×

ถอดบทเรียนเชียงราย…ถึงเวลาหรือยังที่รัฐต้องทบทวนแผนแก้น้ำท่วม-แล้งซ้ำซาก หากต้องใช้งบเยียวยาแต่ละปีสูงถึงแสนล้านบาท

30.09.2024
  • LOADING...
เชียงราย

ปีนี้พิษน้ำท่วมถล่ม 33 จังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สูญเม็ดเงินเศรษฐกิจไทยแตะ 3 หมื่นล้าน โดยเชียงรายอ่วมสุด ‘หอการค้าไทย’ ส่งเสียงสะท้อนถึงรัฐบาล ถึงเวลาหรือยังที่รัฐต้องทบทวนแผนจัดการน้ำท่วม-แล้งซ้ำซาก เพื่อลดงบเยียวยาในแต่ละปีที่ไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท

 

วันนี้ (30 กันยายน) สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขยายวงกว้างไปยัง 33 จังหวัดทั้งทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ เชียงราย, พะเยา, สุโขทัย, หนองคาย, นครพนม, พิจิตร, สกลนคร, พิษณุโลก และอุดรธานี ซึ่งขณะนี้ยังมีมวลน้ำที่ไหลผ่านเข้าสู่ภาคกลาง ประกอบกับแนวโน้มที่ฝนจะตกเพิ่มต่อเนื่องอีกระลอก ทำให้หลายจังหวัดยังมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดน้ำท่วม

 

โดยเฉพาะปริมาณฝนที่คาดว่าจะมีการตกหลังเขื่อนในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมได้ ดังนั้นทุกภาคส่วนยังจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์น้ำต่อไปอย่างใกล้ชิด

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ขณะเดียวกันรัฐบาลควรเร่งจัดทำแผนเชิงป้องกันไว้ล่วงหน้าที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและเศรษฐกิจได้มาก โดยหอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ติดตามและประเมินมูลค่าความเสียหายแล้วประมาณ 29,845 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.17% ของ GDP

 

โดยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 1,166,992 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ 1,826,812 ไร่ ทั้งนี้ จากการประเมินพบว่าภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด มีมูลค่าความเสียหายรวม 24,553 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 82.3% ของความเสียหายทั้งหมด รองลงมาเป็นภาคบริการ เสียหาย 5,121 ล้านบาท

 

ส่วนภาคอุตสาหกรรมเสียหายราว 171 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหายในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เนื่องจากมีการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์น้ำได้ดี

 

เปิด 3 จังหวัดเสียหายมากสุด

 

สำหรับจังหวัดที่ได้รับผลกระทบและมูลค่าความเสียหายมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ เชียงราย มีมูลค่าความเสียหายรวม 6,412 ล้านบาท รองลงมาคือพะเยา 3,292 ล้านบาท และสุโขทัย 3,042 ล้านบาท

 

ด้าน วิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวเสริมว่า ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งที่เกิดขึ้นถี่และขยายวงกว้างมากขึ้น อีกทั้งยังสร้างผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตภาคการเกษตรที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการบรรเทาความเสียหายและเยียวยาประชาชนในส่วนนี้กว่าปีละแสนล้านบาท

 

ถึงเวลารัฐต้องทบทวนแผนจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

 

ดังนั้นหอการค้าไทยจึงเห็นว่าประเทศไทยควรมีการทบทวนและวางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยได้จัดทำข้อเสนอทั้งเชิงนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานและแนวทางการบริหารจัดการน้ำ (Infrastructure and Water Management) รวมถึงข้อเสนอ 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

 

  1. ศึกษาปัญหาอุปสรรคด้านการบริหารจัดการน้ำในส่วนภูมิภาค สำรวจปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปยังหอการค้าจังหวัดในแต่ละมิติ เช่น เครื่องมือและอุปกรณ์การบริหารจัดการน้ำ, ระบบบริหารจัดการ, การซ่อมบำรุง และก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อสะท้อนแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างครอบคลุม

 

  1. กิจกรรมส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ฐานข้อมูลด้านน้ำเพื่อเป็นแนวทางวางแผนและบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ (น้ำท่วม-น้ำแล้ง) จัดกิจกรรมอบรมการใช้งานแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์เกี่ยวกับฐานข้อมูลน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะ ‘คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ’ หรือ ‘Thaiwater.net’ ให้กับหอการค้าจังหวัดในระดับภาค เพื่อให้ตระหนักรู้และสามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านน้ำมาเป็นแนวทางในการวางแผนและบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบและทันสถานการณ์

 

  1. แนวทางการจัดตั้ง War Room ของรัฐบาลเพื่อสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ภาคเอกชนจะสนับสนุนแนวทางที่รัฐบาลได้จัดตั้ง War Room เพื่อสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำโดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงต่ออุทกภัย พร้อมแจ้งเตือน เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

  1. สนับสนุนมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ภาคเอกชนสนับสนุนการออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนและผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมทั้งอาจพิจารณาขยายผลไปยังการออกมาตรการด้านการประกันภัยที่มีความเหมาะสม เพื่อเยียวยาและช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง

 

  1. การบูรณาการการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้แนวทางการบริหารจัดการลำน้ำและแม่น้ำร่วมกัน ซึ่งมีปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมที่มักเกิดบนพื้นที่ทับซ้อนและเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ

 

“ควรใช้กลไกทางการเมืองและการทูตเข้าไปบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมถึงให้มีการจัดระเบียบของเมืองทางกายภาพ วางแนวทางน้ำไหลตามระดับสูงต่ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ รวมทั้งจัดทำคลองระบายน้ำและคลองส่งน้ำร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการระบายน้ำแบบบูรณาการทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน”

 

นอกจากนี้ขอให้นำวิธีการแก้ไขปัญหาที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ขนาดเล็ก เช่น การจัดการน้ำชุมชนนอกเขตชลประทาน มาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ที่มีให้มากขึ้นและขนาดใหญ่ขึ้น (Scale Up) ประกอบกับนำเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยมาปรับใช้ ตลอดจนมีการติดตามและประเมินผลต่อเนื่องโดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม

 

  1. ทบทวนและจัดลำดับความสำคัญของโครงการด้านการบริหารจัดการน้ำ (Prioritization) โดยภาครัฐทบทวนและจัดลำดับความสำคัญของโครงการด้านการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน

 

ตลอดจนวางแผนบริหารจัดการน้ำ (น้ำท่วม-น้ำแล้ง) ในระยะยาว เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการจัดสรรงบประมาณในการป้องกันภัยพิบัติ และการเตรียมการกักเก็บน้ำ

 

“อีกทั้งเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ แนวทางการเติมน้ำใต้ดิน เพื่อเป็นการบริหารจัดการน้ำในช่วงขาดแคลน รวมทั้งแนวทางอนุรักษ์น้ำรองรับการอุปโภคบริโภคและเชิงพาณิชย์” วิชัยกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising