้านลิตรเมื่อเปิดดำเนินการ และคาดว่าธุรกิจเบียร์ของไทยเบฟจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างต่อเนื่อง

 

พิษเศรษฐกิจทำยอดขายกลุ่มสุราลดลง

 

ตามด้วยธุรกิจสุราภายในประเทศ ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัวทำให้ยอดขายของเหล้าสีลดลง คนหันไปบริโภคเหล้าขาวแทน ที่ผ่านมาบริษัทเดินหน้าเสริมแกร่งให้กับตราสินค้า เริ่มตั้งแต่รวงข้าว, หงส์ทอง, แสงโสม และเบลนด์ 285 เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ไทยเบฟต้องการทำให้สุราพรีเมียมของไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

 

พร้อมกันนี้ ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์สุราระดับพรีเมียมผ่านการเปิดตัว PRAKAAN (ปราการ) ผลิตภัณฑ์ซิงเกิลมอลต์วิสกี้ระดับพรีเมียม เน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบเครื่องดื่มวิสกี้ประเภท New World ในไทย, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และญี่ปุ่น โดยปราการจะเข้ามาเสริมทัพกลุ่มสินค้าหลักให้เติบโตไปพร้อมกัน

 

ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนลงทุนขยายกำลังการผลิตในนิวซีแลนด์ ส่วนในประเทศเมียนมาสินค้าเรือธงยังเป็นแกรนด์ รอยัล วิสกี้ ที่ยังเติบโตอยู่

 

ส่วนผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ธุรกิจสุรามีรายได้จากการขาย 92,788 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 0.9% จากปีที่แล้ว และ EBITDA ลดลง 1.3% สาเหตุหลักมาจากปริมาณขายรวมลดลงจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย แต่การชะลอตัวในประเทศถูกชดเชยได้บางส่วนจากธุรกิจในประเทศเมียนมาที่เติบโต

 

ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มุ่งเกาะติดเทรนด์สุขภาพ

 

ที่ผ่านมาบริษัทให้ความสำคัญกับกลยุทธ์รวมธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของทั้งกลุ่มให้เป็นหนึ่งเดียว ผ่านการนำหุ้นของโออิชิออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอยู่ระหว่างขั้นตอนการนำหุ้นของเสริมสุขออกจากตลาด

 

รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน F&N ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ผ่านสัญญาการแลกเปลี่ยนหุ้นกับ TCCAL เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น เรามั่นใจว่าไทยเบฟจะมีต้นทุนต่อหน่วยลดลงจากขนาดการผลิตที่ใหญ่ขึ้น (Economies of Scale) อีกทั้งยังทำให้การดำเนินงานด้านห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

พร้อมพัฒนาสินค้าเกาะติดเทรนด์สุขภาพเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ที่ผ่านมาได้เปิดตัวโออิชิ กรีนที ชาเขียวกลิ่นข้าวโพดฮอกไกโด สูตรไม่มีน้ำตาล รวมถึงน้ำดื่มคริสตัล ได้ลงพื้นที่จัดกิจกรรมตามพื้นที่และโรงเรียนต่างๆ สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภค และเครื่องดื่มอัดลมเอส ได้ยกระดับตราสินค้าผ่านการพลิกโฉมครั้งใหญ่ภายใต้แคมเปญ ‘เอส โคล่า เกิดมาซ่า..กล้าเป็นตัวเอง’ เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภค Gen Z

 

สำหรับการลงทุนใหม่ๆ จะเน้นในตลาดต่างประเทศ วางงบลงทุนปีหน้าไว้ที่ 9,500 ล้านบาท โดยแบ่ง 8,000 ล้านบาท ลงทุนทำฟาร์มโคนมในประเทศมาเลเซีย และอีก 1,500 ล้านบาท เน้นลงทุนในกัมพูชา

 

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีรายได้จากการขาย 15,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากกิจกรรมส่งเสริมการขยายและกระจายสินค้าได้อย่างครอบคลุม ส่วน EBITDA 1,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% จากการควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ

 

ลงทุนขยายร้านอาหารแบรนด์เรือธง KFC และโออิชิ

 

เมื่อเจาะมาถึงกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร เตรียมงบลงทุน 1,300 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายสาขาแบรนด์เรือธง เริ่มตั้งแต่ KFC, สตาร์บัคส์ และโออิชิ ซึ่งเป็นแบรนด์เก่าแก่ที่อยู่มานานถึง 25 ปี จะต้องทำการรีโนเวตร้านใหม่เพื่อรองรับสภาพการแข่งขันในตลาด ควบคู่ไปกับการกระตุ้นยอดขายในสาขาเดิมผ่านการพัฒนาเมนูใหม่ๆ รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง

 

ปัจจุบันการทำธุรกิจร้านอาหารท้าทายมาก โดยเฉพาะการแบกรับต้นทุนทั้งวัตถุดิบและค่าแรงที่กำลังจะเพิ่มขึ้น 400 บาท แต่ไม่สามารถผลักภาระไปให้ผู้บริโภคได้ นอกจากนั้นยังต้องรับมือกับการแข่งขัน

 

หากสังเกตจะเห็นว่าตลาดอาหารที่ราคาไม่สูงมากเติบโตค่อนข้างดี แต่ถ้าเป็นร้านอาหารที่มีราคาสูงจะต้องเพิ่ม Value ให้ผู้บริโภคมากขึ้น

 

ทั้งนี้ ธุรกิจอาหารมีรายได้จากการขาย 15,022 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้น 5.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน เติบโตจากการขยายธุรกิจต่อเนื่อง ส่วน EBITDA ลดลง 0.6% เป็น 1,438 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising